บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การบริหารจัดการองค์กร    บริหารทีมงาน พนักงาน
3.6K
3 นาที
28 ตุลาคม 2559
7 วิธีแก้ปัญหาเมื่อทีมเวิร์ค เกิดสะดุด!

 
ทุกองค์กรย่อมมุ่งหวังประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากร ว่ากันว่าองค์กรใดก็ตามมีบุคลากรที่มีคุณภาพนั้นเหมือนโชคดี 2 ชั้น

หนึ่งคือบุคคลเหล่านี้พร้อมจะผลักดันให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างที่ทีมบริหารตั้งใจ อีกประการคือองค์กรจะแน่นแฟ้นและมีความมั่นคงเพราะคนที่ยิ่งทำงานด้วยกันมานานย่อมเข้าใจรู้ใจและแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ดีกว่า
 
แต่อย่างไรก็ตามใช่ว่าการทำงานเป็นทีมจะมีแต่ด้านบวกเสมอไป เมื่อหลายคนก็หลายความคิดถ้าไม่สามารถหลอมรวมกันได้อาจจะกลายเป็นผลร้ายที่มากกว่าดีก็ได้

www.ThaiFranchiseCenter.com มองว่าเรื่องของการทำงานด้วยระบบทีมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ทีมกำลังระส่ำระส่าย วิธีการแบบไหนที่จะนำพาทีมเวิร์คเหล่านั้นให้กลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง
 
จากคำแนะนำของ Rebecca M. Knight ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการที่มีงานเขียนใน Harvard Business Review และ Knowledge@Wharton หลายฉบับ ได้พูดถึงเรื่องการทำงานเป็นทีมไว้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะในกรณีที่เกิดปัญหาเขาเสนอแนะ 7 วิธีนี้เอาไว้เป็นโครงสร้างให้ทุกองค์กรได้ใช้ในยามที่คำว่าทีมเวิร์คเกิดไม่เวิร์คขึ้นมา
 
1.จงรีบวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในทีมอย่างรวดเร็วและชัดเจน 
 
โดยเทคนิคการแก้ปัญหาที่ใช้กันแพร่หลายมีหลายวิธี เช่น  5 Why คือการถามว่า ทำไม หรือ เพราะเหตุใด ซ้ำๆ อย่างน้อย 5 ครั้ง หรือวิธี ผังก้างปลา คือการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุของปัญหา หรือ กราฟพาเรโต (กฎ 80/20) แต่แม้วิธีเหล่านี้จะมีข้อดีคือ กระตุ้นให้เกิดการค้นหาปัญหาที่ต้นเหตุ แต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับพนักงานบางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกที่ยังไม่ได้ถูกฝึกให้คิดมากนัก
 
วิธีการข้างต้นดูเหมือนง่ายสำหรับผู้คุ้นเคย แต่อาจกลายเป็นเรื่องยากและซับซ้อนสำหรับมือใหม่ ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากการพูดคุยถึงปัญหาง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดเจนก่อน เช่น จำนวนครั้งที่ลูกค้าร้องเรียน จำนวนพนักงานที่ลาออกในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หรือจำนวนของเสียในกระบวนการผลิต เป็นต้น
 
2.กำหนดจุดสนใจให้กับทีม 
 
โดยเฉพาะในการประชุมเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ อย่าปล่อยให้ความคิดฟุ้งซ่านและล่องลอยมากจนเกินไป จริงอยู่ไอเดียสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการไม่จำกัดความคิด แต่การมีจุดโฟกัสที่ชัดเจนก็เป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนการประชุมให้มีประสิทธิภาพ
 
เทคนิคการประชุมง่ายๆ อย่าง “การคิดแบบหมวก 6 ใบ” (6 Thinking Hats ของ Edward de Bono) ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยให้มีโฟกัสมากขึ้น โดยหมวกแต่ละใบเป็นตัวแทนในการคิดแต่ละเรื่อง เช่น อาจเริ่มต้นให้ทุกคนในทีมคิดแบบหมวกสีขาวก่อน คือ พูดคุยแต่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและตัวเลข โดยยังไม่ต้องแสดงความรู้สึกหรือความคิดเห็นใดๆ

จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นหมวกสีดำ ซึ่งเป็นการพูดคุยถึงข้อเสีย ปัญหาและอุปสรรคที่มี โดยยังไม่ต้องคุยถึงข้อดีหรือทางเลือกอื่นๆ การประชุมแบบนี้ช่วยให้สามารถควบคุมประเด็นได้เป็นอย่างดี มีการคิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีข้อสรุปและแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย
    
3. มีการนำเสนอมุมมองที่แตกต่าง 
 
คนที่ทำงานด้วยกันในองค์กรเดียวกันมักมีมุมมองคล้ายกัน เพราะอ่านเอกสารชิ้นเดียวกัน ฟังข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเดียวกัน รับประทานข้าวกลางวันกับเพื่อนคนเดียวกัน อบรมห้องเดียวกัน จากอาจารย์คนเดียวกัน ดังนั้นความคิดใหม่ๆจึงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมและสภาพแวดล้อมแบบนี้

ดังนั้น ควรเปิดโอกาสให้สมาชิกในทีม มีโอกาสได้พบกับมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมบ้าง เช่น การไปอบรมสัมมนาภายนอกองค์กร การเข้าสมาคมหรือชมรมของอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจขององค์กร การเชิญวิทยากรหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจอื่นมาแลกเปลี่ยนมุมมอง เป็นต้น

ความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

4.ต้องหยิบยกตัวอย่างความสำเร็จที่ใกล้ตัวมานำเสนอ
 
ความสำเร็จในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของนักคิดอมตะอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่าง สตีฟ จอบส์ ,มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก , ริชาร์ด แบรนสัน , แม้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและน่าชื่นชม แต่ดูไกลตัวคนธรรมดาๆ อย่างพวกเรามากเกินไป
 
ดังนั้นจึงควรยกตัวอย่างง่ายๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ตัว อย่างเช่น ความคิดริเริ่มของเพื่อนพนักงานด้วยกัน แม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องน้ำ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ป้อมยามหน้าบริษัท หรือคนสวนขององค์กร เป็นต้น

แม้เป็นตัวอย่างที่ไม่ได้เลิศเลอเพอเฟคนักแต่ก็สามารถสัมผัสจับต้องได้จริง ซึ่งจะช่วยให้พนักงานไม่คิดว่าการมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่อง “ไกลเกินฝัน” อีกต่อไป

5.สิ่งสำคัญคือต้องพิชิตความกลัวการล้มเหลวของทีมให้ได้
 
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การประชุมเพื่อระดมสมอง ไม่ค่อยได้ผลมากนัก เพราะพนักงานส่วนใหญ่กลัวว่าไอเดียที่เสนอไปจะไม่ดีพอ ส่งผลให้ไม่กล้าเสนอความคิดนั้นๆ ออกไป จึงทำให้นวัตกรรมหลายๆ อย่างถูกซุกเงียบไว้ภายในตัวบุคคลเท่านั้น
 
ผู้นำที่ดีต้องสร้างบรรยากาศให้ทีมงานรู้สึกว่า “การกล้าเสนอไอเดีย” กับ “ไอเดียนั้นนำไปใช้ได้จริงหรือไม่” เป็นคนละเรื่องกันคนที่กล้าแสดงความคิดเห็น

แม้ว่าจะยังไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ ก็ควรได้รับการยกย่องชื่นชมในเบื้องต้น เพราะหากไอเดียที่เสนอทุกครั้งต้องนำไปใช้ได้จริงเท่านั้น ก็คงไม่มีใครอยากจะเสนอไอเดียแปลกใหม่อะไรอีกต่อไป ก็นำไปสู่ปัญหาและสร้างรอยร้าวขึ้นภายในทีมได้เช่นกัน
 
6.สร้างเส้นทางที่เปลี่ยนฝันให้เป็นความจริง 
 
ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จะมีความหมายก็ต่อเมื่อถูกนำไปปฏิบัติ คนจะรู้สึกเบื่อและไม่อยากแสดงความคิดเห็นอีกต่อไป หากไอเดียที่ได้มานั้น ไม่นานก็เงียบหาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นผู้นำมีหน้าที่ผลักดันและสนับสนุนให้ความคิดดีๆ ได้รับการนำไปใช้ให้เป็นรูปธรรม หากทำได้เช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ความคิดริเริ่ิมสร้างสรรค์ก็จะค่อยๆ เบ่งบานขึ้นในองค์กร เพราะพนักงานทุกคนประจักษ์แล้วว่า “หัวหน้าเอาจริง!” 
 
7.จงหลีกเลี่ยงคำว่า “นวัตกรรม” จะดีกว่า
 
คำนี้ฟังดูยิ่งใหญ่แต่ห่างไกลสำหรับพนักงาน ดังนั้น แทนที่จะพูดว่า “พวกเราทุกคนมีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้บริษัทของเราเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม” แม้ฟังแล้วจะดูหรูหราในสายตาผู้บริหาร

แต่สำหรับทีมงานก็คงไม่ได้จินตนาการยิ่งใหญ่ไปแบบนั้น ทางที่ดีควร  เปลี่ยนใหม่เป็นว่า “พวกเราทุกคนมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างบริษัทให้เป็นองค์กรที่น่าอยู่และที่นี่คือครอบครัวที่เราจะร่วมกันสร้างอนาคตด้วยกัน” อาจฟังดูธรรมดามาก แต่รับรองสร้างพลังและทำให้ทีมงานเกิดความรุ้สึกอยากทำงานได้มากกว่าแน่นอน
 
7 วิธีเหล่านี้แม้จะดูเรียบง่ายและไม่อาจเห็นผลได้ในทันทีแต่ถ้าลองเอาไปปฏิบัติดูแล้วเชื่อว่าทีมงานในองค์กรคงจะรู้สึกมีพลังใจที่อยากทำงานมากขึ้น จงอย่าลืมว่าพนักงานก็คือคนธรรมดาสิ่งที่ดีนอกจากกำลังใจคือการดูแล และตอบแทนให้คุ้มค่ากับการทำงานเมื่อบุคลากรมีความมั่นคงองค์กรก็แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
 
และสำหรับคนที่มองหาแรงบันดาลใจดีๆหรือแง่คิดคำคมไว้สร้างกำลังใจให้ตัวเองหรือพนักงานเรามีรวบรวมไว้มากมายดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ goo.gl/jYwyLj
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
794
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
441
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
423
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด