บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
8.7K
4 นาที
1 กุมภาพันธ์ 2556
ศึกษาผลกระทบ AEC ต่อผู้ประกอบการ SMEs กับ 6 อุตสาหกรรม
 
การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยเป้าหมายสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
 
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย (High Impact Sectors)
 
ทั้งนี้เพื่อศึกษานโยบายและมาตรการตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีต่อผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจมหภาค และต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งแรงงานใน SMEs โดยมุ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 
การศึกษาครั้งนี้ได้คัดเลือก 6 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งผลที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการระบุผลกระทบและกำหนดหุ้นส่วนทางกลยุทธ์ (Strategic Partners) เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้น โดยผลการศึกษาสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
 
***กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล***
 
เป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ของประเทศ จากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 267,040.49 ล้านบาท การส่งออก 165,641.09 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 64,241.68 ล้านบาท ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ คือเหล็ก อุตสาหกรรมกลางน้ำ คือชิ้นส่วนเครื่องจักร และอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือกล ดังนี้
 
ผลกระทบในด้านบวก ประเทศไทยได้เปรียบด้านแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องมือกล โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากการลอกเลียนของเดิม (Reverse Engineering) สามารถส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ ไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ได้มากขึ้น และสามารถใช้ประเทศกลุ่ม CLMV เป็นฐานการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ขณะที่ความต้องการเครื่องจักรกลในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป และอาหาร โดยเฉพาะเครื่องจักรประเภทเครื่องปิดฉลาก เครื่องปิดผนึก ฯลฯ
 
ผลกระทบด้านลบ ผู้ประกอบการในกลุ่มอาเซียนสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มีราคาถูกลงเนื่องจากการยกเลิกภาษีนำเข้า ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูง เพราะการเข้าสู่ AEC ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กของไทย เนื่องจากรัฐบาลยังมีนโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมต้นน้ำ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีศักยภาพสูงในการผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม จะมีราคาต่ำลงและบุกตลาดไทยมากขึ้น นอกจากนี้อาจมีการย้ายฐานการผลิตเครื่องจักรในไทย
 
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรพิจารณาและทบทวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และควรส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำคุณภาพ เพื่อทดแทนการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการผลิตที่สูงขึ้น
 
***กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร***
 
เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญและมีศักยภาพทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมอาหารมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในอาเซียนและในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 120,838.04 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 92,638.47 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 64,438.90 ล้านบาท นับว่าได้เปรียบดุลการค้าเป็นอันดับที่ 2 ในตลาดอาเซียน และเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดโลก แต่แม้ว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในด้านการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร และมีอุตสาหกรรมสนับสนุนครบทุกส่วนตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (ภาคการเกษตร ประมง) อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
 
ผลกระทบด้านบวก จะเป็นการเร่งให้เกิดโอกาสขนาดใหญ่ต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย เห็นได้จากการเปิดเสรีสินค้าประเภทอาหารที่มีการลดภาษีเป็นศูนย์นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สินค้าอาหารของไทยมีดัชนีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการสามารถแสวงหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ๆ รวมถึงสามารถขยายฐานการลงทุนและฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ แรงงานและการขนส่งได้
 
ผลกระทบด้านลบ ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานเนื่องจากโอกาสทางการค้าและการลงทุนของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานกลับไปทำงานในประเทศของตน และผลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี อาจทำให้ผู้ประกอบการถูกครอบงำจากนักลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้รับจ้างผลิตมากกว่าเป็นเจ้าของกิจการ
 
ข้อเสนอแนะ ประเทศไทยควรกำหนดตำแหน่งทางการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าหลายขั้นตอนเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณค่าและราคาสูงขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการ ควรพัฒนาความหลากหลายของผลผลิต โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นและมีความแตกต่าง มีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใช้การผลิตทดแทนแรงงานคน และควรสร้างตราสินค้าในผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรรวมตัวกันในรูปแบบสถาบันและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และสร้างอำนาจต่อรองทั้งด้านการค้าและการกำหนดราคา รวมถึงพัฒนากลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง
 
***กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง***
 
เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมยาง และมีศักยภาพในการผลิตยางแปรรูปอย่างครบวงจร ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่า มีมูลค่าการค้า 53,656.26 ล้านบาท การส่งออก 48,680.68 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 43,705.07 ล้านบาท

ที่สำคัญเป็นอุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบสินค้าส่งออก (RCA) สูงถึง 5.47 แสดงถึงโอกาสจากการเปิดข้อตกลงเขตการค้าเสรี เพราะไทยมีความครบวงจรในรูปแบบของความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบและศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมทั้งมีบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกหลายรายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
 
ผลกระทบด้านบวก หาก AEC มีการขยายกรอบความร่วมมือครอบคลุมแรงงานกรีดยาง จะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยางและส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานกรีดยาง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้นสามารถส่งออกไปยังตลาดอาเซียนได้ในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศไทยมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในการขยายตลาดไปในประเทศอาเซียน ผลจากสิทธิพิเศษทางภาษี
 
ผลกระทบด้านลบ ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้นจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานร่วมกันในการยอมรับ (MRA) ของอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบการบางกลุ่มอาจเผชิญการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มถุงมือยาง นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยอาจเสียเปรียบผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่มีทักษะความรู้ด้านการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี เช่น กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (ROO) รวมถึงการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ Form D
 
ข้อเสนอแนะ ควรมีการบริหารจัดการปริมาณน้ำยางสดร่วมกับประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาวัตถุดิบและปริมาณ พัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs
 
***กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก***
 
เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 77,645.41 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 46,549.80 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 15,454.19 ล้านบาท ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
 
ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก บริการด้านการวิจัยและพัฒนาแรงงานที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เพื่อใช้เป็นฐานขยายการผลิต และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ฯลฯ
 
ผลกระทบด้านลบ ไทยจะขาดแคลนแรงงานฝีมือและบุคลากร เช่น วิศวกรเคมี และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากย้ายไปทำงานในประเทศที่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูงกว่า เสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้สินค้าราคาถูกและสินค้าด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ สินค้าในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากประเทศอื่นๆ จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด
 
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรสนับสนุนการหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาถูกจากแหล่งใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน แก้ไขปัญหาในการนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาสูง และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ นอกอาเซียน
 
***กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม***
 
เป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 50 ปี และผู้ประกอบการมีการรวมกลุ่ม ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นสมาคมอย่างเข้มแข็ง และเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทต่อการจ้างงานของประเทศ ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 37,166.58 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 28,766.15 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 20,365.72 ล้านบาท ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
 
ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตลดลง ผลจากการนำเข้าเส้นใยจากอินโดนีเซียซึ่งมีราคาถูก สามารถส่งออกผ้าผืน รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น สามารถย้ายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศที่มีแรงงานมากและค่าแรงต่ำได้ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ต่อเนื่องจากการเปิดเสรีทางด้านบริการ
 
ผลกระทบด้านลบ เกิดจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลต่อการปรับตัวด้านต้นทุนการผลิต
 
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรหาช่องทางหรือเครือข่ายการติดต่อธุรกิจด้านเส้นใยและเส้นด้ายในประเทศอินโดนีเซีย ควรให้การสนับสนุนโครงการ ASEAN Competitiveness Enhancement (ACE) และ Source ASEAN Full Service Alliance (SAFSA) รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสิ่งทอ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายการลงทุนไปในประเทศ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา
 
***กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ***
 
เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศในลำดับต้นๆ เนื่องจากคุณภาพของสินค้าได้รับการยอมรับในระดับโลก ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 9,705.5 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกเพียง 2,874.80 ล้านบาท และเสียเปรียบดุลการค้ามาโดยตลอดอยู่ที่ -3,955.90 ล้านบาท แต่นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ (การวิจัย พัฒนา และออกแบบ การทำเหมืองอัญมณี) อุตสาหกรรมกลางน้ำ (การปรับปรุงคุณภาพและเจียระไนอัญมณี) และอุตสาหกรรมปลายน้ำ (การผลิตเครื่องประดับ) ดังนี้
 
ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก บริการด้านการวิจัยและพัฒนา แรงงานที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงบริการด้านการตลาดและเงินทุน นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปลงทุนในอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ได้มากขึ้น และใช้เป็นทางผ่านในการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกประเทศอาเซียน รวมทั้งเป็นช่องทางในการส่งออกไปในกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มมากขึ้น ฯลฯ
 
ผลกระทบด้านลบ ไทยจะขาดแคลนแรงงานฝีมือและบุคลากร เช่น นักออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ ช่างเจียระไนอัญมณี ช่างเผา/หุงพลอย ฯลฯ เนื่องจากย้ายไปทำงานในประเทศที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า และอาจเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับสินค้าราคาถูกจากประเทศในกลุ่ม CLMV นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากประเทศต่างๆ จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด
 
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาถูกจากแหล่งใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและการทำเหมืองอัญมณี รวมถึงการวิจัย พัฒนา การปรับปรุงคุณภาพ การเคลื่อนย้ายแรงงานที่จำเป็น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ

อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
795
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
441
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
423
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด