บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
2.5K
3 นาที
12 มีนาคม 2564
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! เฉาก๊วยชากังราว
 

คนไทยรู้จัก “เฉาก๊วยชากังราว” มามากกว่า 10 ปี แต่ที่กำลังเป็นกระแสในช่องความคิดเห็นของ Facebook, YouTube หรือ TikTok ขณะนี้ว่าใครที่เอาเสียงพูดอันเป็นเอกลักษณ์ไปทำให้กลายเป็น “มีม”  ซึ่งคำว่า “มีม” ที่ว่าก็คือกระแสมุกขำขันบางอย่างที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคมอินเตอร์เน็ตโดยมีมเป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่ภาพ คลิปวีดีโอ คำพูด วลี ประโยคเด็ด และไม่ได้จำกัดว่า จะเป็น คนหรือสัตว์ ไม่ว่าอะไรก็เป็นมีมได้ถ้ามันตลกพอ และจากกระแสความดังของมีมเฉาก๊วยชากังราวดังกล่าวนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com จึงได้รวบรวมมาเป็น 10 เรื่องจริงที่จะช่วยทำให้ทุกคนรู้จักที่มาที่ไปของเรื่องนี้ได้มากขึ้น
 
1. จากพนักงานขับรถสู่เจ้าของกิจการ “เฉาก๊วยชากังราว”
 
ภาพจาก https://citly.me/wFp5M

ดร.เสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ เจ้าของ "เฉาก๊วยชากังราว ตราเพชร" ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงสุดวันละกว่า 100,000 ถุง แต่จุดเริ่มต้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ดร.เสริมวุฒิ เกิดในครอบครัวยากจน เรียนจบแค่ ป.4 พออายุ 21 ปีได้เป็นพนักงานขับรถอยู่ที่ กศน. กำแพงเพชร ด้วยความที่รายได้น้อยจึงอยากหาอาชีพเสริม พอดีลูกชายทำงานที่โรงงานเฉาก๊วย จึงได้ลองซื้อต้นเฉาก๊วยตากแห้งเอามาลองทำขาย แต่ยอดขายไม่ได้ดีอย่างที่คิด ขายได้ไม่ถึงวันละ 50  แต่ก็ยังไม่ท้อ ลองทำขายต่อไปเรื่อยๆ เน้นตามสำนักงานราชการต่างๆ ใช้วิธีขายแบบกินก่อนจ่ายทีหลัง ให้ลูกค้าลงบัญชีไว้สิ้นเดือนค่อยมาจ่าย ยอดขายก็ดีขึ้น  ผ่านไป 1 ปีมีรายได้ต่อวันประมาณ 5,000 – 6,000 บาท แต่ก็ไม่ง่ายเพราะต้องเร่ขายไปหลายที่ทั้งตามสำนักงาน ตั้งแผงขาย เข็นรถขายตามถนน แล้วนำคำติชมของลูกค้ามาพัฒนาสินค้ามากขึ้น
 
2. ทำไมต้องชื่อ “เฉาก๊วยชากังราว”
 
ภาพจาก https://citly.me/RmErT

หลังจากที่เริ่มขายดีมีลูกค้ามากขึ้น ก็อยากทำตราสินค้าให้คนจำได้ พอดีครั้งหนึ่งคุณเสริมวุฒิขับรถผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร ก็นึกเอะใจถึงคำว่า “ชากังราว” ที่แต่เดิมในประวัติศาสตร์เรียกว่า “นครชากังราว” หรือก็คือจังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน และคิดว่าชื่อนี้ดูมีเอกลักษณ์ เลยเพิ่มคำว่า เพชรที่มาจากกำแพงเพชร จนกลายเป็น “เฉาก๊วยชากังราว ตราเพชร” ที่คนไทยจดจำได้เป็นอย่างดี ประมาณปี 2545 ก็จดทะเบียนชื่อ ชากังราว แต่ยังขายแบบมัดถุง พอในปี 2546 ที่เริ่มติดแบรนด์มียอดขายต่อเดือนในขณะนั้นประมาณ 3,000-4,000 บาท 
 
3. “เฉาก๊วยชากังราวไหมครับ” ประโยคการขายในยุคแรกๆ
 
 
ภาพจาก https://citly.me/RmErT

เราอาจจะคุ้นเคยกับประโยคขายในปัจจุบัน แต่ที่จริงการขายในยุคแรก ๆ ดร.เสริมวุฒิไม่ได้ใช้ประโยคเหล่านี้ ในช่วงแรกที่เริ่มขาย ใช้ประโยคว่า “เฉาก๊วยชากังราวไหมครับ” พร้อมกับใช้วิธีการอธิบายด้วยการนำต้นเฉาก๊วยมาให้ดู วิธีขายก็เช่นตรงไคนยืนกินเยอะๆ คอยรถ กำลังคุยกัน ก็จะเข้าไปใกล้ๆ ไปชักชวนให้คนมากินเฉาก๊วย ใครไม่เคยเห็นต้นเฉาก๊วย ก็แนะนำให้เขาดู ในช่วงเริ่มแรกที่ขายแม้จะเริ่มจากยอดขายไม่กี่สิบบาท แต่ดร.เสริมวุฒิ บอกว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เฉาก๊วยชากังราวเดินต่อไปได้ และประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้
 
4. สร้างจุดขายให้คนรู้จัก “ต้นเฉาก๊วย”
 
เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขายที่สุดยอดของ ดร.เสริมวุฒิ กับการพลิกไอเดีย ให้คนไทยที่รู้จักดีว่าเฉาก๊วยอร่อยแค่ไหน แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เฉาก๊วย เป็นส่วนหนึ่งของพืช จากจุดนี้กลายเป็นแนวคิดที่ เริ่มเอาต้นเฉาก๊วยมาเคี่ยวขายในงานเทศกาลของจังหวัดกำแพงเพชร เช่น งานปีใหม่ งานพบพระ งานกล้วยไข่ เวลาคนมาเดินงาน ก็ได้กลิ่น เพราะใบเฉาก๊วยเวลานำมาเคี่ยวกับความร้อน มันหอมมาก ใครเดินผ่านมาดูแล้วก็ถาม คนก็เริ่มกินมากขึ้น รู้จักมากขึ้น จนได้ชื่อว่าเป็นคนแรกๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้ ที่เอาต้นเฉาก๊วยมาเคี่ยวให้ดู ซึ่งต้นเฉาก๊วยในขณะนั้นนำเข้ามาจากเวียดนามและอินโดนีเซีย
 
5. วิธีการผลิต “เฉาก๊วย”
 
ต้นเฉาก๊วยเป็นพืชในตระกูลเดียวกับสะระแหน่ กะเพรา และโหระพา ที่ล้วนกลิ่นฉุน แต่ที่เฉาก๊วยซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันแต่ไม่มีกลิ่นเหล่านั้นเป็นเพราะปริมาณน้ำมันหอมระเหยในต้นเฉาก๊วยนั้นมีน้อยกว่าพืชอื่นในตระกูลเดียวกัน  หลายคนอาจสงสัยว่าตกลงแล้ว เฉาก๊วยที่เรากิน คือส่วนไหนของ ต้นเฉาก๊วย คำตอบคือ “ยาง” ซึ่งมีขั้นตอนในการผลิตเบื้องต้นคือการนำต้นเฉาก๊วยแห้งมาต้มในน้ำจนยางไม้ละลายออกมาเป็นน้ำสีดำ แล้วจึงเอาน้ำสีดำนั้นไปกรองและนำไปผสมแป้ง ซึ่งจะเป็นแป้งเท้ายายม่อมหรือแป้งมันก็ได้ จนได้ออกมาเป็นเฉาก๊วยสีดำที่เราเห็นกันทุกวันนี้
 
6. เฉาก๊วยชากังราว จาก 3 สายพันธ์ 3 ประเทศ
 
ภาพจาก https://citly.me/RmErT

ความพิเศษไม่เหมือนใครของเฉาก๊วยชากังราวคือเนื้อเฉาก๊วยที่นุ่มหนึบ ไม่ได้เหนียวจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้ขาดง่าย ชนิดที่หาจากเฉาก๊วยเจ้าอื่นไม่ได้ เฉาก๊วยชากังราวเลือกใช้ต้นเฉาก๊วย 3 สายพันธุ์จาก 3 ประเทศมารวมกัน แม้ในวันนี้จะมีการปลูกต้นเฉาก๊วยอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่สูตรลับความนุ่มหนึบของเฉาก๊วยชากังราวนั้นเป็นการรวมกันของต้นเฉาก๊วยจากเวียดนามที่โดดเด่นในเรื่องของความหวาน ต้นเฉาก๊วยอินโดนีเซียที่มีความนุ่มหนึบ และต้นเฉาก๊วยจีนที่มีรสชาติหวานหอมกลมกล่อม โดยต้นเฉาก๊วยจาก 3 ประเทศนี้จะปลูกในที่สูงและอากาศเย็น ทำให้เป็นต้นเฉาก๊วยที่มีคุณภาพดีกว่าต้นเฉาก๊วยที่ปลูกในประเทศไทย
 
7. ประดิษฐ์เครื่องล้างเฉาก๊วยสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง
 
นอกจากความสำเร็จบนเส้นทางธุรกิจแล้ว เฉาก๊วยชากังราวยังสร้างความสำเร็จด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเกียรติประวัติการศึกษา ซึ่ง คุณเสริมวุฒิ กลายเป็น ดร.เสริมวุฒิหลังจากได้ปริญญาโทและปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ในฐานะที่ดร.เสริมวุฒิเป็นเจ้าของไอเดียประดิษฐ์เครื่องล้างเฉาก๊วย ที่พัฒนาจากเครื่องล้างจาน นับเป็นนวัตกรรมการประดิษฐ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชร
 
8. จุดเริ่มต้นของ “มีม” ขายเฉาก๊วย
จากข้อมูลในรายการ ฉันมาฆ่ามีม ของผู้ใช้ Youtube ชื่อว่า calldamanny กล่าวว่า มีมเฉาก๊วยนั้นเกิดขึ้นจากเสียงเร่ขายของ ดร.เสริมวุฒิที่เราได้ยินกันตามสถานีบริการน้ำมัน แล้วนำมาเล่นเป็นมีมในอินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่ทราบว่ามันเกิดขึ้นตอนไหน และ ใครเป็นคนเริ่มต้นก่อน แต่สิ่งที่มีมเฉาก๊วยนั้นกลายเป็นต้นกำเนิดที่ขยายกลายมาเป็นมีมไวรัลได้ เกิดจากผู้ใช้ Youtube ที่ชื่อว่า PEAM ได้โพสต์คลิปที่ชื่อ เวลาไปตลาดนัด (เฉาก๊วยชากังราว) อัพโหลดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นการนำฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight Rises (แบทแมน อัศวินรัตติกาลผงาด) มาตัดต่อกับเสียงเร่ขายเฉาก๊วย จนกลายเป็นกระแสในช่วงหนึ่ง ต่อมาก็มีชาวเน็ตนำเสียงเร่ขายเฉาก๊วยมาทำมีมเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีมนี้กลายเป็นกระแสขึ้นมาทันที่ในช่วงนี้ หนึ่งในนั้นมี Youtuber ชื่อดังทั้ง Zhevass, SkizzTV, Nontakan Ns. นำไปทำเป็นคลิป Reaction มาแล้ว
 
9. เสียงเร่ขายฉบับเต็มของ ดร.เสริมวุฒิ
 
เป็นที่ทราบกันดีว่าเสียงเร่ขายที่เราได้ยินตามสถานีบริการน้ำมัน ปตท. คือเสียงของ ดร.เสริมวุฒิ ที่นี้ลองมาดูฉบับเต็มของเสียงนี้ว่าเขาพูดอย่างไร “สำหรับท่านที่เดินผ่านไปผ่านมานะครับ วันนี้ เฉาก๊วยชากังราวของเรานะครับ ก็ได้มาบริการท่านพ่อแม่พี่น้องกันอีกแล้วครับ อากาศร้อนๆ อย่างนี้นะครับ สำหรับท่านที่เดินผ่านไปผ่านมา ลองมาแวะชิมเฉาก๊วยแท้ๆ กันก่อนนะครับ เฉาก๊วยชากังราวของเราเป็นที่รู้จักไปทั่ว และสำหรับท่านที่ไม่เคยเห็นต้นเฉาก๊วย วันนี้โอกาสดีนะครับ เรามีต้นเฉาก๊วยมาให้พ่อแม่พี่น้องได้ดูได้ชมกันด้วยนะครับ โอกาสหน้าอย่าลืมนะครับ เฉาก๊วยชากังราวแท้ๆ เราทำจากยางเฉาก๊วยจริงๆ นะครับ”
 
10. ทำไม “มีม” เฉาก๊วย ถึงฮิตติดหู
 
เหตุผลน่าจะเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มักจะชอบการทำอะไรที่ติดหู เช่น ประโยคจากหนัง เพลง โฆษณา หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมรอบๆตัว อย่างเพลงนาฏศิลป์อินเดีย ที่เนื้อเพลงเป็นชื่อเดือนทั้ง 12 ชื่อ แล้วร้องวนซ้ำกัน มีนักร้องได้นำมาร้องใหม่ในชื่อ สิบสอง จนกลายมาเป็นไวรัลที่ฮิตติดหู หรือแม้แต่วลีจากในโฆษณา ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ติดหูเช่นกัน อาทิ ข้าวแสนดี, แลคตาซอยห้าบาท, สงสัยหัวเทียนบอด, ใครๆก็ชอบปักกิ่ง เป็นต้น และชาวเน็ตส่วนมากมักจะมาทำเป็นมีมตลกๆ ตัดต่อทำเป็นภาพ เป็นวีดิโอ เป็นเสียง บ้างก็ทำเป็นเพลงใหม่ออกมาก็ยังทำได้ เพราะมันคือความบันเทิงในรูปแบบของมีม
 
“เฉาก๊วยชากังราว” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจสู้ชีวิตของคนที่ไม่ยอมแพ้จนวันนี้ธุรกิจมีมูลค่ามหาศาลและกลายเป็นสินค้าขายดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า ต้นทุนชีวิตของ ดร.เสริมวุฒิ ไม่ได้มีมากไปกว่าคนอื่น แต่สิ่งที่มากกว่าคือความพยายาม ตั้งใจทำจริง กว่าจะมาถึงวันนี้ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านปัญหามานับไม่ถ้วน น่าจะเป็นกำลังใจดีๆ ให้ใครอีกหลายคนที่อยากเติบโตในการลงทุนทำธุรกิจบ้าง
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 
 
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document
 
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
ขอบคุณข้อมูล
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
711
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
528
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
446
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด