บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
6.5K
6 นาที
17 กันยายน 2555
พม่า โอกาสการค้า-การลงทุนที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

“พม่า” เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนมานานโดยพม่าก็มีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระนั้นก็ดี ธุรกิจ SMEs ไทยที่รู้จักและทำการค้ากับพม่าก็ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในบางพื้นที่และบางกลุ่มธุรกิจเท่านั้น แต่นับจากพม่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศในทิศทางที่เสรียิ่งขึ้นและได้รับการยอมรับจากนานาชาติเพิ่มขึ้นจนได้รับการผ่อนคลายคว่ำบาตรจากประเทศต่างๆ

โดยเฉพาะสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ได้ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจพม่าค่อนข้างมาก ซึ่ง ช่วงเวลาสอดคล้องกับที่พม่าเร่งปฏิรูปนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่เป็นที่คาดหมายว่าจะมอบสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งการยกเครื่องระบบการเงินของประเทศใหม่โดยเริ่มจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอัตราลอยตัวแบบมีการจัดการ และการเร่งปรับปรุง ระบบการชำระเงินของประเทศสู่มาตรฐานและความเป็นสากลยิ่งขึ้น เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อมุมมองและความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติให้หันมาสนใจและแสวงหาโอกาสการเข้าสู่ตลาดพม่าดังเห็น ได้จากการหลั่งไหลของนักลงทุนต่างชาติเข้าไปในพม่าอย่างคึกคักนับจากช่วงต้นปี 2555 เป็นต้นมา

ดังนั้น ไทยในฐานะที่เป็นทั้งสมาชิกอาเซียนเช่นเดียวกับพม่า และยังเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีพรมแดนติดต่อกันเป็นระยะทางยาวสุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านถึง 2,401 กิโลเมตร จึงไม่ควรพลาดจังหวะเวลาสำคัญที่จะขยายตลาดการค้าการลงทุนในพม่าก่อนคู่แข่งจากตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน จะเข้าครองส่วนแบ่งตลาดในพม่าไป
 
มองตลาดพม่า...ผ่านเมืองเศรษฐกิจสำคัญในพม่า
 
พม่ามีเมืองสำคัญที่มีบทบาททางเศรษฐกิจกระจายอยู่ตามด้านต่างๆของประเทศซึ่งแต่ละแห่งจะมีลักษณะเด่นและบทบาทแตกต่างกันไป จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้สนใจทำธุรกิจในตลาดพม่าควรรู้จักเพื่อให้ก้าวสู่ตลาดประเทศพม่าได้อย่างเหมาะสมทั้งในแง่การค้าและการลงทุนที่สำคัญอาทิ
  • นครเนปิดอว์ (Nay Pyi Daw): เมืองหลวงและศูนย์ราชการ
 
นครเนปิดอว์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 7 พันตารางกิโลเมตร (กว่า 4 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร) เดิมตั้งอยู่ในเขตเมืองปินมานา (Pyinmana) ซึ่งห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางตอนเหนือราว 350 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์โดยใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง ต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงใหม่ของพม่าเมื่อปี 2548 ได้รับการวางผังเมืองเป็น 4 โซนหลัก คือ โซนราชการ โซนทหาร โซนโรงแรม และโซนอุตสาหกรรม ปัจจุบันนครเนปิดอว์ มีบทบาทเป็นศูนย์กลางราชการและงานบริหารประเทศและเป็นที่ตั้งหน่วยงานของกองทัพทหาร และเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีของพม่าโดยตรง และมีประชากรอยู่ราว 9 แสนคน
  • กรุงย่างกุ้ง (Yangon หรือ Rangoon): ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศพม่า
 
กรุงย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่าที่ตั้งขึ้นเมื่อครั้งยังอยู่ภายใต้ปกครองของสหราชอาณาจักร แม้ปัจจุบันพม่าได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่นครเนปิดอว์แล้ว แต่กรุงย่างกุ้งยังคงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของประเทศพม่า เนื่องจากกรุงย่างกุ้งมีความพร้อมด้านระบบ สาธารณูปโภคพื้นฐานและการคมนาคมรองรับทั้งทางบก (ถนนและรถไฟ) ทางน้ำ (มีแม่น้ำอิรวดีเป็นเส้นทางขนส่งในประเทศ) และมีท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ และทางอากาศ (มีสนามบินนานาชาติย่างกุ้งรองรับสายการบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 2.7 ล้านคน) ประกอบกับที่ตั้งซึ่งอยู่ บริเวณตอนกลางของประเทศ อันเหมาะต่อการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งและกระจายสินค้าสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศได้อย่างทั่วถึง
 
นอกจากนี้ กรุงย่างกุ้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพม่า โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศาสนสถาน อาทิ พระบรมธาตุชเวดากอง พระเจดีย์สุเล พระเจดีย์โบตะกอง พระพุทธไสยาสน์เซาตาจี และตลาดโป๊ะโยคหรือ สก็อตมาร์เก็ต เป็นต้น ปัจจุบันย่างกุ้งมีประชากรมากที่สุดในประเทศเป็นจำนวนราว 5.4 ล้านคน
  • เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay): ศูนย์กลางเศรษฐกิจตอนบนของพม่า
 
เมืองมัณฑะเลย์เป็นเมืองเอกของเขตมัณฑะเลย์และเป็นเมืองสำคัญอันดับ 2 ของพม่า และมีประชากรราว 1 ล้านคน มีบทบาทเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ทางตอนบนของประเทศและเป็นเส้นทางผ่านสินค้าชายแดนของพม่ากับประเทศอินเดีย (ผ่านเมืองทามู เมืองชายแดนของพม่าที่ติดกับเมืองโมเรห์ของอินเดีย) และจีน (ผ่านเมืองมูเซ เมืองชายแดนของพม่าที่ติดกับเมืองรุ่ยลี่ของจีน) ทั้งยังเป็นฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่สำคัญของพม่า นอกจากนี้ เมืองมัณฑะเลย์ยังเป็นศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญของพม่า เป็นแหล่งเพาะปลูกฝ้าย ยาสูบ และ ธัญพืชต่างๆ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การส่งเสริมเป็นศูนย์กลางพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศ โดยมีการจัดตั้ง Cyber city ที่เมือง Yatanarpon (Yatanarpon Cyber City) ในความรับผิดชอบของกระทรวงการสื่อสารและไปรษณีย์ (Ministry of Communications, Posts and Telegraphs) ของพม่า
 
ทั้งนี้ เมืองมัณฑะเลย์ มีท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของพม่า สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 3 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักธุรกิจที่เข้ามาทำธุรกิจในพม่า นอกจากนี้ เมืองมัณฑะเลย์ยังเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างตอนล่างและตอนบนของประเทศ ทั้งยังสามารถเชื่อมไปยังเส้นทางรถไฟในยุโรปและเอเชียใต้ได้ด้วย ส่วนการคมนาคมทางถนนในเมืองมัณฑะเลย์ นับว่าค่อนข้างกระจุกตัวและหนาแน่นจากปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนมาก ทำให้การจราจรไม่คล่องตัวนักและเกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าขึ้นในบางขณะ
 
เมื่อเปรียบเทียบในแง่ศักยภาพการกระจายสินค้าของกรุงย่างกุ้งและเมืองมัณฑะเลย์ จะเห็นว่า กรุงย่างกุ้งมีที่ตั้งอันเป็นยุทธศาสตร์อันเอื้อต่อศักยภาพด้านการกระจายสินค้าของประเทศพม่าชัดเจนกว่า โดยกรุงย่างกุ้งสามารถพัฒนาโครงข่ายการกระจายสินค้าได้ครบวงจรกว่า ทั้งการขนส่งทางอากาศผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ ย่างกุ้ง การขนส่งทางทะเลผ่านท่าเรือน้ำลึกย่างกุ้งและท่าเรือทิวาลาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง การขนส่งทางน้ำภายในประเทศโดยมีแม่น้ำหลายสายไหลมาบรรจบลงทะเลที่กรุงย่างกุ้ง รวมถึงการขนส่งทางถนนซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศพม่าได้อย่างทั่วถึง
 
  • เมืองเมาะละแหม่ง/เมาะลำไย (Mawlamyine)
 
เมืองเมาะละแหม่งเป็นเมืองเอกของรัฐมอญและเป็นเมืองสำคัญอันดับ 3 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 2 ล้านคน เมืองเมาะละแหม่งมีเส้น ทางถนนที่เชื่อมระหว่างกรุงย่างกุ้งและทวาย ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญอันหนึ่งของพม่า โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมทางบก (ทางถนนและทางรถไฟ) ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าเส้นทางอื่นอัน เนื่องมาจากความสะดวกและค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า และด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเมาะละแหม่งที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำสาละวิน บริเวณที่ติดกับทะเลอันดามัน ทำให้เคยมีความพยายาม สร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นที่เมาะละแหม่ง แต่ด้วยความไม่เหมาะสมของสภาพพื้นที่ทำให้โครงการนี้หยุดชะงักไป
 
ทั้งนี้ เมืองเมาะละแหม่งมีชื่อเสียงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าว ผลไม้เมืองร้อน และไม้สัก เคยเป็นอู่ต่อเรือที่สำคัญของพม่า นอกจากนี้ เมาะละแหม่งเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และเป็นเมืองตากอากาศชายทะเลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของพม่าด้วย
  • เมืองเมียวดี (Myawaddy)
 
เมืองเมียวดีอยู่ในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งเป็นเมืองชายแดนด้านตะวันออกของพม่าตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทย โดยมีแม่น้ำเมยเป็นเขตกั้น เดิม เป็นเมืองที่มีการค้าชายแดนกับไทยผ่านเส้นทางขนส่งทางเรือ ต่อมาทางการไทยได้สร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 และเปิดใช้เมื่อปี 2540 ทำให้การค้าชายแดนไทย-พม่า ณ ด่านชายแดน แม่สอด-เมียวดี พัฒนาขึ้นเป็นด่านการค้าชายแดนไทย-พม่าที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย และส่งผลให้เมืองเมียวดีเป็นเมืองกระจายสินค้าผ่านชายแดนที่สำคัญของพม่าด้วย โดยอาศัยเส้นทาง ถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองเมียววดี-เมืองกอกะเร็ก (รัฐกะเหรี่ยง)-เมืองผะอัน (รัฐกะเหรี่ยง)-เมืองท่าตอน(รัฐมอญ)-เมืองพะโค(เขตพะโค)-กรุงย่างกุ้ง นอกจากนี้ รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจ พิเศษเมียวดีขึ้นเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจชายแดนเมียวดี-แม่สอด บนพื้นที่กว่า 700 เอเคอร์ (ราว 1,770 ไร่) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
 
  • เมืองพะโคหรือหง สาวดี (Bago หรือ Pegu)
 
เมืองพะโคหรือที่คนไทยรู้จักในชื่อเรียกว่า หงสาวดี มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน ตั้งอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางตอนเหนือประมาณ 80 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นเมืองหลวงของพม่าและเจริญรุ่งเรืองในรัชสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง ปัจจุบันเมืองพะโคมีบทบาทเป็นแหล่งปลูกข้าวและเกษตรกรรมสำคัญของประเทศเนื่องจากมีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ราบและใกล้แหล่งน้ำหลายแหล่ง ทั้งยังเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล โรงงานทอผ้า และโรงงานผลิตเครื่องเซรามิกส์ นอกจากนี้ เมืองพะโคยังเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติ ศาสตร์ที่มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง อาทิ พระเจดีย์ชเวมอดอว์ (พระธาตุมุเตา) พระราชวังบุเรงนอง พระพุทธไสยาสน์ชเวตาเลียว พระเจดีย์ไจ๊ปุ่น เป็นต้น
 
โอกาสทางการค้า-การลงทุนในพม่า
 
การปฏิรูปเศรษฐกิจและประเทศของพม่ารวมทั้งการเปิดรับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะแผนดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ที่หาก พ.ร.บ.การลงทุนฉบับใหม่ที่เน้นเพิ่มสิทธิประโยชน์จากภาษีมีผลบังคับใช้ (อาทิ การงดเว้นเก็บภาษีเป็นเวลา 8 ปีสำหรับธุรกิจต่างชาติ) ก็คาดว่าจะกระตุ้นให้แนวโน้มการลงทุนจากต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ แผนการเปิดด่านถาวรไทย-พม่าเพิ่มขึ้นก็น่าจะยิ่งเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาดพม่าเพิ่มมากขึ้น และน่าจะเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ไม่ควรมองข้ามด้วยการหาแนวทางในการเข้าถึงตลาดพม่าให้ได้โดยเร็ว “ถึงก่อนย่อมมีสิทธิ์ในการช่วงชิงตลาดก่อน” โดยสินค้าที่ไทยน่าจะมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนในพม่าที่น่าสนใจ อาทิ
 
โอกาสทางการค้า
 
  • สินค้าอุปโภคบริโภค ในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสินค้าที่พม่ายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าจากไทย 15 รายการของไทย (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา) หลังจากที่ห้ามมานานกว่า 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นผงชูรส น้ำหวานและเครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง อาหารกระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป เหล้า เบียร์ และบุหรี่ เป็นต้น น่าจะได้รับผลดีด้านการส่งออกจากการยกเลิก มาตรการดังกล่าว กอปรกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของพม่าที่คาดว่าจะเติบโตในระดับเฉลี่ยร้อยละ 5-6 ต่อปี น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนความต้องการเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนใน พม่า ซึ่งสินค้าไทยค่อนข้างได้รับความไว้ใจและเชื่อถือในเรื่องคุณภาพและตราสินค้าในตลาดพม่า จึงเป็นโอกาสที่สินค้าอุปโภคบริโภคจะขยายตลาดการค้าในเมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่า
 
  • กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพม่าที่ภาคเกษตรกรรมมีบทบาทสูงถึงร้อยละ 44 ของ GDP และทางการพม่ายังให้การสนับสนุนการพัฒนาภาคเกษตรกรรม เพื่อให้พม่ามีศักยภาพในการผลิตและส่งออกในตลาดโลก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเกษตรสำคัญที่พม่าตั้งเป้าส่งออกเป็น 2 ล้านตันในปี 2556 (จาก 778,000 ตันในปี 2554) จึงเป็นโอกาส สำหรับการส่งออกสินค้าเครื่องจักรกลทางการเกษตรของไทยไปพม่าอาทิ รถไถนาเดินตาม รถแทรกเตอร์ เครื่องพ่นยาฆ่าแมลง เครื่องสูบน้ำ และเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เป็นต้น โดยสินค้าไทยใน กลุ่มนี้นับว่าได้เปรียบจีนพอสมควรในด้านคุณภาพ และอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ตลอดจนสามารถถอดและประกอบเพื่อซ่อมบำรุงเองได้ง่าย แม้จะแพ้ทางด้านราคาต่อจีนก็ตาม
 
  • อาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่ม ตลอดจนขนมขบเคี้ยวต่างๆ ซึ่งน่าจะมีโอกาสขยายตัวชุมชนเมืองและเมืองใหญ่ของพม่าอย่างนครเนปิดอร์ กรุงย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองเมียวดี ซึ่งประชาชนในเมืองเศรษฐกิจใหญ่เหล่านี้มีความสามารถในการจับจ่ายและพฤติกรรมการบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกสบายมากกว่าประชาชนในพื้นที่นอกเขตเมือง สำหรับสินค้าอาหารที่น่าสนใจขยายตลาดในพม่า อาทิ อาหารสำเร็จรูปที่ใช้เนื้อไก่เป็นวัตถุดิบ (เพราะชาวพม่าถือว่าวัวเป็นสัตว์ใช้แรงงานที่มีพระคุณ ขณะที่เชื่อว่าการบริโภคเนื้อหมูจะทำให้โชคร้าย จึงทำให้ไม่นิยมบริโภคทั้งเนื้อวัวและเนื้อหมู) อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เครื่องดื่มอย่างชา และกาแฟ รวมไปถึงน้ำอัดลมที่มีโอกาสจะขยายตัวตามการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในพม่า
 
  • ตลาดรถยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์อะไหล่ทดแทน ยานพาหนะรถยนต์ที่มีการใช้ในพม่าส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์มือสองที่มีสภาพการใช้งานไม่ดีนักเนื่องจากชาวพม่ายังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก ชาวพม่าจึงนิยม เปลี่ยนอะไหล่รถยนต์แทนการซื้อรถใหม่ ทำให้สินค้าส่งออกหมวดชิ้นส่วนรถยนต์และอะไหล่ไปพม่าขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้
 
  • กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์จักรกลการก่อสร้าง รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ติดตั้งในอาคาร พม่าอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาประเทศหลายด้าน ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองหลวงใหม่ที่นครเนปิดอว์ และการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆในพม่า ทำให้พม่ามีความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่วัสดุก่อสร้างบางรายการพม่ายังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่บางรายการอาจยังไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตได้ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่อาจเผชิญการแข่งขันด้านราคาจากสินค้าจีน
 
โอกาสด้านการลงทุน
 
  • ธุรกิจท่องเที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนไทย เนื่องจากพม่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทั้งด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น เมืองพุกามซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งทะเลเจดีย์(เนื่องจากมีเจดีย์นับหมื่นองค์) หาดงาปาลีในเมืองตานต่วย (Thandwe) ซึ่งได้รับการจัดให้เป็นหาดที่สวยงามที่สุดของพม่า เป็นต้น ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ของรัฐบาลพม่า อีกทั้งพม่ายังมีวาระการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ (ปี2556)และประธานอาเซียน(ปี 2557) ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะเดินทางมาพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ทั้งนี้ ในช่วง ไตรมาสแรกปี 2554 ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาพม่าขยายตัวถึงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า) อย่างไรก็ดี ความพร้อมด้านโรงแรมที่พักและบริการที่เกี่ยว เนื่องในพม่ายังไม่เพียงพอและไม่ได้รับการดูแลและพัฒนาเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมในการขยายลงทุนธุรกิจโรงแรมและที่พัก รวมถึง โรงแรมบูติกซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่ดีนั้นมีความน่าสนใจมิใช่น้อย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น สปา ฟิตเนส ร้านอาหาร และร้านขายของที่ ระลึก ก็น่าจะมีโอกาสที่ดีด้วยเช่นกัน
 
  • ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและการผลิตวัสดุก่อสร้าง ก็มีโอกาสเติบโตเช่นกันตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจพม่า โดยธุรกิจ SMEs ที่สนใจตลาดพม่า ก็อาจจะเริ่มเข้าสู่ตลาดนี้ด้วยการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและ ผู้ค้ารายใหญ่ที่เข้าไปขยายธุรกิจในพม่าแล้ว หรือ การเข้าไปเป็นผู้รับเหมาช่วงจากผู้รับเหมารายใหญ่ที่ดำเนินการก่อสร้างในโครงการต่างๆ โดยอาศัยอานิสงส์จากการเร่งพัฒนาโครงสร้างและ สาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศพม่า โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพในปี 2556 ณ นครเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ผนวกกับการ เปิดประเทศและพัฒนาการทางการเมืองของพม่าที่มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ
 
  • นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสสำหรับการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติม เนื่องจากพม่ายังคงมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ไม้ พลังงาน หรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่ไทยเริ่มขาดแคลน
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพม่าจะมีจุดเด่นหลายอย่างที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ยังมีอุปสรรคไม่น้อยที่อาจจะสร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการบ้างพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบการเงินที่คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างเสถียรภาพพอสมควร ตลอดจนข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้า และระบบคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่งเริ่มพัฒนา ประกอบกับการลดภาษีนำเข้าของพม่าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2558 แต่ช่วงเวลานี้ก็นับเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ SMEs ไทยสำหรับศึกษาลู่ทาง และเข้าดำเนินการในตลาดเป้าหมายก่อน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในตลาดที่มีคู่แข่งน้อยกว่า และ เพื่อศึกษาพฤติกรรม วัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น พร้อมสร้างเครือข่ายธุรกิจรองรับการแข่งขันในอนาคต อีกทั้งยังน่าจะเป็นทางเลือกที่ดูดีกว่าการพึ่งพิงตลาดที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักหน่วงในปัจจุบันและ อาจจะต่อเนื่องไปอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปีอย่างเช่นยุโรปต่อไปด้วย
 
โดยธุรกิจ SMEs ที่สนใจตลาดพม่าอาจจะเริ่มเข้าสู่ตลาดนี้ด้วยการส่งสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในพม่า หรือกลุ่มผู้ค้าชายแดนในประเทศไทย เมื่อขายสินค้าและเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคได้มากขึ้นแล้ว จึงเข้าไปดำเนินการกระจายสินค้าเอง และลงทุนสร้างฐานการผลิตในระยะต่อไป อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจ SMEs สามารถเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ที่เข้าไปขยายธุรกิจแล้ว โดยทำหน้าที่เป็นผู้ขายวัตถุดิบ(Supplier) หรือ รับซื้อและกระจายสินค้า(Buyer) เช่น ขายส่งสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เปิดธุรกิจในพม่า ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักนับจากนี้ก็คือกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อกำลังเริ่มขยายตัวขึ้น นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้าไปทำงานในประเทศพม่า นอกจากนี้อาจจะมองไกลไปถึงการอาศัยพม่าซึ่งอยู่ในทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพเป็นประตูสู่ตลาดภายใน (Domestic Market) ของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกถึง 2 ตลาดนั่นคือ จีน และอินเดีย ก็ได้ด้วย

อ้างอิงจาก  KSMECare
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด