บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
3.0K
3 นาที
22 มีนาคม 2562
ธุรกิจแฟรนไชส์ในยุคโลกาภิวัฒน์


การทำธุรกิจแทบทุกประเภทในปัจจุบัน ต้องแข่งขันกับทั้งคู่แข่งขันในท้องถิ่นไปจนถึงธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ ธุรกิจจึงต้องมีการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยในฐานะของสมาชิกองค์การการค้าโลก จึงต้องเปิดการค้าเสรีและลดการกีดกันทางการค้า

ยิ่งมีการค้าขายข้ามชาติมากขึ้นเท่าใด เราก็ต้องได้เห็นนักธุรกิจต่างชาติหรือสินค้าบริการจากต่างชาติในประเทศมากขึ้น ได้เห็นระบบงานและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นักลงทุนนำเข้ามาเสริมการให้บริการหรือการจัดการธุรกิจ ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและเป็นไปอย่างกว้างขวางนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกาภิวัตน์ และมีผลกระทบต่อธุรกิจแฟรนไชส์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักธุรกิจจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ตามให้ทันการเปลี่ยนแปลง
 
ความหมายโลกาภิวัฒน์

 
คำว่า โลกาภิวัตน์ (Globolization) เป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งมีมาไม่ถึงยี่สิบปี และตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (2546, หน้า 1044) ได้ให้นิยามคำว่า “โลกาภิวัตน์” ไว้ ดังนี้
 
โลกาภิวัตน์ หมายถึง การแพร่กระจายไปทั่วโลก, การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดสามารถรับรู้ สัมพันธ์หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ เป็นต้น
 
จะเห็นได้ว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์  นั่นคือความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี  ที่ทำให้การส่งผ่านข้อมูล ตลอดจนการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์โลกทำได้รวดเร็ว สะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าแต่ก่อนมาก อันที่จริงแล้ว นอกจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจะเป็นสาเหตุหนึ่งของโลกาภิวัฒน์แล้ว ความต้องการที่จะขายสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้าในถิ่นที่ห่างไกล ตลอดจนการยกเลิกมาตรการกำแพงภาษี และความต้องการให้มีการเปิดเสรีทางการค้า ก็ยังเป็นเหตุผลสำคัญเช่นเดียวกัน ที่ทำให้การค้าขายและติดต่อกันระหว่างประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางในโลกยุคใหม่
 
อินเตอร์เน็ตเป็นนวัตกรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การติดต่อและทำธุรกิจระหว่างกันเป็นไปได้ง่ายและกว้างขวางมากอย่างเหลือเชื่อ เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) หรือ เศรษฐกิจยุคอินเตอร์เน็ต (Internet Economy) หรือเศรษฐกิจยุคเว็บ (Web Economy) ทำให้ผู้คนในโลกนี้สามารถเจรจาธุรกิจ ตลอดจนทำการตกลงซื้อขายกันได้จากทุกหนทุกแห่งในโลกนี้ การค้นหาข้อมูลทางธุรกิจ และการติดต่อระหว่างกัน สามารถทำได้ในทุกแห่ง ทุกระดับ และทุกคนที่มีความสนใจที่จะทำมาค้าขายระหว่างกัน

 
ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่มุ่งการขยายฐานลูกค้าอยู่แล้ว ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์ส่วนใหญ่จึงมีเวปไซต์เป็นของตนเอง ด้วยเหตุผลทั้งเพื่อให้แฟรนไชส์ซีเข้ามาศึกษาหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมธุรกิจกัน ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของตนแก่ลูกค้าโดยทั่วไปด้วยในเวลาเดียวกัน บางคนยังอาจไม่ทราบมาก่อนเลยว่า เราสามารถจะมีเวปไซต์เป็นของตนเอง ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูล มีโดเมนเนมเป็นของตนเอง และมีอีเมล์แอดเดรส พร้อมทั้งพื้นที่เก็บอีเมล์ขนาดใหญ่ ด้วยเงินลงทุนเพียงประมาณหนึ่งพันบาทเท่านั้น และในปีต่อๆ ไป ก็เสียค่าใช้จ่ายในการต่ออายุและรักษาพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นรายปี (แปลกแต่จริงครับที่ปีต่อๆ ไป คุณอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีแพงกว่าในปีแรกครับ อันนี้เป็นเทคนิคในด้านการขายและการตลาด)
 
นอกจากนี้ รัฐบาลในแต่ละประเทศปัจจุบัน ก็มีนโยบายต้อนรับนักลงทุนชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากประเทศต่างๆ มักจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในประเทศของตน  นอกจากนี้ การจัดงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนการออกไปโรดโชว์สินค้าหรือบริการของประเทศหนึ่งยังอีกประเทศหนึ่ง จึงเป็นเรื่องปกติโดยทั่วไป งานแสดงสินค้าธุรกิจแฟรนไชส์ก็มีอยู่บ่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก บี.โอ.ไอ ฯลฯ ก็มักจะมีการจัดนำพานักธุรกิจออกไปต่างประเทศ เพื่อหาลู่ทางทำการค้าร่วมกับนักธุรกิจในต่างประเทศ
 
ลักษณะตลาดและการแข่งขันในยุคโลกาภิวัฒน์

 
โลกาภิวัฒน์ทำให้ตลาดสินค้าและบริการของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก ในโลกปัจจุบันคงแทบไม่มีประเทศใดในโลกแล้วที่ไม่มีไก่ทอด KFC หรือ แมคโดนัลด์ขาย การที่สินค้าหรือบริการสามารถข้ามพรมแดนกันได้ง่ายๆ แบบนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อทุกประเทศ แน่นอนว่านักธุรกิจท้องถิ่นที่ในอดีคอาจจะทำมาหากินอยู่ได้โดยปราศจากการแข่งขันที่รุนแรง ทุนนิยมสมัยใหม่จะทำให้มีคู่แข่งรายใหญ่ ทั้งที่มาจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาร่วมแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดด้วย และหากยังจะทำธุรกิจในขนาดย่อมต่อไป ก็อาจจะไม่สามารถสู้กับคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้

ในอดีต ผู้เขียนเคยมีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจ เช่น พิซซ่ายี่ห้อท้องถิ่นในบังคลาเทศ หรือแฮมเบเกอร์ยี่ห้อท้องถิ่นในกัมพูชาไก่ทอดในเวียตนาม ที่ขายดีมากในเวลานั้น เพราะยังไม่มีแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้าไปแข่งขัน แต่พอมีแฟรนไชน์จากต่างประเทศเข้าไป ถึงแม้ว่าคุณภาพและราคาอาจไม่ต่างกันมาก แต่ความเป็นยี่ห้อจากต่างประเทศ ก็ทำให้ยอดขายตกลงไปอย่างมาก นอกจากนี้ การที่มีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น ยังทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าทดแทนเพิ่มขึ้นด้วย

เช่น หากเราทำกิจการประเภทอาหารขายข้าวแกง การมีร้านพิชซ่ามาเปิดใกล้ๆ ดูเผินๆ ไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรง แต่พิซซ่าก็ทำให้ลูกค้างดข้าวแกงบางมื้อได้เช่นกัน ขณะเดียวกันที่การเข้ามาของสินค้าและบริการจากต่างประเทศ ก็ทำให้ค่าครองชีพของประเทศนั้นขยับขึ้นตามไปด้วย เพราะสินค้าและบริการหลายชนิดที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ก็จะตั้งราคาโดยอิงจากราคาประเทศต้นแบบ ผสมกับปรับตามค่าครองชีพประเทศนั้น ๆ


 
ในปัจจุบัน แม้กระทั่งธุรกิจบริการ เช่น โรงเรียนสอนภาษา หรือสถาบันฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ ก็มีการใช้ Know-How จากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยผ่านรูปแบบการร่วมทุน หรือการซื้อโปรแกรมการบริหารการจัดการ หรือการซื้อแฟรนไชส์ ฯลฯ สารพัดรูปแบบวิธีที่จะทำให้ธุรกิจของตนมีความเหนือกว่าคู่แข่งขัน  นักธุรกิจที่ประมาทและไม่ยอมพัฒนาสินค้าหรือบริการของตน ในที่สุดก็จะต้องออกจากตลาดไปอย่างไม่ต้องสงสัย
 
หากจะกล่าวว่า การตลาดในยุคโลกาภิวัฒน์เป็นการตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงมากก็ไม่น่าจะผิด การแข่งขันนี้ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีและ Khow-How อย่างมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่เวลานี้ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและการบริการ ตลอดจนเพิ่มความทันสมัยให้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง

นอกจากการตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงแล้ว โลภาภิวัฒน์มีส่วนทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่เปลี่ยนไปมาก ความต้องการความสะดวกสบาย ความทันสมัย ฯลฯ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป  สินค้าและบริการต่างๆ มีลักษณะเป็นแฟชั่นมากขึ้น คือมาเร็วไปเร็ว นักการตลาดได้ใช้ความพยายามทางการตลาดในการวางตลาดสินค้าหรือบริการ มีการทุ่มโฆษณาจำนวนมหาศาลในสินค้าหรือบริการบางประเภท สามารถสร้างกระแสให้เกิดความนิยมในสินค้าหรือบริการนั้นได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

ความสำคัญของตัวผลิตภัณฑ์หรือราคาอาจไม่เท่ากับการส่งเสริมการขาย ยิ่งบทบาทของสื่อโฆษณาและเทคนิคของการสร้างภาพทางการตลาดมีมากขึ้น นักการตลาดก็ยิ่งสามารถสร้างกระแสให้เกิดความนิยมในหมู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น แต่ก็เป็นการเสี่ยงอย่างมากสำหรับนักลงทุน หากไม่สามารถคาดการณ์หรือวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่า กระแสดังกล่าวจะหมดหายไปโดยเร็วหรือไม่ จึงมีแฟรนไชส์ซีหลายรายที่ต้องเจ็บตัวเพราะไปลงทุนในสินค้าที่มีวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์  หรือมีระยะเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างสั้นแต่หวือหวา

แนวโน้มแฟรนไชส์ในอนาคต


มีผู้คาดการณ์แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของแฟรนไชส์ในอนาคตไว้มากมาย และพอสรุปได้ดังนี้

1.แฟรนไชส์ที่ขายสินค้าหรือบริการแปลกๆจะมีมากขึ้นแทนที่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารและเครื่องดื่มอย่างในปัจจุบัน จนขนาดที่อาจารย์พีระพงษ์ กิติเวทย์โภคาวัฒน์  ที่ปรึกษากิติมศักดิ์สมาคมธุรกิจแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย (FSA) ถึงกับได้เขียนไว้ว่า ธุรกิจทุกอย่างสามารถเป็นแฟรนไชส์ได้ เพียงแต่ต้องมีรูปแบบที่แท้จริง

2.จะมีแฟรนไชส์ประเภทลูกผสมมากขึ้น นั่นคือในหนึ่งร้านหรือหนึ่งสถานที่บริการ จะมีแฟรนไชส์มากกว่าหนึ่งแห่ง เพราะจะสามารถแชร์ต้นทุนร่วมกันได้ และยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนเข้าร้านได้ง่ายขึ้น หากมาอยู่รวมกันมากๆ ก็จะกลายเป็น Franchise Mall

3.จะมีการขยายแฟรนไชส์ด้วยการร่วมมือกัน ระหว่างแฟรนไชน์มากกว่าหนึ่งกิจการ  ตลอดจนอาจมีการส่งเสริมการขายร่วมกันในการขยายกิจการ  หรือขายแฟรนไชส์แก่ผู้สนใจลงทุน

4.แฟรนไชส์บริการจะมีมากขึ้นอย่างมาก ไม่ว่างานโฆษณา บัญชี ยามรักษาความปลอดภัย รับชำระค่าบริการ กวดวิชา สอนภาษา ส่งพัสดุ ฯลฯ ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว เช่น บริษัทจีบีเอส เป็นบริษัทที่ขายแฟรนไชส์ให้บริการด้านบัญชี ภาษี วางระบบบัญชี และคอมพิวเตอร์ ที่มีบริษัทแม่อยู่ในประเทศอเมริกา และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นแฟรนไชส์ที่ไม่ได้ขายสินค้าแต่ขายบริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน

5.แฟรนไชส์ใหญ่ๆ จะกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ เมื่อธุรกิจขยายในระบบแฟรนไชส์ในประเทศประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะขายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศด้วย ทำให้แฟรนไชส์รายใหญ่จะพัฒนากลายเป็นบริษัทที่ไปลงทุนในต่างชาติ หรือขายแฟรนไชส์ไปให้ผู้สนใจลงทุนในต่างประเทศเพื่อเป็น Master Franchise

6.จะมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นเข้ามาทั้งในการขายแฟรนไชน์ หรือให้บริการแก่ผู้บริโภคมากขึ้น และเมื่อมีนวัตกรรมใหม่ๆ นักธุรกิจจะเริ่มใช้กลยุทธ์ขยายตลาดโดยใช้ระบบแฟรนไชส์  เพราะจะสามารถทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและสามารถขยายกิจการได้อย่างรวดเร็ว เราจึงจะเห็นสินค้าหรือบริการที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ เข้าสู่ตลาดด้วยระบบแฟรนไชส์เพิ่มมากขึ้น  

7.ธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทที่เกี่ยวกับสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค หรือการให้บริการในเชิงคุณภาพของชีวิต จะมีมากขึ้น เนื่องจากกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมที่มีมากขึ้น ตลอดจนผู้ที่ประกอบกิจการทั้งที่เป็นแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซี ก็จะมีการปรับตัวทำธุรกิจโดยเน้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้นตามกระแสสังคม
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนมิถุนายน 2567
9,060
ส่อง 72 แฟรนไชส์น่าสอยมาลงทุน ครึ่งปีหลัง 2567
5,514
กลับมาแล้วแฟรนไชส์โจ๊ก เฮลตี้ฟู้ดขายง่ายกำไรดี
1,637
เดือดแน่! 6 แฟรนไชส์ไอศกรีมและชาผลไม้ ราคาถูก จ่..
1,583
จริงมั้ย ซื้อแฟรนไชส์ ยืมจมูกคนอื่นหายใจ
837
ซื้อแฟรนไชส์ อย่าให้เป็นทาส แต่ให้เป็นนายตัวเองท..
829
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด