บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ไอเดียธุรกิจ
7.9K
4 นาที
16 ตุลาคม 2561
Hi School สุดยอดธุรกิจแนวคิดใหม่! ก้าวสู่แฟรนไชส์ระดับประเทศแบบ Social Enterprise

ทำธุรกิจก็ต้องคิดถึง “กำไร” แต่คำว่า “กำไร” ไม่ได้หมายถึง “เงิน” เพียงอย่างเดียว พูดถึงเรื่องนี้คนส่วนใหญ่ก็เถียงทันทีว่าธุรกิจที่ ไม่ได้เงินเป็นกำไร แล้วจะทำให้เหนื่อยเพื่ออะไร นั่นเพราะเราอาจมองมิติการลงทุนในด้านเดียว แต่เชื่อหรือไม่ว่า มีอีกหนึ่งรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นมาและดูจะมาแรงพร้อมพัฒนาเป็นการลงทุนแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

www.ThaiFranchiseCenter.com ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงคนทำธุรกิจมานานจึงอยากสะท้อนให้คนยุคใหม่ได้เห็นว่าโลกยุคนี้อาจไม่ยึดติดกับการลงทุนที่แสวงหากำไรเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว เพราะธุรกิจในลักษณะ Social Enterprise คืออีกหนึ่งวิธีการลงทุนที่จะทำให้ธุรกิจเราเติบโตได้อย่างมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม

 
เราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ “Hi School” ซึ่งถือว่าเป็น Social Innovations Startup รุ่นใหม่ที่ยึดรูปแบบ Social Enterprise เป็นหลักและถือว่าเป็น Startup เพื่อสังคมเงินล้านรายแรกของประเทศที่มีแผนจะเติบโตในธุรกิจนี้ด้วยการขยายแฟรนไชส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในอนาคต
 
เราได้พูดคยกับคุณอภิชาติ จันทร์ทองแท้ CEO & Founder บริษัท แบ่ง-ปัน-ให้ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เจ้าของธุรกิจ Hi School ที่เปิดตัวธุรกิจครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2560 จนถึงตอนนี้ระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี Hi School มีทิศทางการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่เติบโตที่ชัดเจนมาก ใครที่ยังไม่รู้ว่านี่คือธุรกิจแบบไหน ทำกำไรอย่างไร และอะไรคือการทำเพื่อสังคมให้ตัวเองอยู่ได้สังคมอยู่ได้ เชิญอ่านรายละเอียดต่อไปนี้ได้เลย
 
Hi School หมายถึง “ให้โรงเรียน” 
 

คุณอภิชาติ จันทร์ทองแท้ มองปัญหาในการระดมทุนเพื่อโรงเรียนขนาดเล็กเป็นเรื่องยาก ในขณะที่ภาคธุรกิจเองต่างก็มุ่งหน้าแสวงหาผลกำไรโดยลืมนึกถึงสังคมรอบข้าง ในขณะที่ธุรกิจตัวเองอาจจะกำลังเติบโตแต่สังคมโดยรอบอาจจะกำลังมีปัญหา จึงเป็นที่มาของความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ธุรกิจและคนในจังหวัดสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้เมื่อธุรกิจเติบโต คนในจังหวัดก็มีรายได้ รวมถึงสังคมก็ได้รับการช่วยเหลือแบบแบ่งปันกันในชุมชนอย่างยั่งยืน

 
แม้เรื่องการทำ CSR จะเป็นแผนการตลาดของหลายธุรกิจแต่แท้ที่จริงก็เป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งไม่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้นได้ “Hi School” จึงเป็นสตาร์ทอัพในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมรายแรกของประเทศไทยที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี Application และ Online platform ต่างๆ ในการสร้างช่องทางการตลาด เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยผลกำไรส่วนหนึ่งที่ได้จากการดำเนินธุรกิจจะถูกนำกลับไปสู่สังคม เพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวความคิดของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ส่งเสริมธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน
 

 
ซึ่งแนวคิดนี้คุณอภิชาติ กล่าวว่า “ได้ตกผลึกจากแนวคิดของอาจารย์ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ที่ให้นิยามว่า White Ocean Strategy หรือกลยุทธ์น่านน้ำสีขาว ที่เชื่อได้ว่าผู้ประกอบการหลายคน มุ่งแต่ทำธุรกิจโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองแข่งอยู่กับใคร ยิ่งการถูก Disrup ด้วยเทคโนโลยี วางแผนไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ลูกค้าเองก็มีตัวเลือกมากขึ้นธุรกิจส่วนใหญ่จึงอยู่ใน Read Ocean ดังนั้นหากจะดีกว่าถ้ามีเส้นทางธุรกิจแบบใหม่ที่คู่แข่งน้อยกว่าซึ่งเราต้องคิดนอกกรอบ แล้วเอาสังคมเป็นตัวตั้ง ด้วยแนวคิดการทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งผลตอบแทนที่ตามมาไม่ใช่แค่ผลกำไรในเรื่องตัวเลขเท่านั้น”
 
รูปแบบบริการ Hi School การทำธุรกิจเพื่อสังคม
 

Hi School เป็นบริการส่งอาหารดิลิเวอร์รี่ภายในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียง ที่เพิ่มแนวคิดการเชื่อมโยงเครือข่าย SE ตั้งแต่การช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร และชุมชนในจังหวัดสมุทรสาคร

ด้วยการเป็นตัวกลางรวบรวมสั่งซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัด นำส่งเป็นวัตถุดิบให้ร้านค้าในเครือข่าย ที่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรของจังหวัด ทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าการเกษตรส่งถึงมือผู้บริโภคและร้านค้าโดยไม่ผ่านคนกลาง นอกเหนือจากการบริการส่งอาหารถึงบ้านหรือที่ทำงานโดยเน้นกลุ่มลูกค้าในเขตกลุ่มหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม และนิคมอุตสาหกรรม เป็นหลัก
 
จุดสำคัญคือ ร้านค้าที่ใช้บริการ Hi School จะต้องเลือกใช้วัตถุดิบหลักจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัด อย่างน้อย 2 รายการ ในการทำเมนูอาหารของร้าน

 
โดยปัจจุบันมีร้านค้าเข้ามาอยู่ในแอพกว่า 20 ราย เครือข่ายเกษตรกร 15 ราย มอเตอร์ไซต์รับจ้างกว่า  80 ราย ที่ผ่านมายังนำกำไรไปเป็นทุนพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กแล้ว 25 แห่ง รอบปีที่ผ่านมามียอดคำสั่งซื้อเฉลี่ยเกือบสามร้อยบิลต่อวัน ยอดสั่งอาหารเฉลี่ยบิลละ 240 บาท

คุณอภิชาติกล่าวว่า “ เราเริ่มต้นด้วยเงินทุนหลักแสนบาท ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น และใช้เวลาดำเนินธุรกิจเพียง 8 เดือน ก็สามารถคืนทุนได้ และที่เหลือเมื่อธุรกิจเติบโตก็จะเป็นกำไรคืนสู่สังคม ซึ่งธุรกิจก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาการลงทุนให้มีกำไรมากขึ้นเพื่อสังคมเองก็จะได้รับการคืนกำไรมากขึ้นด้วย เป็นหลักการให้มาก ก็เปลี่ยนโลกได้มากนั่นเอง”
 
5 ช่องทางสู่การได้ประโยชน์ของคนในพื้นที่จากธุรกิจ Hi School
 

โดยกลุ่มร้านอาหารและเกษตรกรที่จะนำสินค้าและผลิตภัณฑ์มาขายบน platform ของ Hi School สามารถติดต่อเพื่อลงทะเบียนได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการคัดกรองมาตรฐานร้านแบบ Hi School และถ้ามียอดขายจากระบบ App มากพอระดับหนึ่งจะมีส่วนลดในลักษณะ % ตามยอดขายให้กับ Hi School ซึ่งในส่วนต่างนี้ก็จะกลายเป็นกำไรคืนสู่สังคม รวมถึงเป็นการได้ประโยชน์ของธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งสรุปโดยรวมแล้ว 5 ช่องทางสู่การแบ่งปันและสร้างประโยชน์จาก Hi School มีดังนี้
 
1.ลูกค้าคนสั่งอาหาร 
 
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศในนิคมอุตสาหกรรม หรือ กลุ่มลูกค้าในคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ที่ต่างได้รับประทานได้ทานอาหารดีมีคุณภาพ แทนการทานเมนูซ้ำเดิมที่เห็นจนเบื่อและงานนี้ยังถือเป็นการทำบุญทางอ้อมได้อีกด้วย
 
2.ร้านค้า 
 

ได้เพิ่มโอกาสขายของผ่านออนไลน์ และเพิ่มเวลาขายจากช่วงที่ยุ่งสุดที่มีเพียงเที่ยงและเย็น 
 
3.เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก
 

ในรอบปีที่ผ่านมา Hi school สามารถนำกำไรจากธุรกิจเพื่อสังคมไปบริจาคให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ขาดแคลน ยังไม่นับรวมกับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียน การพัฒนาครูผู้สอน และอีกหลายกิจกรรมที่ทำให้ผลลัพธ์ทางสังคมหรือ SIA (Social Impact Assessment) ที่มีสูงมากกว่าผลกำไรหลายเท่า

โดยเงินบริจาคมาจากทาง Hi School ได้หักกำไรจากธุรกิจ 5-10 % ไปให้กับโรงเรียนขนาดเล็กทุกเดือน เป็นการ โอนผ่านบัญชีกลางแบบอัตโนมัติ ตามแบบตัวชี้วัดผลลัพท์ทางสังคม เพื่อสนับสนุนภาคการศึกษาให้กับกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 25 แห่ง

อีกทั้ง Hi School ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำสติ๊กเกอร์ไลน์เพื่อรับบริจาค การรวบรวมทุนการศึกษา และการมอบสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากลูกค้าของ Hi School ให้กับโรงเรียนในเครือข่ายเป็นประจำอีกด้วย
 
4.การจ้างงานคนในพื้นที่เพิ่ม
 

ระบบการทำงานของ Hi School ถูกจัดวางรูปแบบการทำงานให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้ (Virtual Office) ที่สำคัญบุคลากรที่ดูแลแฟนเพจ ไลน์@ โซเชียลมิเดีย และแอพพลิเคชั่น นั้นคือผู้พิการถือเป็นธุรกิจที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสทำงานอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงมอเตอร์ไซต์รับจ้าง เครือข่ายส่งของ ก็จะมีงานนอกเหนือจากช่วงเวลาปกติทำให้ชุมชนโดยรอบมีรายได้ที่ดีเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้มากขึ้น
 
5.ชุมชนเกษตรและประมงพื้นบ้านในจังหวัดสมุทรสาคร 
 

ปัจจุบัน Hi School มีเครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มประมงพื้นบ้าน ร่วมอยู่ในเครือข่าย Application จำนวนหนึ่ง ซึ่งช่องทางของ Hi School เปิดโอกาสให้ร้านอาหารได้รับเอาวัตถุดิบสดๆ มีคุณภาพจากผู้ผลิตในกลุ่มเกษตรกรและประมงพื้นบ้านนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร เป็นประโยชน์ร่วมกันที่ได้กำไรด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
 
นอกจาก 5 พันธมิตรธุรกิจแล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆคอยให้การสนับสนุน ได้แก่ หน่วยงานราชการในจังหวัด สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม กลุ่มโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร  สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และเกษตรจังหวัด มาร่วมลงนามความเข้าใจ (MOU) เชื่อมเครือข่ายเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันสร้างจังหวัดสมุทรสาคร ให้รายล้อมด้วยสภาพแวดล้อมดี สังคมดี แบ่งปันโอกาสดีๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัด
 
พร้อมเปิดตัวใหม่อีก 5 App ภายในสามปี เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการ
 
ภายใต้ App Hi School ยังมี แอพย่อย ๆ อีก 5 ตัวให้ซึ่งมีแผนจะทยอยเปิดตัวเริ่มต้นขยายในสามปีต่อเนื่อง ได้แก่
  1. Hi Kitchen เป็นหมวดอาหารตามสั่ง ที่จัดส่งปิ่นโตตามบ้าน คอนโดทั้งแนวราบและตึกสูง และ Hi School มีโรงเรียนสอนทำอาหารไทยด้วยภาษาอังกฤษ เพื่อฝึกทักษะน้อง ๆ ให้ได้ทั้งความสนุกและได้ความรู้ด้านอาหารและภาษาไปพร้อมๆกัน
  2. Hi SEA เป็นหมวดอาหารทะเล ส่งอาหารทะเลจากกลุ่มประมงพื้นบ้านถึงคนในกลุ่มโรงแรม และพนักงานออฟฟิศในนิคมอุตสาหกรรม และ กลุ่มลูกค้าท่องเที่ยว หัวหิน ชะอำ ที่เพียงดาวโหลดแอพและสั่งล่วงหน้า จัดส่งกันสด ๆ ส่งถึงที่ผ่านระบบของ Hi school  
  3. Hi Farming เป็น หมวดผักและผลไม้ จากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดและใกล้เคียงส่งให้ลูกค้าตามจุดที่นัดหมาย เพื่อเป็นของฝากแบบไม่ต้องแวะเลือกซื้อช่วยประหยัดเวลาได้มาก 
  4. HI Office เป็นกลุ่มอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน แบบพิมพ์ และชุดนักเรียน ที่จะจัดจำหน่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นสมาชิกของ Hi School ของจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง
  5. Hi_result คือ ธุรกิจด้านที่ปรึกษาและพัฒนาธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญและทีมงานมืออาชีพของ Hi School
แค่แบ่งปันยังไม่พอ แต่เป้าหมายใหญ่คือการเติบโตในระบบแฟรนไชส์ รูปแบบ Social Enterprise


จะดีสักแค่ไหน ถ้าประเทศไทยทุกจังหวัด ล้วนมีคนทำธุรกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นเหมือนธุรกิจทั่วๆไป ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ซื้อแฟรนไชน์ Hi school ที่สนใจทำธุรกิจแบบ Smart และได้ช่วยสังคมไปพร้อม ๆ  กัน

ทาง Hi School กำลังพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพื่อสังคมในรูปแบบนี้ให้เป็นธุรกิจที่ถูกถอดแบบจากจังหวัดหนึ่งไปยังจังหวัดหนึ่งในรูปแบบแฟรนไชส์ SE หรือ Social Enterprise ให้สามารถนำธุรกิจประเภทนี้ไปยังจังหวัดที่มี GDPอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ 10 จังหวัดภายใน 3 ปีต่อจากนี้ เพื่อเป็นการยกระดับประเทศให้เป็นประเทศที่มีความเจริญในทั้งแง่ธุรกิจและศีลธรรมอย่างเต็มตัว

และในอนาคต Hi School ยังพร้อมเป็นสะพานบุญสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ยากจนทั่วประเทศที่รับทำ CSR หรือ จัดงานเลี้ยงนักเรียน สำหรับบริษัทฯ หรือ องค์กรต่าง ๆ ที่ไม่มีเวลาทำ โดยสามารถยกภาระงานนี้มาให้ Hi school เราเป็นตัวกลางในการทำกิจกรรม และมีระบบที่จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับและมั่นใจได้ว่าสิ่งที่ท่านต้องการให้ ได้ส่งถึงมือผู้รับอย่างแน่นอน
 
รวมถึงอนาคต ทีมงาน Hi school ยังมีแนวคิดพัฒนาการจัดทำระบบการรับบริจาคผ่านQR Code พร้อมกับการรับจัดงานศพ สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับเงินช่วยเหลืองานศพหรือญาปณกิจต่างๆ แต่การทำความดีครั้งสุดท้ายให้กับผู้วายชนม์ด้วยการให้ Hi school เป็นตัวกลางในการรับเงินทำบุญนำส่งไปยังโรงเรียนและนักเรียนที่ขาดแคลนแทน โดยมีระบบ Application QR Code รับบริจาคพร้อมรับจัดงานครบวงจรที่เจ้าภาพไม่ต้องยุ่งยาก


ผู้บริจาคได้ใบอนุโมทนาบัตรทันที อันนี้เป็นสิ่งที่ Hi School กำลังพัฒนาและตอบโจทก์มากกว่าการแบ่งปันในรูปแบบทั่วๆ ไปตามวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งที่วางแนวคิดว่า “เราเชื่อในพลังแห่งการแบ่งปัน” นั่นเอง
 
จากแนวคิดที่ดูเป็นเรื่องทั่วไปใครๆก็พูดได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีการคืนกำไรสู่สังคม แต่โดยเนื้อแท้แล้วหาธุรกิจที่ทำแบบนี้ได้ดีต่อเนื่องนั้นยากเต็มที Hi School แสดงให้เห็นจุดยืนเรื่องนี้ว่าธุรกิจและสังคมสามารถเติบโตไปพร้อมกันได้ และยังถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการทำธุรกิจที่น่าจะมาแรงในอนาคต สำหรับปี 2562 ใครที่ยังจับทิศทางทำธุรกิจไม่ถูกไม่รู้จะไปทางไหน ลองศึกษาแนวทางธุรกิจแบบ Social Enterprise อาจทำให้เราตาสว่างมองเห็นอะไรได้มากขึ้นก็ได้
 
รายละเอียดเพิ่มเติม
โทร : 081-140-2024
Line@ : @hischoolthailand 
 
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สงครามร้านสะดวกซื้อ 6 แบรนด์ ในมือ 5 เจ้าสัวไทย
821
สุกี้ไทยเปลี่ยนมือ MK รายได้วูบ สุกี้ตี๋น้อย แซง..
597
CJ ปั้น “เถียน เถียน” ไอศกรีมและชาผลไม้สัญชาติไท..
412
ค้าปลีก 2568! เปิดเกมรุกด้วย “Localized Marketing”
375
เปิดสูตร “เงินทุนหมุนเวียน” คำนวณให้ดี ร้านจะได้..
338
ตัวเล็กแต่ทรงพลัง! โลตัส โกเฟรซ! มินิบิ๊กซี! ร้า..
332
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด