บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
1.6K
4 นาที
20 มีนาคม 2562
ต้องรู้! สาเหตุที่กู้แล้วไม่ได้รับอนุมัติ และการเตรียมการก่อนขอกู้

ภาพจาก goo.gl/images/C16gsG

จากการอธิบายของธนาคารเอสเอ็มอี ได้สรุปปัญหาใหญ่ๆ ไว้ 12 ด้าน ที่ทำให้ทางธนาคารไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ให้ได้ ดังนี้
  1. ผู้ประกอบการเคยเป็นหนี้ NPLs มาก่อน ที่ธนาเรียกว่า “ติด BlackList” ขณะขอกู้เงิน
     
  2. ธนาคารยังไม่มีนโยบายปล่อยกู้ให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการในขณะนั้น
     
  3. หลักประกันไม่คุ้มกับจำนวนเงินที่ขอกู้
     
  4. ธุรกิจมีที่มาของรายได้ไม่ชัดเจนที่จะสามารถชำระหนี้ได้
     
  5. กิจการมีสัดส่วนหนี้สินมากเกินไป
     
  6. โครงการไม่มีความเป็นไปได้ทางการเงิน (ประสบความสำเร็จได้ยาก)
     
  7. ผู้ประกอบการไม่สามารถชำระหนี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
     
  8. แผนธุรกิจไม่มีความชัดเจนในด้านการผลิต การตลาด การจัดการ การเงิน
     
  9. ธุรกิจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีมาตรการรองรับ, แก้ไขที่ชัดเจน
     
  10. สภาพธุรกิจมีการแข่งขันสูง มีแนวโน้มไม่ดีในอนาคต
     
  11. ขาดประสบการณ์ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจนั้น (กรณีเริ่มประกอบธุรกิจ)
     
  12. ลงทุนในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เกินไป ไม่เหมาะสมกับการเริ่มต้นกิจการ
ภาพจาก goo.gl/images/TcS3Ug

เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ธนาคารไม่อนุมัติเงินกู้ให้แล้ว ก็ควรจะรู้ถึงเทคนิคที่จะทำให้ธนาคารเชื่อถือและปล่อยเงินกู้ให้ นั่นคือ 9 เคล็ดลับการของสินเชื่อให้โดนใจแบงก์ ได้แก่
 
1.เดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ สร้างประวัติทางการเงิน

ธนาคารไม่ได้รู้จักธุรกิจของท่านทุกคน งบการเงินของธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉลี่ยมีความผิดพลาดสูง (แต่มากกว่า 80% ไม่มีงบการเงิน) เกือบทุกธนาคารจึงอ้างอิงกระแสเงินสดเข้า/ออกบัญชี (หรือที่เรียกกันยอดหมุนเวียนบัญชี) ของท่านในการประเมินรายได้ ดังนั้นการเดินบัญชีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างประวัติธุรกิจของท่านกับธนาคาร
 
2.การขอสินเชื่อเป็นเรื่องของเครดิตหรือความน่าเชื่อถือ จงรักษามันให้ดีที่สุด

หลายคนไม่ได้ใส่ใจเรื่องประวัติค้างชำระในการใช้เครดิตส่วนบุคคล (บัตรเครดิต สินเชื่อที่พักอาศัย รถยนต์ หรือสินเชื่อเงินสด เป็นต้น) โดยไม่ทราบว่าประวัติเหล่านี้ถูกเก็บไว้ที่เครดิตบูโรและจะถูกนำมาประมวลผลพร้อมกัน เมื่อท่านขอสินเชื่อ เพื่อความมีระเบียบวินัยทางการเงินของท่าน ถือเป็นคุณสมบัติประการแรกๆ ของการพิจารณาสินเชื่อเพื่อธุรกิจก็ว่าได้ 
 
3.อย่าปล่อยให้ประวัติเช็คคืนมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของท่าน

เช็คคืนที่เจ้าของธุรกิจสั่งจ่ายไป อาจแสดงถึงความสามารถในการจัดการด้านการเงินหรือสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอของธุรกิจ เพื่อไม่ให้ประวัติเช็คคืนมีผลต่อการพิจารณาคำขอสินเชื่อของท่าน เมื่อพบว่ามีกระแสเงินสดไม่พอ ควรรีบดำเนินการติดต่อผู้รับเช็คเกี่ยวกับการขอผ่อนปรนระยะเวลาการชำระเงิน 

4.ความลับทางการค้าจะไม่ถูกเปิดเผยโดยธนาคาร

มีข้อมูลหลายอย่างที่มีความสำคัญต่อการพิจารณาสินเชื่อ (โดยเฉพาะข้อมูลการเดินบัญชีหลักที่ไม่ได้เปิดในนามกิจการ) แต่ไม่ได้มีการนำเสนอเพื่อสนับสนุนการขอสินเชื่อของท่าน เนื่องจากเจ้าของธุรกิจหลายท่านกลัวความลับทางการค้า หรือทางภาษีเหล่านั้นรั่วไหล ความจริงคือธนาคารไม่สามารถนำเอกสารเหล่านี้เปิดเผยให้กับบุคคลใด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ขอสินเชื่อ 

5.เอกสารทางการค้าของท่านมีมูลค่า จงเก็บมันไว้เสมอ

เอกสารที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจท่าน ไม่ว่าจะเป็นบัญชีซื้อ/ขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อสินค้า ใบเสร็จรับเงิน เหล่านี้เป็นเอกสารที่ท่านอาจจำเป็นต้องใช้เพื่อนำเสนอผลประกอบการต่อธนาคาร และจะจำเป็นมากขึ้น ในกรณีที่ยอดหมุนเวียนบัญชีของท่านไม่สะท้อนรายได้ของธุรกิจที่แท้จริง ท่านสามารถใช้เอกสารเหล่านี้ประกอบการขอสินเชื่อได้ 

6.หลักประกันคือฟันเฟืองสำคัญของการพิจารณาสินเชื่อ

หลักประกันแม้จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ธนาคารสนใจ ธนาคารยังพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งธนาคารวิเคราะห์ได้จากแผนธุรกิจ งบการเงิน และประวัติของผู้ขอสินเชื่อ หลักประกันที่ดีที่สุดสำหรับการขอสินเชื่อ คือ สถานประกอบกิจการ รองลงมาคือหลักประกันที่ท่านมีไว้ในครอบครอง แต่ไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการ อาทิ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือเครื่องจักร โดยทั่วไปวงเงินที่ธนาคารอนุมัติให้จะอยู่ระหว่า 80-95% ของมูลค่าหลักประกัน 

7.แหล่งรายได้และภาระหนี้สินรวมคือแหล่งที่มาของวงเงิน 

แม้ว่าบางครั้งหลักประกันจะมีมูลค่ามากกว่าวงเงินที่ขอ ธนาคารอาจอนุมัติวงเงินที่ต่ำกว่าที่ขอได้เนื่องจากธนาคารไม่ได้พิจารณาตามมูลค่าหลักประกันเพียงอย่างเดียว ธนาคารยังดูภาระหนี้สินรวม หรือจำนวนเงินที่ท่านสามารถผ่อนชำระได้ในที่สุดด้วย ซึ่งความสามารถในการผ่อนชำระดังกล่าวก็ดูได้จากแหล่งรายได้ของท่านนั่นเอง 
 
8.ไม่มีหลักประกันก็สามารถขอสินเชื่อได้

ในการปล่อยสินเชื่อประเภทที่ไม่ใช้หลักประกัน ธนาคารถือว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ที่จะผ่านการอนุมัติได้ ก็จำเป็นต้องสูงกว่าการขอสินเชื่อทั่วไป ไม่ว่าจะเรื่องประสบการณ์ ยอดหมุนเวียนบัญชี แม้ว่าการสมัครจะรวดเร็ว ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่ากับสินเชื่อที่มีหลักประกันโดยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยที่คิดก็มักจะสูงกว่า (ประมาณ 13%-30% ต่อปี ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ) ดังนั้นถ้าท่านมีหลักประกัน สิ่งที่ดีที่สุดคือเสนอหลักประกันประกอบการขอสินเชื่อ กรณีที่มีหลักประกันไม่พอ ท่านสามารถติดต่อหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอใช้บริการค้ำประกันวงเงินสินเชื่อได้เช่นกัน 

9.เตรียมพร้อมดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

การขอสินเชื่อที่ดีจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมก่อนเสมอ นอกเหนือจากเอกสารประกอบต่างๆ แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ ประเมินแผนการทางการเงินของท่านอย่างคร่าวๆ เช่น ท่านต้องการเงินเท่าไหร่ รายได้โดยประมาณต่อปีเป็นเท่าไหร่ สามารถใช้หลักประกันอะไรได้บ้าง ประเมินจากเงื่อนไขของแต่ละธนาคารแล้วท่านน่าจะได้วงเงินสักเท่าไหร่ ถ้าไม่พอท่านมีแผนจะทำอย่างไร ท่านจะสามารถชำระคืนได้หรือไม่ ภายในกี่ปี คำถามเหล่านี้จะช่วยให้ท่านเตรียมพร้อมก่อนดำเนินเรื่องขอสินเชื่อ
 
การเตรียมการก่อนขอกู้


ภาพจาก goo.gl/images/qrQvNj

ในการติดต่อขอกู้เงินเพื่อมาลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ยากเพราะเป็นนโยบายส่งเสริมจากรัฐบาล และสถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็มีนโยบายให้กู้เช่นกัน แต่ว่าในการปฏิบัติจริงนั้น เนื่องจากความไม่พร้อมของผู้ขอกู้ ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถรีบเร่งดำเนินการตามคำขอกู้ให้ได้ สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ มักมาจากหลายทาง เช่น

1.ความไม่พร้อมด้านเอกสาร เนื่องจากในการอนุมัติ สถาบันการเงินต้องอาศัยหลักฐานเอกสารเป็นจำนวนมาก และนักธุรกิจไทยจำนวนมากก็มักจะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำงานด้านเอกสาร ทำให้เอกสารไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้องตามที่สถาบันการเงินกำหนด ขอยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้ขอกู้เป็นบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล หลักฐานที่จำเป็นของนิติบุคคลย่อมมีมากกว่า

ดังนั้น ในการติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอกู้เงิน ผู้ขอกู้ควรตระเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนถูกต้อง เอกสารที่จำเป็นต้องรับรองก็ประทับตรารับรองให้เรียบร้อย (บางอย่างเช่น ใบจดทะเบียน อาจต้องขอคัดและรับรองจากกรมพัฒนาธุรกิจทางการค้าและต้องมีอายุไม่เกินสามเดือน) และจัดเรียงให้เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการตรวจเช็ค สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ประกอบในการขอสินเชื่อ อาทิเช่น
 
กรณีบุคคลธรรมดา
  • บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านผู้กู้และคู่สมรส (ถ้ามี)
  • ใบทะเบียนพาณิชย์/ทะเบียนการค้า หรือเอกสารอื่นที่แสดงว่าประกอบธุรกิจ เช่น สัญญาเช่าสถานประกอบการ/ใบสั่งซื้อสินค้า
  • หลักฐานแสดงที่มาของรายได้ เช่น แบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้/ ใบเสร็จรับรองการเสียภาษี/สลิปเงินเดือน (กรณีมีรายได้ประจำ)/บัญชีเงินฝากธนาคาร (ย้อนหลัง 6 เดือน)
  • รูปถ่ายสถานประกอบการ และแผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ
  • สัญญาเช่า หรือ ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำธุรกิจหรือเอกสารสิทธิในสถานประกอบการ หรือแผนที่แสดงเส้นทางทำธุรกิจ (ถ้ามี)
  • แผนธุรกิจ (แสดงรายละเอียดการผลิต การตลาด การจัดการ และการเงิน)
กรณีนิติบุคคล
  • หนังสือรายงานการประชุมที่มีมติให้กู้ยืมเงิน
  • หนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ (อายุไม่เกิน 1 เดือน นับถึงวันขอกู้)
  • หนังสือบริคณห์สนธิ/ข้อบังคับหรือตราสารการจัดตั้ง
  • บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
  • บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคล
  • หลักฐานแสดงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้แก่ งบการเงิน (ย้อนหลัง 3 ปี) ประกอบด้วย งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด
  • บัญชีเงินฝากธนาคาร (ย้อนหลัง 6 เดือน)
  • รูปถ่ายสถานประกอบการและแผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ
  • สัญญาเช่า หรือ ใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำธุรกิจหรือเอกสารสิทธิในสถานประกอบการ หรือแผนที่แสดงเส้นทางทำธุรกิจ (ถ้ามี)
  • แผนธุรกิจ (แสดงรายละเอียดการผลิต การตลาด การจัดการ การเงิน)

ภาพจาก goo.gl/images/kccsz1

2.การไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่จะต้องส่งเอกสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่สถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งการไม่ไปพบปะตามกำหนดที่นัดหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ ดังนั้น ผู้ขอกู้จำเป็นต้องเตรียมเวลาสำหรับการประชุมหรือไปพบปะกับเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินด้วย และให้มีระยะเวลาสำหรับการพิจารณาอนุมัติตามสมควร

3.เตรียมผู้ที่รู้ในหน้าที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปพบให้ข้อมูลตามที่สถาบันการเงินต้องการ ในบางครั้ง ผู้ซื้อแฟรนไชส์เองอาจไม่รู้ในทุกเรื่อง จึงต้องบอกให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในด้านดังกล่าว เตรียมความพร้อมไว้เพื่อให้สามารถไปพบและให้ข้อมูลได้ทันที แทนที่จะเพิ่งมาเตรียมเมื่อถูกแจ้งให้ส่งเอกสารหรือข้อมูล

กล่าวโดยสรุปคือ ผู้ขอกู้ต้องเตรียมทั้งด้านเอกสาร (Material) ด้านบุคลากร (Man) ด้านระบบงาน(Method)  ด้านเครื่องไม้เครื่องมือ (Machine) ทั้ง 4 Ms ไว้ให้พร้อม เพื่อไปขอกู้เงินให้ได้ M ตัวที่ห้ามาร่วม เพื่อให้ครบ 5 Ms เพื่อจะได้สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างสะดวกราบรื่น
 
ลำดับการติดต่อเพื่อเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์


นอกจากการติดต่อหาแหล่งเงินทุนแล้ว ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์จะต้องติดต่อแฟรนไชส์ซอร์ควบคู่กันไปด้วย และวางแผนทั้งทางด้านการเงิน บุคลากร การตลาด การบัญชี การจัดการ การออกแบบ การตบแต่งสถานที่ ฯลฯ เพื่อเตรียมพรัอมสู่การเป็นผู้ประกอบการ ภายใต้การแนะนำและกำกับดูแลจากแฟรนไชส์ซอร์ ช่วงระยะเวลานี้อาจจะสั้นหรือยาว ขึ้นกับว่าเป็นธุรกิจแฟรนไชส์อะไร ขนาดกิจการใหญ่แค่ไหน และแฟรนไชส์ซีมีความพร้อมเพียงใด


ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างลำดับขั้นการติดต่อเพื่อเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์เล็กๆ เช่น หากท่านสนใจอยากจะเปิดร้านแฟรนไชส์ ทางผู้ขายแฟรนไชส์ซอร์ได้แนะนำไว้ ดังนี้
 
ขั้นตอนการลงทุนร้านแฟรนไชส์
  1. ผู้สนใจสามารถติดต่อยไปยังเบอร์โทรศัพท์ของทางแฟรนไชส์ที่สนใจ หรือเขียนติดต่อสอบถามไปทางอีเมล์ของแฟรนไชส์นั้นๆ
  2. ถ้าประสานงานจนเป็นที่เข้าใจต่อกันดีแล้ว จึงนัดหมายเพื่อดูสถานที่ที่จะตั้งร้าน
  3. หากไม่มีอะไรขัดข้องก็จะทำสัญญาเพื่อร่วมกันในการเปิดร้าน
  4. ขั้นตอนเตรียมการ ได้แก่การเตรียมสถานที่ ติดตั้งป้ายชื่อร้าน จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. เตรียมบุคลากรที่จะทำงานในร้าน เช่น ผู้จัดการ พนักงานประจำร้าน เป็นต้น
  6. ซักซ้อมและฝึกหัดการทำหน้าที่ของแต่ละคนให้เข้าใจและเกิดทักษะในการประกอบกิจการ
  7. โฆษณาประชาสัมพันธ์การเปิดร้านต่อสาธารณะ
  8. ซักซ้อมการทำงานอีกครั้งหนึ่ง และตรวจสอบความพร้อม
  9. ทำการเปิดร้านแฟรนไชส์ของท่านตามวัตถุประสงค์
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
9,032
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
5,507
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,636
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,578
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
837
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
829
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด