บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
7.4K
5 นาที
9 ธันวาคม 2556
การเปิดเสรีโลจิสติกส์อาเซียน...เอสเอ็มอีต้องเตรียมรับมือ

สาขาโลจิสติกส์เป็นสาขาบริการหนึ่งที่มีแผนจะเปิดเสรีเพื่อช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุนให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ทำความตกลงเปิดเสรีการค้าบริการในหลายกรอบ เช่น อาเซียน ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-CER (Australia-New Zealand) เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน (AFAS : ASEAN Framework Agreement on Services) ซึ่งมีเป้าหมายในการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2556 น่าจะเป็นกรอบที่มีระดับการเปิดเสรีที่คืบหน้าและอาจส่งผลต่อธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยได้มากกว่ากรอบอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนที่มีการเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นในประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งสาขาโลจิสติกส์มีเป้าหมายที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 49 ในปี 2551 เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ในปี 2553 และร้อยละ 70 ในปี 2556 
 
นอกจากนี้ ไทยซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนที่มีแผนจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 (ค.ศ.2015) เพื่อให้อาเซียนเกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (Single Market and Production Base) ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานก็คาดว่าจะมีการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง และประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน  รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบภายในของแต่ละประเทศก็น่าจะมีการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ซึ่งย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในหลายๆ มิติ 
 
สำหรับผู้ประกอบการในสาขาโลจิสติกส์ก็ต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ได้มาทั้งโอกาสที่สำคัญ และเตรียมรับมือกับผลกระทบ เพื่อให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมใหม่นี้ 


โอกาสเปิดกว้างสำหรับผู้ให้บริการในประเทศ...สู่ตลาดบริการโลจิสติกส์ที่ใหญ่ขึ้น
 
การเปิดเสรีเป็นโอกาสในการเข้าถึงตลาดการให้บริการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น  ซึ่งเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการที่จะขยายการให้บริการสู่ตลาดขนาดใหญ่ ทั้งในอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านของอาเซียนที่มีพรมแดนติดกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน โดยอาศัยความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ และการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ตลอดจนความร่วมมือเพื่อการขนส่งระหว่างกันในภูมิภาค ซึ่งจากการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2552 เป็นประมาณ 2.0 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2558 และในช่วงปี 2553-2558 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนน่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4-5 ต่อปี โดยลาวและเวียดนามเป็นประเทศที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดในกลุ่มอาเซียนในระดับร้อยละ 7.6 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ  ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ตลาดโลจิสติกส์ในอาเซียนมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก 
 
นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยบางประเทศยังเป็นตลาดที่ยังไม่เน้นการบริการที่มีคุณภาพสูงมาก ซึ่งน่าจะเป็นอีกตลาดที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีโอกาสเข้าไปให้บริการ หรือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานนั้น 
 
สำหรับตลาดความต้องการบริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย อาจมีการเติบโตตามเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งจะมีมากขึ้น โดยการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ รวมทั้งไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหลายอย่าง เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงการสร้างพื้นฐาน แรงงานฝีมือ และการพัฒนาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการใช้บริการในธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้นตามมา
 
โอกาสในการเป็นพันธมิตรหรือส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานกับผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่  การเปิดเสรีทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการหาพันธมิตร หรือรวมกิจการ หรือส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน เช่น รับจ้างช่วง กับผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ หรือผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะขยายกิจการมากขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการในภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพใช้โอกาสนี้เติบโตไปด้วย นอกจากนี้ การได้ร่วมงานกับผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเป็นโอกาสในการเรียนรู้ และศึกษาการดำเนินกิจการในต่างประเทศที่มีมาตรฐาน เป็นระบบ ใช้เทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ

หลังเปิดเสรี…ในระยะสั้นการแข่งขันในตลาดไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนเปิดเสรีโดยทันที 
 
การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แม้ว่าในระยะสั้นการแข่งขันอาจไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนเปิดเสรีโดยทันที โดยการแข่งขันโดยรวมหลังจากเปิดเสรีโลจิสติกส์แล้วไม่น่าแตกต่างจากช่วงก่อนการเปิดเสรีโดยทันที เนื่องจากปัจจุบันได้มีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ในรูปแบบของ Nominee ขณะที่สภาพการแข่งขันในตลาดปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว โดยการให้บริการมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปนับจากนี้ ทั้งในส่วนของความหลากหลาย ครบวงจร และเป็นแบบ Door to Door  ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ทุนมากขึ้น เช่น รถบรรทุก เป็นต้น อีกทั้งอาจแข่งขันด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้นซึ่งอาจเป็นภาระทางการเงินแก่ธุรกิจตามมา เช่น การให้ credit term แก่ลูกค้าที่มีระยะเวลานานขึ้น เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ ธุรกิจโลจิสติกส์ของคนไทยยังได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งแต่ละรูปแบบ  เพราะแม้จะมีการเปิดเสรีการค้าบริการ แต่การเปิดเสรีต้องไม่ขัดกับกฎหมายเฉพาะภายในประเทศของแต่ละธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายที่จำกัดหรือกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ของชาวต่างชาติในเฉพาะบางสาขาไว้ เช่น การขนส่งภายในประเทศทั้งการขนส่งทางบก ทางน้ำ และอากาศ ที่มีการจำกัดการถือหุ้นและหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบกิจการของชาวต่างชาติภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่มีข้อจำกัดการประกอบธุรกิจขนส่งทางบกสำหรับชาวต่างชาติ เช่น พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 รวมทั้ง กฎหมายที่กำหนดอาชีพสงวนสำหรับคนไทย 39 อาชีพ ซึ่งรวมอาชีพคนขับรถอยู่ด้วย (งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้น เครื่องบิน) ส่วนการขนส่งทางน้ำในประเทศมี พ.ร.บ. เรือไทย พ.ศ.2540 ซึ่งยังช่วยปกป้องการดำเนินการของผู้ประกอบการเรือในประเทศไทย โดยแม้จะมีการเปิดให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาถือหุ้นได้ร้อยละ 70 แต่การขนส่งทางน้ำในประเทศต้องใช้เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทย ซึ่งจำกัดให้เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนได้ เป็นต้น 
 
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหลังจากการเปิดเสรีภาคโลจิสติกส์ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นคงยากที่จะหลีกเลี่ยง โดยผู้ให้บริการต่างชาติและผู้ให้บริการขนาดใหญ่มีการขยายขอบเขตบริการให้ครอบคลุมเครือข่ายและพื้นที่การให้บริการที่มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบมาถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กในลักษณะคล้ายกับธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการไทยอาจต้องแข่งขันกับการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติซึ่งอาจเข้ามาในหลายรูปแบบ นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการในอาเซียนแล้ว ผู้ประกอบการนอกอาเซียนอาจเข้าให้บริการในอาเซียนในรูปของบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลสัญชาติอาเซียนในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ค่อนข้างเสรี ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี และระบบสารสนเทศที่ทันสมัย การให้บริการที่ครบวงจร การบริหารจัดการ และความชำนาญเฉพาะด้าน ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs และมีศักยภาพในการแข่งขันน้อยกว่าได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังอาจนำไปสู่ปัญหาการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่มีทักษะไปสู่บริษัทชาวต่างชาติที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยได้อีกด้วย 
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจผชิญแรงกดดันจากหลายด้าน โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รับงานจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่จะมีอำนาจในการต่อรองต่ำ อีกทั้งต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดอีกจำนวนมาก ทำให้การขึ้นราคาค่าบริการไม่สามารถทำได้โดยง่าย อีกทั้ง ภาวะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มผันผวนและเข้าสู่ช่วงขาขึ้น อาจทำให้อยากต่อการบริหารจัดการต้นทุน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญแรงกดดันจากทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน
 
การปรับตัวของผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อรับมือการเปิดเสรีโลจิสติกส์อาเซียน
  • ปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง: โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศได้มากขึ้นกว่าในอดีต ขณะที่กระแสการเปิดเสรีได้เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาทั้งโอกาส การแข่งขัน และความผันผวนที่มากขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ภัยทางธรรมชาติ ของทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเชื่อมโยงกับธุรกิจของตน เช่น ตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐฯ หรือมาตรการของจีนอาจกระทบภาคการส่งออกของไทย และส่งผลต่อภาคการขนส่งที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น  ซึ่งการติดตามดังกล่าวและเชื่อมโยงสถานการณ์ต่างๆ จะทำให้มองเห็นโอกาส และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะช่วยให้สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ อาจต้องอาศัยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การช่วงชิงโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจ อาจต้องปรับทัศนคติ เช่น การรุกออกไปสู่ตลาดใหม่ๆ มากกว่าการเน้นการตั้งรับในตลาดของตนเอง อีกทั้งปรับทัศนคติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หรือวิกฤตที่เกิดขึ้น ไม่ได้นำมาเฉพาะผลกระทบเท่านั้น แต่ย่อมมีโอกาสในขณะเดียวกัน
  • การปรับปรุงศักยภาพของธุรกิจ: เริ่มจากการเข้าใจธุรกิจของตนเอง ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แล้วจึงวางแผนและหามาตรการเพื่อปรับปรุงธุรกิจหรือใช้จุดแข่งให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรนำเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรเร่งสร้างนวัตกรรม และความเชี่ยวชาญเฉพาะให้กับองค์กร เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การขนส่งวัตถุดิบอันตราย และความชำนาญในพื้นที่ เป็นต้น โดยผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องเร่งยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดที่มีความเฉพาะตัว และควรให้ความสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือในการให้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการให้บริการในธุรกิจโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรสร้างเครือข่ายการบริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพและอำนาจในการต่อรอง ทั้งนี้ ควรมีการร่วมมือกัน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีอยู่ให้ทั่วถึง
  • ยายการให้บริการที่ครบวงจร และหาพันธมิตรทางธุรกิจ: ผู้ประกอบการธุรกิจอาจต้องปรับขนาดธุรกิจให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และให้บริการที่หลากหลาย ครบวงจร และเป็นแบบ Door to Door ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ทุนมากขึ้น เช่น รถบรรทุก โกดังสินค้า เป็นต้น แต่อาจใช้เงินทุนจำนวนมาก  รวมทั้งความเสี่ยงจากการให้บริการที่ยังไม่มีความชำนาญ จึงอาจใช้วิธีการรวมตัวกันเพื่อให้บริการในลักษณะเป็นพันธมิตร เพื่อให้บริการได้ครบวงจรขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการดำเนินการเองทั้งหมด และการรวมตัวกันจะทำให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ให้บริการขนาดใหญ่ด้วย นอกจากนี้ อาจหาพันธมิตรทางธุรกิจโดยเฉพาะคนในท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์การให้บริการในประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้างเครือข่ายการขนส่งสินค้าและบริการ และลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดใหม่ รวมถึง การเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ในประเทศที่จะออกไปลงทุนยังต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการไปรับงานในตลาดต่างประเทศพร้อมกับพันธมิตรทางธุรกิจ
  • พัฒนาทรัพยากรมนุษย์: การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งมีความสำคัญมากในสาขาโลจิสติกส์ โดยพัฒนาให้เกิดความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับการออกไปให้บริการในต่างประเทศหรือความต้องการใช้บริการที่มีจำนวนและมาตรฐานที่มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจต้องเร่งสร้างบุคลากรภายในองค์กรให้ตรงตามความต้องการของตน ด้วยการให้การอบรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่จะรองรับความต้องการในอนาคต ทั้งด้าน ความรู้ด้านภาษา โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องปลูกฝัง หรือปรับทัศนคติในการทำงานของแรงงานให้มีความรักและภาคภูมิใจในอาชีพและองค์กร เพื่อรักษาบุคลากรที่สร้างขึ้นให้อยู่กับธุรกิจของตนควบคู่ด้วย
  • ติดตามข่าวสาร และมาตรการของรัฐ: เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กโดยทั่วไป หรือเป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในสาขาโลจิสติกส์โดยตรง แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กบางกลุ่มเข้าถึงความช่วยเหลือไม่เต็มที่ ทั้งนี้ อาจเนื่องจากปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ และความตระหนักของผู้ประกอบการเอง ผู้ประกอบการจึงควรติดตามข่าวสารจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ รวมทั้งมาตรการความช่วยเหลือ เพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด
 
แม้ว่าระดับการเปิดเสรีโลจิสติกส์ภายใต้กรอบอาเซียนในปัจจุบันจะยังไม่เกินกว่ากฎหมายภายในประเทศ แต่หากมีการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ จะยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่
  • สาขาโลจิสติกส์ที่ได้รับการคุ้มครองอาจต้องมีกฎหมายที่ระบุเป็นการเฉพาะ หากสาขาที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้จะต้องทำการเปิดเสรีตามข้อตกลง ซึ่งสาขาที่คาดว่าจะต้องเปิดเสรีและอาจได้รับผลกระทบ เช่น บริการตัวแทนด้านศุลกากร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพที่แท้จริงพบว่า ผู้ประกอบการชาวต่างชาติก็สามารถเข้ามาประกอบกิจการในไทยด้วยวิธีอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยเองจึงต้องคำนึงถึงภาวะการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นด้วย
  • การออกไปลงทุนยังต่างประเทศจะต้องศึกษาถึงรายละเอียดก่อนอย่างรอบด้าน เนื่องจากอาจยังมีอุปสรรคทั้งด้านวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ข้อปฏิบัติและกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างแต่ละรัฐ หรือแต่ละประเทศ เช่น ไทยไม่สามารถขับรถพวงมาลัยด้านขวามือจากไทยผ่านประเทศลาว และเวียดนาม ซึ่งใช้พวงมาลัยด้านซ้ายได้ แม้จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross Border Transport Agreement: CBTA) ซึ่งมีการดำเนินการบ้างแล้ว นอกจากนี้ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในบางช่วงเวลาที่อาจยังเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง รวมทั้ง ความไม่แน่นอนและชัดเจนในกฎระเบียบและกฎหมายของหลายประเทศ อาจทำให้เกิดต้นทุนที่ยากจะคาดการณ์ ซึ่งทำให้การกำหนดค่าบริการมีความยุ่งยาก ทั้งนี้ การออกไปลงทุนยังต่างประเทศอาจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือคนในท้องถิ่น เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ
  • หลายประเทศยังมีกฎหมายที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติเช่นเดียวกับไทย การออกไปลงทุนหรือให้บริการยังต่างประเทศอาจต้องคำนึงถึงกฎหมายเกี่ยวข้องกับการโลจิสติกส์และการขนส่งด้วย ซึ่งมีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นเช่นเดียวกับไทย หรืออาจมีขั้นตอนการขอนุญาตหรือต้นทุนในการดำเนินการต่างๆ ที่เป็นการปกป้องผู้ประกอบการในชาติ ซึ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อย
  • มีแนวโน้มการใช้มาตรฐานเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศมากขึ้น หลังจากการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน อาจมีมาตรการอื่นๆ เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศของตน เช่น การกำหนดมาตรฐานการให้บริการ การขออนุญาตประกอบการจากภาครัฐด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ไม่ขัดต่อหลักการเปิดเสรี เช่น ผู้ประกอบการต้องมีทักษะด้านภาษาของประเทศนั้นในระดับที่กำหนด เป็นต้น ขณะที่ไทยกำลังมีการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ พ.ศ. ....เพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ของไทย โดยการกำหนดมาตรฐานการให้บริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ
การเปิดเสรีภาคโลจิสติกส์ อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กค่อนข้างมาก เนื่องจากศักยภาพในการรองรับการแข่งขันมีไม่มาก การเข้ามาช่วยเหลือของภาครัฐอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ขณะที่ผู้ประกอบการเองควรตระหนักและไม่ควรนิ่งนอนใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งจะนำมาทั้งโอกาสสำหรับผู้ที่มองเห็นและกล้าที่จะหยิบฉวย ขณะที่การแข่งขันคงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

อ้างอิงจาก KSMECare
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
793
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
439
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
421
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด