บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การตลาด บริหารธุรกิจ    ความรู้ทั่วไปทางการตลาด
498
3 นาที
16 กรกฎาคม 2568
ศึกกลยุทธ์ที่มากกว่าราคา สงครามสุกี้ เดือดㆍแดงㆍดิ้น
 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างดุเดือด จนเกิดเป็น “สงครามราคา” ไล่มาตั้งแต่ธุรกิจโทรคมนาคม สายการบิน ค้าปลีก เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์อีวี ขนส่งพัสดุ เดลิเวอรี่ 
 
และล่าสุดเกิด "สงครามบุฟเฟต์" ของธุรกิจร้านสุกี้ ที่มีผู้เล่นหลักๆ ที่แข่งขันกันโดยตรงในตลาดสุกี้เมืองไทย ก็คือ MK สุกี้, สุกี้ ตี๋น้อย และลัคกี้ สุกี้  
 
ปัจจุบันตลาดสุกี้ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.3 - 2.5 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมา MK เคยครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 60% วางตำแหน่งเป็นร้านสุกี้พรีเมียม เน้นวัตถุดิบคุณภาพสูง 
 
ความพยายามของ MK ในการลงมาเล่นตลาดแมสหลังจาก “สุกี้ ตี๋น้อย” ทำยอดขายได้ดีกว่า เริ่มตั้งแต่การจัดโปรโมชั่น "บุฟเฟต์ 299 บาท" (รวม VAT แต่ไม่รวมเครื่องดื่ม) ตั้งแต่วันที่ 9–30 มิถุนายน 2568 ตามสาขาในห้างโลตัสและบิ๊กซี พร้อมเมนูหลัก 19 รายการ และกุ้งแม่น้ำฟรี หากมาทาน 4 คน และได้ขยายเวลาโปรโมชันต่ออีก 1 เดือน ตั้งแต่ 1 - 31 ก.ค. 2568

ภาพจาก www.facebook.com/mkrestaurants
 
ทางด้านสุกี้ตี๋น้อย ตอบโต้ทันควัน ลดบุฟเฟต์เหลือ 199 บาท (ยังไม่รวม VAT และเครื่องดื่ม) สำหรับช่วงกลางวันวันธรรมดา และจัดโปรเฉลิมฉลองผู้ติดตามครบ 1 ล้านคน  
 
จากการการแข่งขันในสงครามบุฟเฟต์ร้านสุกี้ จะเห็นได้ว่าลูกค้าได้ประโยชน์เต็มๆ แต่แบรนด์ที่เล่นสงครามราคาอาจจะยอมเสีย margin มากในระยะสั้น และจากสถิติพบว่า MK ที่จัดโปรโมชั่น 299 บาท สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้น 49% ใน 4 วันแรก ส่วนตี๋น้อยก็โตขึ้น 35%
 
ความพยายามจับตลาดแมสของ MK อีกครั้ง คือ การเปิดตัวร้านสุกี้แบรนด์ใหม่ "โบนัส สุกี้" ร้านสุกี้บุฟเฟต์ราคาประหยัด 219/คน ไม่รวมเครื่องดื่มรีฟิล 39 บาท และ Vat 7% เมื่อรวมแล้วจะมีราคา Net อยู่ที่ประมาณ 276 บาท เท่ากับราคาสุกี้ตี๋น้อยและลัคกี่สุกี้ มี 60 เมนู อาทิ หมูสันคอ เนื้อบริสเกตออสฯ กุ้งสด ลูกชิ้น ติ่มซำ ของทานเล่น เครื่องดื่มและสลัชชี
 

ภาพจาก www.facebook.com/BONUSSUKI
 
เปิดบริการเที่ยงวันยันตีห้า 11.00-05.00 น. เหมือนกับ สุกี้ ตี๋น้อย 
 
โบนัส สุกี้ ฉลองเปิดร้านใหม่ จัดโปรโมชั่น มา 1 ท่าน ฟรี 1 ท่าน (เฉพาะราคาบุฟเฟต์ 219 บาท) จำกัด 100 สิทธิ์ / วัน แบ่งเป็น 2 รอบ 
  • รอบแรก เวลา 11.00 น. (จำนวน 50 สิทธิ์)
  • รอบสอง เวลา 20.00 น. (จำนวน 50 สิทธิ์) 
จัดโปรโมชั่นตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2568 ถึง 20 ก.ค. 2568 ที่โรบินสันไลฟ์สไตล์ สระบุรี 
 

ภาพจาก www.facebook.com/BONUSSUKI
 
การเปิดตัวร้านสุกี้น้องใหม่อย่าง "โบนัส สุกี้" ของ MK ถือเป็นการประกาศท้าชนกับ "สุกี้ ตี๋น้อย" โดยตรง หลังจากลงมาเล่นสงครามราคาแล้ว สู้ไม่ไหว จึงปั้นแบรนด์ใหม่สู้แบบเต็มตัว เพราะเมื่อดูราคา Net แล้ว อยู่ที่ 276 บาท/คน เท่ากับ "สุกี้ ตี๋น้อย" และ "ลัคกี้ สุกี้" 
 
ที่สำคัญ MK ต้องการที่จะนำเอาแบรนด์ "MK สุกี้" กลับขึ้นไปวางในตำแหน่งร้านสุกี้พรีเมียมเหมือนเดิม เพื่อแบ่งกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนไปเลย เพราะการที่จะเอา MK ที่มีคุณภาพระดับพรีเมียมลงมาสแข่งขันด้านราคากับสุกี้คุณภาพเกรดกลางๆ ไม่คุ้มค่าตัวอย่างแน่นอน และไม่กระทบภาพลักษณ์ของแบรนด์ 
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ MK ประกาศเตรียมเปิดตัว "โบนัส สุกี้" ในวันที่ 16 ก.ค. 2568 ที่โรบินสันไลฟ์สไตล์ สระบุรี 

ภาพจาก www.facebook.com/sukiteenoithailand
 
ทางคู่แข่งอย่าง "สุกี้ ตี๋น้อย" ได้ทำการตอบโต้ทันทีด้วยการจัดโปรโมชันลดราคา 50% ในช่วงเวลา 00.01-05.00 น. ของวันที่ 17-18 ก.ค. 2568 โดยราคาจะปรับลงมาอยู่ที่ 109 บาท บวก Vat 7% รวมเป็น 117 บาท พร้อมเครื่องดื่มรีฟิลฟรี โปรโมชันลดราคา 50% ของสุกี้ตี๋น้อยมีสาขาเพียง 10 สาขาเท่านั้นที่ร่วมรายการ 


ภาพจาก www.facebook.com/luckysuki.bkk
 
ไม่เพียงแต่ 2 แบรนด์สุกี้เท่านั้นที่ห้ำหั่นด้านราคากัน ทางด้าน "ลัคกี้ สุกี้" ไม่ยอมน้อยหน้า แต่ไม่เล่นสงครามราคา เตรียมเปิดแคมเปญ "เป็ดย่างไม่อั้น" ทุกสาขาในชื่อ "เป็ดย่างโชคดี เสิร์ฟตั้งแต่วันที่ 16-17 ก.ค. 2568 
 
"โบนัส สุกี้" อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท คุ้มคุ้ม จำกัด เป็นบริษัทลูกในเครือบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 100%
 
จดทะเบียนจัดตั้ง 4 เม.ย. 2568 ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท 
 
มีรายชื่อกรรมการ ประกอบด้วย 
  1. นายฤทธิ์ ธีระโกเมน
  2. นางสุดารัตน์ พัทธ์วิวัฒน์ศิริ
  3. นางสาวทานตะวัน ธีระโกเมน
  4. นายธีร์ ธีระโกเมน
การแตกแบรนด์สุกี้ "โบนัส สุกี้" ของ MK สุกี้ เหมือนกรณีของเครือไมเนอร์ฯ ที่มีแบรนด์สเต๊กอย่าง Sizzler จับกลุ่มลูกค้าตลาดแมสพรีเมียม ได้แตกแบรนด์ The Steak and More ราคาเข้าถึงได้เริ่มต้น 129 บาท จับกลุ่มลูกค้าตลาดแมสท้าชนคู่แข่งอย่าง Eat Am Are ร้านสเต๊กที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวไทย
 
ส่วนเหตุผลที่ MK ต้องเปิดตัว "โบนัส สุกี้" ร้านสุกี้แบรนด์ใหม่เพราะต้องการตีตลาดแมส และแย่งฐานลูกค้าระดับกลางลงล่างจากสุกี้ตี๋น้อย เพราะ MK เริ่มรู้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มหันไปหาแบรนด์ที่ "อิ่ม คุ้ม ราคาถูก" มากกว่า "บริการดี คุณภาพสูง" 
 

ภาพจาก www.facebook.com/BONUSSUKI
 
ดังนั้น MK จึงไม่เอาแบรนด์ระดับพรีเมียมลงมาเล่นสงครามราคากับสุกี้ ตี๋น้อย ที่ราคาบุฟเฟต์เริ่มต้น 219-299 บาท ขณะที่ MK ต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 400-500 บาท เมื่อ MK ไม่มีทางเลือก ถ้าจะลงมาเล่นสงครามบุฟเฟต์ก็เปลืองตัวเปล่าๆ จึงต้องสร้างแบรนด์ใหม่ ที่ไม่ทำลายภาพลักษณ์ความเป็นพรีเมียมของตัวเอง 
 
สรุป การแตกแบรนด์ "โบนัส สุกี้" ของ MK ราคาบุฟเฟต์ 219 บาท รวมเครื่องดื่มและ Vat = 276 บาท/คน ทำให้สามารถแข่งขันกับแบรนด์สุกี้บุฟเฟต์ราคาประหยัดอย่าง สุกี้ตี๋น้อย และลัคกี้สุกี้ ได้ทันที ทำให้ไม่เสียภาพลักษณ์ของ MK ด้วย ที่สำคัญก็คือ MK ยังสามารถรักษากลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมของแบรนด์หลัก ในขณะที่ "โบนัส สุกี้" เจาะกลุ่มลูกค้าตลาดแมสได้อย่างเต็มที่ 
 
นักวิเคราะห์ยังมองว่า แต่ละสาขาของโบนัสสุกี้น่าจะมีรายได้ 40-80 ล้านบาทต่อปีสูงกว่า MK ที่ปกติจะมีรายได้อยู่ที่ 25 ล้านบาทต่อปี และมีกำไร 5-14 ล้านบาทต่อปี สูงกว่า MK ที่มีกำไร 3 ล้านบาทต่อปี 
 
โดยถ้าหากสาขาแรกที่สระบุรีได้ผลตอบรับดี สาขาที่ 2 สาขาที่ 3 สาขาที่ 4 ตามมาอีกแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะขยายสาขาในต่างจังหวัดก่อน เป็นลักษณะเดินตามกลยุทธ์ "ป่าล้อมเมือง" หวังชิงฐานลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพราะมองว่าการแข่งขันในตลาดยังไม่รุนแรงมากนัก ก่อนจะเข้ามาตีตลาดในเมืองกรุง   

 ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 

 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
สงครามส่งด่วน • เกมส์ • กลยุทธ์ • ธุรกิจ
544
“Store Assortment” กลยุทธ์ร้านค้าปลีก ที่เจ้าของ..
456
คิดวิเคราะห์ขายอาหารใน Food Court คุ้มหรือไม่
450
ไฮเปอร์มาร์เก็ต VS ซูเปอร์เซ็นเตอร์! ใครจะรุ่ง ..
422
“Markdown” วิธีใช้ “ป้ายเหลือง” เพิ่มรายได้ร้านส..
399
3 ทหารเสือ เชนร้านสเต็ก พันล้าน
396
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด