บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
9.3K
2 นาที
26 ธันวาคม 2553

แนวทางในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์สำหรับ SMEs (ตอน2)


 "การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์" ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการลดต้นทุน

          หลักการทั่วไปของการแก้ไขปัญหา หรือการทำอะไรให้ดีขึ้นมีแนวคิดไม่ต่างจากหลักคำสอนของพุทธศาสนา "อริยสัจ 4" ที่ประกอบด้วย ทุกข์ คือ ความไม่สบายอกไม่สบายใจ สมุทัย คือ สาเหตุแห่งทุกข์ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และมัคค์ คือ การปฎิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งถ้าเป็นในเรื่องของโลจิสติกส์ คงต้องเริ่มจากการรู้ตัวเองเสียก่อนว่าธุรกิจของตนมีจุดอ่อน หรือปัญหาตรงไหนที่ต้องแก้ไข ที่เรียกว่า "การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์" นั่นเอง

ในหนังสือเล่มนี้ได้แบ่งหลักการ "การวิเคราะห์ต้นทุน" ที่สามารถนำมาใช้กับโลจิสติกส์ไว้ 4 แบบด้วยกัน คือ

  1. การวิเคราะห์ต้นทุนตามลักษณะแหล่งกำเนิด  อาทิ ค่าวัสดุ ค่าแรงงาน และค่าโสหุ้ยในการดำเนินธุรกิจ
     
  2. การวิเคราะห์ต้นทุนตามพฤติกรรมต้นทุน โดยแบ่งออกเป็น ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่มีค่าคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงหรือผันแปรตามระดับกิจกรรมหรือปริมาณการผลิต เช่น ค่าก่อสร้างโรงงาน ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ เป็นต้น และต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ที่มีค่าเปลี่ยนแปลงไปตามระดับกิจกรรมหรือจำนวนสินค้าและบริการที่ผลิต เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
     
  3. การวิเคราะห์ต้นทุนตามลักษณะของค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายทางตรง (Direct Cost) ที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการนั้นๆ โดยตรง และค่าใช้จ่ายทางอ้อม (Indirect Cost) ที่ไม่สามารถแยกแยะว่าเกิดจากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใด
     
  4. การวิเคราะห์ต้นทุนตามกิจกรรม เป็นวิธีการคำนวณต้นทุนแบบใหม่ตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ตลอดห่วง โซ่อุปทาน เป็นต้นทุนต่อหน่วยสินค้า ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้ในธุรกิจปัจจุบัน เพราะสามารถแสดงให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากร ที่เรียกว่า "ต้นทุน" ในทางบัญชี โดยการหาปริมาณงานของแต่ละกิจกรรม เป็นจำนวนชิ้นงาน / จำนวนครั้งในการให้บริการที่เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่กำหนด เช่น การออกใบสั่งซื้อ การประกอบชิ้นงาน การจัดเก็บสินค้าในโกดัง เป็นต้น

          ต้นทุน (Cost) หมายถึง รายจ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการ อาจจะอยู่ในรูปของเงินสด และ หรือทรัพย์สินอื่นๆ อาศัยเงินทุนจากเจ้าของ ผู้ถือหุ้น ตลอดจนเงินกู้ยืม โดยมุ่งหวังกำไรเป็นค่าตอบแทน

          ต้นทุนต่อหน่วย =  ต้นทุนทั้งหมดของกิจกรรม / ปริมาณการปฎิบัติงาน

          จากการรู้ถึง "สถานะต้นทุน" นำมาสู่ "การควบคุมและติดตาม"

          การวิเคราะห์ต้นทุนโลจิสติกส์จะทำให้ได้เห็นถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงในระบบ โลจิสติกส์ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นของแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ละลูกค้า แต่ละกิจกรรมหรือหน่วยผลิตภัณฑ์ก็ตาม สิ่งสำคัญต่อไปที่ผู้ประกอบการจะต้องทำคือ การควบคุมและติดตามประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งในการศึกษาได้นำเสนอวิธีการที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ 3 วิธีด้วยกันคือ

วิธีการกำหนดต้นทุนมาตรฐาน (Standard Costs) วิธีการกำหนดมาตรฐานผลิตภาพหรือมาตรฐานการเพิ่มผลผลิต (Productivity Indicators) และวิธีการใช้แผนภูมิควบคุมทางสถิติ (Statistical Process Control Chart)

  1. การควบคุมต้นทุนโลจิสติกส์ด้วยต้นทุนมาตรฐาน (Standard Costs) เป็นการหาค่าต้นทุนมาตรฐานต่อหน่วยในแต่ละกิจกรรม สำหรับนำไปเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานปัจจุบันรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ต้นทุนมาตรฐานอาจได้ข้อมูลจากผลการศึกษา (Study) ต่างๆ การใช้มาตรฐานระดับอุตสาหกรรม (Industrial Standard) การใช้ข้อมูลในอดีต หรือการสอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
     
  2. การกำหนดดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการเพิ่มผลผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity Indicators) ยังคงเป็นการวัดแต่ละกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ โดยประสิทธิภาพที่พูดถึงจะวัดจากความสามารถในการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อให้ ได้ผลผลิต ซึ่งก็คือ ปริมาณของผลผลิตที่ทำได้ หารด้วย ปริมาณของปัจจัยการผลิตที่ใช้ไป
     
  3. การควบคุมกิจกรรมโลจิสติกส์ด้วยแผนภูมิควบคุมคุณภาพ (Statistical Process Control Chart) เป็นวิธีการที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามผลผลิตของกระบวนการผลิต ให้แน่ใจว่ากระบวนการผลิตยังคงอยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ทางสถิติ (In-statistical Control) ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตออกมาอยู่ในสภาวะปกติที่สามารถประมาณหรือคาดการณ์ได้ แนวคิดของการควบคุมคือ การนำเอาผลผลิต หรือผลลัพธ์ของกระบวนการ หรือดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพเข้ามาสู่ระบบการวัดผล หากอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ถือว่า กระบวนการผลิตอยู่ในสภาวะการณ์ที่ควบคุมได้

อ้างอิงจาก บิสิเนสไทย
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
722
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
691
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
629
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
498
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
421
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
413
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด