บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ
4.2K
2 นาที
18 พฤษภาคม 2555
คิดบวก คืนพลัง เอสเอ็มอี
 
เมื่อเอสเอ็มอีหลายคนต้องประสบกับ “มหาอุทกภัย” บางคนเริ่มเครียดหรือท้อแท้กับธุรกิจของตัวเองว่าจะฝ่าวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ไปได้ยังไง น้ำลดแล้วจะมีกำลังที่จะฟื้นกิจการให้กลับมาเหมือนเดิมไหม ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทุน ผมอยากให้เอสเอ็มอีสู้ และหาวิธีที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือวิธีที่จะทำให้กิจการของคุณฟื้นตัวได้ ทุกปัญหามีทางออกครับ “คิดบวก” อย่าคิดว่า น้ำมาจะพา “เจ๊ง” ท่าเดียว เพราะถึงน้ำจะไม่มาเคาะประตูโรงงาน เราก็ยังมีอุปสรรคอีกมากให้ต้องต่อสู้อยู่ดี
 
อย่างเช่นวันนี้ผมมีตัวอย่างธุรกิจที่แม้เขาอาจไม่ใช่เจ้าของกิจการที่ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ปัญหาที่เขาเจอก็หนักจนเขาก็เคยเกือบล้มละลายมาก่อน คุณสมคิด เล็กเอกรัตน์ ทายาทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์คอนกรีต แผ่นพับผสมเสร็จ บล็อกประดับพื้น บริษัท กาฬสินธุ์คอนกรีต 2000 จำกัด

คุณสมคิดคือผู้ที่ต้องแบกรับปัญหามาก่อน เพราะเกิดความผิดพลาดด้านการบริหารในช่วงวิกฤติค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อปี 2540 จนมีหนี้ที่ต้องรับผิดชอบสูงถึง 180 ล้านบาท คุณสมคิดพยายามขายสินทรัพย์ทุกอย่างของตนเพื่อนำไปชำระหนี้ แต่ก็ไม่สามารถชำระได้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเขาสามารถ “ปลดหนี้” ได้ และ สร้างยอดขายกว่า 500 ล้านบาท กลายมาเป็นผู้นำทางการค้าคอนกรีตติดอันดับ 4 ของผู้ค้าในภาคอีสาน
 
จากบุคคลธรรมดาสู่ “เถ้าแก่ร้อยล้าน” ที่ลูกค้าชาวลาวและลูกค้าก่อสร้างในภาคอีสาน-เหนือ-กลางแทบทุกคนต้องรู้จัก …คุณสมคิดทำได้อย่างไร?
 
ก่อนอื่นเลย ต้องสูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ แล้วสร้างกำลังใจให้ตัวเองฮึดสู้อีกครั้ง เดินเข้าไปหาคนรอบข้าง อย่างเช่นคู่ค้าที่เราทำการค้าด้วย เพื่อพูดคุยและหาทางออกของปัญหาที่แท้จริง เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีปัญหา อีกฝ่ายก็ย่อมได้รับผลกระทบ

ดังนั้นการพูดคุยปรึกษากันเรียกได้ว่าเป็นวิธีที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจปัญหาได้ตรงจุดและรู้ความต้องการที่แท้จริง หรือพึ่งพากูรูมืออาชีพจากหลายสำนักมาช่วยไขก๊อกปัญหาให้ และคุณก็จะพบกระบวนการแก้ไขความผิดพลาดด้วยตัวของคุณเอง คุณสมคิดฝากให้ผมบอกเพื่อนเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมว่า หากปัญหาที่มีอยู่ มันใหญ่ซะจนทำให้เรากลัว ลอง “คิดเล็ก” ดู คือซอยปัญหาให้มันเล็กลง แล้วจะเห็นวิธีเริ่มต้นใหม่ที่ง่ายขึ้น
 
คุณสมคิดเล่าต่อว่า เมื่อเขาต้องฟื้นกิจการให้เร็วที่สุด  เขาจึงเลือกที่จะไม่นั่งรอออเดอร์อย่างเดียว เขามองวิธีกระจายสินค้าในช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ โดยเลือกที่จะ “รุกเข้าหา” เจรจาการค้าโดยตรงกับร้านค้าปลีกและโมเดิร์น เทรด ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ (Key Success) คือการจับคู่ให้ถูก เช่น เอา “สินค้าใหม่” เปิดตัวใน “ตลาดเก่า” และเอา “สินค้าเก่า” ไปขายใน “ตลาดใหม่”
 
หากสินค้าตัวไหนที่เคยถูกปฏิเสธจากร้านค้าเดิม ก็ย้ายไปเสนอร้านอื่น แล้วพยายามกระตุ้นการขายในร้านคู่ค้าเดิมด้วยสินค้าใหม่ๆ ทดแทน และให้หัวใจสำคัญอยู่ที่พนักงานขาย ส่งพนักงานของตนเองไปขายสินค้าให้คู่ค้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดสั่งซื้อกลับมาได้เร็วและจำนวนมากๆ เพราะขณะที่เราช่วยคู่ค้าขายของ เราก็สามารถเพิ่มเงินในกระเป๋าเราได้เรื่อยๆ เคล็ดลับอยู่ที่การหมั่นกระตุ้นยอดขายจากสินค้าที่มีอัตราสั่งซื้อบ่อยๆ เป็นหลัก

แม้จะได้กำไรต่อหน่วยไม่สูงนัก แต่แลกกับยอดขายสม่ำเสมอนั้นคุ้มค่ากว่า เพราะจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในองค์กรอยู่เสมอ เหนื่อยหน่อยแต่โอกาสรอดและรวยก็จะกลับมาอีกครั้ง บางคนอาจคิดว่าเป็นไปได้เหรอที่วิธีง่ายๆแค่นี้จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขนาดนี้ แต่นี่แหล่ะครับวิธีง่ายๆที่ทำได้จริงในสถานการณ์แบบนี้ที่หลายคนอาจมองข้าม
 
ผมมั่นใจว่า มุมมองจาก กาฬสินธุ์คอนกรีต จะกระตุกให้เอสเอ็มอีไทยที่ประสบปัญหาอยู่มีกำลังใจฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ เหมือนอย่างทีเอ็มบีเชื่อว่าพลังตัวคุณสามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ เพราะทุกคนมีพลังที่จะสร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และมีคุณค่าให้แก่ตัวเองและสังคมเสมอ พบกันครั้งหน้า วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม ยังมีเรื่อง SME ในมุมมองอื่นๆที่น่าสนใจไม่แพ้กันครับ

อ้างอิงจาก    TMB SME
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด