บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเงิน บัญชี ภาษี การลงทุน    การลงทุน
6.3K
5 นาที
18 ตุลาคม 2554
10 ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ (ตอน 2) จบ

6. ไม่รู้ต้นทุนหรือไม่รู้รายได้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ “มือใหม่” ซึ่งจะไม่ค่อยปรากฏกับผู้ประกอบการที่ได้เคยทำธุรกิจมาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถคำนวณต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ การตกแต่งปรับปรุง หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียม เงินเดือน ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการซื้อสินค้า ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

ทั้งก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ และช่วงที่เริ่มดำเนินการธุรกิจแล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่การประมาณการเกี่ยวกับต้นทุนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ดังกล่าว มักจะต่ำกว่าความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างมาก หรือจะเป็นในทางที่คิดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในทางที่น้อยที่สุด ในขณะที่เมื่อเริ่มทำธุรกิจไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายมักจะเป็นไปในทางที่มากที่สุดอยู่เสมอหรืออาจจะเรียกว่า “งบบานปลาย”
 
ทำให้เมื่อทางธนาคารพิจารณาเกี่ยวกับโครงการหรือธุรกิจที่ขอกู้แล้วเห็นว่าต้นทุนของธุรกิจที่ระบุไว้ดังกล่าว ต่ำเกินกว่าที่ธุรกิจในลักษณะดังกล่าวโดยทั่วไปจะดำเนินการได้จริงตามที่ระบุไว้ ทำให้ธนาคารอาจที่จะปฏิเสธการให้กู้แก่ผู้ประกอบการหรืออาจให้มีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับประมาณการในการลงทุน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นไปในทางการปฏิเสธเนื่องจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดหรือคำนวณในด้านต้นทุนของธุรกิจอย่างถูกต้องได้ ย่อมแสดงว่าผู้ประกอบการรายนั้นไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับธุรกิจที่ตนเองจะทำ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการในอนาคตได้
 
นอกจากนี้การไม่รู้ต้นทุนที่ถูกต้องยังส่งผลให้การคิดหรือคำนวณจำนวนเงินหรือวงเงินที่ใช้กู้เงินจากทางธนาคารผิดพลาดจากความเป็นจริง และบ่อยครั้งที่พบว่ามูลค่าหลักประกันของธุรกิจที่มีอยู่ ไม่เพียงพอกับการค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเมื่อมีการคำนวณตามต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจได้ นอกจากเรื่องต้นทุนแล้วก็ยังเป็นเรื่องของรายได้ที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกิจ ว่าธุรกิจหรือบริการมีที่มาของรายได้ในลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประมาณการทางการขาย ประมาณการเกี่ยวกับรายได้ ลักษณะเงื่อนไขต่างๆในการค้า เช่น ขายเงินสด ขายเงินเชื่อ การเข้ามาของรายได้ ความสม่ำเสมอของรายได้ที่เกิดขึ้นของธุรกิจ

รวมถึงที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การที่ไม่รู้ว่าลูกค้าที่จะซื้อสินค้าเป็นใครหรือไม่รู้ว่าลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจคือใครนั่นเอง โดยคิดว่าถ้าเริ่มดำเนินธุรกิจไปแล้วจะสามารถหาลูกค้าได้จากการดำเนินการของกลยุทธ์ทางการตลาดที่กำหนดไว้เหล่านี้เป็นต้น การที่ไม่รู้ถึงต้นทุนหรือการไม่รู้ถึงรายได้ของธุรกิจจึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในโอกาสที่จะถูกปฏิเสธจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน จากความไม่เชื่อถือในความสามารถในการบริหารธุรกิจของผู้ประกอบการ
 
7. ไม่รู้ข้อจำกัด ถือเป็นปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการใหม่หรือเก่า ในการติดต่อขอกู้เงินจากทางธนาคาร ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของธุรกิจที่ไม่ใช่ว่าทุกๆธนาคารไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของภาครัฐจะให้วงเงินกู้กับทุกๆธุรกิจหรือให้บริการทุกๆด้านทางการเงิน เช่น ธุรกิจที่ทำทางด้านการเกษตรพื้นฐานอาจติดต่อขอเงินกู้ได้เฉพาะจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น เพราะธนาคารอื่นๆอาจจะปฏิเสธเนื่องจากไม่มีบริการเงินกู้เกี่ยวกับการเกษตรพื้นฐานดังกล่าว ในขณะที่ถ้าเป็นธุรกิจในรูปอุตสาหกรรมถ้าไปยื่นขอกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ก็จะได้รับการปฏิเสธจากทางธนาคารเพราะว่าไม่มีบริการให้กู้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น
 
โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความคาบเกี่ยวระหว่าง 2 ลักษณะ เช่น มีทั้งลักษณะของเกษตรพื้นฐานและอุตสาหกรรมผสมผสาน อาจได้รับการปฏิเสธจากทั้งธนาคารที่มีบริการเงินกู้ทางการเกษตร และจากธนาคารที่มีบริการเงินกู้ทางอุตสาหกรรม เนื่องจากตีความว่าเป็นธุรกิจที่ไม่อยู่ในข่ายให้บริการก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต (แต่ทั้งนี้ปัจจุบันความคลุมเครือเกี่ยวกับการตีความของลักษณะของธุรกิจในการให้บริการเงินกู้ ค่อนข้างคลี่คลายลงหรือมีความชัดเจนขึ้น โดยการพิจารณาอาจจะมุ่งเน้นที่ตัวรายได้หลักของกิจการว่าเกิดขึ้นจากกิจกรรมหรือลักษณะการดำเนินการใดของธุรกิจเป็นสำคัญ

รวมถึงการระบุถึงลักษณะการให้บริการเงินกู้แก่ประเภทธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น) หรืออาจเป็นเรื่องบริการด้านการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารบางแห่งไม่สามารถออกเช็คได้แต่จะมีการให้ให้บริการเฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงิน  ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่มีการใช้เงินหมุนเวียนทุกๆวัน อาจจะไม่สะดวกกับการกู้เงินหรือการใช้บริการทางการเงินกับธนาคารดังกล่าวที่มีบริการให้เฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือการที่ทางธนาคารไม่มีความชำนาญหรือไม่สามารถให้บริการในบางประเภท เช่น การเปิด L/C หรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศ ก็อาจไม่เหมาะสมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านการส่งออก
 
ดังนั้นในการกู้เงินแล้วธุรกิจก็สมควรเลือกใช้บริการหรือติดต่อขอกู้เงินกับทางธนาคารที่คิดว่าน่าที่จะเหมาะสมกับธุรกิจของตนให้มากที่สุด เพราะมิฉะนั้นถึงแม้ว่าธนาคารเหล่านี้จะไม่ปฏิเสธและให้เงินกู้แก่ผู้ประกอบการ แต่ทว่าหลังจากดำเนินการธุรกิจไปแล้วช่วงหนึ่งก็จะพบกับความไม่สะดวกในการดำเนินการ และอาจต้องเปลี่ยนธนาคารหรือทำการ Refinance ในที่สุด อันเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งในการดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นอีกด้วย
 
นอกจากในเรื่องเกี่ยวกับ “เงื่อนไข” บางอย่างเกี่ยวกับการพิจารณาการอนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ ที่อาจจะไม่ได้เปิดเผยให้ทราบหรือประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าของทางธนาคารทราบโดยทั่วไป หรือเป็นข้อมูลหรือเงื่อนไขภายในที่เป็นที่รู้กันเฉพาะเจ้าหน้าที่อันอาจมาจากนโยบายที่กำหนดขึ้นเป็นการภายในจากทางธนาคารเอง ตัวอย่างเช่น ธนาคารบางแห่งจะไม่อนุมัติให้กับผู้ประกอบการที่เคยมีประวัติ NPL มาก่อน แม้ว่าลูกค้าดังกล่าวจะได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือได้ทำการแก้ไขหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม เพราะถือว่าผู้ประกอบการอาจจะมีลักษณะของการขาดวินัยทางการเงินหรือพูดง่ายๆว่าธนาคารไม่ต้องการที่จะเสี่ยงกับลูกหนี้ที่เคยมีประวัติ NPL นั่นเอง
 
หรือบางธนาคารก็อาจจะไม่อนุมัติให้กับผู้ประกอบการใหม่ที่ไม่เคยทำธุรกิจใดๆมาก่อนเลย เป็นต้น แม้ว่าจะได้มีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการใหม่หรือเคยมีประวัติ NPL ก็ตาม ซึ่งการรู้ถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับการ “ให้กู้” หรือ “ไม่ให้กู้” ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการที่ผู้ประกอบการควรจะรู้ก่อนไปดำเนินการติดต่อขอกู้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินใดๆ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงโอกาสได้รับเงินกู้หรือไม่ถูกปฏิเสธจากทางธนาคาร หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยื่นกู้ไม่ผิดที่” นั่นเอง
 
อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้เกี่ยวกับการให้กู้จากทางธนาคารหรือสถาบันการเงินก็คือ เรื่องของสัดส่วนของเงินกู้เมื่อเปรียบเทียบกับทุนที่ผู้ประกอบการมีอยู่ หรือเรียกกันว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือที่มักจะได้ยินกันอยู่เสมอว่า D/E Ratio ซึ่งในปัจจุบันแล้วโดยทั่วไปแล้วธนาคารมักจะกำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสำหรับให้กู้แก่ผู้ประกอบการนี้ในระดับ 1 : 1 ความหมายก็คือธนาคารจะให้กู้เงิน 1 ล้านบาทถ้าผู้กู้มีเงินทุนของตนเอง 1 ล้านบาท แต่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนดังกล่าวก็อาจยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมตามการพิจารณาของธนาคารสำหรับผู้ประกอบการหรือธุรกิจบางราย เช่น ประมาณ 2 : 1 หรือ 3 : 1 โดยขึ้นอยู่กับความน่าสนใจและศักยภาพของโครงการ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอัตราส่วน 1 : 1 ถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโดยทั่วไปในปัจจุบัน
 
ทำให้ในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการลงทุนในธุรกิจในวงเงิน 5 ล้านบาท แต่ตัวผู้ประกอบการมีทุนของตนเองเพียง 1 ล้านบาท แล้วหวังว่าจะกู้เงินจากธนาคารอีก 4 ล้านบาทมาดำเนินการตามโครงการ โอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้รับปฏิเสธจากทางธนาคารจึงมีอยู่สูงมากหรืออาจว่าได้รับการปฏิเสธเป็นที่แน่นอน ซึ่งในกรณีที่ยืดหยุ่นที่สุดอาจเป็นทางธนาคารให้กู้ในวงเงิน 3 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการต้องหาทุนมาเพิ่มอีก 1 ล้านบาทรวมเป็น 2 ล้านบาท เป็นต้น

(ในอดีตก่อนหน้ายุคฟองสบู่แตกอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสำหรับการให้กู้อยู่ในระดับ 2 : 1 หรือ 3 : 1 เป็นเกณฑ์พื้นฐาน ในบางโครงการหรือบางธุรกิจโดยเฉพาะด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจอยู่ถึงระดับ 10 : 1 หรือมากกว่าก็มี แต่ในปัจจุบันไม่มีการให้กู้โดยใช้ระดับอัตราส่วนดังกล่าวอีกแล้ว ส่วนกรณีที่หลักประกันไม่เพียงพอต่อวงเงินสินเชื่อ โดยมีความจำเป็นต้องใช้บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาร่วมค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกับทางธนาคารจะไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้)
 
8. ไม่สามารถผ่อนชำระ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารจะปฏิเสธการให้กู้แก่ผู้ประกอบการ ถ้าหากธนาคารได้พิจารณาแล้วว่าผู้ประกอบการหรือธุรกิจนั้นไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะผ่อนชำระเงินกู้ตามวงเงินที่ขอกู้ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ธุรกิจมีกระแสเงินสดจากผลกำไรหรือผลการดำเนินการของธุรกิจ ที่ไม่เพียงพอหรือมียอดคงเหลือภายหลังการชำระเงินกู้แล้วคงเหลือน้อยเกินไปเกินกว่าที่จะใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้สามารถแยกออกได้เป็นหลายกรณี
 
ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีที่มีความแตกต่างจากกำไรที่เป็นเงินสด โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีลักษณะของการให้เครดิตการค้า ที่จะทำให้ส่วนใหญ่แล้วกำไรที่เกิดขึ้นทางบัญชีจะแตกต่างจากกำไรของเงินสดคือ มีมูลค่าที่ปรากฏของกำไรทางบัญชีส่วนใหญ่แล้วจะมีมากกว่ากำไรที่เป็นเงินสดที่ธุรกิจรับจริง เนื่องจากกระแสเงินสดถือเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณอนุมัติเงินกู้ เพราะเงินสดคือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการและความอยู่รอดของธุรกิจ

โดยส่วนใหญ่ของการประมาณการในเรื่องของกำไรขาดทุนสำหรับธุรกิจของผู้ประกอบการ จะมาจากการประมาณเกี่ยวกับตัวเลขของรายรับเปรียบเทียบกับรายจ่ายของธุรกิจโดยแสดงไว้ในงบกำไรขาดทุน แต่มักจะไม่มีการจัดทำงบกระแสเงินสดเพื่อดูว่าเงินสดในกิจการมีจำนวนเท่าใด ซึ่งทำให้บ่อยครั้งที่พบว่าการดำเนินการของธุรกิจมีผลกำไรแต่กลับไม่มีกระแสเงินสดที่เพียงพอคงเหลือในธุรกิจ (ถือเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นกับระบบธุรกิจไทย เนื่องจากตามกฎหมายแล้วธุรกิจจะส่งเพียงงบการเงินหลักเพียง 2 ประเภท คือ งบดุล และงบกำไรขาดทุน โดยไม่ต้องจัดส่งงบกระแสเงินสด ยกเว้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีความคุ้นเคยหรือไม่สามารถจัดทำงบกระแสเงินสดได้ ทั้งที่การดำเนินการและความอยู่รอดของธุรกิจขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดของกิจการเป็นสำคัญ)
 
หรือในอีกกรณีหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ธนาคารพิจารณาว่าธุรกิจหรือตัวผู้ประกอบการมีภาระหนี้สินอื่นๆอยู่เดิมทั้งที่เป็นจากธุรกิจหรือหนี้สินส่วนตัว ซึ่งเมื่อรวมค่าผ่อนชำระเงินกู้สำหรับธุรกิจใหม่หรือการขยายธุรกิจที่มีอยู่เดิม จะส่งผลให้ผู้ประกอบการหรือธุรกิจมีภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินกู้ในระดับที่เกินกว่าที่ภายหลังการชำระ จะสามารถดำเนินการหรือดำรงชีพได้โดยปกติ หรือกระแสเงินสดที่มีอยู่อาจจะอยู่ในระดับที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์บางประการขึ้นอันทำให้รายได้ต่ำกว่าประมาณการที่คาดคะเนไว้ เป็นต้น
 
9. ไม่มีการเตรียมตัว ถือเป็นปัจจัยที่อาจจะไม่ส่งผลร้ายแรงถึงระดับที่จะถูกปฏิเสธจากทางธนาคาร แต่บางครั้งก่อให้เกิดความล่าช้าในการติดต่อหรืออนุมัติวงเงินกู้จากทางธนาคาร ตัวอย่างเช่น การไม่มีเอกสารประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น งบการเงิน ใบอนุญาติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เอกสารเกี่ยวกับยอดขาย เอกสารเกี่ยวกับลูกค้า เอกสารเกี่ยวกับรายได้หรือรายจ่ายต่างๆ เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาการขอเงินกู้ เป็นต้น นอกจากนี้การไม่มีการเตรียมตัวในสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือเอกสารประกอบกับการกู้เงิน เช่น สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง การกำหนดหรือจัดทำสัญญาจะซื้อจะขาย เงื่อนไขต่างๆในการโอนทรัพย์สิน การจัดทำมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการติดต่อหรืออนุมัติวงเงินกู้จากทางธนาคาร หรืออาจเป็นกรณีที่ไม่มีการจัดเตรียมแผนธุรกิจไว้ก่อนล่วงหน้า
 
ทำให้เมื่อทางธนาคารเรียกแผนธุรกิจประกอบการขอกู้ผู้ประกอบการต้องเสียเวลาในการดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของการประเมินราคาทรัพย์สินที่ต้องมีการติดต่อและดำเนินการว่าจ้างบริษัทประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อจัดทำรายงานประเมินราคาทรัพย์สินประกอบการพิจารณา เป็นต้น และในเรื่องบางอย่างนอกเหนือออกไป เช่น การที่ผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมตัว หรือไม่ทำความเข้าใจในแผนธุรกิจที่จะนำเสนอต่อทางธนาคารหรือสถาบันการเงินอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำแผนธุรกิจเอง หรือใช้บุคคลภายนอกหรือมืออาชีพเป็นผู้จัดทำแผนธุรกิจให้ ทำให้เมื่อต้องตอบข้อซักถามหรือมีข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถชี้แจงประเด็นปัญหาต่างๆที่ถูกซักถามได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารพิจารณาได้ว่าผู้ประกอบการยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอเกี่ยวกับธุรกิจที่ตนดำเนินการ อันอาจเป็นสาเหคุในการถูกปฏิเสธในการกู้เงินก็เป็นได้
 
10. มีทัศนคติเชิงลบ ถือเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถกู้เงินจากทางธนาคารได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมาจากตัวผู้ประกอบการเองในเรื่องของทัศนคติ หรือการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้บริการจากทางธนาคาร ซึ่งผู้ประกอบการอาจเคยมีประสบการณ์ที่เคยไปใช้บริการหรือติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารอื่นมาก่อนหน้าแล้วได้รับการปฏิเสธในการให้กู้ เมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้มาติดต่อขอกู้เงินกับธนาคารแห่งอื่นก็มักบ่นหรือตำหนิเกี่ยวกับธนาคารก่อนหน้าที่ปฏิเสธการให้กู้ว่าไม่มีความรู้เข้าใจในตัวธุรกิจของตน หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจ หรือจนถึงขั้นแสดงความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารโง่ไปเลยก็มี ซึ่งอาจรวมไปจนถึงการบ่นหรือตำหนิติเตียนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆของทางธนาคารหรือระบบสถาบันการเงิน ว่าไม่มีความจริงใจในการให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ
 
ทัศนคติหรือการแสดงออกด้านลบเหล่านี้ของผู้ประกอบการอาจจะส่งผลให้ธนาคารพิจารณาว่าผู้ประกอบการดังกล่าวมีลักษณะเป็น “บุคคลเจ้าปัญหา” หรือก็ “เพราะคุณเป็นอย่างนี้ ธนาคารนั้นถึงได้ปฏิเสธ”   
 
ซึ่งจะทำให้ไม่ผ่านการประเมินในแง่ของการพิจารณาด้าน Character เกี่ยวกับตัวผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้อาจได้รับการปฏิเสธไปในที่สุดอันเนื่องมาจากทัศนคติเชิงลบของผู้ประกอบการนั่นเอง และบ่อยครั้งที่พบว่าผู้ประกอบการที่มีทัศนคติเชิงลบเหล่านี้ ได้เคยทำการติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารมาแล้วหลายแห่ง และธนาคารทุกแห่งที่ได้เคยติดต่อก็ล้วนแล้วแต่ปฎิเสธการให้กู้แก่ผู้ประกอบการในลักษณะนี้มาทั้งสิ้น
 
ดังนั้นสามารถสรุปปัจจัยทั้ง 10 ประการทั้งหมดซึ่งอาจกล่าวรวมทุกปัจจัยได้ว่า “8 ไม่ 2 มี” ก็คือ
  1. ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  2. ไม่มีประสบการณ์แต่เล็งผลเลิศ
  3. ไม่มีรายได้ให้ปรากฏ
  4. ไม่มี Business Plan หรือแผนธุรกิจ
  5.  มีประวัติหนี้ NPL
  6. ไม่รู้ต้นทุนหรือไม่รู้รายได้
  7. ไม่รู้ข้อจำกัด
  8. ไม่สามารถผ่อนชำระ
  9. ไม่มีการเตรียมตัว
  10. มีทัศนคติเชิงลบ
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัจจัยหลักๆ ประมาณ 10 ประการอันจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้ผู้ประกอบการ ถูกธนาคารปฏิเสธในการขอกู้เงิน แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการพึงเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่าธนาคารมิใช่องค์กรการกุศลหรือมูลนิธิที่จะทำกิจการโดยไม่หวังผลกำไร เพราะเงินที่ให้ผู้ประกอบการกู้ก็คือเงินของผู้ฝากเงินหรือของประชาชนทั่วไปซึ่งอาจรวมถึงเป็นเงินของผู้ประกอบการนั่นเอง ซึ่งธนาคารจะต้องบริหารความเสี่ยงในการให้สินเชื่อให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อให้เกิดผลกำไรจากการลงทุนในการให้สินเชื่อของทางธนาคาร ดังนั้นก่อนที่ท่านซึ่งเป็นผู้ประกอบการจะไปติดต่อเพื่อขอกู้เงินกับธนาคาร ควรพิจารณาถึงปัจจัยในการที่ท่านจะถูกปฏิเสธก่อนว่าท่านมีคุณสมบัติของปัจจัยทั้ง 10 ประการข้างต้นประการใดประการหนึ่งแล้วหรือไม่
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
715
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
532
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
433
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด