บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
5.0K
2 นาที
28 ตุลาคม 2549
ก้าวแรกบนถนนธุรกิจ
 
ธุรกิจ SMEs ดูเหมือนเป็นเรื่องยากสำหรับผู้เริ่มต้น คนเหล่านี้มักมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่า ควรเริ่มต้นจากจุดไหนก่อน แล้วทำอย่างไรต่อไปจึงจะประสบความสำเร็จ แนวทางการเริ่มต้นธุรกิจ เราควรเริ่มจากการหาข้อมูลใน 3 ด้านใหญ่ๆ คือ กำลังของตนเอง ตลาดลูกค้าและคู่แข่ง จากนั้น จึงไปสู่การจัดตั้งองค์กร ซึ่งในแต่ละด้านมีรายละเอียดปลีกย่อย ดังนี้
 
วัดกำลังตนเอง
  • การรู้จักตน โดยประเมินว่าตนเองมีคุณสมบัติที่จะทำธุรกิจนั้น ๆ หรือไม่ เช่น มีความรู้ ความสามารถ มีความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ ยอมรับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ดังเช่น กล้านำเงินออมที่เก็บทั้งชีวิตมาลงทุน เป็นต้น และที่สำคัญ คือ ต้องหนักแน่น จริงจัง และกล้าตัดสินใจ 
     
  • เลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเอง โดยดูจากความชอบ ความถนัด ความสนใจของตนเองเป็นหลัก เพราะงานที่ตนรัก จะทำให้ผู้ประกอบการอยากแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ทางธุรกิจ
     
  • สำรวจฐานะทางการเงิน ว่าตนเองมีเพียงพอหรือไม่ การเงินควรจัดแบ่งออกเป็นส่วน ๆ เช่น แบ่งไว้สำหรับใช้จ่ายในครอบครัว แบ่งเป็นเงินฝากไว้กับธนาคารเพื่อใช้ในยามจำเป็น และแบ่งไว้สำหรับการออมเพื่อการลงทุน อาจเป็นการลงทุนระยะสั้น และระยะยาว เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาล เมื่อจัดแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ แล้ว เราจะเห็นว่าตนเองมีเงินเพียงพอเพื่อทำธุรกิจหรือไม่ หรือต้องหาจากแหล่งเงินกู้อื่น ๆ 
     
  • มีทำเลที่ตั้ง ถ้าผู้เริ่มต้นธุรกิจมีสถานที่เป็นของตนเอง และอยู่ในทำเลที่ดีก็ไม่มีปัญหา แต่หากผู้เริ่มต้นยังไม่มี ควรมองหาทำเลที่เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ย่านศูนย์การค้า ชุมชน อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เป็นต้น และเรายังต้องคำนึงต่อด้วยว่า ทำเลควรใช้วิธีซื้อ หรือเช่าดี โดยดูที่เงินทุนว่ามีเพียงพอหรือไม่ หากเรามีเงินน้อย ก็ควรใช้วิธีเช่าจะดีกว่า ทั้งนี้ ผู้เริ่มต้นธุรกิจควรดูถึงรายละเอียดของสัญญา ว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพียงไร
     
สอดส่องตลาดลูกค้า-คู่แข่ง 
  •  รู้ข้อมูลของลูกค้า ผู้เริ่มต้นธุรกิจควรสำรวจความ ต้องการสินค้าหรือบริการ ว่ามีมากน้อยเพียงใด เหมาะกับลูกค้ากลุ่มใด วัยใด ชาย หรือหญิง เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการผลิตต่อไป 
     
  •  รู้ข้อมูลของคู่แข่ง ธุรกิจในปัจจุบันมีมากมาย เราจำเป็นต้องทราบว่า คู่แข่งของเราเป็นอย่างไร จุดเด่น จุดด้อยของเขาอยู่ตรงไหน แต่การรู้มูลของคู่แข่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างปิดบังข้อมูลเหล่านี้
 
การจัดตั้งธุรกิจ 
 
เมื่อเราประเมินตนเองและประเมินตลาดแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดตั้งธุรกิจ วิธีจัดตั้งธุรกิจแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ดังนี้ 
  • การตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายของธุรกิจ ต้องมีความชัดเจน ว่าธุรกิจทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ผลที่คาดว่าจะได้รับ โดยผู้เริ่มต้นธุรกิจต้องคำนึงว่า เมื่อตั้งขึ้นมาแล้วจะสามารถทำตามได้หรือไม่ 
     
  • รูปแบบขององค์กร รูปแบบขององค์กรมีหลายลักษณะคือ เป็นเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท ความรับผิดชอบของทั้ง 3 ลักษณะจะต่างกันไป คือ เจ้าของคนเดียว จะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในทุกเรื่อง ห้างหุ้นส่วนคือมีหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ความรับผิดชอบของแต่ละคนมากน้อยต่างกันไป ตามอัตราส่วนที่ตกลงกันไว้ ส่วนผู้ที่ลงทุนด้วยรูปแบบบริษัท ก็ต้องมีสมาชิกก่อตั้งจำนวน 7 คนขึ้นไป และผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในรูปของเงินปันผล
     
  • การหาแหล่งเงินทุน ปกติเงินทุนมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ เงินทุนที่อยู่ในมือ และเงินทุนที่มาจากการกู้ยืม สำหรับการขอกู้เงิน หากเป็นนักลงทุนรายใหม่อาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่ได้รับความเชื่อถือ ดังนั้น การสร้างเครดิตหรือความน่าเชื่อถือให้กับตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และสิ่งที่ยืนยันความน่าเชื่อถือของเราได้คือ ผลการดำเนินงานของกิจการที่ผ่านมา รวมถึงสถานะทางการเงิน เช่นงบการเงินต่าง ๆ ประมาณการกำไรที่คาดว่าจะได้รับ 
  • สินค้าหรือบริการที่จะผลิต ต้องสอดคล้องกับ ข้อมูลความต้องการของลูกค้า และที่สำคัญ สินค้าควรมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่เหมือนใคร
     
  • การจัดจำหน่ายสินค้า ผู้เริ่มต้นธุรกิจควรดูความเหมาะสมของตลาดว่า จะจัดจำหน่ายในลักษณะใด เช่น ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ผ่านพ่อค้าคนกลาง มีผู้แทนจำหน่าย หรือหลายวิธีรวมกัน เป็นต้น 
     
  • การจัดการทางการเงิน คือ การวางแผนการใช้จ่ายเงิน ให้เงินหมุนเวียนไหลคล่องตลอด สิ่งที่ช่วยให้รู้ฐานะการเงินของเรา คือ การทำบัญชี งบการเงิน ไม่ว่าจะเป็น งบดุล งบกำไรขาดทุน ประมาณการรายรับรายจ่าย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้เริ่มต้นธุรกิจยังต้องแบ่งส่วนเงินทุนหมุนเวียนไว้ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในกิจการ เช่น เงินเดือนพนักงาน เงินจัดซื้อวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เงินเหล่านี้ต้องควบคุมให้พอใช้ไม่ขาดมือ เพราะถ้าผู้ประกอบการสะดุดกับภาวะการเงิน กิจการอาจหยุดชะงักลงได้
     
  • พนักงาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กิจการประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้านายจ้างสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พนักงานก็จะมีขวัญ และกำลังใจที่ดีในการทำงาน ผลที่ตามมา กิจการจะเจริญรุดหน้า
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง 
นันทินาถ อมรประสิทธิ์, “การดำเนินธุรกิจ SMEs,” คู่มือดำเนินธุรกิจ SMEs, 
จัดพิมพ์โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กรงเทพฯ : สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม, 2543), หน้า 3-1 - 3-19. 
 
อ้างอิงจาก: สถาบันพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,790
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,403
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
700
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
634
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
560
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
490
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด