บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การตลาด บริหารธุรกิจ    ความรู้ทั่วไปทางการตลาด
1.4K
2 นาที
3 เมษายน 2563
ข้อมูลอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศที่น่าสนใจ
 
ภาพจาก bit.ly/3aCH2J2

ผมมีโอกาสได้ไปร่วมอยู่บนเวทีที่รวบรวมอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ มาไว้ด้วยกันในงาน "Priceza E-Commerce Summit 2020" ที่ทางไพรซ์ซ่า (Priceza.com) ได้จัดขึ้น นับว่าเป็นงานใหญ่และทางไพรซ์ซ่าเองก็ได้นำข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างมาเปิดเผยให้ทราบ
 
ข้อมูลที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือในปี 2018-2019 สิ่งที่เห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบทั้งสองปีนี้ก็คือมีจำนวนสินค้าที่อยู่ในมาร์เก็ตเพลสซึ่งในประเทศไทยเหลือหลัก ๆ อยู่ประมาณ 3 เจ้าก็คือ Lazada, Shopee และ JD Central แยกเป็นในปี 2018 มีสินค้าอยู่ในมาร์เก็ตเพลสประมาณ 74 ล้านชิ้น เมื่อถึงปี 2019 จำนวนสินค้าถีบตัวขึ้นมาประมาณ 174 ล้านชิ้น โตขึ้นมาประมาณ 2.4 เท่า หรือเกือบประมาณ 240% จะเห็นได้ว่าจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
 
จำนวนสินค้าที่อยู่ในมาร์เก็ตเพลสในปี 2018 ที่มี 74 ล้านชิ้นนั้นพบว่า 60 กว่าล้านชิ้นเป็นสินค้าจากต่างประเทศ อีก 15 ล้านชิ้นเป็นของไทย ซึ่งจะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่น่ากลัวมาก แต่เมื่อมาถึงปีนี้คือ 2019 พบว่าจากสินค้า 170 กว่าล้านชิ้นนั้น มีสินค้าจำนวน 135 ล้านชิ้นหรือเกือบ 77% นั้นมาจากต่างประเทศ และอีก 23% หรือประมาณ 39 ล้านชิ้นนั้นเเป็นของคู่ค้าที่สินค้าอยู่ในไทย นั่นก็คือยังไม่แน่ใจว่าเป็นสินค้าของไทยทั้งหมดหรือไม่ 
 
เมื่อมาดูต่อว่าคู่ค้าในไทยนั้นมีทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ในขณะที่คู่ค้าที่มาจากต่างประเทศซึ่งโฟกัสไปที่ว่ามาจากจีนประมาณ 81,000 คน จากตัวเลขผู้ค้าที่มาจากจีน 81,000 คนนี้ ผมอยากให้สังเกตที่ว่าเขาบริหารสินค้าที่มีประมาณถึง 100 กว่าล้านชิ้น ในขณะที่คนไทย 1 ล้านคนบริหารสินค้าได้เพียงแค่ 39 ล้านชิ้นเท่านั้น 
 
เมื่อเปรียบเทียบไปที่จำนวนสินค้ากับจำนวนคน ข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่า ตอนนี้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น และสินค้าจากต่างประเทศก็เริ่มทะลักเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ 

ภาพจาก bit.ly/3aCH2J2
 
จุดที่น่าสนใจหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเฉพาะสินค้าที่ขายได้ผ่านไพรซ์ซ่า คือใน 100% ที่เกิดขึ้นนั้น 86% เป็นการซื้อสินค้าจาก Local หรือภายในประเทศ ส่วนอีก 14% เป็นการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ 
 
ในส่วนของราคาสินค้าเฉลี่ยต่อออเดอร์นั้น สินค้าในประเทศชิ้นหนึ่งราคาเฉลี่ยประมาณ 738 บาท ในขณะที่สินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะเราพูดถึงจีน ชิ้นหนึ่งราคาเฉลี่ยประมาณ 350 บาท จะเห็นว่าราคาเป็นครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว นั่นหมายถึงว่า สินค้าจากต่างประเทศมีราคาที่ถูกกว่าและยังมาจากต่างประเทศด้วย ตรงนี้เองสะท้อนถึงเรื่องของการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย
 
การซื้อสินค้าจากจีนหากเปรียบเทียบกันระหว่างเดือนมิถุนายนกับเดือนพฤศจิกายน ในเดือนมิถุนายนจะซื้อสินค้าในราคา 99 บาท ใช้เวลาส่งประมาณ 12 วัน แต่เมื่อมาถึงเดือนพฤศจิกายนซื้อสินค้าแบบเดียวกันแต่ใช้เวลาเพียงแค่ 6 วัน ซึ่งจะเห็นว่าการขนส่งเร็วขึ้นมาก 
 
เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับบริษัทขนส่ง จึงเริ่มเข้าใจว่าทำไมสินค้าจีนถึงส่งเข้ามาในราคาถูกมาก นั่นก็เพราะว่าเขาใช้วิธีการ bounce คือปกติเราส่งสินค้าต้นทุนเฉลี่ยต่อชิ้นอาจจะเป็น 30-50 บาท แต่สินค้าจากจีนที่ส่งเข้ามาเขาไม่ได้ส่งเป็นชิ้น เขาส่งเข้ามาเป็นกิโลเป็นตันหรือเรียกว่าเป็นคิวบิก เช่น 1 คิวบิกอาจจะราคา 2,000 บาท แต่ใน 1 คิวบิกนี้อาจจะอัดเข้ามาเป็นพันชิ้น และเมื่อหารเฉลี่ยออกมาต่อชิ้นก็จะถูกมาก อาจจะเหลือแค่ 2-3 บาทด้วยซ้ำ 
 
ตอนที่ส่งเข้ามาเป็นคิวบิกใหญ่ ๆ เมื่อมาถึงไทยก็นำมาแยกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และจะมีคนคอยกระจายออกไปเป็นชิ้น ตรงนี้ก็จะมีค่าส่งอีกทีหนึ่งอาจจะราคา 10-20 บาทก็แล้วแต่ ฉะนั้น บางครั้งการส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในไทยจะถูกกว่าการส่งในไทยเองด้วยซ้ำไป และหากมาดูในเรื่อง EEC หรือแวร์เฮ้าส์ขนาดใหญ่ของอาลีบาบา ในแง่ของต้นทุนก็จะเร็วขึ้นและราคาก็จะถูกลงมากขึ้นด้วย 

ภาพจาก bit.ly/3aCH2J2
 
ขณะเดียวกันพบว่าสินค้าจากต่างประเทศหากแยกเป็นหมวดหมู่ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ปีนี้ สินค้าไทยโดนสินค้าจากต่างประเทศเบียดเข้ามาเยอะ หมวดหมู่แรกที่โดนหนักมากก็คือ พวกเสื้อผ้าผู้ชาย (Men's Tools & Clothing) หมวดหมู่ที่สองคือ Mobile & Gadget หมวดหมู่ที่สาม (ซึ่งคล้าย ๆ กับปีที่แล้ว) คือ อุปกรณ์กีฬา (Sport & Outdoor) บอกได้เลยว่าตอนนี้คนนิยมซื้อสินค้าเหล่านี้ทางออนไลน์กันมาก หมวดหมู่เหล่านี้สินค้าจีนกินเข้ามาแล้วประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์
 
แต่ในหมวดหมู่ที่สินค้าไทยยังยึดครองหรือยังมีอำนาจอยู่ก็คือ พวกอาหาร ซึ่งแน่นอนสินค้าต่างประเทศหรือจากจีนไม่มี อย. จึงถือว่ายังเป็นข้อจำกัดหรือเป็นการป้องกันสินค้าจากต่างประเทศให้เข้ามาได้ลำบากสักหน่อย หมวดหมู่ที่สองคือ Health & Wellness พวกอาหารเสริม สุขภาพและความงาม 
 
หมวดหมู่ที่สามที่ผมคิดว่าคนไทยมีความได้เปรียบคือ Ticket & Voucher ที่ต่างชาติยังบุกเข้ามาไม่ได้และข้อดีของหมวดหมู่นี้มีต้นทุนที่ต่ำมาก ตอนนี้มาร์เก็ตเพลสก็เริ่มขายพวกนี้ คนที่ทำธุรกิจอยู่แล้วอาจไม่ต้องมานั่งส่งของ แค่ปรับธุรกิจให้ตัวเองเป็นบริการ มาเป็น Voucher แบบนี้ก็ได้ แถมข้อดีอีกอย่างคือเป็นการขายล่วงหน้า แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องของธุรกิจที่หลอกลวงด้วยเช่นกัน 
 
จะเห็นว่าตัวเลขในปีนี้ก็ค่อนข้างสอดคล้องกับข้อมูลที่ผมเคยให้ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตามหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทุกท่านที่ทำธุรกิจอยู่สามารถมองเห็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น รีบปรับตัวเองให้ทันเวลา และสามารถนำธุรกิจเดินต่อไปได้ครับ
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,811
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,441
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
743
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
655
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
577
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
515
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด