บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเงิน บัญชี ภาษี การลงทุน    การลงทุน
5.4K
7 นาที
18 ตุลาคม 2554
10 ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารไม่ได้  (ตอน 1)
 
ประมาณปลายปี 2546 ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความเรื่อง ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs กู้เงินจากธนาคารไม่ได้ อันประกอบด้วยปัจจัยจำนวน 5 ปัจจัย ซึ่งเรียกปัจจัยดังกล่าวว่า “4ไม่ 1 มี” อันประกอบด้วย
  1. ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  2. ไม่มีประสบการณ์แต่เล็งผลเลิศ
  3. ไม่มีรายได้ให้ปรากฏ
  4. ไม่มี Business Plan หรือแผนธุรกิจ และ
  5. มีประวัติหนี้ NPL
ซึ่งบทความดังกล่าวก็ได้ถูกนำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไขในรายละเอียดบางส่วนจากหลายหน่วยงานเพื่อเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการ ซึ่งจากเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนเห็นว่าในข้อเท็จจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆที่จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถที่จะกู้เงินจากธนาคารได้อื่นๆอีก ซึ่งอาจไม่ถูกกล่าวถึงไว้แต่เดิม

ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นสมควรปรับปรุงเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆของบทความ ให้เหมาะสมและทันสมัยยิ่งขึ้นตรงกับสภาวะปัจจุบัน โดยนำรายละเอียดเดิมที่เขียนขึ้นมาเรียบเรียงและปรับปรุง รวมถึงเพิ่มเติมรายละเอียดของปัจจัยอื่นๆอีก 5 ปัจจัยซึ่งก็เป็นอีกปัจจัย “4ไม่ 1 มี” เช่นเดียวกัน

โดยใช้หัวข้อบทความ 10 ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ โดยตัด SMEs ออกเพราะเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็อาจมีอยู่ เพื่อให้ผู้ประกอบการพิจารณาดูว่าผู้ประกอบการหรือธุรกิจของผู้ประกอบการมีปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดอยู่บ้างหรือไม่ หรือมีทั้งหมดทุกปัจจัย

จะได้ทราบว่าท่านซึ่งเป็นผู้ประกอบการจะมีโอกาสที่จะได้รับคำปฏิเสธ หรือต้องได้รับคำปฏิเสธจากธนาคารอย่างแน่นอนในการขอกู้เงิน เพื่อที่จะได้จัดการแก้ไขไม่ให้มีปัจจัยดังกล่าวอยู่ในตัวของท่านหรือธุรกิจก่อนที่ไปขอกู้เงินจากทางธนาคาร โดยปัจจัยดังกล่าวทั้ง 10 ประการประกอบด้วย

1. ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถือเป็นปัจจัยส่วนใหญ่หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยมาตราฐานของการขอสินเชื่อไม่ได้ของผู้ประกอบการ เนื่องจากในระบบธนาคารหรือสถาบันการเงินใดก็ตามจำเป็นต้องมีการเรียกหลักประกันสำหรับค้ำประกันสินเชื่อทั้งสิ้น เพียงแต่หลักประกันที่ธนาคารเรียกเพื่อการค้ำประกันสินเชื่อนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดเท่านั้นเอง)

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มักเป็นรายเล็กๆซึ่งกำลังจะเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ หรือถ้าเริ่มดำเนินธุรกิจก็มักจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ยังไม่มีฐานะการเงินที่มั่นคงเพียงพอที่จะมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจได้กับธนาคาร เช่น โฉนดที่ดิน, บ้าน, ห้องชุด หรือถ้าผู้ประกอบการมีอยู่แล้วซึ่งก็มักจะเป็นบ้านพักอาศัยก็มักจะติดจำนองกับธนาคารในลักษณะของสินเชื่อเคหะ ซึ่งไม่สามารถนำมาจำนองเพิ่มเติมได้
 
แม้ว่าจะมีธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.-SME Bank) หรือ ธนาคารออมสิน จะจัดโครงการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น โครงการสินเชื่อ Fast Track หรือ โครงการสินเชื่อห้องแถว โดยเป็นการใช้บุคคลค้ำประกันแทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะมีวงเงินตั้งแต่ 50,000 – 300,000 บาท

โดยการใช้ข้าราชการระดับตั้งแต่ C6-C8 หรือพนักงานผู้มีรายได้ประจำเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับโครงการสินเชื่อ Fast Track แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่ผู้ประกอบการจะหาผู้ค้ำประกันในคุณสมบัติตามที่กำหนดนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว หรือในกรณีที่ต้องการขอวงเงินสินเชื่อถึง 500,000 บาท

โดยไม่ใช้หลักทรัพย์มาค้ำประกัน ก็ต้องให้นิติบุคคลซึ่งก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่ธนาคารกำหนดเช่นเดียวกันซึ่งอาจเป็นเรื่องยากกว่าการใช้บุคคลค้ำประกันเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบการต้องการซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ระหว่าง 200,000-300,000 บาทขึ้นไปจนถึง 1,000,000 บาท

ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเกือบทั้งสิ้น (สำหรับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปแม้ว่าจะมีโครงการสินเชื่อเพื่อ SMEs แต่ทั้งหมดจำเป็นต้องมีการใช้หลักทรัพย์รูปแบบหนึ่งรูปแบบใดในการค้ำประกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหลักประกันจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง รองลงมาก็อาจจะเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เป็นต้น
 
สำหรับการใช้บุคคลค้ำประกันก็นับเป็นหลักประกันชนิดหนึ่งเพราะถ้าเกิดกรณีผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ ผู้ค้ำประกันก็มีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินกู้แทนผู้กู้หรือชำระหนี้แทน ซึ่งก็จะมีสภาพเดียวกันกับการขายทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้นั่นเอง)

นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันโครงการการให้กู้สำหรับผู้ประกอบการโดยใช้บุคคลค้ำประกันมักพบว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถผ่อนชำระหรือผิดนัดชำระในสัดส่วนค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้เกิดกรณีที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบในภาระหนี้แทนผู้กู้ และเป็นภาระเกี่ยวกับเรื่องหนี้เสียของธนาคารผู้ปล่อยกู้ จึงปรากฏว่าในปัจจุบันมักจะไม่มีการอนุมัติสินเชื่อในรูปแบบดังกล่าวนัก

และการหาผู้ค้ำประกันก็เป็นเรื่องลำบาก เนื่องจากการเกิดการผิดนัดชำระจนทำให้ผู้ค้ำประกันต้องมารับภาระหนี้ดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการกู้เงินสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

โดยมักจะเข้าใจว่าสามารถผ่อนได้ระยะยาวและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเหมือนสินเชื่อเคหะ ตามที่ได้รับทราบจากการแข่งขันของสินเชื่อเคหะหรือสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ในตลาดที่โฆษณาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือทางวิทยุหรือสื่อต่างๆ คือผ่อนได้ 10-15 ปี หรือดอกเบี้ยประมาณ 4-5% ต่อปี เป็นต้น
 
ทำให้เมื่อผู้ประกอบการทำการติดต่อขอสินเชื่อกับทางธนาคาร ในกรณีที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น โครงการสินเชื่อ Fast Track ที่มีกำหนดระยะเวลาการให้กู้ 3 ปี และอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี ก็มักจะบ่นว่าให้กู้ในระยะเวลาสั้นเกินไป และดอกเบี้ยแพงเกินไป เป็นต้น

ทั้งที่ลักษณะของสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจ กับสินเชื่อเคหะนั้นมีความแตกต่างกันในโครงสร้างของลักษณะการใช้วงเงินสินเชื่ออยู่แล้ว นอกจากนี้ในกรณีที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น ผู้ประกอบการมักจะคิดว่าธนาคารจะปล่อยกู้ 100% ของมูลค่าตลาดหรือราคาทรัพย์สินซึ่งก็มาจากความเข้าใจเช่นเดียวกันกับสินเชื่อเคหะ ในขณะที่ธนาคารจะต้องมีการให้ทำการประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งอาจทำการประเมินราคาโดยหน่วยงานภายในของธนาคาร หรือโดยบริษัทประเมินราคาอิสระ

ซึ่งราคาประเมินที่ได้อาจมีความแตกต่างจากความคาดหวังของผู้ประกอบการ เช่น ราคาประเมินทรัพย์สินที่ได้ทำการประเมินราคาคือ 1,500,000 บาท ในขณะที่ผู้ประกอบการบอกว่าสมัยที่ตนซื้อทรัพย์สินหรือราคาของทรัพย์สินนั้น คือ 2,000,000 บาท เป็นต้น

ราคาที่แตกต่างกันนี้เกิดมาจากการลดลงของระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา แม้ว่าในปัจจุบันภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ในทุกๆแห่งหรือทุกๆทำเลจะกลับมามีราคาเช่นเดิม
 
นอกจากนี้วงเงินสินเชื่อที่ให้ก็ไม่ได้ให้ 100% ของราคาประเมินทรัพย์สิน โดยอาจอยู่ระหว่าง 70-80% ของราคาประเมินเท่านั้น ในกรณีที่ให้ถึง 100% ของราคาประเมินนั้นถือว่าแทบจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ว่าได้ (หรือถ้ามีอาจจะมาจากการประเมินราคาเพียง 70-80% ของราคาตลาด) โดยระยะเวลาการให้กู้ก็จะอยู่ระหว่าง 5-7 ปี

โดยอัตราดอกเบี้ยก็จะเป็น MLR + ซึ่งอาจจะอยู่ระหว่าง 6-8% ต่อปีหรือมากกว่า ตามความเสี่ยงของธุรกิจที่ธนาคารกำหนดขึ้นจากการพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะและการดำเนินการของธุรกิจ

ซึ่งก็จะมีเรื่องบ่นจากผู้ประกอบการถึงเรื่องของระยะเวลาในการให้กู้กับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดจากผู้ประกอบการ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับการไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และวงเงินที่ธนาคารสามารถให้กู้ได้ ไม่เพียงพอกับวงเงินที่ผู้ประกอบการต้องการเมื่อมีการคำนวณในเรื่องของการผ่อนชำระ
 
2. ไม่มีประสบการณ์แต่เล็งผลเลิศ ถือเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการใหม่หลายรายมักจะได้รับคำปฏิเสธจากธนาคาร กล่าวคือในการเริ่มดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากความชอบส่วนตัวหรือแรงบันดาลใจจากที่ใดก็ตาม เช่น จากหนังสือเกี่ยวกับ SMEs, จากหนังสือพิมพ์, จากการไปเห็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ก็มักจะเกิดความคิดที่ว่า “ถ้าเป็นเรา...ก็น่าจะทำได้”

เช่น ไปเห็นร้านกาแฟหรือร้านเบเกอรี่มีลูกค้าเต็มร้าน ก็คิดว่าถ้าเป็นตนเองก็น่าจะเปิดร้านกาแฟหรือร้านเบเกอรี่บ้างแล้วมีลูกค้าแน่นร้านเหมือนผู้อื่นได้ ทั้งๆที่ตนเองไม่ชอบกินกาแฟหรือไม่มีความรู้ในการทำเบเกอรี่มาก่อนเลย หรือได้ยินว่าในช่วงนี้รัฐบาลส่งเสริมในเรื่องของการส่งออกก็เลยคิดว่าจะเริ่มทำธุรกิจส่งออกทั้งๆที่ยังไม่เคยผลิตสินค้าใดๆมาก่อน หรือเคยทำธุรกิจส่งออก หรือแม้แต่ทำธุรกิจกับคนไทยด้วยกันเองเลย โดยรอความหวังว่ารัฐจะต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุนแก่ตนเองในฐานะผู้ประกอบการ เป็นต้น

โดยไม่มีการศึกษาให้รู้แจ้งเห็นจริงในธุรกิจที่ตนเองจะทำ หรือไม่เคยลองทำดูสักช่วงหนึ่งมาก่อนว่ามีปัญหาใดบ้างในการดำเนินการหรือเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้หรือไม่
 
ทั้งนี้อาจเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมแบบ Me Too หรืออาจจะเรียกว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะมีลักษณะเป็น Me Too Business คือถ้าธุรกิจอะไรดี ฉันขอทำด้วย ทำให้เมื่อผู้ประกอบการติดต่อขอสินเชื่อกับทางธนาคาร และเจ้าหน้าที่สินเชื่อได้ทำการพิจารณาในเรื่องของของประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ

จะพบว่าผู้ประกอบการใหม่เหล่านี้ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสินค้าหรือธุรกิจที่ตนเองจะเริ่มทำ หรือมักจะเป็นการเล็งผลเลิศหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความฝันของผู้ประกอบการคือคำว่า “ถ้าได้ตามที่คิด” คือ จะต้องมีลูกค้าจำนวนเท่าโน้นเท่านี้ จะมีรายได้เป็นเท่าโน้นเท่านี้ เป็นต้น โดยไม่เคยคิดว่าแล้วถ้าไม่ได้ตามที่คาดว่าไว้ตนเองหรือธุรกิจจะทำอย่างไร

ในขณะที่การพิจารณาในการให้สินเชื่อโดยส่วนใหญ่จะตั้งบนพื้นฐานว่า “ถ้าไม่ได้ตามที่คาด” แล้วธุรกิจจะเป็นอย่างไร ผู้กู้หรือธุรกิจจะมีความสามารถในการผ่อนชำระคืนสินเชื่อกับทางธนาคารได้หรือไม่
 
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแนวความคิดที่ดูแล้วสวนทางกันโดยสิ้นเชิงระหว่างผู้ขอกู้กับธนาคาร กล่าวคือผู้ประกอบการจะคิดเพียงแต่ว่าทำธุรกิจแล้วจะต้องได้รับผลกำไรไม่เช่นนั้นแล้วจะทำธุรกิจไปทำไม โดยจะไม่มีผู้ประกอบรายใดเลยที่มีความความคิดว่าจะมาขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อไปทำธุรกิจให้ขาดทุน เรียกได้ว่าผู้ประกอบการจะมีความคิดเป็น Best Case อยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารจะมีแนวโน้มทางความคิดว่า ถ้าผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อไปดำเนินธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดจะเป็นอย่างไร หรืออาจจะเรียกได้ว่าถ้าแย่ที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่ามีความคิดเป็น Worst Case หรืออย่างน้อยก็เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นหรือมีความคิดเป็นแบบที่เรียกว่า Most Likely ซึ่งถ้าผู้ประกอบการที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในการทำธุรกิจที่ขอกู้เงินมาก่อน

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการที่มีแนวความคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่หลากหลายมากมาย อยากจะทำธุรกิจหลายๆอย่างพร้อมกัน เพราะเห็นว่าแต่ละธุรกิจที่ตนคิดขึ้นล้วนแล้วแต่สามารถเติบโตหรือสามารถสร้างผลกำไรเป็นอย่างมากสำหรับตนเอง รวมถึงกลัวการเสียโอกาสถ้าตนไม่ทำธุรกิจที่คิดไว้ในตอนนี้เพราะอาจมีผู้อื่นหรือคู่แข่งแย่งทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันไปก่อน

โดยเฉพาะการเล็งแต่ผลเลิศในการทำธุรกิจที่ตนเองยังไม่เคยทำแล้ว เจ้าหน้าที่สินเชื่อมักจะปฏิเสธการให้วงเงินสินเชื่อกับผู้ประกอบการในลักษณะนี้ แม้จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันครบถ้วนทุกอย่างเนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถกำหนด หรือระบุแนวทางในการดำเนินธุรกิจตัวใดตัวหนึ่งที่ชัดเจนได้เนื่องจากความคิดในการทำธุรกิจที่มีจนมากมายเกินไป และการที่ธนาคารพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประกอบการดังกล่าวอาจไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจให้อยู่รอดตลอดรอดฝั่ง ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดหนี้เสียขึ้นได้ในอนาคต
 
3. ไม่มีรายได้ให้ปรากฏ สิ่งนี้ก็ถือเป็นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้สำหรับผู้ประกอบการ โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นรายที่เริ่มจะดำเนินการมาไม่นาน หรือได้ดำเนินการมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้วกล่าวคือ มักจะไม่มีการนำรายได้หรือรายจ่ายในการทำธุรกิจผ่านระบบธนาคาร โดยมักจะเป็นการซื้อขายกันด้วยเงินสดหักลบกลบหนี้กันแต่ละวัน

โดยอาจเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันนั้นมีอัตราที่ต่ำมาก การจะเข้าบัญชีธนาคารหรือไม่ก็มีผลเท่ากันแถมยังต้องเสียเวลาไปเข้าหรือเบิกถอนจากธนาคาร และยังไม่สะดวกที่จะทำการเบิกถอนในวันเสาร์-อาทิตย์อีกในขณะที่ตนเองต้องทำธุรกิจทุกวัน ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเข้าบัญชีออมทรัพย์ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นบัญชีออมทรัพย์ในชื่อของเจ้าของ

แต่ก็มักจะผสมปนเปกันกันไประหว่างค่าใช้จ่ายส่วนตัวกับค่าใช้จ่ายหรือรายได้จากการดำเนินธุรกิจเพราะถือว่าเป็นกระเป๋าเดียวกัน จะมีเพียงน้อยรายที่เปิดบัญชีในนามห้างร้านหรือชื่อธุรกิจที่ตนทำและแยกการใช้จ่าย ระหว่างรายได้หรือค่าใช้จ่ายทางธุรกิจกับรายได้หรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวอย่างชัดเจน

(ในส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแล้วเกือบทั้งหมด มักจะเปิดบัญชีในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทเพราะต้องมีการสั่งจ่ายเช็ค และมักจะมีระบบบัญชีที่มีระบบกว่าผู้ประกอบ SMEs โดยส่วนใหญ่ทั่วไป)
 
หรือผู้ประกอบการบางรายกลัวว่าการนำเงินรายได้ของธุรกิจไปเข้าธนาคาร จะกลายเป็นหลักฐานให้สรรพากรรู้ว่าตนเองมีรายได้เท่าใดแล้วทำให้ตนเองต้องเสียภาษี ซึ่งอาจมาจากการที่ตนเองไม่แจ้งแบบการชำระภาษี หรือประกาศตัวว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือเพื่อให้ตนเองเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริงหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย ทำให้เมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้มีความจำเป็นไปติดต่อขอกู้เงินจากธนาคาร

ซึ่งทุกธนาคารทั้งของภาครัฐและเอกชนซึ่งจะมีเงื่อนไขมาตราฐานในการขอกู้เงิน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ไฟท์บังคับ” ที่ธนาคารต้องขอเอกสารจากผู้ขอกู้เพื่อการพิจารณาสินเชื่อ กล่าวคือ ขอดูการเคลื่อนไหวทางการเงินกับธนาคารย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือขอดูบัญชีในสมุดคู่ฝากธนาคารหรือที่เรียกกันว่าขอดู Statement ย้อนหลังไป 6 เดือนว่าธุรกิจมีรายรับ-รายจ่ายและเงินคงเหลือหรือผลกำไรเป็นเท่าใด เพื่อพิจารณาว่ารายได้คงเหลือในการดำเนินธุรกิจสามารถผ่อนชำระคืนกับทางธนาคารตามวงเงินที่ขอกู้ได้หรือไม่
 
ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้นำเงินจากธุรกิจเข้าระบบบัญชีธนาคารก็มักจะไม่สามารถแสดงให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเห็นได้ว่า ธุรกิจของตนมีรายได้ตามที่แจ้งให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อทราบทราบเกี่ยวกับรายได้จากการทำธุรกิจ

เช่น แม้ว่าธุรกิจหักลบกลบหนี้ระหว่างรายรับ-รายจ่ายแล้วมีกำไรจากการทำธุรกิจเหลือเดือนละ 50,000 บาท แต่ในบัญชีธนาคารมีเงินคงเหลือในแต่ละเดือนเพียงเดือนละ 5,000 บาท ก็เป็นการยากที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเชื่อได้ว่าธุรกิจที่ผู้กู้ทำจะมีรายได้เท่าที่ผู้กู้แจ้งให้ทราบ  เพราะไม่หลักฐานในการยืนยันถึงรายได้จากการทำธุรกิจ

ซึ่งเป็นสาเหตุของการถูกปฏิเสธในการให้กู้จากธนาคารของผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เมื่อต้องไปขอกู้ในการขยายธุรกิจหรือขอเงินทุนหมุนเวียนทั้งที่ผู้ประกอบการมีหลักทรัพย์ค้ำประกันครบถ้วน มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และรายได้จากธุรกิจก็เกิดขึ้นจริงตามที่ผู้ประกอบการแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่สินเชื่อทราบ

แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงหลักฐานถึงการเข้าออกของรายได้ให้ปรากฏก็มักจะได้รับคำปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อในการให้กู้ ที่ดีหน่อยก็อาจจะได้รับคำแนะนำว่าให้ผู้ประกอบการไปเดินบัญชีกับธนาคารซัก 6 เดือนแล้วค่อยมาดำเนินการขอกู้อีกครั้ง
 
4. ไม่มี Business Plan หรือแผนธุรกิจ การมีหรือการจัดทำ Business Plan หรือแผนธุรกิจนี้ถือเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะมีผลให้ผู้ประกอบการสามารถกู้เงินจากธนาคารได้สำเร็จตามที่ต้องการ หรืออาจจะทำให้ได้รับคำปฏิเสธในกู้เงินจากทางธนาคารก็ได้เช่นเดียวกัน

โดยเกือบทุกธนาคารถ้าเป็นการขอกู้เพื่อการทำธุรกิจทางธนาคารจะขอให้ผู้ประกอบการทุกรายจัดทำ Business Plan หรืออาจจะใช้คำพูดว่าเสนอโครงการเข้ามา ซึ่งถือเป็นเอกสารประกอบในการพิจารณาสินเชื่อว่าธุรกิจมีลักษณะในการดำเนินการอย่างไร รายรับ-รายจ่ายเป็นเท่าใด การลงทุนในธุรกิจ จุดคุ้มทุน ผลกำไรของธุรกิจเป็นเท่าใด

โดยเฉพาะการดำเนินการของธุรกิจต่อไปในอนาคต (ซึ่งในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำและความสำคัญของแผนธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการ ซึ่งมีหลายเรื่องและหลายหัวข้อ

ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญโดยจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไปในส่วนของความสำคัญของแผนธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะจัดทำแผนธุรกิจเฉพาะตอนที่จะติดต่อขอกู้กับทางธนาคารเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการมีความสำคัญ และความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่จะไว้ใช้เฉพาะตอนจะขอกู้เงินกับธนาคารเสียอีก)

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะรายเล็กจะมีปัญหาในเรื่องของการจัดทำแผนธุรกิจนี้มาก เรียกได้ว่าเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับผู้ประกอบการเลยทีเดียวซึ่งมักจะเกิดจากว่าไม่รู้จะเขียนให้เป็นขั้นตอนที่ถูกต้องได้อย่างไร

โดยอาจจะแจ้งให้กับทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อทราบว่าถ้าจะให้อธิบายถึงธุรกิจของตนสามารถอธิบายได้ทุกขั้นตอน แต่ถ้าจะให้จัดทำหรือเขียนออกมาเป็นรูปเล่มตนเองไม่สามารถที่จะเขียนออกมาหรือจัดทำได้

ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าเขียนเองก็จะเขียนตามความเข้าใจของตนและส่วนใหญ่มักจะมีความสับสนในหัวข้อหรือรายละเอียดต่างๆ จนทำให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดที่ระบุในแผนธุรกิจที่ผู้ประกอบการจัดทำอย่างไม่มีระบบ อาจพบว่าเป็นคนละเรื่องกับจากการสัมภาษณ์หรือการให้ข้อมูลของผู้ประกอบการไปเลยก็มี
 
โดยเหตุผลของการจัดทำแผนธุรกิจตามที่กล่าวมาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจจากผู้เกี่ยวข้องในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ได้พูดคุยสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่สินเชื่อคนนั้นหรือคณะกรรมพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของทางธนาคาร

ดังนั้นเมื่อบุคคลเหล่านั้นได้อ่านข้อมูลของธุรกิจที่ขอกู้จากแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ก็จะวิเคราะห์ตามรายละเอียดที่ปรากฏซึ่งอาจเป็นทั้งด้านบวกหรือด้านลบในการอนุมัติสินเชื่อก็ได้ เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ได้พูดคุยหรือรับรู้ข้อมูลจากผู้ประกอบการโดยตรง

โดยในบางครั้งกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้เขียนแผนธุรกิจด้วยตนเองโดยอาจว่าจ้างบุคคลหรือบริษัทที่รับจ้างทำแผนธุรกิจหรืออาจเรียกว่า “มืออาชีพ” ในการเขียนแผนเพื่อที่จะไปเสนอต่อธนาคารเพื่อขอกู้เงิน

แต่ตนเองไม่เคยเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ว่าจ้างมืออาชีพเหล่านี้จัดทำขึ้นเลย ก็จะกลายเป็นว่าเมื่อถูกซักถามในรายละเอียดในแผนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขต่างๆที่ปรากฏในเรื่องของการเงินก็มักจะไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ ซึ่งจะกลายเป็นผลเสียยิ่งกว่าการไม่มีแผนธุรกิจเสียอีก
 
สำหรับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ซึ่งก็อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายแย้งว่าข้อมูลหรือประมาณการในแผนธุรกิจจะใส่ข้อมูลอย่างไรก็ได้เพื่อให้ดูดีหรือจะกล่าวง่ายๆก็คือ “จะยกเมฆอย่างไรก็ได้” เพื่อให้ธุรกิจดูดีมีผลกำไร แต่ผู้ประกอบการจงอย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่พิจารณาสินเชื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความรู้ ความชำนาญ ในการพิจารณาสินเชื่อ ในการมองธุรกิจ

ซึ่งไม่ใช่การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะดูจากข้อมูลในแผนธุรกิจที่เสนอมาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะดูจากองค์ประกอบอื่นๆอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ตัวผู้ประกอบการ ประสบการณ์ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ อัตราผลตอบแทนในตลาด ลักษณะรายรับ-รายจ่าย ผลกำไร รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อ

ซึ่งผู้ประกอบการควรระลึกไว้ว่าการจัดทำ Business Plan หรือแผนธุรกิจที่ไม่ดีหรือไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านถูกปฏิเสธการให้กู้จากทางธนาคารได้ แม้ว่าท่านจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันครบถ้วน, มีความรู้และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ หรือสามารถแสดงรายได้ให้ปรากฏได้ก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นเองหรือว่าจ้างผู้อื่นเขียนอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะไปติดต่อกับทางธนาคารถ้าท่านไม่ต้องการได้รับคำปฏิเสธ 
 
5. มีประวัติหนี้ NPL การเป็นหรือเคยมีประวัติว่าเป็น NPL (Non Performing Loan) นั้น ปัจจัยข้อนี้แทบจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักในการปฏิเสธการให้กู้จากธนาคารเกือบ 100% โดยทั้งที่จริงแล้วแม้ว่าผู้ประกอบการจะเคยเป็น NPL ตั้งแต่สมัยยุคฟองสบู่แตก ไม่ว่าจะเป็นหนี้การกู้บ้าน, บัตรเครดิต หรือหนี้อะไรก็ตาม

แต่ในปัจจุบันได้เริ่มต้นทำธุรกิจหรือดำเนินธุรกิจต่อมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว เริ่มมีรายได้เพียงพอที่จะสามารถชำระหนี้ที่เคยเป็นอยู่ได้ แต่ทว่าเนื่องจากประวัติของผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบข้อมูลเครดิตจะแสดงผลของชื่อผู้ประกอบการนั้นอยู่เสมอ ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระหนี้ที่มีอยู่จนหมด

ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการในเรื่องของการใช้สินเชื่อหรือข้อมูลทางการเงิน เช่น Credit Bureau หรือบริษัทข้อมูลเครดิต จะปรากฏชื่อของผู้ประกอบการในฐานะลูกค้าที่เป็น NPL หรือเป็นหนี้เสีย
 
โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ไม่มีการติดต่อกับทางธนาคารเจ้าหนี้ หรือไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมหรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยอาจคิดว่าถ้าธนาคารอยากยึดหลักประกันก็ให้ยึดไป

หรือคิดว่าเอาไว้ให้มีเงินก่อนแล้วค่อยติดต่อเพราะกว่าจะพิพากษาคดีเสร็จก็หลายปี เมื่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อตรวจพบข้อมูลของผู้ประกอบการในลักษณะนี้ก็จะปฏิเสธการให้กู้แทบจะทุกรายไป เพราะถือว่าผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นผู้ไม่มีวินัยทางการเงินในการชำระคืนสินเชื่อกับทางธนาคาร

ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับสินเชื่อใหม่ที่ทางธนาคารจะให้กับผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน โดยแม้ว่าบางธนาคารจะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าถึงผู้ประกอบการจะเป็นหนี้ NPL ก็สามารถติดต่อขอกู้ได้

แต่นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการนั้นจะต้องได้ทำสัญญาประนีประนอมหรือทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และจะต้องได้ผ่อนชำระกับธนาคารเจ้าหนี้เดิมได้ตามสัญญามาเป็นระยะเวลาพอควร (ซึ่งมักจะไม่บอกไว้ในโฆษณาว่าคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่เคยเป็น NPL ต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะสามารถขอกู้ได้ และในการอนุมัติจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาในเรื่องต่างๆจะมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่เคยเป็นหนี้ NPL อยู่หลายประเด็น)
 
หรือบางครั้งในบางธนาคารก็อาจให้คำแนะนำโดยแจ้งให้กับผู้ประกอบการทราบว่า ให้ไปปิดหนี้หรือทำการชำระหนี้ที่เป็น NPL ให้หมดเสียก่อนธนาคารถึงจะสามารถให้ผู้ประกอบการกู้ตามที่ต้องการได้

ซึ่งดูแล้วก็ไม่เห็นจะสมเหตุสมผลเลยในการได้รับคำแนะนำแบบนี้ เพราะถ้าผู้ประกอบการมีเงินเพียงพอที่จะปิดหนี้หรือชำระหนี้ที่เป็น NPL แล้วก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องมาขอกู้เงินจากธนาคาร เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจำนวนเงินที่เพียงพอที่จะปิดหนี้หรือชำระหนี้ที่เป็น NPL เดิมให้หมดจะมากกว่าวงเงินสินเชื่อที่ขอกู้ใหม่จากธนาคารเสียอีก

ดังนั้นผู้ประกอบการที่เป็น NPL หรือเคยเป็นถ้าต้องการกู้เงินจากธนาคารก็ต้องปรับปรุงคุณสมบัติให้เข้าเกณฑ์ หรือเรียกว่าต้องเอาตัวเองหรือเอาธุรกิจใส่ตระกร้าล้างน้ำเพื่อให้ประวัติของตนเองเปลี่ยนจากดำเป็นขาวหรืออย่างน้อยแค่เทาๆก็ยังดี

มิฉะนั้นแม้ว่าท่านจะมีคุณสมบัติอื่นๆครบถ้วนแต่มีปัจจัยในเรื่องของ NPL เพียงเรื่องเดียว ท่านก็จะมีโอกาสได้รับการปฏิเสธจากทางธนาคารอยู่ในเกณฑ์สูงมากเลยทีเดียว
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,789
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,395
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
700
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
634
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
560
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
489
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด