บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
5.3K
3 นาที
26 กุมภาพันธ์ 2556
นโยบาย-กฎหมาย อาเซียน ผลกระทบต่อ SMEs ไทย (ตอนที่ 1)
 
สสว. เผยผลการศึกษา "ผลกระทบของนโยบายและกฎหมาย ของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ต่อ SMEs ไทย" หวังเสนอแนวทางกำหนดนโยบายและพัฒนากฎหมายไทยให้ทันสถานการณ์และเอื้อต่อการค้าการลงทุนก่อนการก้าวเข้าสู่ AEC
 
ดร.อิสรา ภูมาศ ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล และ สสว. มุ่งส่งเสริมยกระดับความสามารถ รวมทั้งบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่มีต่อ SMEs ด้วยการสนับสนุนข้อมูลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ SMEs เท่าทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้
 
สสว. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบของนโยบายและกฎหมายของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีต่อ SMEs ไทย เพื่อศึกษาเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและการส่งเสริม SMEs ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย
 
รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายและการพัฒนากฎหมายที่สำคัญของไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของ SMEs ไทย ในประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ AEC
 
สำหรับการดำเนินโครงการนี้มุ่งศึกษาในกลุ่มสมาชิกอาเซียนจำนวน 10 ประเทศ โดยมีผลการศึกษาดังนี้
 
บรูไน
 
รัฐบาลได้ประกาศแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวฉบับแรก คือ "วิสัยทัศน์บรูไน ปี 2578 หรือ Vision Brunei 2035" ด้วยการนำพาเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพาน้ำมัน ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายให้บรูไนขึ้นติดอันดับ TOP 10 ของประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงสุดในโลก ภายในปี 2578
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน รัฐบาลได้มีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยอนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเกือบทุกสาขา และอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกสาขา ยกเว้นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศและที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติ ที่ยังต้องมีผู้ถือหุ้นในประเทศอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ในสาขาเกษตร ประมง และแปรรูปอาหาร
 
โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การลงทุนเกี่ยวกับการผลิต ปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำ และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้พลังงานของบรูไน แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัด คือ มาตรการเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร เนื้อสัตว์ ต้องเป็นสินค้าฮาลาลเท่านั้น ส่วนที่ต้องมีการขอใบอนุญาตนำเข้า ได้แก่ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์ พืช และสัตว์มีชีวิต
 
 
กัมพูชา
 
รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี โดยเตรียมการปฏิรูปทั้งโครงสร้างและเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเศรษฐกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลได้มุ่งขยายปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับทั้งในภูมิภาคและระดับนานาประเทศ
 
นอกจากนี้ ยังมุ่งปรับสภาพแวดล้อมในการลงทุน เพิ่มการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มการฝึกฝนความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งการสร้างเขตอุตสาหกรรมและเขตส่งออกที่มีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่มีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศควบคู่ไปกับการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน เนื่องจากกัมพูชาไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ จึงต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก โดยมีนโยบายการค้าเสรีไม่มีข้อกีดกันทางการค้า มีเพียงห้ามการนำเข้าสินค้าบางประเภทที่กระทบกับความมั่นคง สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และการควบคุมสินค้าส่งออก ที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนส่งออกจากประเทศ คือ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และข้าว นอกจากนี้ มีข้อกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องชำระภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆ ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
 
อินโดนีเซีย
 
รัฐบาลได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงานและกระตุ้นการค้าการลงทุนภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการส่งออกสินค้าสำคัญ รวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่ยังมีการปกป้องตลาดภายในประเทศ โดยการออกกฎระเบียบที่มีลักษณะกีดกันการนำเข้าและการจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายที่มีการนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย โดยกำหนดสินค้าสำคัญ 5 กลุ่มคือ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และของเด็กเล่น ซึ่งกำหนดให้นำเข้าเฉพาะท่าเรือและท่าอากาศยานที่กำหนดไว้เท่านั้น
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน ต้นปี 2555 BKPM ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อกระตุ้นการลงทุนในอินโดนีเซีย โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่นักลงทุนใน 129 สาขา เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มีการใช้ทรัพยากรในประเทศเป็นวัตถุดิบและลดการนำเข้าสินค้าบริโภคขั้นสุดท้าย เช่น การเพาะปลูกพืช การทำเหมืองแร่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อิเล็กทรอนิกส์ ยา และอาหาร
 
อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังมีการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าหลายมาตรการ เช่น การห้ามนำเข้า การออกใบอนุญาตนำเข้า ด้านสุขอนามัย รวมถึงการขึ้นทะเบียนอาหารและยา
 
ลาว
 
เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจเสรีเมื่อปี 2529 โดยการใช้นโยบาย "จินตนาการใหม่" ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศมากขึ้นและในปี 2554-2558 ซึ่งอยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ที่มุ่งลดอัตราความยากจน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ และเตรียมความพร้อมสำหรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายจะพาตนเองออกจากบัญชีรายชื่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุดให้ได้ในปี 2563
 
และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลได้มีการดำเนินมาตรการหลายประการ ทั้งการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายเขต ส่งผลให้จะต้องมีการวางระบบสื่อสาร ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสายไฟฟ้า ฯลฯ แผนการพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ แผนพัฒนาการทำเหมือง รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน แม้ว่ารัฐบาลต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ แต่นักลงทุนต่างชาติยังประสบปัญหาสำหรับการลงทุนในลาว เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่เพียงพอ เส้นทางคมนาคมขนส่งภายในประเทศยังไม่ดี นโยบายของรัฐบาลกลางกับนโยบายของแต่ละแขวงอาจยังไม่สอดคล้องกันในทางปฏิบัติ แรงงานที่มีทักษะและมาตรฐานสำหรับบางอุตสาหกรรมยังมีจำนวนน้อย ขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ
 
ส่วนมาตรการทางการค้าสำคัญ ประกอบด้วย สินค้าห้ามนำเข้า 8 รายการ ได้แก่ ปืนและอาวุธสงคราม เมล็ดฝิ่น กัญชา โคเคนและส่วนประกอบ เครื่องมือหาปลาแบบดับศูนย์ เครื่องจักรดีเซลใช้แล้ว ตู้เย็น ตู้แช่ สินค้าใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สารเคมีอันตราย
 
สินค้าห้ามส่งออกมีทั้งหมด 4 รายการ ฝิ่นและกัญชา ปืนและอาวุธ ไม้ซุง และวัตถุโบราณ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าต้องขออนุญาตนำเข้า 18 รายการ และอนุญาตส่งออกอีก 9 รายการ
 
มาเลเซีย
 
วิสัยทัศน์ 2020 ของมาเลเซีย กำหนดอนาคตว่า จะต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ในปี 2020 และได้วางนโยบายวิสัยทัศน์แห่งชาติ มุ่งสร้างให้ประเทศมีความยืดหยุ่นคงทนและมีความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญต่อการเติบโต ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม ซึ่งเน้นการลงทุนที่มีการค้นคว้า วิจัย และเทคโนโลยีสูง
 
ปัจจุบัน รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้นโยบาย New Economic Model (NEM) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเพื่อพัฒนาประเทศตามศักยภาพที่แท้จริง และมีแนวคิดจะยกระดับเศรษฐกิจของมาเลเซียไปสู่ระดับ High Income
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน ภายใต้แผนพัฒนามาเลเซีย ปี 2551-2563 ได้กำหนดสาขาเศรษฐกิจหลักแห่งชาติ 12 สาขา เพื่อเป็นสาขานำในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซและพลังงาน ปาล์มและน้ำมัน บริการทางการเงิน ท่องเที่ยว บริการทางธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าส่งและค้าปลีก การศึกษา บริการสุขภาพ สื่อสารโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน เกษตร และการลงทุนในเขตพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีภาคบริการด้วยการยกเลิกข้อบังคับที่ต้องมีชาวภูมิบุตรถือครองหุ้นร้อยละ 30 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปนโยบาย NEM และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ โดยอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ในสาขาบริการย่อย 27 สาขา ครอบคลุมบริการด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ และขนส่ง รวมถึงการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค ศูนย์จัดซื้อสินค้าระหว่างประเทศ และการทำธุรกิจเหมืองแร่
 
ขณะเดียวกัน ยังมีการคลายข้อกำหนดการถือหุ้นของต่างชาติและเงื่อนไขด้านการส่งออกในการลงทุนด้านการผลิตอีกด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลมาเลเซียยังคงอำนาจในการอนุมัติการลงทุนจากต่างชาติไว้ค่อนข้างสูง เพราะต้องการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

อ้างอิงจาก  เส้นทางเศรษฐีมติชน
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด