บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.8K
3 นาที
25 มกราคม 2562
ส่อง!กลยุทธิ์ แก้ปัญหาคนเร่ร่อน 4,000 คนในกรุงเทพฯ


ภาพจาก goo.gl/images/bk7adY
 
ปัญหาคนเร่ร่อนในประเทศไทยยังไม่รุนแรง แสดงว่าแก้ไขได้ ไม่ควรปล่อยให้ขยายใหญ่โตจนเกินการแก้ไข โดยมีคนเร่ร่อนประมาณ 4,000 คนเท่านั้น คนไทยทุก ๆ 1,421 คนจึงจะมีคนเร่ร่อน 1 คน แต่ทางราชการก็ยังส่งเสริมสวัสดิการจำกัดมาก สังเกตจากงบประมาณที่น้อยมากของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะช่วยคนเร่ร่อน  ดร.โสภณประมาณว่างบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหานี้เป็นเงินเพียงปีละ 730 ล้านบาท ภายในเวลาไม่กี่ปี ประเทศไทยก็จะแทบไม่เหลือคนเร่ร่อนเลย
 
ในเช้าวันอังคารที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 10:00 น. ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนช่วยเหลือคนเร่ร่อน ได้จัดแถลงข่าวถึงข้อค้นพบเกี่ยวกับคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร อยุธยา และสมุทรสาคร
 
ทั้งนี้ ดร.โสภณ ได้แนะนำคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งประกอบด้วย ดร.โสภณ ในฐานะประธานกรรมการ รองประธานคือนางวิไลพรรณ หลวงยา เหรัญญิกคือนางสาวเหมพรรษ บุญย้อยหยัด และกรรมการอื่นๆ ประกอบด้วย นายยิ่งเกียรติ  เหล่าศรีศักดากุล นางมัทนา อัจจิมา และนางเยาวเรศ ราชเกสร  ส่วนเลขาธิการคือนางอัจฉรา สรวารี
 
ในช่วงแรกของการนำเสนอ นางอัจฉราแถลงสรุปตัวเลข สถานการณ์คนไร้ทีพึ่ง ปี 2561 โดยระบุว่า ณ สิ้นปี 2561 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะซึ่งอยู่ในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานครจำนวน 3,993 คน เพิ่มขึ้น 363 คน หรือเพิ่มขึ้นราว 10 % จากปี 2560 ซึ่งอาจมองว่าไม่มากเท่าไหร่ แต่ภาพปัญหาชัดเจนมากขึ้น เนื่องมาจากการจัดระเบียบเมือง ที่ส่งผลกระทบ ชัดเจน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนเร่ร่อน ที่เคยรวมกันอยู่ไม่กี่แห่ง เช่น แถวพาหุรัด สนามหลวง คลองหลอด แต่พอเกิดการจัดระเบียบแทนที่จะช่วยพวกเขาได้ แต่กลับทำให้คนเร่ร่อนกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ เช่น ตามสถานีรถไฟฟ้า BTS ตามสวนสาธารณะต่างๆ หรือไปตามต่างจังหวัดในปริมณฑล สมุทรสาคร อยุธยา ปทุมธานี เป็นต้น


ภาพจาก goo.gl/images/RYWV33
 
ดร.โสภณ กล่าวว่าการที่มูลนิธิอิสรชนมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของคนเร่ร่อนนั้นเพราะพวกเขาเป็นกลุ่มชายขอบที่สุดในสังคมไทย มีผู้ให้ความสนใจช่วยเหลือน้อยมาก เช่น หากเทียบจากการบริจาคช่วยเหลือหมาแมว ยังมีคนสนใจบริจาคมากกว่า  คนเร่ร่อนได้รับการเข้าใจผิดว่าเป็นคนที่งอมืองอเท้าคล้ายพวกขอทาน แต่ขอทานเป็นอาชีพที่ไม่สุจริตทางหนึ่ง เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เป็นอาชญากรรม และเป็นการเข้ามาขอทานจากประเทศเพื่อนบ้าน  คนที่ออกมาเร่ร่อนนอนข้างถนน คงต้องมีปัญหาทางเศรษฐกิจและจิตใจอย่างรุนแรง หรือหมดทางเลือก เพราะในชีวิตจริงคงไม่มีใครอยากนอกข้างถนนเช่นนี้

ปัญหาสำคัญของคนเร่ร่อนประการหนึ่งก็คือมีคนเร่ร่อนจำนวนมากไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ กลายเป็นประชาชนชายขอบ เข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ นั่นเอง  ยิ่งในกรณีเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิต ก็ยิ่งทำให้พวกเขาประสบความยากลำบาก ดังนั้นอายุขัยของคนเร่ร่อนจึงมักสั้นกว่าปกติ ในขณะที่ประชากรไทยมีอายุขัยอยู่ประมาณ 75.1 ปี https://bit.ly/1nk5eRW) แต่คนเร่ร่อนน่าจะมีอายุขัยต่ำกว่านี้มาก  ดร.โสภณเชื่อว่าอาจมีอายุประมาณไม่ถึง 50 ปี  อย่างไรก็ตามในกรณีสหราชอาณาจักร ผลสำรวจล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2561 พบว่าคนเร่ร่อนอังกฤษมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 44 ปีเท่านั้น https://bit.ly/2HqdjJb)

ดร.โสภณเห็นว่านโยบายการจัดระเบียบเมืองของกรุงเทพมหานครนั้น ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาได้  การจัดระเบียบเมืองให้สวยงาม เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ควรที่จะปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนอย่างเป็นระบบด้วย  การไล่คนเร่ร่อนให้พ้นไปจากเกาะรัตนโกสินทร์โดยไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ทำให้เกิดการแพร่กระจายคนเร่ร่อนและอาจสร้างปัญหาเพิ่มเติม  ทางราชการควรจัดหาที่อยู่อาศัยให้คนเร่ร่อนเพื่อหวังพวกเขาสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมปกติได้ ไม่ใช่ให้พวกเขาอยู่ในบ้านพักอย่างถาวร
 
ดร.โสภณประเมินว่าจำนวนคนเร่ร่อนเกือบ 4,000 คนในกรุงเทพมหานครนี้ เทียบได้เพียง 0.07% ของคนในกรุงเทพมหานคร https://bit.ly/2ga5TI4) หรืออาจกล่าวได้ว่าในจำนวนคนกรุง 1,421 คนจะมีคนเร่ร่อน 1 คน  ในขณะที่นครนิวยอร์ก มีคนเร่ร่อนถึง 64,000 คน https://bit.ly/1uCPVcG) หรือ 0.78% ของประชากรนครนิวยอร์กที่  8,175,133 คน https://on.nyc.gov/2mjmsDO) ;ดังนั้นสถานการณ์คนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานครจึงยังไม่เลวร้ายนัก สามารถที่จะแก้ไขได้ทันท่วงที


ภาพจาก goo.gl/images/CLpGxY

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยคงไม่มีหน่วยราชการใดที่จะช่วยเหลือคนเร่ร่อนได้เท่าที่ควร เพราะมีงบประมาณจำกัด อย่างเช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีงบประมาณอยู่เพียง 12,863,513,700 บาท ลดลงจากงบประมาณปี 2561 ที่ 13,717,537,300 บาท 6.3% https://bit.ly/2W6wDya) ในขณะที่งบประมาณแผ่นดินปี 2562 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท แสดงว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของงบประมาณแผ่นดิน  การที่รัฐบาลเจียดงบประมาณให้กับสวัสดิการสังคมน้อย คนเร่ร่อนจึงไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร
 
จะเห็นได้ว่าสวัสดิการสังคมต่างๆ มีจำกัดมาก  ในจำนวนสถานสงเคราะห์ 324 แห่งทั่วประเทศ https://bit.ly/2T4hADq) ที่สามารถบริจาคและหักลดหย่อนภาษีได้นั้น  ส่วนหนึ่งเป็นของภาคเอกชน ส่วนหนึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมโดยตรง ที่เกี่ยวข้องประมาณ 200 แห่งนั้น ก็ไม่สามารถรับคนเร่ร่อนหรือผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ได้มากนัก หรือแทบจะรับใหม่ไม่ได้มากนักในแต่ละปี จึงไม่อาจให้บริการได้ทั่วถึง


ภาพจาก goo.gl/images/QNQ5sw

ดร.โสภณเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน  หากต้องการทำให้คนเร่ร่อนหมดไป สามารถทำได้ไม่ยาก โอกาสที่จะกลับมาเร่ร่อนใหม่ก็จะจำกัด โดยค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณปีละ 730 ล้านบาทนี้ยังมีเพียงสัดส่วนเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้ากรุงเทพมหานคร "เจียด" เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดาย
 
โดยสรุปแล้วการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น สามารถทำได้ไม่ยากนัก เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก หากรัฐบาลจัดงานประมาณเพื่อการนี้ และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ปัญหานี้ก็สามารถได้รับการแก้ไขเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อย่าให้เกิดการบีบคั้นจนสังคมมีคนเร่ร่อนเต็มไปหมด

ข้อเสนอพิเศษ


ภาพจาก goo.gl/images/FsnCSP

ขอยืมใช้หรือเช่าที่ดินระยะสั้นเพื่อคนเร่ร่อน
 
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานมูลนิธิอิสรชน ขอรับบริจาค เช่าระยะสั้น หรือยืมใช้ที่ดินใจกลางเมืองที่เจ้าของยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้ไร้บ้าน โดยที่ดินดังกล่าวมีลักษณะดังต่อไปนี้
  1. มีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ หรืออาจเป็นอาคาร เช่น ทาวน์เฮาส์ ตึกแถวหรือบ้านเดี่ยวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
  2. ในกรณีที่ดินเปล่า มูลนิธิอิสรชน อาจจัดเป็นเตนท์โดยไม่มีการก่อสร้างอาคารใด ๆ ไม่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน หรืออาจขอตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนเร่ร่อนในยามค่ำคืนโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุนชนโดยรอบ
  3. อาคารหรือที่ดินควรตั้งอยู่ในเขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน หรือเขตบางรัก ในระยะแรกนี้
 
ทั้งนี้เจ้าของทรัพย์อาจอนุญาตให้ใช้ในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ โดยหากเกิน 3 ปี มูลนิธิจะขอเช่าในราคาถูก แต่หากเจ้าของที่ดินต้องการจะใช้ที่ดินเมื่อใด มูลนิธิยินดีย้ายออกก่อนกำหนดเวลาโดยไม่ขอรับค่าขนย้ายใด ๆ เพียงแต่แจ้งล่วงหน้า 2-3 เดือน

สำหรับการจัดที่พักพิงชั่วคราวนี้ มูลนิธิจะจัดที่สำหรับการหลับนอนที่ปลอดภัยในยามค่ำคืน (ตั้งแต่เวลา 19:00 - 07:00 น. ของวันรุ่งขึ้น) แก่คนเร่ร่อนหรือประชาชนทั่วไปที่ขาดที่พักพิงชั่วคราว เช่น เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดแต่ไม่พบญาติมิตร เป็นต้น มีพื้นที่สำหรับการอาบน้ำ มีอาหารในมื้อเช้าและมื้อค่ำ และมียารักษาโรคสำหรับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น
 
อนึ่งสำหรับท่านที่ประสงค์จะให้การช่วยเหลือคอนเทนเนอร์เก่า เวชภัณฑ์ เครื่องนอนหมอนมุ้ง อาหาร หรืออื่น ๆ ก็สามารถแสดงความจำนงได้เช่นกัน
 
สำหรับผู้ที่ให้การสนับสนุน มูลนิธิจะตอบแทนด้วยการประชาสัมพันธ์การทำความดีนี้ผ่านสิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์ของมูลนิธิ ตั้งชื่อบ้านตามชื่อที่ผู้ให้การสนับสนุนต้องการ เป็นต้น
 
ผู้สนใจสามารถติดต่อ
ดร.โสภณ ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน


โทร. 02 -295-3905
Email : sopon@area.co.th


ผู้แถลง

ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th)

ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
715
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
532
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
433
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด