บทความทั้งหมด    บทความสร้างอาชีพ    ความรู้ค้าขาย    ความรู้สร้างอาชีพ
3.6K
3 นาที
24 เมษายน 2562
เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ รายได้ครึ่งแสน
 

 
พูดถึง “เกษตรกร” คงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกทำอาชีพนี้ ถึงขนาดที่พยายามส่งเสียให้เรียนกันสูงกับคำพูดที่จำขึ้นใจ “จะได้ไม่ต้องมาลำบากเหมือนพ่อเหมือนแม่”  แต่เดี๋ยวนี้การทำงานเป็นลูกน้องคนอื่น บางทีอาจจะลำบากยิ่งกว่า ไม่ต้องตากแดด ตากลม ทำงานห้องแอร์ แต่เงินเดือนน้อยนิด อย่าพูดถึงเรื่องเก็บออม แค่เอาไว้กินไว้ใช้ให้ชนเดือนก็ยังยาก ความคิดยุคนี้จึงตีกลับที่คนอยากเป็นนายตัวเองมากขึ้น

สิ่งเดียวที่ต้องการก็คือ “รายได้ที่มากกว่าทำงานประจำ” หลายคนที่เรียนมาสูงๆ บางคนเคยทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ยังถึงกับลาออกเพื่อไปเป็น “เกษตรกรยุคใหม่” ทำเกษตรยุคนี้ไม่ใช่ตาสีตาสาเหมือนอดีตหากรู้จักผนวกเทคโนโลยีและการตลาดเข้าผสมกัน รายได้จากการเป็นเกษตรกรอาจดีกว่าทำงานประจำด้วยซ้ำกันหนึ่งในอาชีพเกษตรกรที่น่าสนใจ

www.ThaiFranchiseCenter.com มองว่าการเลี้ยงกบคือสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนทำกันมานานแต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าการเลี้ยงกบนี้หากศึกษาข้อมูลดีๆ สร้างรายได้มหาศาลทีเดียว
 
การเลี้ยงกบควรเลือกจะอยู่ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัย เพื่อสะดวกในการป้องกันศัตรู เช่น  งู นก หนู หมา แมว และ และควรให้อยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายน้ำและหากเป็นไปได้ควรอยู่ให้ห่างจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน เนื่องจากกบต้องการพักผ่อนจะได้โตเร็ว
 
พันธุ์กบที่นำมาเลี้ยง
 

พันธุ์กบที่นิยมนำมาเลี้ยงมี 2 พันธุ์คือ กบอเมริกันบูลฟร็อก และกบนา สำหรับผู้เริ่มต้นแนะนำให้เลี้ยงพันธุ์กบนาจะเหมาะกว่า กบนาใช้เวลาเพียง 4-5 เดือน กบก็โตได้ถึงขนาด 4-5 ตัวต่อกิโลกรัม เป็นกบที่โตเร็ว และเป็นที่นิยมบริโภคมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ ลักษณะกบนาตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย และกบตัวผู้จะมีกล่องเสียงอยู่ใต้คาง ใช้สำหรับส่งเสียงร้องโดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ ส่วนกบตัวเมียส่งเสียงร้องได้เหมือนกันแต่เบากว่า ในช่วงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องและกล่องเสียงจะพองโตและใส ส่วนตัวเมียที่มีไข่แก่จะสังเกตเห็นท้องบวมและใหญ่กว่าปกติ
 
การเพาะพันธุ์กบ
 
การเตรียมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบสามารถทำได้ 2 วิธี คือ หาตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือซื้อจากแหล่งเพาะเลี้ยงกบ และเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบขึ้นมาเอง สำหรับผู้เริ่มต้นแนะนำให้หาตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือแหล่งเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ เนื่องจากหาง่าย มีความทนทานโรค และลงทุนน้อยกว่า
 
การคัดพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบ
 
ลักษณะของแม่พันธุ์กบที่ดีควรเลือกตัวที่ส่วนท้องขยายใหญ่ และมีปุ่มสากข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง เมื่อใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ และแม่พันธุ์ตัวที่พร้อมมากจะมีปุ่มสากมาก ส่วนพ่อพันธุ์เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องเสียงดังและกล่องเสียงที่ใต้คางก็จะพองโปน ลำตัวจะมีสีเหลืองเข้มและมื่อเราใช้นิ้วสอดที่ใต้ท้อง มันจะใช้ขาหน้ากอดรัดนิ้วเราไว้แน่น
 
การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์กบ

  1. ล้างทำความสะอาดบ่อเพาะพันธุ์ด้วยด่างทับทิมเข้มข้น 10 ppm แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นล้างทำความสะอาดด่างทับทิมออกให้หมด
  2. เติมน้ำสะอาดใส่บ่อให้ลึกประมาณ 5-7 ซม. และไม่ควรให้ระดับน้ำสูงเกินไปกว่านี้เพราะไม่สะดวกในการที่กบตัวผู้จะโอบรัดตัวเมีย เพราะว่าขณะที่กบตัวเมียเบ่งไข่ออกมาจากท้อง จะต้องใช้ขาหลังยันที่พื้น ถ้าน้ำลึกมากขาหลังจะยันพื้นไม่ถึงและจะลอยน้ำทำให้ไม่มีพลัง เป็นเหตุให้ไข่ออกมาไม่มาก
  3. เตรียมฝนเทียม โดยทั่วไปกบจะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน แต่เราจะเลียนแบบธรรมชาติ โดยนำท่อ PVC ขนาดครึ่งนิ้ว มาเจาะรูเล็กๆ ตามท่อต่อน้ำเข้าไปและให้น้ำไหลออกได้คล้ายฝนตก แล้วนำท่อท่อนนี้ไปพาดไว้บนปากบ่อหรือหลังคาคลุมบ่อ และเปิดใช้เวลาที่จะทำการผสมพันธุ์กบ
การผสมพันธุ์กบ


ปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงไปในบ่อที่เตรียมไว้ โดยให้มีตัวผู้ต่อตัวเมียจำนวน 1:1 ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. และต้องปล่อยให้กบผสมกันในตอนเย็น เมื่อปล่อยกบลงไปแล้วจึงเปิดฝนเทียมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้กบจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลา ประมาณ 17.00 น. – 22.00 น. ซึ่งภายในบ่อเพาะต้องมีท่อให้น้ำล้นออกด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินไปโดยกบจะจับคู่ผสมพันธุ์และจะปล่อยไข่ตอนเช้ามืด
 
หลังจากกบปล่อยไข่แล้วในตอนเช้า ค่อย ๆ ลดน้ำในบ่อลงและใช้สวิงผ้านิ่ม ๆ รองรับไข่ที่ไหลตามน้ำออกมา ในขณะที่น้ำลดนั้นต้องคอยใช้สายยางฉีดน้ำเบา ๆ ไล่ไข่  ขั้นตอนนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ไข่แตก และจะต้องทำในตอนเช้าในขณะที่ไข่กบยังมีวุ้นเหนียวหุ้มอยู่ และนำไข่ที่รวบรวมได้ไปใส่บ่ออนุบาลโดยใช้ถ้วยตวงตักไข่ โรยให้ทั่วๆ บ่อแต่ต้องระวังไม่ให้ไข่กบซ้อนทับกันมาก

เพราะจะทำให้ไข่เสียและไม่ฟักเป็นตัว เนื่องจากขาดออกซิเจน  เมื่อไข่กบฟักออกเป็นตัวแล้วช่วงระยะ 2 วันยังไม่ต้องให้อาหาร เพราะลูกกบยังไใช้ไข่แดง (yolk sac) ที่ติดมาเลี้ยงตัวเองอยู่ หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหาร เช่น ไรแดง ไข่ตุ๋น อาหารเม็ด 
 
การเปลี่ยนถ่ายน้ำ
  1. เมื่อลูกอ๊อดฟักออกเป็นตัวจะต้องเพิ่มระดับน้ำในบ่อขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ที่ระดับความลึก 30 ซม.
  2. ลูกอ๊อดอายุครบ 4 วัน จะต้องทำาการย้ายบ่อครั้งที่ 1 และระดับน้ำที่ใช้เลี้ยงควรอยู่ที่ระดับ 30 ซม.
  3. เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆ ละ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
  4. ทุกๆ 3-4 วัน ทำการย้ายบ่อพร้อมกับคัดขนาดลูกอ๊อด
  5. เมื่อลูกอ๊อดเริ่มเข้าที่ขาหน้าเริ่มงอกต้องลดระดับน้ำในบ่อลงมาอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 5-10 ซม. และจะต้องใส่วัสดุที่ใช้สำหรับเกาะอาศัยลงไปในบ่อ เช่น ทางมะพร้าว แผ่นโฟม เป็นต้น
การดูแลและเลี้ยงกบเต็มวัยจนกบโต
 

การให้อาหารกบควรจะให้วันละ 2 ครั้ง คือ เวลา 07.00 น. และ 17.00 น. โดยให้ปริมาณอาหารเท่ากับ 10 % ของน้ำหนักกบ เช่น กบในบ่อมีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ควรให้อาหาร 10 กิโลกรัม อาหารของกบมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าผู้เลี้ยงสามารถหาอาหารแบบใดได้ เช่น เนื้อปลาสับ หรือ ปลายข้าว 1 ส่วน ผักบุ้ง 2 ส่วน ต้มรวมกับ เนื้อปลา เนื้อหอยโข่ง หรือปู
 
การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์
 

แบบนี้เป็นที่นิยมเพราะดูแลรักษาง่าย กบมีความเป็นอยู่ดีและเจริญเติบโตดี สะดวกสบายต่อผู้เลี้ยงในด้านการดูแลรักษา บ่อปูนซีเมนต์สร้างจากแผ่นซีเมนต์บล๊อก และฉาบด้วยปูนซีเมนต์ ปูนที่ฉาบจะหนาเป็นพิเศษ ตรงส่วนล่างที่เก็บขังน้ำ คือ มีความสูงจากพื้นเพียง 1 ฟุต พื้นล่างเทปูนหนาเพื่อรองรับน้ำ และมีท่อระบายน้ำอยู่ตรงส่วนที่ลาดสุด พื้นที่เป็นที่ขังน้ำนี้ นำวัสดุลอยน้ำ เช่น ไม้กระดาน ขอนไม้ ต้นมะพร้าว ให้ลอยน้ำ เพื่อให้กบขึ้นไปเป็นที่อยู่อาศัย สามารถเลี้ยงปลาดุกเพื่อให้เก็บกินเศษอาหารและมูลกบได้ด้วย

ในอัตราส่วนกบ : ปลาดุก 100:20 ด้านบนของบ่อจะเปิดกว้างเพื่อให้แดดส่องลงไปทั่วถึง มุมใดมุมหนึ่งของบ่นำทางมะพร้าวมาปกคลุม เพื่อเป็นส่วนของร่มบ่อเลี้ยงกบแบบซีเมนต์ ถ้าทำขนาด 3 x 4 เมตร ปล่อยกบลงเลี้ยงได้ 1,000 ตัวและปลาดุกอีก 200 ตัวพื้นล่างของบ่อดังกล่าว
 
ต้นทุนการเลี้ยงกบนา
 

การเลี้ยงกบนามีการใช้น้ำไม่มาก และใช้พื้นที่น้อย เลี้ยงได้ทั้งบ่อดินและบ่อซีเมนต์ขนาดประมาณ 6-12 ตารางเมตร ใน 1 บ่อมีจำนวนกบประมาณ 400-800 ตัว ใช้เวลาเลี้ยง 3-4 เดือนก็สามารถจับขายได้ เมื่อคิดแล้วต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 25-30 บาท/กิโลกรัม
 
รายได้จากการเลี้ยงกบ
 
ราคากบจะแตกต่างกันตามพื้นที่และขนาดของตัวกบ ในบางพื้นที่กบที่ทำเสร็จพร้อมนำไปประกอบอาหารราคาประมาณ 120-125 บาท/กิโลกรัม ถ้าเป็นกบที่ยังไม่ได้ทำ กิโลกรัมละประมาณ 80 บาท ตัวอย่างของเกษตรกรบางรายที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงกบสามารถสร้างรายได้ถึงเดือนละหลักแสน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงและความชำนาญในการเลี้ยง ในภาพรวมหากทำจนชำนาญมีรายได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งแสน แต่ในช่วงแรกหากเป็นมือใหม่อาจจะต้องลองผิดลองถูกและอาศัยเรียนรู้จากคนที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว
 
ซึ่งเทคนิคการเลี้ยงกบนั้นมีหลากหลาย วิธีที่เราพูดถึงอาจเป็นวิธีที่หลายคนบอกไม่ใช่ทำแล้วไม่ได้ผล แต่ก็อาจจะมีคนที่ทำแล้วได้ผลจากวิธีนี้ นี่คือการรวบรวมข้อมูลจากคนที่เลี้ยงกบมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอีกที หากคิดจะเลี้ยงกบเชิงเศรษฐกิจจริง ๆ กับบทความนี้คงเป็นเพียงตัวจุดประกายให้ทุกท่านไปหาข้อมูลที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อโอกาสในการเลี้ยงกบไปสู่เงินแสนเงินล้านตามที่หวังไว้
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน

ติดตามได้ที่ Add LINE id: 
@thaifranchise


 
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document/index.php
 

ขอบคุณรูปภาพจาก  https://bit.ly/2vhM5LF
 
เทรนด์สุขภาพกำลังเป็นที่พูดถึง คนยุคใหม่มองหาสินค้าออร์แกนิคมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจใดก็ตามที่เจาะกลุ่มเป้าหมายที่ว่านี้ได้มีโอกาสเติบโตในการทำธุรกิจที่ดีเกินคาด ..
63months ago   5,397  7 นาที
หลายคนอาจจะไม่ชอบ! หลายคนเห็นแล้วอาจจะร้องยี้! แต่หารู้ไม่ว่า “ไส้เดือน” ตัวแดงๆ ที่เหมือนจะไม่น่ารักเหล่านี้คือแหล่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี และการเพาะเลี้ยงไส้เดือนก็ไม่ใช่ของแปลกใหม่ แท้จริงมีอยู่ในสังคมมานานแล้ว เพียงแต่หลายคนทำแล้วสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ปัจจัย..
63months ago   5,179  7 นาที
บทความสร้างอาชีพมาใหม่
บทความอื่นในหมวด