บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
2.9K
3 นาที
15 ตุลาคม 2562
5 วิธีคิด ให้ลูกค้ากาแฟนั่งนานได้แค่ไหน?


เป็นกระแสที่แรงพอตัวในช่วงนี้กับกรณีที่ลูกค้ารายหนึ่งเข้าไปใช้บริการในร้านกาแฟย่านปทุมธานี และปรากฏเป็นข่าวว่าแม่เจ้าของร้านเกิดอาการไม่พอใจและดึงปลั๊กลูกค้ารายนี้ออก พร้อมกับการโต้เถียงดังที่ปรากฏตามหน้าข่าวและกลายเป็นกระแสที่พูดถึงในโลกออนไลน์ ถึง “ความเหมาะสม” โดยหลายเสียงที่ออกมาส่วนใหญ่เห็นใจฝั่ง “ร้านกาแฟ” ซึ่งก็เกิดเป็นคำถามตามมาเช่นกันว่า “เหตุการณ์แบบนี้ ร้านกาแฟจะมีวิธีป้องกันอย่างไร”
 
ซึ่ง www.ThaiFranchiseCenter.com เชื่อว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้คงไม่ใช่ครั้งแรก และคงมีร้านกาแฟอีกหลายแห่งที่อาจจะเจอปัญหาในลักษณะนี้เพียงแต่ “ไม่เป็นข่าว” ลองมาดูแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่าจะทำอะไรได้บ้าง
 
ร้านกาแฟ “เข้าใจคอนเซปต์ตัวเอง” ว่าต้องการอย่างไร


ภาพจาก bit.ly/2IQm5hP
 
จุดขายของร้านกาแฟหลายคนมองว่าคือสถานที่นั่งชิลๆ อาจใช้ทำงานได้บ้าง ซึ่งภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ของร้านกาแฟก็เป็นแบบนั้นหากคุณนั่ง 1-2 ชั่วโมงอันนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ก็มีแบรนด์ใหญ่บางรายที่วาง “ตำแหน่งร้าน” ว่าเป็นคาเฟ่ให้ลูกค้ามานั่งเล่น ถ่ายรูปเล่นได้ แน่นอนว่าร้านกาแฟสไตล์นี้เขาต้องยอมรับได้กับการที่ลูกค้าจะนั่งนานๆ หรือนั่งทั้งวันเขาก็ไม่ว่า เพราะถือว่าลูกค้ายอมจ่ายเงินซื้อกาแฟ เพื่อบรรยากาศ ฉะนั้นหลายๆ ร้านจึงใช้เทคนิคตั้งราคาอาหารค่อนข้างสูง เพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสในการรับลูกค้าท่านอื่นๆ


ภาพจาก bit.ly/2MfIrv5
 
ยกตัวอย่าง Starbucks แบรนด์กาแฟที่วางคอนเซปต์ ว่า ไม่ได้ต้องการขายกาแฟ แต่ต้องการเป็นสังคมย่อมๆให้คนได้เข้ามานั่งเล่น พบปะ พูดคุย และขายประสบการณ์ดีๆ ให้ลูกค้า ดังนั้น Starbucks จึงอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทุกอย่าง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ Starbucks ทำได้คือ พื้นที่ร้านกว้าง รองรับลูกค้าได้มาก และต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจากมีหลายสาขาทำให้อำนาจการต่อรองกับซัพพลายเออร์สูง
 
ที่สำคัญราคาเครื่องดื่มสูงกว่าร้านกาแฟทั่วไป 2 – 3 เท่า นั่นแปลว่าการที่  Starbucks รับลูกค้าคนเดียว กลับมียอดขายเทียบเท่ากับร้านกาแฟเล็กๆ รับลูกค้า 2 – 3 คน Starbucks จึงสามารถปล่อยให้ลูกค้านั่งนานๆ ได้โดยไม่เดือดร้อน นี่คือข้อได้เปรียบของแบรนด์ใหญ่ สำหรับร้านกาแฟแบบทั่วไปคงยากที่จะทำตามแนวทางนี้ของ Starbucks ได้
 
ต้นทุนกาแฟ 1 แก้ว คุ้มกับค่าไฟแค่ไหน? (ในกรณีลูกค้านั่งนาน)


ภาพจาก bit.ly/2MgOI9T
 
ตามข่าวที่ปรากฏลูกค้ารายนี้สั่งเอสเปรสโซ่ในราคา 40 บาทแต่นั่งทำงานเสียบปลั๊กใช้โน๊ตบุ๊คนานกว่า 5-6  ชั่วโมง ถ้ามองจากเคสนี้ กาแฟ 40 บาทยังไงก็ไม่คุ้มค่าไฟ 5-6 ชั่วโมงเป็นแน่ ลองมาดูต้นทุนรวมๆของร้านกาแฟที่กาแฟ 1 แก้วมีต้นทุนแฝงค่อนข้างมาก ทั้งค่าเช่าสถานที่ ซึ่งถ้าทำเลดีๆ อยู่ในย่านออฟฟิศสำนักงาน อาจสูงถึงเดือนละหลายหมื่นบาท ค่าพนักงานขั้นต่ำก็ 13,000 บาท แต่ถ้าจ้างบาริสต้าเก่งๆ ก็ต้องจ่ายแพงกว่านั้น ไหนจะค่าสวัสดิการ ค่าอาหาร ค่า OT จิปาถะ


ภาพจาก bit.ly/2ISWAMN
 
นอกจากนี้ยังมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื่อมของเครื่องชงกาแฟ ค่าแก้ว ค่าทิชชู่ ฯลฯ เมื่อนำมาคำนวณแล้ว กำไร 1 แก้ว จะเหลือประมาณ 20% เท่านั้น ฉะนั้นถ้าขายกาแฟราคาแก้วละ 60 บาท เราจะได้กำไรประมาณ 12 บาทเท่านั้น สมมติว่ามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เป็น Fixed cost (ค่าเช่า ค่าพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ) 30,000 บาท เท่ากับว่าต้องขายกาแฟให้ได้เดือนละ 2,500 แก้ว ถ้าเปิดร้าน 20 วัน ต่อเดือน เท่ากับว่า 1 วัน เราต้องขายให้ได้ 125 แก้ว เพื่อ “เท่าทุน”
 
จึงไม่น่าแปลกที่ร้านกาแฟที่ปรากฏในข่าวจะออกมาโวยวายเพราะกรณีนี้ถือเป็นการบั่นทอนรายได้ทางธุรกิจปิดโอกาสลูกค้ารายอื่นที่จะเข้ามา แทนที่จะรับลูกค้าได้มากขึ้นก็รับได้น้อยลงกว่าเดิม ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนก็ยังมีเท่าเดิมจึงถือว่าเป็นเหตุผลที่พอจะฟังขึ้นของฝั่งร้านกาแฟ
 
5 วิธีป้องกันลูกค้านั่งนาน ในร้านกาแฟ
 
1. ติดป้ายประกาศข้อกำหนดให้ชัดเจน
 
ร้านกาแฟหลายแห่งไม่นิยมติดป้ายประกาศในเรื่องเวลาของการใช้ไฟฟ้า หรือการนั่งในร้านแบบนานๆ ด้วยกลัวจะ “เสียลูกค้า” เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็มองว่า “ร้านกาแฟเรื่องมาก” ไปร้านอื่นดีกว่า หลายร้านก็เลยยอมรับสภาพกับการที่ลูกค้าแต่ละคนมีมารยาทในการเข้าร้านกาแฟไม่เหมือนกัน บางคนเมื่อรู้ว่าตัวเองนั่งนานเกินไปก็จะเกรงใจและออกจากร้านเพื่อให้ลูกค้าคนอื่นได้เข้ามาใช้บริการบ้าง
 
แต่ในขณะที่ลูกค้าบางรายคิดว่าตัวเองเสียเงินแล้วจะนั่งนานแค่ไหนก็ได้ กลายเป็นปัญหาที่ร้านกาแฟต้องเจอ ลองเปลี่ยนแนวคิด มาเขียนข้อกำหนดให้ชัดเจน เพราะเชื่อว่าลูกค้าหลายคนเขารับกับกฏกติกานี้ได้และก็เป็นข้อตกลงที่ยุติธรรมทั้งฝั่งเจ้าของร้านและลูกค้า วิธีนี้อาจจะเป็นการคัดกรองลูกค้าที่ดีๆ ให้เข้ามาในร้านเราได้ด้วย
 
2. ให้รหัส Wifi จำกัดเวลา ไม่มีปลั๊กบริการ


ภาพจาก EDTguide.com
 
ร้านกาแฟหรือคาเฟ่หลายๆ แห่ง มักใช้วิธีนี้บอกลูกค้ากลายๆ ว่าเราจำกัดเวลา ไม่ให้นั่งนาน เพราะลูกค้าบางกลุ่มมักมานั่งทำงานเป็นเวลานาน ทำให้ร้านรับลูกค้ารายอื่นไม่ได้ และสูญเสียรายได้ไป ดังนั้นร้านส่วนใหญ่จึงให้รหัส Wifi ไว้กับใบเสร็จ โดยจะมีเวลาจำกัดประมาณ 1.30 – 2 ชั่วโมง เมื่อหมดชั่วโมงก็ต้องซื้อแก้วใหม่ ถ้าลูกค้าจำเป็นต้องใช้ Wifi จริงๆ ก็ต้องยอมจ่าย เพื่อรับบริการนี้
 
เช่นเดียวกัน การไม่มีปลั๊กไฟก็จะช่วยให้ลูกค้าลุกเร็วขึ้นได้เช่นกัน เพราะไม่มีที่ชาร์ตคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน วิธีนี้นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาลูกค้านั่งนานได้แล้ว ยังเป็นการกรองกลุ่มลูกค้าได้อีกด้วย เพราะลูกค้าที่อยากนั่งคาเฟ่นานๆ เพื่อทำงาน ย่อมมองหาร้านที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มากกว่า
 
3. อย่าเลือกเก้าอี้แบบนั่งสบายมากเกินไป
 
เป็นรายละเอียดเล็กน้อยแต่น่าสนใจ หากเคยสังเกตจะพบว่า เวลาไปร้านอาหาร คาเฟ่ หรือร้านประเภทฟาสต์ฟู้ดบางร้านแล้วรู้สึกว่า เก้าอี้นั่งไม่สบายเลย ทั้งแข็ง ไม่มีเบาะนุ่มๆ บางคนอาจคิดว่า เป็นเพราะร้านประหยัดค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อทำให้ลูกค้าลุกจากร้านเร็วขึ้น เพราะรู้สึกว่านั่งนานๆ แล้วไม่สบายตัว ลุกไปที่อื่นดีกว่า ทำให้ร้านมีเพิ่มโอกาสรับลูกค้าได้มากขึ้น
 
แต่ร้านกาแฟส่วนใหญ่มักจะมองเรื่องความรู้สึกลูกค้าเป็นสำคัญและอยากให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและสบาย จึงเลือกเก้าอี้นิ่มๆ นุ่ม นั่งสบาย ซึ่งก็อาจเป็นดาบสองคมได้ หากเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ดีร้านกาแฟก็ควรกำหนดมาตรการอื่นๆ มาป้องกันลูกค้านั่งแช่แทน
 
4. ใช้เสียงเพลงกระตุ้นลูกค้า


ภาพจาก bit.ly/33AMTKH
 
เสียงเพลงกับร้านกาแฟอาจเป็นของคู่กัน รวมไปถึงร้านอาหารบางแห่งก็มีการเปิดเพลงคลอๆ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าเพลิดเพลิน บางร้านถึงกับมีการกำหนดเพลงที่จะเล่นในร้านตามช่วงเวลาต่างๆ รวมถึงบางร้านมีการกำหนดระดับเสียงในการเปิดเพลงด้วย บางร้านเปิดเพลงชิลๆ เบาๆ ก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลาย นั่งได้เรื่อยๆ นั่งได้นาน แต่บางร้านที่อยากกระตุ้นให้ลูกค้าลุกเร็วขึ้น ก็อาจเลือกเปิดเพลงหนักๆ เช่น เพลงร็อค เพลงแร๊ป ในระดับเดซิเบลที่ค่อนข้างดัง เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าตื่นตัว และลุกจากร้านเร็วขึ้น
 
5. เก็บจาน วางบิล ด้วยความสุภาพ
 
ดูเผินว่าเป็นวิธีสุภาพแต่อาจจะเรียกว่า “หักดิบ” ลูกค้าได้เลยทีเดียว สิ่งสำคัญคือต้องเทรนด์พนักงานให้เข้าใจวิธีการเข้าหาลูกค้าที่นั่งนาน และการพูดจาต้องสุภาพอ่อนโยน ใบหน้าต้องยิ้มแย้มเสมอ คำถามคือกรณีไหนที่จะใช้วิธีการเก็บจาน วางบิล และสอบถามลูกค้าว่าต้องการอะไรเพิ่มไหม ก็ให้ดูเคสบายเคส เช่น นั่งนานเกิน 2 ชั่วโมง และมีลูกค้าคนอื่นรออยู่หน้าร้าน ก็อาจจะเริ่มด้วยการขออนุญาตเก็บจาน พร้อมเข้าไปสอบถามว่า ต้องการอะไรเพิ่มไหม หากลูกค้าไม่ต้องการอะไรเพิ่มก็ขออนุญาติวางบิล รวมถึงต้องคุยกับลูกค้าให้รู้สึกว่าเราไม่ได้ “ไล่” หากเป็นลูกค้าที่มีความเกรงใจเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ควรเร่งรัดลูกค้าจนรู้สึกว่าอึดอัด เราต้องทำเพียงเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจว่าเรากำลังกระตุ้นให้เขาสั่งอาหารเพิ่ม หรือไม่ก็ให้เขาลุกจากโต๊ะเนื่องจากนั่งอยู่ในร้านมานานเกินพอแล้ว
 
การเปิดร้านกาแฟในสไตล์คาเฟ่ย่อมเจอลูกค้าหลากหลายประเภทมีทั้งคนที่มีมารยาทรู้จักเกรงใจ และบางคนที่ไม่มีมารยาทไม่มีคำว่าเกรงใจ ผู้ประกอบการหลายคนต้องใช้ความอดทนอย่างสูงในการรับมือลูกค้าหลากหลายประเภท เพราะอย่าลืมว่ายุคนี้โซเชี่ยลมาแรง อะไรดีไม่ดี โพสต์ลงเฟซบุ๊ค แป๊บเดียวกลายเป็นข่าวได้ทันที การเปิดร้านกาแฟให้ประสบความสำเร็จก็ต้องมีการกำหนดแนวทางและการบริหารจัดการที่ดีและต้องมีวิธีรับมือลูกค้าที่คาดไม่ถึงด้วย
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

SMEs Tip
  1. ติดป้ายประกาศข้อกำหนดให้ชัดเจน
  2. ให้รหัส Wifi จำกัดเวลา ไม่มีปลั๊กบริการ
  3. อย่าเลือกเก้าอี้แบบนั่งสบายมากเกินไป
  4. ใช้เสียงเพลงกระตุ้นลูกค้า
  5. เก็บจาน วางบิล ด้วยความสุภาพ
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
791
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
709
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
640
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
521
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
432
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
420
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด