บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    การสร้างมูลค่าทางธุรกิจ
5.9K
4 นาที
11 มกราคม 2553

แนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอีกับทิศทางเศรษฐกิจปี 53 

หลังจากที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักในปี 2552 แต่ด้วยการประสานมาตรการในการแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้นำพาเศรษฐกิจโลกให้ก้าวผ่านพ้นภาวะถดถอยมาได้ในที่สุด และสัญญาณเศรษฐกิจล่าสุดในภูมิภาคต่างๆ ก็สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นลำดับ สำหรับก้าวย่างสู่ศักราชใหม่ในปี 2553 หลายฝ่ายตั้งความคาดหวังว่าสภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจน่าจะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2553 อาจจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในระดับปานกลางที่ประมาณร้อยละ 3.0 โดยมีช่วงกรอบประมาณการอยู่ระหว่างร้อยละ 2.5-3.5 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก จากที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวประมาณร้อยละ 3 ในปี 2552 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ภาคการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยกลับมาเติบโตดีขึ้น

ขณะเดียวกัน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล ก็เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงปีหน้า ท่ามกลางภาวะที่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังหลายด้าน โดยทิศทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2553 ที่จะมีผลต่อแนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอี อาจสรุปได้ดังนี้

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ... แต่ยังมีความเปราะบาง

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งในด้านการเงินและการคลัง ที่ทางการของประเทศต่างๆ นำออกมาใช้ จึงทำให้มีความกังวลถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในอนาคต หลังจากที่ทางการของแต่ละประเทศค่อยๆ ถอยออกจากการใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้น โดยเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น  ยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะความอ่อนแอของภาคการบริโภค ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดแรงงานยังฟื้นตัวค่อนข้างเชื่องช้า

ขณะที่ตลาดสินเชื่อยังมีภาวะตึงตัว ประกอบกับรัฐบาลมีข้อจำกัดด้านการคลังมากขึ้นจากภาระหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังที่ตามมากับการดำเนินมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ แม้มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง และจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ในแต่ละประเทศก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังแตกต่างกันไป เช่น  ปัญหาเงินเฟ้อ (เช่น อินเดีย เวียดนาม) ความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ (เช่น ดูไบ จีน ฮ่องกง และอีกหลายประเทศในเอเชีย) การถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือในการจัดอันดับเครดิต ( เช่น กรีซ) ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงก็อาจจะบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ได้

จากทิศทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ที่ยังมีความเสี่ยงแฝงตัวอยู่ดังกล่าว ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มุ่งเน้นตลาดส่งออกอาจจำเป็นต้องมีการกระจายตลาดสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบหากตลาดใดตลาดหนึ่งประสบปัญหา

อัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชีย 
 
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวบรวมจากข้อมูลทางการของประเทศต่างๆ

ทิศทางตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูง

แนวโน้มตลาดการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยที่ผันผวน โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจยังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวระยะเริ่มแรก ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจอาจจะไม่ดีมากดังที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งจะเป็นผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ยังคงชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้จนกว่าจะมีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างมั่นคงแล้ว ในช่วงระหว่างเวลาดังกล่าว ค่าเงินดอลลาร์ฯ อาจจะเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่า และส่งผลให้ค่าเงินของภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม

ในอีกด้านหนึ่ง หากปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ปรากฏผลในทางที่จะก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจขึ้น ก็อาจเกิดจุดวกกลับของค่าเงินดอลลาร์ฯ เนื่องจากในยามที่ตลาดการเงินโลกมีความกังวลต่อความเสี่ยงหรือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ นักลงทุนมักจะหันกลับไปถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้เงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่าขึ้นได้

นอกจากนี้ จุดวกกลับของค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังอาจเกิดขึ้นได้เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และเฟดเริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ เพื่อหาโอกาสทำกำไรจากอัตราผลตอบแทนที่จะปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ทั้งนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นไปทดสอบระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ฯ จากปัจจุบัน เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.3 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ระหว่างปีค่าเงินมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวผันผวน         
 
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกและนำเข้าอาจเลือกใช้ธุรกรรมทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การเจรจากับคู่ค้าในการกำหนดราคาสินค้าเป็นเงินสกุลอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์ฯ หรือผู้ที่ค้าขายกับประเทศจีนสามารถใช้บริการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรต้องคอยติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศ เพื่อประเมินทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดันเงินเฟ้อและต้นทุนผู้ประกอบการพุ่ง

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น โดยมีแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของระดับอุปสงค์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาวะผลผลิตการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจหนุนการเข้าไปลงทุนเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ถือเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบหลายประเภท เช่น น้ำมัน โลหะ และพืชผลการเกษตร จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ในขณะที่สภาพการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดจะกดดันให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาขายได้มากนัก ซึ่งจะมีผลต่ออัตรากำไรได้ นอกจากนี้ ภาวะราคาสินค้าที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันในการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.0-4.0 จากที่เป็นตัวเลขติดลบในปี 2552 โดยคาดว่า ราคาอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ขณะที่ราคาน้ำมันในประเทศ ถ้าพิจารณาจากราคาน้ำมันดีเซล คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมามีระดับเฉลี่ยประมาณ 31.0-33.5 บาทต่อลิตร จากระดับราคาประมาณ 25 บาทต่อลิตรในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25-35 โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีระดับเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 75.0-85.5 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล แต่มีโอกาสไต่ขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553


แนวโน้มแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน เพื่อรักษาอัตรากำไรและความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำ หรือมีค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทของไทย เช่น เวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามได้ลดค่าเงินด่องลงประมาณร้อยละ 5.4 และมีโอกาสที่จะลดค่าเงินลงอีกได้ในปี 2553

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นประมาณกลางปี

แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553 อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน คาดว่าจะยังมีระดับไม่สูงนัก โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรก จะมีค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.5 ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 เนื่องปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ยังอ่อนแอ อาจจะกดดันให้ผู้ผลิตไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นในอัตราที่เท่าเทียมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ จากทิศทางเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับดังกล่าว ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 จึงน่าจะเอื้อให้ ธปท. ยังสามารถคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ราคาสินค้าที่จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นคงจะเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธปท. ซึ่งจะเป็นผลให้ ในที่สุดแล้ว ธปท. คงจะต้องหันกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจังหวะเวลาและขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงต้องขึ้นอยู่กับระดับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ รวมทั้งปัจจัยพิจารณาอื่นๆ เช่น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ เป็นสำคัญ

ซึ่งทิศทางดังกล่าวคงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ช่วงขาขึ้นเช่นเดียวกัน โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คงขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในระบบ และการแข่งขันดึงเงินฝากระหว่างธนาคารด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.75 ภายในปี 2553 โอกาสที่ต้นทุนการเงินจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า จึงเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการควรต้องพิจารณาประกอบการวางแผนเตรียมสภาพคล่องและแผนการลงทุนในอนาคต

ปัญหาภายในประเทศอาจกดดันเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ปัจจัยหลายด้านที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นทิศทางที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกต้องเผชิญคล้ายๆ กัน แต่สำหรับประเทศไทย ยังมีปัจจัยเสี่ยงเฉพาะตัวที่จะกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวในปีข้างหน้า ที่สำคัญได้แก่  ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่จะยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจะกระทบต่อความคืบหน้าในการใช้จ่ายของภาครัฐ และดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็ง ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะเป็นแรงกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ขยายตัวล้าหลังประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

โดยอัตราการเติบโตของจีดีพีของไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียทั้งในปี 2552 และ ปี 2553 นอกจากประเด็นทางการเมืองแล้ว ปัญหาที่สำคัญอีกประการที่รอคอยการแก้ไข ได้แก่ ปัญหาความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนบางประเภท ดังเช่น กรณี การระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งไม่เพียงในพื้นที่มาบตาพุดเท่านั้น แต่โครงการลงทุนอื่นๆ ที่เกรงว่าจะเข้าข่ายกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ก็ต้องหยุดชะงักลงในขณะนี้

เนื่องจากต้องรอคอยกระบวนการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการให้อนุญาตดำเนินกิจการ ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ แม้ว่าปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจโดยทั่วไป แต่เนื่องจากธุรกิจที่เผชิญปัญหากฎหมายเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีโครงการลงทุนมูลค่าสูง เช่น ปิโตรเคมี พลังงาน ผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งหากการคลี่คลายปัญหาทำได้ล่าช้า ก็อาจมีผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนได้

ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของธุรกิจ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดไว้ล่วงหน้า เช่น แผนการผลิตและการตลาดหากผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองส่งผลกดดันให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าที่คาด การสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าในกรณีเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การดำเนินการเพื่อให้ส่งมอบสินค้าได้ตรงตามกำหนด เป็นต้น

โดยสรุป แม้โดยภาพรวมแล้วทิศทางเศรษฐกิจในปี 2553 น่าจะดีขึ้นกว่าในปี 2552 ที่ผ่านมา แต่อาจกล่าวได้ว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอยู่มาก ขณะที่สภาพการแข่งขันที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงจากการเปิดเสรีทางการค้าที่ขยายขอบเขตกว้างออกไปมากขึ้น ทั้งในแง่จำนวนประเทศและภูมิภาคที่มีความตกลงการค้าเสรีกับไทย และจำนวนรายการสินค้าที่มีการเปิดตลาด ทิศทางเหล่านี้ล้วนแต่สร้างความท้าทายให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าถึงโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น รวมทั้งความจำเป็นในการเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกที่จะยิ่งก้าวไปสู่ความเป็นตลาดเสรีอย่างเข้มข้นมากขึ้นต่อไปอีกในอนาคต

 
อ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,681
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,319
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
520
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
520
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
462
นักธุรกิจ vs นักธุรโกย ต่างกันอย่างไร
434
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด