บทความทั้งหมด    บทความแฟรนไชส์    การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์    การวางแผนธุรกิจแฟรนไชส์
3.6K
2 นาที
11 มิถุนายน 2555
ยกเครื่องแฟรนไชส์ไทยปีที่แล้ว เป็นอย่างไร?



การปรับตัวของแฟรนไชส์ซอร์ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันนั้นสำหรับปี 2554 จากการสำรวจสภาวะธุรกิจคาดว่าธุรกิจจะเติบโตประมาณ 10-15%  ในขณะที่ในช่วงปี 2553 ธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตที่อัตรา 11.7% เท่ากับว่าธุรกิจปีกระต่ายปีนี้แนวโน้มน่าจะดูสดใสมากขึ้น


แน่นอนในปีนี้ ข่าวดีสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์เริ่มมีความหวังด้วยระบบสินเชื่อที่ไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ในระบบแฟรนไชส์จะช่วยขยายโอกาสการลงทุนที่ทั้งมีคุณภาพและขนาดลงทุนในธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นทำให้สามารถสร้างธุรกิจที่มีความเหมาะสมมากขึ้น


จากผลการศึกษาปัจจัยสำคัญที่สามารถบ่งบอกถึงความสำเร็จที่เป็นไปได้ของธุรกิจแฟรนไชส์นั้นมีสิ่งที่เป็นเครื่องที่ชี้ได้อย่างเช่น เรื่องของจำนวนสาขาในระบบธุรกิจและอายุธุรกิจ เนื่องจากจำนวนของสาขาจะทำให้เห็นแนวโน้มการเติบโตธุรกิจภาพรวม แสดงถึงความเข้มแข็งและความนิยมการลงทุนในตลาดรวมถึงสามารถสร้างการรับรู้ในตรายี่ห้อหรือรูปแบบการให้บริการและสินค้าได้ดีเพียงพอ ส่วนอายุธุรกิจจะบ่งบอกถึง ความเชี่ยวชาญความชำนาญในธุรกิจที่ดำเนินการว่ามากพอต่อการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจได้หรือไม่

สำหรับผลสำรวจธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยพบว่าปัจจุบัน ธุรกิจจะมีจำนวนสาขาในระบบแฟรนไชส์เฉลี่ยอยู่ที่ 12 สาขาขึ้นไป และ 77.9% ของทั้งระบบถือว่ามีร้านต้นแบบที่สมบูรณ์แล้ว จุดสำคัญของร้านต้นแบบนั้นคือ การสร้างแนวคิดและข้อพิสูจน์ทางธุรกิจว่ามีความเป็นไปได้ในการดำเนินการและสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนจริง ถือว่าเป็นความจำเป็นของธุรกิจที่จะต้องมีร้านค้าต้นแบบที่แสดงถึงธุรกิจและกระบวนการต่างๆที่ดำเนินการชัดเจน


แต่ก็ยังพบว่าสาขาที่มีอยู่นั้นยังขาดความเป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันยังมีความแตกต่างของรูปแบบร้านแต่ละสาขา อย่างไรก็ตามถือว่ามีการออกแบบที่มีจุดเด่นในการนำเสนอที่ชัดเจนถึง 69.8% จากระบบแฟรนไชส์ที่มีอยู่ในปัจจุบันกว่า 500 ธุรกิจ    

นอกจากนั้นยังพบว่า จำนวนสาขามีความสัมพันธ์กับอายุธุรกิจ เมื่อธุรกิจมีการเติบโตในระบบแฟรนไชส์มีโอกาสที่จะขยายสาขาได้มากขึ้น ข้อสรุปที่ได้พบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยยังถือว่าเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีการเติบโตมากพอ จำนวนสาขาของธุรกิจขนาดเล็กจะอยู่ในจำนวน 2- 10 สาขาเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อวิเคราะห์ระบบแฟรนไชส์ทั้งระบบพบว่า มีข้อแตกต่างระหว่างธุรกิจแฟรนไชส์ที่แข็งแรงและแฟรนไชส์ที่เพิ่งเริ่มต้นค่อนข้างเห็นได้ชัด ดังนั้นการเร่งการพัฒนาทั้งระบบการควบคุมคุณภาพของการจัดการบริหาร และการควบคุมสาขา เป็นโจทย์ของระบบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องเร่งแก้ไข

การแก้ไขจุดอ่อนแฟรนไชส์

ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยในปัจจุบันจะต้องเน้นการพัฒนาด้านการบริหารตราสินค้าและการตลาดเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสร้างตราสินค้าและส่งเสริมภาพลักษณ์ของระบบแฟรนไชส์ถือเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างตราสินค้านั้นต้องมีการลงทุนและจัดทำต่อเนื่อง

การสำรวจพบว่า มีจำนวนการลงทุนในการสร้างตราโดยประมาณกว่า 5 ล้านบาทจากการดำเนินการเฉลี่ย 5 ปี ข้อดีก็คือ ธุรกิจเหล่านั้นมีการสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าหลักของตรา รวมถึงการเน้นจุดเด่นของสินค้าที่นำเสนอ ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแต่ละธุรกิจมีการวางงบประมาณโฆษณาอยู่ที่ 2.79 % ของยอดขาย หรือ คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 1.37 ล้านบาทต่อธุรกิจ


นอกจากนั้นมีถึง 66.3% ที่มีการออกแบบสัญลักษณ์ประกอบตราสินค้าหรือ mascot ด้วย ภารกิจหลักของแฟรนไชส์ซอร์ นั่นคือจะต้องสร้างการรับรู้ต่อตราสินค้า (awareness) ของธุรกิจให้เกิดขึ้นทั้งระดับตลาดผู้บริโภคหรือที่เรียกว่า Macro Market  และ ตลาดของนักลงทุนหรือ Micro Market ให้ได้พร้อมกัน

มีข้อน่าสังเกตของระบบแฟรนไชส์ไทยคือ การจดลิขสิทธิ์ พบว่ามีธุรกิจที่สำรวจนั้นมีถึง 23% ที่ยังไม่ได้จดลิขสิทธิ์ในด้านการใช้ตราต่างๆ ซึ่งถือว่าจำเป็นต้องให้ความเข้าใจก่อนที่จะดำเนินธุรกิจด้านแฟรนไชส์ สำหรับกลุ่มที่จดลิขสิทธิ์แล้วจะเน้นในการจดเครื่องหมายการค้าเป็นส่วนใหญ่ และการกระจายของความนิยม และมีระยะเวลาของอายุตรามากที่สุดคือ 26 ปี และมีค่าเฉลี่ยที่ 5.64 ปี

ฝ่าพายุการแข่งขัน

ธุรกิจด้านแฟรนไชส์นั้นถือว่า ยิ่งนานวันจำนวนคู่แข่งขันทั้งทางตรงที่เป็นธุรกิจเดียวกันหรือต่างสินค้ากันแต่ว่าเสนอธุรกิจแฟรนไชส์เช่นเดียวกันมากขึ้น พบว่าธุรกิจสัดส่วนถึง 36%มีการแข่งขันสูงมากและอยู่ในการแข่งขันระดับปานกลาง 46% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงภาวการณ์แข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ระบบแฟรนไชส์นั้นจะต้องมีการแข่งขันสองมิติคือ การสร้างการยอมรับในตราสินค้าและตัวสินค้าจากผู้บริโภคและยังจะต้องแข่งขันในด้านการลงทุน เพื่อจะให้นักลงทุนสนใจในธุรกิจจะต้องมีการออกแบบและสร้างจุดเด่นในธุรกิจเพื่อแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ด้วยไปพร้อมกัน ในแต่ละธุรกิจนั้นเริ่มมีผู้ดำเนินการใกล้เคียงตนเองซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงนั้นส่วนใหญ่ระบุว่ามีจำนวนประมาณ 3 รายขึ้นไป


จุดอ่อนอีกข้อในธุรกิจแฟรนไชส์ของคนไทย คือ การเข้าใจพื้นฐานด้านการตลาดสำหรับร้านสาขาของตัวเอง จากการสำรวจพบว่ารูปแบบการคาดการด้านจำนวนของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อใช้ในการประกอบการวางแผนสร้างยอดขาย การจัดหาทำเลของธุรกิจ กลับพบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การทำธุรกิจระดับสาขายังขาดความเข้าใจและไม่สามารถระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตัวเองได้ ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องพัฒนาที่จำเป็นต้องเน้นเรื่องของการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเข้าใจลักษณะของกล่มลูกค้าเป้าหมายว่าเป็นลักษณะใด มีอัตราความถี่ในการใช้บริการสูงหรือไม่ รวมถึงความถี่ในการใช้บริการเดือนละ (ครั้ง)

เน้นในเรื่อง ความจำเป็นของสินค้าที่มีต่อผู้บริโภค เพื่อสร้างความเข้าใจในการสร้างตลาด การออกแบบธุรกิจและการเพิ่มศักยภาพในเชิงธุรกิจอย่างเร่งด่วน การเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าคือ ปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยิ่ง

การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ยังมีระยะทางอีกยาวไกลที่จะต้องก้าวเดินต่อไป การยกเครื่องระบบธุรกิจคือ คำตอบทั้งการขยายฐานลูกค้าและการขยายฐานแฟรนไชส์ซี เมื่อโอกาสที่ดีมาถึงต้องเร่งมือพัฒนา อย่ามัวแต่ปล่อยให้ธุรกิจลอยไปตามชะตากรรม สร้างความเข้าใจธุรกิจในทุกด้าน และเร่งพัฒนาทั้งทีมงาน กลยุทธ์ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้จริงอยู่เพียงปัจจัยเดียวคือ ศักยภาพของทีมงานที่มีความเข้าใจธุรกิจนั่นเอง 

บทความแฟรนไชส์ยอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
6 แฟรนไชส์มาใหม่! น่าลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม 2567..
24,143
“มูฟ อีวี เอกซ์” สร้างรายได้ดีแค่ไหน! ทำไมถึงน่า..
3,428
รวม 12 แฟรนไชส์โหนกระแส คนไทยไม่เคยลืม!
2,226
จริงมั้ย? กำเงิน 15 ล้านบาท ถึงจะซื้อแฟรนไชส์ DQ..
1,894
กลยุทธ์ “แดรี่ควีน” เจ้าไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟเมืองไ..
1,260
จริงมั้ย? 7-Eleven เห็นทำเลไหนดี เปิดเองแข่งสาขา..
1,225
บทความแฟรนไชส์มาใหม่
บทความอื่นในหมวด