บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การตลาด บริหารธุรกิจ    การตลาดออนไลน์ SEO
2.9K
3 นาที
29 มกราคม 2562
ส่อง E-Commerce จาก 2018 สู่ 2019
 
ภาพจาก www.jd.co.th
 
สรุปภาพรวม E-Commerce ในปี 2018 
 
ในปีที่ผ่านมายักษ์ใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซได้เข้ามาในบ้านเราครบแล้ว ทั้ง Lazada, Shopee, JD.Com หรือ JD CENTRAL ที่เข้ามาแต่อาจไม่หวือหวานัก มีการใช้งบการตลาดจำนวนมหาศาลกันเลยทีเดียว ใช้พรีเซนเตอร์ชื่อดังอย่างณเดชน์ ญาญ่า หรือทุ่มโปรโมชั่นช่วง 9.9, 10.10, 11.11 หรือ 12.12 ทำให้ยอดขายโตอย่างต่อเนื่อง 
 
รายได้สำคัญช่วงหนึ่งประมาณกลางปีที่ Shopee เริ่มขยายธุรกิจอย่างรุนแรงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ Lazada ก็เริ่มเพลี้ยงพล้ำไปบ้างส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างภายใน แต่ Lazada ก็ได้ปรับตัวเปิดแนวรบเพื่อสู้กับ Shopee ด้วยการไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นเหมือน ๆ กับ Shopee เป็นการแข่งกันเผาเงินแบบไม่มีรายได้เลย เป็นศึกสงครามที่รุนแรงมากในปีที่ผ่านมา
 
รวมถึงเป็นปีที่เราเริ่มเห็นว่ามีสินค้าของจีนเริ่มไหลทะลักเข้ามาในในเว็บของ Lazada และ Shopee ซึ่งต่อตรงมาจากจีนเลย เป็นปีที่คนในต่างจังหวัดมีการตอบรับเรื่องการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น และเป็นปีที่โซเชียลคอมเมิร์ซหรือการค้าขายผ่านโซเชียลมีเดียเติบโตขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากธนาคารกสิกรไทยได้เริ่มบุกเข้ามาให้บริการชำระเงินผ่าน Facebook 
 
ส่วน Facebook เองได้เปิดบริการการชำระเงินผ่านตัวเองด้วยเหมือนกัน นอกจากนั้นยังเปิดตัวมาร์เก็ตเพลสเพื่อให้คนเข้าไปซื้อขายกันในนั้น รวมถึงยังมีพวกเฟซบุ๊กกรุ๊ปที่มีการซื้อขายกันในกลุ่มเช่นเดียวกัน จะเห็นว่าโซเชียลคอมเมิร์ซโตขึ้นมากจริง ๆ 

ภาพจาก shopee.co.th
 
ในฝั่งของการขนส่งต้องบอกว่าเป็นปีที่ไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวหนักมากเพราะ Kerry Logistics จากฮ่องกงซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาเรียกได้ว่าเป็น game changer เพียงปีเดียวสามารถขยายได้เป็นพันสาขา ทำให้คุณภาพในเรื่องการขนส่งรวดเร็วมากขึ้น คุณภาพดีขึ้น และยังมีบริการที่เป็น killer feature ที่บรรดาคนทำอีคอมเมิร์ซชอบมากก็คือการเก็บเงินปลายทางได้อีกด้วย
 
รวมถึงในประเทศไทยก็เริ่มมีสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์เข้ามามากขึ้น อย่างเช่น ลาลามูฟ ไลน์แมน ชิปป๊อป ฯลฯ ทำให้เรื่องการขนส่งง่ายมากขึ้น ช่วงปีที่ผ่านมาจึงเป็นปีที่การขนส่งและการชำระเงินพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมเปลี่ยนเข้าสู่ออนไลน์มากยิ่งขึ้น
 
ส่อง E-Commerce ปี 2019
 
จากภาพรวมของปีที่ผ่านมาจึงเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ปี 2019 อีคอมเมิร์ซจะเริ่มกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพมาก เมื่อวิเคราะห์ว่าในปีนี้ช่องทางการขายของคนไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยรวมยังจะแบ่งเป็น 3 ช่องทางคล้าย ๆ เดิมอยู่นั่นก็คือ 1. ขายผ่านทางเว็บไซต์ คนจะเริ่มมาเป็นเว็บไซต์เองเพื่อขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 2. ขายผ่าน e-marketplace อยู่แต่จะกลายเป็นศึกสงครามที่รุนแรงมากขึ้น และ 3. ขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซที่จะเติบโตมากยิ่งขึ้น 
 
ศึกโซเชียลคอมเมิร์ซจะมากยิ่งขึ้น 
 
ภาพจาก goo.gl/UZHwK5

เฟซบุ๊กคงจะเพิ่มความสามารถในการขายของผ่านทางเฟซบุ๊กมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน LINE เองก็เริ่มแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าทุกธุรกิจก็อยากให้ผู้บริโภคทั้งหลายแอด Line@ ของตนเองด้วยกันทั้งนั้น ตอนนี้ Line@ กลายเป็นเครื่องมือประจำของธุรกิจคนไทยไปแล้ว และล่าสุด LINE เองก็เพิ่งซื้อกิจการของ Sellsuki ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซเชียลคอมเมิร์ซของไทย ปีนี้สงครามการค้าขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซน่าจะระอุอย่างแน่นอน
 
E-marketplace ดุเดือดมากขึ้นเช่นกัน
 
ภาพจาก goo.gl/k5CtG4

เพราะเมื่อปลายปีมีธนาคารที่กระโดดเข้ามาแข่งขัน เช่น KBank ก็เปิด K Plus Market ให้คนสามารถซื้อสินค้าผ่านทางแอปพลิเคชันของ KBank ได้เลย ในไตรมาสที่สองที่จะเห็นได้ชัดก็คือทางธนาคารกรุงศรีฯ ที่เริ่มแย้มมาแล้วว่าจะเปิดให้บริการมาร์เก็ตเพลสเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนก็ต้องการข้อมูลของลูกค้าเพื่อเอามาทำการให้บริการด้านการเงิน 
 
KBank เองในปีนี้รุกหนักมากคือมีการจับมือกันร่วมลงทุนกับทาง LINE และลงทุนกับ Grab เป็นแบงค์หนึ่งที่รุกหนักมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลาย ๆ แบงค์ หรือทาง SCB เองก็มีการปรับหนักมากเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการค้าขายของอีคอมเมิร์ซในปีนี้ที่ละสายตาไปไม่ได้เลยก็คือฟากของธนาคาร เชื่อว่าจะมีการเปิดมาร์เก็ตเพลสของธนาคารเพิ่มมากขึ้นทุกคนจะขยับมา 
 
ในฝั่งมาร์เก็ตเพลสการแข่งขันก็จะเริ่มมากขึ้นเพราะทุกคนก็จะเริ่มเปิดให้บริการวอลเล็ทของตัวเองอย่าง Lazada ก็เริ่มมีแล้ว และจะเข้าสู่บริการในเรื่องการสะสมแต้ม แต้มจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้คนติดอยู่กับมาร์เก็ตเพลสนั้น ๆ อีคอมเมิร์ซจะเอาระบบแต้มเข้ามาผสม ระบบแต้มจะมีผู้เล่นมากขึ้น จะเริ่มเจอการแลกเปลี่ยนแต้มระหว่างกันได้ point economy หรือระบบเศรษฐศาสตร์ของแต้มจะเติบโตมาก
 
สินค้าจีนจะบุกเข้ามาหนักกว่าเดิม 
 
จะเริ่มเจอสินค้าจีนบุกเข้ามาในโลกออนไลน์ ในอีมาร์เก็ตเพลสของไทยเพิ่มมากขึ้นจากที่เคยทะลักเข้ามาหลายสิบล้านชิ้น เจ้าของโรงงานจากจีนคงจะกระหน่ำเข้ามา จะมีการตั้งทีมมาโฟกัสการขายสินค้าในอาเซียนเพิ่มมากขึ้นทั้งมาทำข้อมูล มาแปลภาษา ฯลฯ เพื่อเจาะกลุ่มให้เหมาะกับคนไทยเพิ่มมากขึ้น
 
สงครามการค้า ออนไลน์และออฟไลน์ 

จากการแข่งขันของมาร์เก็ตเพลสใหญ่ ๆ ที่ไปกระทบกับโลกออฟไลน์ กำลังซื้อที่เมื่อก่อนอยู่ตามตลาดนัด ตามห้างต่าง ๆ จะไปอยู่ในออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพราะมันสะดวกมากกว่า ผู้ที่ทำธุรกิจในปัจจุบันจะเจอกับคู่แข่งที่เป็นออนไลน์มากขึ้น 
 
แบรนด์ต่าง ๆ จะเริ่มกระโดดมาทำอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น เจ้าของสินค้าจะเปิดช่องทางเว็บไซต์ของตัวเองมากขึ้น หลายแบรนด์กระโดดเข้ามาขายตรงกับผู้บริโภคเลย นั่นหมายถึงคนที่เป็นตัวแทนสินค้า ดีลเลอร์ ยี่ปั๊ว ฯลฯ คงต้องเตรียมตัวได้เลยว่าแบรนด์จะลงมาขายตรง จากเมื่อก่อนที่เคยซื้อโทรศัพท์มือถือจากร้านตัวแทน ตอนนี้การซื้อออนไลน์อาจจะเป็นการซื้อตรงกับเจ้าของแบรนด์เลย 
 
Cross Border เริ่มเบ่งบาน
 
ภาพจาก goo.gl/aU38Hq

จะเป็นปีที่การค้าขายระหว่างประเทศกำลังจะเริ่มเบ่งบาน หลายแบรนด์จะเริ่มขยายสินค้าไปขายต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นแต่อาจเป็นเพียงการเริ่มต้น เพราะผู้ให้บริการอย่าง Amazon หรือ eBay ก็เริ่มบุกเข้ามาในประเทศไทยแต่เป็นการพาผู้ประกอบการไทยให้ออกไปขายต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และผู้ประกอบการไทยจะเริ่มผสมออนไลน์เข้ากับออฟไลน์มากขึ้นหรือเป็น O2O marketing เช่น สั่งซื้อออนไลน์แต่มารับหน้าร้านค้า หรือซื้อหน้าร้านค้าแต่จัดส่งสินค้าแบบออนไลน์ ปีนี้จะเริ่มเจอพฤติกรรมของคนที่ผสานออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกันมากยิ่งขึ้น 
 
เริ่มปรับตัวรับกฎหมายการเก็บภาษีสินค้าออนไลน์
 
การชำระเงินในช่วงต้นปีจะยังเติบโตอยู่ แต่ช่วงกลางปีคนไทยต้องเริ่มมีการปรับตัวกับกฎหมายการเก็บภาษีสินค้าออนไลน์ที่สรรพากรจะเข้ามาตรวจสอบบัญชีต่าง ๆ ทำให้ผู้ให้บริการขายของออนไลน์หลาย ๆ คนน่าจะมีการตัดสินใจบางอย่าง ผมเชื่อว่าช่วงปลาย ๆ ปีจะมีคนเปิดบัญชีธนาคารเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระจายรายได้ออกไปในหลาย ๆ ธนาคาร และจะมีคนเป็นเป็นบริษัทเพิ่มมากขึ้นด้วยในปีนี้เพราะอยากทำให้ถูกต้อง ผมเชื่อว่าปลาย ๆ ปีตัวเลขของพร้อมเพย์หรือคิวอาร์โค้ดจะเริ่มมีอัตราการเติบโตที่น้อยลงเพราะคนจะเริ่มกังวลกับการใช้ คนจะหันมาใช้เงินสดมากขึ้น
 
ฉะนั้นในช่วงปลายปี พ่อค้าแม่ค้าหลายคนต้องดูว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับกฎหมายตัวนี้ ในฝั่งของธนาคารและผู้ให้บริการชำระเงินต่าง ๆ เองก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน เพราะตอนนี้ยังไม่มีระบบที่จะเข้ามารองรับกฎหมายตัวนี้ ผมว่าช่วงกลาง ๆ ปีหน้าจะเริ่มเจอกระแสการปรับตัวหรือการเตรียมตัวของผู้ประกอบการในโลกออนไลน์มากขึ้น คิดว่าคงจะมีวิธีการรับมือทั้งแบบถูกต้องและแบบหลบเลี่ยงปรากฏให้เห็นด้วยเหมือนกัน
 
โฆษณาออนไลน์จะเก่งมากขึ้น 
 
ภาพจาก goo.gl/3eWyqe

อย่างของกูเกิ้ลตอนนี้เมื่อค้นหาในกูเกิ้ลจะพบสินค้าแล้ว เพราะกูเกิ้ลเริ่มเปิดตัวบริการ Google product search หรือ Google Shopping ที่กดปุ๊บสามารถซื้อได้เลย ฉะนั้นโฆษณารูปแบบใหม่ ๆ ที่จะมาตอบสนองอีคอมเมิร์ซจะเปิดตัวมากขึ้นและจะเก่งขึ้น เริ่มมีเครื่องมือพวก AI, Chatbot หรือบริการที่เอา data ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ทำให้เจ้าของสินค้าเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น และจะเริ่มมีการทำ marketing automation ที่จะมีการใช้คนน้อยลงแต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
 
ฉะนั้น ในปีนี้บอกได้เลยว่าเครื่องมือเก่งขึ้น ช่องทางดีขึ้น ระบบชำระเงินดีขึ้น คนพัฒนามากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ทุกอย่างจะไปเร็วกว่าเดิม นอกจากนี้การแข่งขันอีคอมเมิร์ซก็จะรุนแรงมากขึ้นด้วย เพราะจะมีผู้เล่นใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา ดังนั้นเตรียมตัวได้เลยครับ และเท่าที่ผมดูตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มพยายามเอาสินค้าของเขาออกมาขายในประเทศอื่น ๆ แล้วด้วยเหมือนกัน 
 
ถึงตรงนี้อยากให้ทุกท่านทบทวนดูว่าธุรกิจของท่านได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ลงทุนไปเท่าไหร่ ทำการตลาดออนไลน์ไปเท่าไหร่ ยอดขายเป็นอย่างไร ใช้เม็ดเงินซื้อโฆษณาออนไลน์ไปเท่าไหร่ ฯลฯ และนำมาสิ่งที่ได้จากการทบทวนนี้มาปรับปรุง อะไรที่ยังไม่มีก็ควรจัดหา ถ้ายังไม่มีผู้ช่วยทำก็ต้องหามาเพราะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นอีกเยอะมากเลยนะครับ
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
794
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
441
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
422
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด