บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ
4.3K
2 นาที
3 ตุลาคม 2552

ยุคนี้กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรนำมาใช้คืออะไร ? 

พื้นฐานของการทำธุรกิจโดยทั่วไป สูตรตั้งต้นในการก้าวย่างมักจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก แต่พอธุรกิจตั้งไข่ได้แล้ว กลยุทธ์ในการเดินหน้าของแต่ละรายจะเริ่มถูกงัดออกมาใช้สารพัดวิธี

 และสิ่งนี่เองที่จะเป็นตัวสร้างความแตกต่างของผู้ประกอบการแต่ละรายให้เห็นอย่างชัดเจน
กลยุทธ์ใครดีก็เหมือนมีเครื่องมือนำทางสู่ความสำเร็จได้เร็วและมากกว่ารายอื่น แต่กลยุทธ์ที่ว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องผันแปรไปตามสถานการณ์แวดล้อมในแต่ช่วง เพราะสถานการณ์หนึ่งก็เหมาะเฉพาะแค่กลยุทธ์แบบหนึ่ง แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน กลยุทธ์ที่ว่าเจ๋งในขณะนั้น ก็อาจจะเชย ใช้การไม่ได้ในสมัยนี้

ยกตัวอย่างในอดีต ประไทยเป็นฐานการผลิตให้บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เพราะต้นทุนการตั้งสถานประกอบการ ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงาน ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

ผลผลิตที่ได้ออกมา เจ้าของบริษัทผู้จ้างสามารถตั้งราคาขายสินค้าในอัตราที่ต่ำได้สบาย การขายก็คล่อง กำไรก็งาม

แต่พอมายุคนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยถูกยกระดับสูงขึ้น แรงงานพัฒนาฝีมือมากขึ้น ต้นทุนค่าจ้างก็ย่อมแพงขึ้น บริษัทที่จะเข้ามาจ้างไทยให้ผลิตสินค้าต้นทุนถูกเพื่อนำไปขายแข่งกับประเทศอื่นในราคาต่ำก็ทำไม่ได้แล้ว ต้องย้ายไปหาทำเลอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าไทย หรือไม่ก็ต้องปรับรูปแบบการผลิตสู่สินค้าคุณภาพสูงขึ้น หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา หันไปมุ่งแข่งคุณภาพแทน เป็นต้น

แล้วยุคนี้กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรนำมาใช้คืออะไร ?

ภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ฟันธงว่า นวัตกรรม คือ คำตอบที่ลงตัวที่สุดในยุคนี้ ซึ่งหมายรวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ ตั้งแต่กระบวนการผลิต แพ็กเกจจิง การจัดจำหน่าย และบริการลูกค้า

แน่นอนว่าการใช้นวัตกรรมต้องมีการลงทุน จะสูงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ และขนาดของกำลังการผลิตที่จะใช้ แต่ถึงจะลงทุนสูงผลตอบแทนที่ได้กลับคืนมาก็คุ้ม เพราะสินค้าที่ผลิตได้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากความโดดเด่นหรือแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะยาวนวัตกรรมยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการผลิต เฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนจากแรงงาน และการบริหารจัดการเศษสิ่งวัสดุหรือวัตถุดิบเหลือทิ้งจากขั้นตอนการผลิต

การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นกำลังหลักในการเผชิญกับทุกสภาพความผันผวนทางเศรษฐกิจและต้นทุนทุกด้าน

“เอสเอ็มอีไทยมีจุดอ่อนในเรื่องการนำนวัตกรรมมาใช้ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศได้ สินค้าจำนวนมากที่ผลิตได้เอง แต่กลับถูกสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนแย่งตลาดไปแทบเกลี้ยง เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าในสินค้าประเภทเดียวกันเกรดเดียวกัน ก็เป็นธรรมดาที่ลูกค้าจะเลือกซื้อของอินเตอร์มากกว่า” ภักดิ์ กล่าว

การหันมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ จึงเป็นทางออกที่ลงตัวต่อการผลิตของธุรกิจเอสเอ็มอีไทย

นอกจากจะช่วยให้แข่งขันตลาดในประเทศจากการถูกบุกรุกจากสินค้าเพื่อนบ้านได้แล้ว ยังสามารถต่อยอดออกไปแข่งขันกับนานาประเทศได้ด้วย

ไม่ต้องห่วงว่าการใช้นวัตกรรมจะเป็นเรื่องเกินความสามารถหรือต้องพึ่งพาเงินทุนก้อนโต นวัตกรรมใหม่ๆ จำนวนมากสมัยนี้ใช้เงินลงทุนไม่ต้องสูงมาก

หน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยของไทยมีบริการให้คำแนะนำ วิจัย และประดิษฐ์นวัตกรรมหลากหลายออกมาช่วยเหลืออยู่ตลอด ภายใต้โครงการต่างๆ ที่รัฐเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน อยู่ที่ว่าผู้ประกอบการจะหันมาใส่ใจ เสาะหาช่องทางนำนวัตกรรมที่ทันสมัยไปใช้เสริมกิจการตัวเองหรือไม่

กระนั้นก็ต้องเตือนว่า นวัตกรรมไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการการันตีสู่ความสำเร็จ แต่เป็นกลยุทธ์สู่ความสำเร็จที่เหมาะเจาะในยุคนี้สมัยนี้

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย เสริมว่า การใช้นวัตกรรมมีเงื่อนของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พอใช้ผ่านไประยะหนึ่งอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาต่อยอดให้เหมาะกับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ผ่านมา

กล่าวได้ว่าผู้ประกอบการต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอด เพราะธุรกิจที่อยู่รอดได้คือ ธุรกิจที่รู้จักปรับตัว

กลยุทธ์อีกประการที่เอสเอ็มอีควรสร้างเพิ่มเติมคือ เครือข่าย เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจต่อกัน สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่เครือข่ายที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดียวกัน ธุรกิจอื่นก็จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงให้ถึง

การมีเครือข่ายหลากหลายกลุ่ม จะยิ่งเป็นประโยชน์มาก เพราะแต่ละกลุ่มจะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่จะได้แลกเปลี่ยนกันในการหาลู่ทางอื่นเพิ่มเติม เช่น ช่องทางหาแหล่งวัตถุดิบ ช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน ช่องการสร้างตลาดใหม่ เป็นต้น

การเปิดมุมมองข้ามไปฝั่งธุรกิจอื่นบ้าง อาจได้ลูกค้าจากเครือข่ายง่ายๆ ไม่ต้องไปมองหรือขวนขวายหาลูกค้าอื่นไกลให้สิ้นเปลืองต้นทุนทั้งเวลาและเงินทอง

ในทางกลับกัน เมื่อเราตกอยู่ในสถานะลูกค้าของเครือข่ายที่สร้างไว้บ้าง มองในแง่บวก เราก็จะได้รับสิทธิพิเศษในแง่ของราคา หรือการบริการที่ดีกว่าคนนอกกลุ่ม ยามเมื่อต้องสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบใกล้ตัว หรือต่อยอดไปสู่การขยายธุรกิจ ถือเป็นการประหยัดต้นทุนทางอ้อมได้อีกทาง

รวมถึงเป็นเวทีให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดเห็น เมื่อประสบปัญหาทางธุรกิจ “บ่อยครั้งที่คิดหลายหัวก็ดีกว่าหัวเดียว” ทำให้หาทางออกได้เร็วขึ้น

เครือข่ายทางธุรกิจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งอีกประการที่ต้องทำให้เกิดโดยเร็ว ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนทำทุกเรื่องด้วยตัวเองเสมอไป 
 
 
อ้างอิงจาก โพสต์ ทูเดย์

บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด