บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
2.5K
3 นาที
18 พฤษภาคม 2563
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ”


 
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยยอดผู้ติดเชื้อประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 คน รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,018 คน หายแล้ว 2,850 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม และด้วยสถานการณ์ที่ดูจะเริ่มคลี่คลายมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 2 ซึ่งก็ดูเหมือนว่าทางภาครัฐเองก็กำลังเตรียมรับมือหากมีการผ่อนปรนโดยหนึ่งในวิธีการที่ภาครัฐเตรียมนำมาใช้คือ “แอปพลิเคชั่น ไทยชนะ” ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวให้ใช้ผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 15-17 พฤษภาคมนี้
 
www.ThaiFranchiseCenter.com มองว่านี่คือ New normal อีกอย่างที่เราต้องปรับตัวและพบเจอซึ่งหลายคนอาจยังสงสัยและไม่เข้าใจในวิธีการทำงานของ “แอปพลิเคชั่น ไทยชนะ” เราจึงรวบรวม 10 เรื่องจริงของแอปพลิเคชั่นใหม่ล่าสุดนี้มาฝากกัน
 
1. จัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)


ภาพจาก bit.ly/2LAwLSv
 
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ร่วมกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จัดทำแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการรองรับกรณีที่จะมีการประกาศผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 2 โดยตั้งใจที่จะพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และให้ทราบข้อมูลความหนาแน่นของประชาชนในแต่ละร้านค้า เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรครอบที่ 2
 
2. จาก “หมอชนะ” สู่ “ไทยชนะ”


ภาพจาก bit.ly/2LAx5AH
 
แอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” จะเริ่มเปิดให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 แต่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 มีแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เปิดตัวขึ้นมาก่อนชื่อว่า “หมอชนะ” เพื่อใช้ติดตามและประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาด COVID-19รูปแบบการใช้งาน "หมอชนะ" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ที่มีผู้ติด COVID-19 โดยเป็นผลงานร่วมระหว่าง กลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระ Code for Public, กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซอฟต์แวร์-วิเคราะห์ข้อมูลชื่อ กลุ่มช่วยกัน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษาอีกจำนวนมาก
 
3. ถอดบทเรียนต้นแบบจากจีนและเกาหลีใต้


ภาพจาก bit.ly/2LGl9gM
 
แอป “ไทยชนะ” ถือว่าเป็นการพัฒนาโปรแกรมที่ได้จากการถอดบทเรียนจากจีนและเกาหลีใต้ที่ได้มีการผ่อนปรนหลายมาตรการไปก่อนหน้า อย่างในเกาหลีใต้ มีการตรวจคัดกรองแบบไดรฟ์ทรู โรงพยาบาลแยกพื้นที่ในการรักษาผู้ป่วยและใช้ App Self Safety และโปรแกรมโพเทคชั่น ส่วนในประเทศจีน มีการกำหนดโรงพยาบาลสำหรับรักษาผู้ป่วย 29 โดยเฉพาะแจกใบอนุญาตเข้าออกชุมชนแบบจำกัดจำนวนคนในแต่ละวันให้ผู้นำชุมชน ติดตามสถานะสุขภาพของลูกบ้าน ด้วยการเยี่ยมและโทรศัพท์สอบถามอย่างใกล้ชิด และให้ประชาชนสแกน QR Code และบาร์โค้ด ทุกครั้งที่ออกและเข้าสถานที่ต่างๆเพื่อตรวจประวัติสุขภาพ และการเดินทาง พร้อมกับให้ประชาชนสามารถปรึกษาแพทย์ ซื้อยา ชำระค่าตรวจผ่านแอปแทนการเดินทางมาโรงพยาบาล
 
4. หลักการทำงานของแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ”


ภาพจาก bit.ly/3fZiJYH
 
แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ใช้ในการเช็กอิน-เอ้าท์ การเข้าออกการรับบริการจากร้านต่างๆ ประชาชนที่ใช้ระบบจะได้ทราบความหนาแน่นของผู้ใช้บริการในร้านค้านั้นๆและสามารถตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไปร้านอื่น ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการติดตามผู้ติดเชื้อ ถ้าได้ข้อความแจ้งจากระบบให้ตรวจเชื้อ จะสามารถเข้าตรวจได้ฟรี โดยเริ่มต้นผู้ประกอบการ หรือร้านค้าจะต้องไปลงทะเบียนในเว็บไซต์ เพื่อให้ได้คิวอาร์โค้ดมาแปะที่หน้าร้าน และเมื่อประชาชนมาใช้บริการจะต้องสแกนคิวอาร์โค้ด ถือเป็นการเช็คอิน และลงทะเบียนข้อมูลไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  

5. ดีสำหรับร้านค้าช่วยสร้าง “เรตติ้ง” ให้คนมั่นใจ
 
สำหรับการผ่อนปรนในระยะที่ 2  จะมีบรรดาห้างร้านต่างๆ ที่ได้เปิดทำการอีกจำนวนมาก แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” คือตัวที่จะสร้าง “เรตติ้ง” ให้กับร้านค้าเหล่านี้ เพราะหากผู้ประกอบการไม่ร่วมลงทะเบียนและไม่ปฏิบัติตาม ประชาชนจะรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งถือเป็นยุค New normal ที่ร้านค้าจำเป็นต้องปรับตัวจะใช้รูปแบบและวิธีการที่เคยชินเหมือนสมัยก่อนไม่ได้
 
6. ไม่ต้องกังวลเรื่อง “ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล”


ภาพจาก bit.ly/3bErHqP
 
หลายคนเป็นห่วงว่า แอปพลิเคชั่น ไทยชนะ เมื่อมีการลงทะเบียนมีการกรอกข้อมูล จะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ เรื่องนี้ได้รับการยืนยันว่าไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแต่อย่างใดข้อมูลนี้จะอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น เพียงต้องการเบอร์โทรศัพท์ในการติดตาม ไม่ต่างจากการที่เราต้องไปโรงพยาบาลและต้องบอกข้อมูลกับแพทย์และข้อมูลนั้นจะเก็บไว้ในกรมควบคุมโรค นำมาใช้ด้วยเหตุผลในการควบคุมโรคเท่านั้น
 
7. ถ้าร้านค้าไม่ติดตั้งแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ก็ต้องมีสมุดจดลงทะเบียน


ภาพจาก bit.ly/2yZAxCy
 
เรียกว่ามีความยุ่งยากมากขึ้นหากผู้ประกอบการเมินเฉยต่อการติดตั้งแอปพลิเคชั่น ไทยชนะ ซึ่งภาครัฐได้มีข้อกำหนดว่าหากไม่มีการติดตั้งแอปดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจจะต้องมีสมุดจดและรับหน้าที่ลงทะเบียนให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งวิธีนี้จะวุ่นวายและยุ่งยาก เพราะถ้าหากร้านนั้นกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงจะต้องตามเช็คข้อมูลผู้ใช้บริการกันทั้งวันและไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ แต่หากใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ดจะสามารถจำกัดบุคคลกลุ่มเสี่ยงได้เป็นช่วงเวลา ซึ่งจะลดความวุ่นวายลงได้

8. ทุกกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการควรติดตั้งแอปพลิเคชั่นไทยชนะ
 
แอปพลิเคชั่นไทยชนะไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าจะต้องเป็นกิจการขนาดเล็กหรือใหญ่ ทุกกิจการที่ได้รับการผ่อนปรนสามารถไปลงทะเบียนเพื่อติดตั้งแอปพลิเคชั่นดังกล่าวนี้ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นร้านค้าในห้าง ร้านริมทาง หรือว่าแม้แต่ร้านรถเข็นทั่วไป หากติดตั้งแอปพลิเคชั่น ไทยชนะ ก็เหมือนได้ร่วมด้วยช่วยกันในการลดความเสี่ยงที่จะไม่ทำให้เกิดการระบาดซ้ำในรอบที่ 2 ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เราควรช่วยกันเพราะยังไว้ใจไม่ได้แม้ตัวเลขคนติดเชื้อจะน้อยลงมากๆ ก็ตาม
 
9. เป็น New normal ใหม่ของคนไทย


ภาพจาก bit.ly/3bGahdu
 
ความกังวลอีกส่วนหนึ่งคือคนไทยยึดติดกับความสะดวกสบายมานานจนเคยชิน การที่จะให้มาทำอะไรแบบมีกฏเกณฑ์หลักการมากขึ้น อาจไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ซึ่งหลักการของแอปพลิเคชั่นไทยชนะในส่วนของลูกค้าคือต้องสแกนคิวอาร์โค้ดที่ร้านค้าลงทะเบียนไว้ ทั้งก่อนเข้าร้านและเมื่อออกจากร้าน ซึ่งในช่วงแรกๆ มองว่าคงจะมีปัญหาในเรื่องความไม่เข้าใจของคน และบางคนก็อาจจะลืมสแกนออก หรือสแกนเข้าแค่อย่างเดียว นี่ก็คือปัญหาว่าข้อมูลในแต่ละร้านจะตรงกับความเป็นจริงแค่ไหน ซึ่งก็ต้องมาดูผลงานของแอปนี้ในช่วงแรกก่อนที่จะเอามาปรับปรุงแก้ไขต่อไป
 
10. คาดหวังสู่การผ่อนปรนในระยะที่ 3 และ 4 จนเข้าสู่ภาวะปกติ


ภาพจาก bit.ly/36aVKp9
 
แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเริ่มน้อยลงชัดเจนจนหลายคนออกมาเรียกร้องให้คลายล็อคดาวน์ต่างๆ เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หากปล่อยไปโดยไม่มีวิธีการควบคุมหวั่นว่าจะเกิดการระบาดในรอบที่ 2 ซึ่งอาจจะหนักกว่าเดิมและต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ แอปไทยชนะจึงเป็นเครื่องมือในการผ่อนปรนระยะที่ 2 ที่ถูกนำมาใช้ ซึ่งหากได้ผลดีก็จะมีการผ่อนปรนในระยะที่ 3 และ 4 จนเข้าสู่ภาวะปกติ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ซึ่งการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการป้องกันคือสิ่งที่ยุคนี้น่าจะใช้ได้ผลมากที่สุด
 
สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID 19 เป็นเรื่องที่เราต้องอดทนเพราะหากปล่อยให้เกิดการระบาดซ้ำสิ่งที่ทำมาจะกลายเป็นสูญเปล่าและเราทุกคนจะต้องกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ ที่รอบนี้อาจทำให้ธุรกิจพังทลายได้ยิ่งกว่ารอบแรก เมื่อตัวเลขเริ่มดี และสถานการณ์เริ่มดีเราก็ควรให้ความร่วมมือแก่ภาครัฐในการป้องกันตามมาตรการต่างๆ อย่าคิดแค่ว่าไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทำเพราะหากเกิดปัญหาซ้ำขึ้นมากจะกลายเป็นปัญหาและภาระของทุกคนทันที
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน

ติดตามได้ที่ Add LINE id:
 @thaifranchise
 
 
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document/index.php
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
ขอบคุณข้อมูล
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด