บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
3.4K
3 นาที
6 สิงหาคม 2555
ติวเข้มเอสเอ็มอีไทยแข่งขันเวทีอาเซียน

แม้ปัจจุบันภาคธุรกิจไทยจะมีความตื่นตัวในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กันมากขึ้น เพราะเข้าใกล้เป้าหมายในปี 2558 เต็มที แต่กลับพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจ หรือธุรกิจไทยยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีจำนวนกว่า 80-90% ของภาคธุรกิจไทย 
 
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเนชั่น ร่วมกับเนชั่น กรุ๊ป และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนาเรื่อง “เตรียมความพร้อม SME ไทย ก้าวไกลในอาเซียน” เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจไทยต่อการแข่งขันในตลาดเออีซี โดยเชิญวิทยากรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการค้าระหว่างประเทศ และมีประสบการณ์การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ประกอบด้วย
  • นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
  • นายวิชัย เข็มทองคำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโอเรียลทัลยูนิค จำกัด
  • ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก ผู้ที่เข้าไปลุยธุรกิจในประเทศพม่ามานานกว่า 18 ปี
     
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทย 99% ยังไม่รู้จริงในเรื่องเออีซี และยังมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ซึ่งการเข้าสู่เออีซีในปี 2558 นั้น ความจริงคือ เมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 แล้ว จะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย แต่สิ่งสำคัญกลับอยู่ที่ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากเออีซี ที่ประเทศไทยไปร่วมตกลงกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอีก 9 ประเทศนี้อย่างไรมากกว่า 
 
ทั้งนี้ ในด้านการผลิต มีประเด็นหลัก 3 เรื่องที่ภาคการผลิตจะต้องติดตาม คือ
  1. ภาษี
  2. ถิ่นกำเนิดสินค้า
  3. มาตรฐานสินค้า
โดยกลุ่มการผลิตนั้น อาเซียนมีเป้าหมายในการลดภาษีร่วมกันจนเหลือ 0% แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็น 0% ทั้งหมดเหมือนๆ กัน ดังนั้นสิ่งที่ภาคการผลิตในแต่ละตัวสินค้าเองจะต้องเข้าไปดูก่อนว่าสินค้าที่ตนเองผลิตเป็นชนิดใด และภาษีลดลงเหลือเท่าไรแล้ว ขณะเดียวกันต้องดูอัตราภาษีในแต่ละประเทศอาเซียนที่ลดลงไปด้วยว่าจะเหลือเท่าใด

เพราะยังลดลงเหลือไม่เท่ากัน เช่น สินค้าข้าว ไทยลดภาษีเหลือ 0% แล้วแต่อีกหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลดลงมาอยู่ที่ 25% เท่านั้น โดยประเทศไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าเหลือ 0% ไปเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวเพียง 4 รายการที่ยังไม่ลดเท่านั้น และในปี 2558 จะต้องลดจนเหลือ 0% ทั้งหมด 
 
สิ่งที่จะต้องดูต่อไปคือเมื่อลดภาษีเหลือ 0% แล้ว เรามีความเข้าใจที่ตรงกันทั้งหมดแล้วหรือยัง เช่น ข้าว ชาวนารู้แล้วหรือยังว่า ภาษีนำเข้าเป็น 0% แล้วจะมีผลกระทบอย่างไรกับชาวนาบ้าง และจะต้องปรับตัวกับเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นระเบิดเวลาที่กำลังรออยู่ 
 
ในส่วนการเคลื่อนย้ายสินค้าเมื่อเป็นเออีซี ก็จะมีการเคลื่อนย้ายกันอย่างเสรี ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น คือ การสวมสิทธิ์ โดยนำสินค้าจากประเทศที่สามเข้ามาสวมสิทธิ์ ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดถิ่นกำเนิดสินค้า เช่น วัตถุดิบที่มาจากโลคัล คอนเทนท์ ต้องมีสัดส่วนเท่าไร ถึงจะบอกได้ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศจากกลุ่มอาเซียนเอง เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้านั้นๆ เป็นสินค้าที่ผลิตจากประเทศในอาเซียนจริง ซึ่งการกำหนดถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับสินค้าแต่ละชนิดก็จะไม่เหมือนกัน
 
ขณะเดียวกัน มาตรฐานสินค้าจะเป็นตัวกำหนดศักยภาพในการผลิตสินค้าในอนาคตข้างหน้าด้วย ซึ่งจะต้องไปศึกษาดูว่าแต่ละประเทศจะมีการกำหนดมาตรฐานสินค้านั้นๆ อย่างไร สำหรับประเทศไทยต้องรู้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสินค้า เช่น สินค้าอาหาร จะเป็นองค์การอาหารและยา หรือ อย. ที่จะเป็นหน่วยงานดูแลทางด้านนี้ ก็จะต้องไปหาข้อมูลกับ อย.เพิ่มเติมในเรื่องนี้ 
 
อย่างไรก็ตาม มองว่าที่ผ่านมาในประเทศไทยมีการปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องเออีซีกันมามาก แต่สิ่งที่เราจะต้องลงไปทำให้ลึกมากกว่าเดิมคือ การลงไปในรายธุรกิจ จับกลุ่มเป็นคลัสเตอร์กัน ซึ่งการเป็นเออีซี แนวคิดของธุรกิจจะต้องปรับ รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพราะต่อไปทุกคนจะต้องอยู่ร่วมกัน ใครจับกลุ่มได้เร็วกว่า ดีกว่า รายนั้นก็จะไปได้เร็วกว่า 
 
นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า ในด้านธุรกิจบริการ สิ่งที่จะแนะนำให้เข้าไปศึกษามีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การเปิดให้ธุรกิจในกลุ่มอาเซียนสามารถลงทุนในแต่ละประเทศได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากัน แต่มีเป้าหมายอยู่ที่ 70% เริ่มต้นที่ธุรกิจบริการ 4 ธุรกิจคือ การบิน การสื่อสาร การท่องเที่ยว และธุรกิจด้านการรักษาสุขภาพ แต่หากเข้าไปศึกษาในขณะนี้ กลับพบว่าธุรกิจบริการที่แยกย่อยในแต่ละสาขา พบว่าหลายสาขายังไม่พร้อมกับการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ถึง 70% นอกเหนือไปจากนั้นยังมีธุรกิจบริหารอื่นๆ ที่จะต้องเจรจากันต่อไป รวมทั้งภาคธุรกิจการเงิน 
 
“ปัญหาขณะนี้ที่เรายังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ คือ เรื่องการเปิดให้ประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ ออสเตรเลีย เป็นต้น ที่เข้าไปลงทุนใน 1 ใน 10 ประเทศอาเซียนอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการลงทุนในไทย สามารถใช้สิทธิของเออีซีเข้าไปลงทุนในประเทศไทยได้เช่นกัน หากเป็นเช่นนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก บูติก โฮเตล ที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี ในบ้านเราจะไม่สามารถแข่งขันได้และอาจถึงขั้นถูกฮุบกิจการก็เป็นได้” 
 
อีกประเด็นสำหรับธุรกิจบริการ คือ การเคลื่อนย้ายบุคลากร ซึ่งเมื่อเปิดทางให้มีการเข้ามาลงทุนในมากขึ้นแล้ว ก็จะพ่วงมาด้วยการเคลื่อนย้ายบุคลากร โดย 10 อาชีพ ที่จะเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรีก่อน เช่น หมอ พยาบาล หมอฟัน สถาปนิก นักบัญชี และช่างสำรวจ เป็นต้น ซึ่งบุคลากรในอาชีพเหล่านี้ จะต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด 
 
ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับภาคธุรกิจไทยคือ การเรียนรู้ด้านภาษา นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่จะเข้าไปเจาะตลาดก็จำเป็นต้องสื่อสารกับพวกเขาให้ได้ ตลอดจนการเรียนรู้เรื่อง สังคมและวัฒนธรรม
 
รองประธานสภาหอการค้าฯ กล่าวว่า สำหรับเอสเอ็มอีไทย ทั้งที่ส่งออกและไม่ได้ส่งออก แต่ก็เป็นข้อต่อหนึ่งของธุรกิจที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ก็ต้องรู้เท่ากับผู้ส่งออกเช่นกัน สิ่งที่จะต้องรู้คือ ตนเองอยู่ในข้อต่อส่วนใดของการผลิตสินค้าส่งออกนั้นๆ และคิดว่าจะแข่งขันอย่างไรให้ยั่งยืน ที่ผ่านมาพบว่าเอสเอ็มอีหลายรายที่ประสบความสำเร็จในการไปลงทุนในอาเซียนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเครื่องสำอาง ล้างรถยนต์ 
 
“การเปิดตลาดมากขึ้น ไม่ใช่ผลร้าย แต่จะทำให้ตลาดกว้างขึ้น ซึ่งการที่เขาเข้ามาลงทุนในบ้านเรา เราก็ต้องไปลงทุนในบ้านเขาเช่นกัน แต่อย่ากลัวการแข่งขัน เพราะการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ เพื่อสร้างให้เรามีความแข็งแรงมากขึ้น แต่วิธีคิดเราจะต้องเปลี่ยนด้วย โดยใช้วิธิคิดใหม่เพื่อสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้มากขึ้น” 
 
ด้านนายวิชัยเล่าถึงประสบการณ์การดำเนินธุรกิจในพม่าว่า ปัจจุบันหากไม่พูดถึงเออีซี ธุรกิจไทยจะประสบกับการแข่งขันจากจีน และอินเดีย ที่เข้ามาตีตลาดในพม่าอยู่แล้ว และยิ่งเมื่อมีประเด็นเรื่องเออีซีเพิ่มเข้าไปด้วยแล้วนั้น ยิ่งจะต้องปรับตัว แต่คนไทยไม่ควรหวั่นไหว หรือหมดกำลังใจ เพราะสินค้าไทยยังเป็นสินค้าที่คนพม่าให้ความนิยม ซึ่งไม่ได้ดูในเรื่องราคาอย่างเดียว แต่พวกเขาเน้นเรื่องคุณภาพ และการบริการที่น่าเชื่อถือ ซึ่งไทยถือว่ามีจุดแข็งในด้านนี้อยู่แล้ว
 
“แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องปรับตัว เพราะคู่แข่งเขาไปทำตลาดหมด หากเราไม่ทำอะไรเลยก็จะทำให้ต้องสูญเสียตลาดอย่างแน่นอน แต่สำหรับประเทศพม่าเองช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนไทยเข้าไปพม่าเยอะมาก จึงอยากบอกว่า การที่เราเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง การลงพื้นที่ไปสัมผัสด้วยตนเอง เพื่อหาข้อมูลและนำมาวิเคราะห์เองนั้น จะทำให้สามารถเห็นช่องทางมากกว่าการนั่งฟังข้อมูลจากงานสัมมนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” 
 
สำหรับประเทศพม่าถือเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีไทยอย่างแท้จริง เพราะด้วยขนาดตลาดของพม่าที่ยังไม่ใหญ่นัก ประกอบกับเอสเอ็มอีจะมีความคล่องตัวมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ หากมีการผิดพลาดก็ยังสามารถแก้ไขใหม่ได้ ประกอบกับการค้าระหว่างไทยและพม่าก็พบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านของบไทยอีกหลายประเทศ ทั้งลาว และกัมพูชา หากลงลึกไปศึกษาข้อมูลก็จะพบว่าการค้าระหว่างกันมีอัตราการเติบโตสูงมากขึ้น
 
นายวิชัย กล่าวว่า การจะเข้าไปทำตลาดในประเทศพม่า รวมทั้งในเออีซีนั้น สิ่งสำคัญแรกเริ่มเลยคือ จะต้องมีข้อมูลของประเทศนั้นๆ ก่อน ซึ่งข้อมูลต่างๆ ในประเทศไทยสามารถหาได้ง่าย และประเด็นถัดมาคือการไปสัมผัสด้วยตนเอง เพราะเราควรรู้ว่าตลาดที่นั่นเป็นอย่างไร จากที่ได้สัมผัสกับพม่ามา ในขณะนี้บอกได้ว่า พม่าในปัจจุบันจะเหมือนกับประเทศไทยเมื่อ 30-40% ก่อนที่พวกเขากินและใช้เหมือนกับเรา ทั้งยังมองสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล แต่ที่สำคัญคือ เราจะต้องเข้าให้ถึงกับพวกเขาก่อน

อ้างอิงจาก คม-ชัด-ลึก
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,653
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,316
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
520
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
520
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
459
นักธุรกิจ vs นักธุรโกย ต่างกันอย่างไร
433
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด