บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    ความรู้ทั่วไประบบแฟรนไชส์
1.8K
2 นาที
26 มีนาคม 2562
วิธีนิยมของการเก็บค่าแฟรนไชส์ฟี และรอยัลตี้ฟี


ภาพจาก goo.gl/images/DhqnnP
 
สำหรับค่าแฟรนไชส์ฟีนั้น โดยปกติแล้วจะไม่ยุ่งยากอะไร เพราะเป็นค่าธรรมเนียมที่แฟรนไชส์ซอร์จะขอเก็บจากแฟรนไชส์ซีเพียงครั้งเดียว เสมือนค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งก็มีธุรกิจแฟรนไชส์ไม่น้อยที่อ้างว่าไม่เก็บค่าแฟรนไชส์ฟี ซึ่งดูเหมือนจะขัดกับหลักการสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์ และแท้ที่จริงแล้วก็อาจสามารถเก็บได้จากทางอื่นอย่างแอบแฝง เช่น การขายอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ ระบบบัญชี หรือแม้กระทั่งสูตรในการผลิต ซึ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนค่าแฟรนไชส์ฟีนั่นเอง เพียงแต่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษาและเป็นเทคนิคการโฆษณาเท่านั้น
 
ในภาคปฏิบัติจริงของข้อเสนอในการขายแฟรนไชส์ แฟรนไชส์ซอร์มักจะมีรูปแบบและขนาดธุรกิจหลายๆ แบบให้ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์เลือก ดังนั้น จำนวนเงินค่าแฟรนไชส์ฟีที่แตกต่างกัน จึงหมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ เฟอร์นิเจอร์ ขนาดของธุรกิจ ฯลฯ ที่แฟรนไชส์ซีจะได้รับในจำนวนหรือรูปแบบที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งแฟรนไชส์ซีจะต้องพิจารณาให้ดี  และมองถึงผลประโยชน์ในระยะยาว มิใช่ประหยัดตอนต้นแต่ไปเสียมากมายในภายหลัง
 
ข้อตกลงของแฟรนไชส์ฟีจึงมีประเด็นสำคัญเพียงแต่ว่าเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด และจะจ่ายชำระกันอย่างใดเท่านั้น บางครั้งแฟรนไชส์ซอร์ก็อาจยินยอมให้แฟรนไชส์ฟีแบ่งจ่ายชำระเป็นงวดๆ หรืออาจให้ชำระเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อแฟรนไชส์ซอร์ในการหมุนเวียนเงิน


ภาพจาก goo.gl/Mij4j4

อย่างไรก็ตาม พึงระลึกเสมอว่าค่าแฟรนไชส์ฟีนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถขอคืนจากแฟรนไชส์ซอร์ได้เลย นอกจากจะต้องฟ้องร้องเอาในกรณีที่แฟรนไชส์ซอร์ทำผิดสัญญา และจะได้รับคืนเต็มจำนวน (พร้อมดอกเบี้ย) หรือไม่ ก็ขึ้นกับดุลพินิจของศาลเท่านั้น อนึ่งในทางบัญชีแล้ว ค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์ในส่วนที่เป็นค่าแฟรนไชส์ฟี จะต้องนำมาทยอยตัดเป็นค่าใช้จ่ายตัดจ่ายเป็นงวดๆ ไป ไม่สามารถลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายในครั้งเดียวได้ เพราะค่าแฟรนไชส์ฟีถือเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งทางบัญชี

ส่วนค่ารอยัลตี้ฟีนั้น เนื่องจากเป็นค่าธรรมเนียมที่แฟรนไชส์ซีจะต้องจ่ายให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ตลอดไป ตามผลการดำเนินงาน วิธีการปฏิบัติจึงต้องมีรายละเอียดที่หยุมหยิมมากมายและเนื่องจากแฟรนไชส์ซอร์ต้องหาวิธีที่ควบคุมการชำระให้ถูกต้องและตรงเวลาตลอด และต้องป้องกันการเบี้ยวของแฟรนไชส์ซี จึงมีอยู่บ้างเหมือนกันที่แฟรนไชส์ซอร์ถึงกับมีการบังคับให้ แฟรนไชส์ซีต้องหาหลักประกันการชำระเงินส่วนนี้ให้แก่แฟรนไชส์ซอร์ ถึงกับขนาดต้องมีการหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้จากธนาคาร (แบ๊งค์การันตี)

ในกรณีที่เป็นระบบแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ ที่แฟรนไชส์ซอร์มีชื่อเสียงและมีอำนาจต่อรองสูง ในทางปฏิบัตินั้น แฟรนไชส์ซอร์สามารถควบคุมและตรวจสอบผลการดำเนินงานผ่านช่องทางต่างๆ อาทิเช่น

1.ผ่านเอกสารทางการเงินหรือบัญชีของแฟรนไชส์ซี


ภาพจาก goo.gl/images/wuWTd9

เช่น ให้ใช้ใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงิน ที่แฟรนไชส์ซอร์มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ หรือให้ส่งสำเนาสลิปใบเสร็จรับเงินจากเครื่องบันทึกเงินสด แก่แฟรนไชส์ซอร์ และระบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีระบบทันสมัยในปัจจุบัน แฟรนไชส์ซอร์บางรายสามารถเข้ามาดูข้อมูลการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ซี ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีจากสำนักงานใหญ่ของแฟรนไชส์ซอร์ได้ด้วย

ตัวอย่างการบังคับให้แฟรนไชส์ซีซื้อวัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์ เช่น ก๋วยเตี๋ยวกะละมัง กำหนดให้แฟรนไชส์ต้องซื้อ เครื่องปรุงน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว, เครื่องเทศสมนุนไพร, ลูกชิ้นสำหรับใส่ก๋วยเตี๋ยวทุกชนิด และเครื่องปรุงอื่นๆ เช่น พริกดอง, พริกป่น จากแฟรนไชส์ซอร์ เท่านั้น
 
2.ผ่านสถิติการสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากแฟรนไชส์ซอร์


ภาพจาก goo.gl/images/3TnYfv

หรือแม้กระทั่งการสั่งซื้อวัสดุหีบห่อ (Packaging) ที่แฟรนไชส์ซอร์จำเป็นต้องใช้ของแฟรนไชส์ซี เช่น กล่องบรรจุ หรือถ้วยบรรจุ หรือโคนใส่ไอศครีม เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้กลับทำให้การควบคุมและตรวจสอบง่ายกว่าวิธีแรก เพราะแฟรนไชส์ซีจะไม่สามารถใช้เทคนิคหลบหลีกทางบัญชีได้
 
3.ผ่านมิเตอร์วัดอัตโนมัติ


สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์บางประเภท ที่แฟรนไชส์ซีต้องขายสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยผ่านเครื่องขายอัตโนมัติ เช่น เครื่องขายน้ำ ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ เครื่องที่ขายสินค้าหรือบริการให้ลูกค้า สามารถมีมิเตอร์วัดเก็บสถิติ และแฟรนไชส์ซอร์เท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปแก้ไขข้อมูลสถิติได้ หรือบางรุ่นอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเลขสถิติได้เลย จึงเป็นการควบคุมที่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
 
เมื่อแฟรนไชส์ซอร์สามารถตรวจสอบผลการดำเนินงานของแฟรนไชส์ซีได้ ก็สามารถกำหนดให้แฟรนไชส์ซีชำระค่ารอยัลตี้ฟี ตามเวลาและวิธีการที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนด โดยปกติแล้ว แฟรนไชส์ซอร์ที่มีระบบบัญชีมาตรฐาน และมีพนักงานที่มากเพียงพอ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปวางบิลหรือใช้วิธีการส่งเอกสารทางใดทางหนึ่ง ไปยังแฟรนไชส์ซี เพื่อขอรับชำระเงินค่ารอยัลตี้ฟี เพราะเท่ากับว่ามีการทวงถามเกิดขึ้น และฝ่ายบัญชีของแฟรนไชส์ซีก็จะได้มีหลักฐานเพื่อจัดเตรียมการชำระเงิน


ภาพจาก goo.gl/images/fwJ9Sc

แต่สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก และไม่มีความพร้อมทางด้านบุคคลากร อาทิ เช่น แฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวรถเข็น แฟรนไชส์ลูกชิ้นปิ้ง แฟรนไชส์เครื่องประดับเทียม ฯลฯ วิธีที่ง่ายที่สุดก็หนีไม่พ้นการคิดค่ารอยัลตี้ฟีจากราคาส่งสินค้าหรือวัตถุดิบ และคอยควบคุมให้แฟรนไชส์ซี ชำระเงินให้ตรงตามกำหนดหลังส่งมอบสินค้าหรือวัตถุดิบ
 
ในการชำระค่ารอยัลตี้ฟี ก็เป็นปกติทางการค้าอีกเช่นกัน ที่หากแฟรนไชส์ซีมีประวัติการค้าที่ดีและมีฐานะการเงินเป็นที่น่าเชื่อถือ แฟรนไชส์ซอร์อาจจะยินยอมให้เครดิตการชำระเงินและให้ชำระเป็นเช็คแทนเงินสดได้ ซึ่งเท่ากับว่าแฟรนไชส์ซีจะได้ประโยชน์อย่างมากจากเครดิตที่ได้รับจากแฟรนไชส์ซอร์
 
บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,688
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,828
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,366
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,914
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,272
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,244
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด