บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การตลาด บริหารธุรกิจ    การตลาดออนไลน์ SEO
2.6K
2 นาที
13 กันยายน 2562
ธุรกิจอาหารออนไลน์ โอกาสที่ยังเติบโตได้อีกมาก
 

หัวข้อหนึ่งในงานสัมมนาในงาน Thailand e-Commerce Day ที่ผ่านมา ที่มีความน่าสนใจมากเลยทีเดียวก็คือเรื่องของการขายของร้านอาหารต่าง ๆ ด้วย Online Delivery Service ในงานได้มีการเชิญ GET ซึ่งเป็นบริการส่งอาหารทางออนไลน์ Wongnai แอปพลิเคชันร้านอาหารอันดับ 1 ของไทย และร้านขายน้ำแข็งไสหวานเย็นหรือขนมหวาน เช็งซิมอี๊ มาพูดคุยกันถึงว่า หากคุณเป็นธุรกิจร้านอาหารจะมีการปรับตัวอย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
 
ผมขอสรุปให้อ่านกันตรงนี้เลย ปัจจุบันร้านขายอาหารที่มีชื่อในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ได้มีการปรับตัวกันแล้ว จะเห็นว่าบางร้านในช่วง 11 โมงจะเป็นช่วงที่มีการสั่งอาหารทางออนไลน์สูงที่สุด สูงกว่าช่วงเย็นด้วยซ้ำไป ในช่วงพีคนี้มักมีพนักงานขับรถที่จะซื้ออาหารมารอกันจำนวนมาก หากในปัจจุบันคุณเป็นเจ้าของร้านอาหารหรือกำลังจะเปิดร้านอาหารใหม่ คำแนะนำก็คือคุณต้องเอาระบบการสั่งซื้ออาหารออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของคุณด้วย เช่น ต้องอยู่ใน LINE MAN, Grab Food,  GET Food, Foodpanda ฯลฯ 

ภาพจาก  bit.ly/2kxRZqA
 
แต่หากร้านอาหารใดที่ไม่มีการวางแผนที่ดีอาจทำให้การสั่งอาหารออนไลน์กลายเป็นการเข้าไปเบียดคิวลูกค้าที่มาหน้าร้านค้าจนเกิดปัญหา เพราะทางร้านไม่ได้มีการนำจำนวนออเดอร์ที่สั่งทางออนไลน์มารวมในกระบวนการบริหารจัดการ จึงมีหลายร้านที่แยกการทำอาหารส่งทางออนไลน์ออกมาต่างหาก โดยแยกครัวแยกทีมออกมาเลย 
 
นั่นหมายถึงเมื่อมีการสั่งซื้อทางออนไลน์เข้ามา ออเดอร์จะแยกออกมาอีกทางหนึ่งทันที ไม่ไปกวนกับลูกค้าที่มาสั่งทางหน้าร้านค้า อย่างตอนที่ผมไปประเทศจีนก็เห็นว่ามีร้านอาหารบางแห่งที่เปิดขึ้นมาโดยไม่มีหน้าร้านเลย เป็นครัวไพรเวท การสั่งซื้อทั้งหมดเป็นแบบออนไลน์คือไม่รับลูกค้าหน้าร้าน เป็นครัวที่ทำขึ้นมาเพื่อขายบนออนไลน์เท่านั้น 
 

ภาพจาก  bit.ly/2kxRZqA
 
ตอนนี้บริการสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์ได้ขยายไปทั่วประเทศ ไปตามหัวเมืองหลัก ไม่ว่าจะเป็นพัทยา เชียงใหม่ หาดใหญ่ ฯลฯ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ๆ ธุรกิจอาหารมีตัวเลือกอยู่มากและยังเป็นธุรกิจที่มีการซื้อซ้ำได้ทุกวัน ทำให้ธุรกิจอาหารมีอัตราการเติบโตสูง ตลาดสั่งอาหารในเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 3% ในขณะที่เมืองจีนขึ้นไปเกือบ 20-30% ฉะนั้นจึงมีโอกาสโตได้อีกมหาศาลเลยทีเดียว 
 
หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร วันนี้ต้องเริ่มโฟกัสที่จะทำให้ธุรกิจของคุณโดดเด่นและเข้าตาลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชันที่กล่าวมา ซึ่งการไปอยู่บนแอปเหล่านี้ส่วนใหญ่ฟรี แต่หากต้องการให้คนเห็นเราชัดเจนมากขึ้นก็สามารถซื้อแพ็กเกจโฆษณาต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ เพื่อให้ธุรกิจโดดเด่นและะมีออเดอร์เพิ่มมากขึ้นได้  
 

ภาพจาก bit.ly/2kxRZqA
 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากร้านเช็งซิมอี๊ที่ทำธุรกิจมา 60 ปี จนปัจจุบันเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ได้มีการปรับตัวเองเข้ามาอยู่ในแอปพลิเคชันอย่าง GET หรือ Wongnai บอกได้ว่าเทรนด์ที่ลูกค้าสั่งทางออนไลน์โตขึ้นมากจริง ๆ โดยยืนยันจากออเดอร์ที่มีเข้ามาจำนวนมากในช่วงตอนเย็น 
 
นอกจากการเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านี้แล้ว ยังต้องมีวิธีการจัดการกับอาหารให้ไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องคือให้อร่อยเหมือนเดิม หน้าตาเหมือนเดิม ไม่ทำให้คุณภาพลดลง จุดนี้ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ อย่างขนมหวานของเช็งซิมอี๊เองที่มีเรื่องของการบรรจุน้ำแข็งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เขาจึงใช้กล่องโฟมที่ทำเป็นพิเศษ เพื่อให้ขนมที่ไปถึงมือลูกค้ายังได้อารมณ์เดียวกับเวลาที่สั่งทางหน้าร้าน 

ภาพจาก bit.ly/2lLl0PN
 
การทำร้านอาหารในยุคนี้พลาดไม่ได้เลยยิ่งเป็นร้านอาหารเกิดใหม่หรือยังไม่มีคนรู้จัก ผมขอแนะนำว่าคุณต้องเริ่มสร้างแบรนด์ ต้องทำให้คนมากินมารีวิวร้านอาหารของคุณ ต้องทำให้คนในโลกออนไลน์รู้จักคุณมากขึ้น ไม่ใช่เป็นแบบปากต่อปากเหมือนทั่ว ๆ ไป เพราะเมื่อมีคนพูดถึงในโลกออนไลน์มากและได้สร้างตัวตนอยู่บนแอปพลิเคชันเหล่านี้แล้ว โอกาสที่คุณจะได้ออเดอร์หรือมีคนสั่งอาหารผ่านแอปเหล่านี้จะเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น และรายได้ที่มีเข้ามาก็จะโตขึ้นตามมา
 
ในประเทศไทยการส่งอาหารออนไลน์มีที่ประสบความสำเร็จแล้วจนเกิดเป็น business model ใหม่ขึ้นมา คือ co-cooking space เป็นครัวกลางที่ร้านอาหารออนไลน์สามารถมาเช่าครัวนี้ทำอาหารเป็นรอบ ๆ เมื่อทำเสร็จก็ออกไป เป็นการลดต้นทุนลงไปได้ อย่างของ Wongnai Co-Cooking Space ที่ True Digital Park 

ภาพจาก bit.ly/2lLl0PN
 
เทรนด์การสั่งอาหารออนไลน์นี้น่าสนใจและเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างใหม่มาก ในช่วง 1-2 ปีนี้เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ และแนวโน้มของคนที่จะสั่งอาหารออนไลน์มันโตไม่หยุดและมีแนวโน้มโตขึ้นอีกสูงมาก ฉะนั้น ใครที่ทำร้านอาหารอยู่ ต้องเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าทางออนไลน์ เพราะสามารถเติมและเพิ่มยอดขายให้กับร้านอาหารได้เลยโดยที่ไม่ได้ไปเบียดบังกับพื้นที่ในร้านค้าเลย 
 
แต่การทำ Food Ordering หรือ Food Delivery นั้นโดยเฉพาะอาหารสดก็มีจุดอ่อนคือขายได้เฉพาะภายในพื้นที่เท่านั้น จะเกิดขึ้นได้ตามหัวเมืองและต้องมีระบบขนส่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในจุดเท่านั้น คือยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่หากสามารถนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปอาหารให้มี life cycle หรืออายุอาหารให้นานมากขึ้น โอกาสก็จะดีมากขึ้น 
 
อย่างร้านราเมนที่ญี่ปุ่นบางร้านจะมีราเมนแพ็กไว้พร้อมน้ำซุป มีกรรมวิธีฆ่าเชื้ออย่างดี สามารถซื้อกลับไปและนำมากินที่บ้านได้เลย รสชาติเหมือนกินที่ร้าน มีการบรรจุที่สวยงาม นี่คือตัวอย่างของกระบวนการปรับปรุงคุณภาพและการผลิตที่ดีอันหนึ่ง เรื่องนี้หากใครที่สนใจผมบอกได้เลยว่าอย่ามัวแต่รอ ต้องลงมือทำวันนี้เลยครับ
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,681
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,319
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
520
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
520
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
461
นักธุรกิจ vs นักธุรโกย ต่างกันอย่างไร
434
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด