บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
12K
5 นาที
8 พฤษภาคม 2556
เจาะตลาดส่งออกกลุ่มประเทศ CLMV … ขุมทองใหม่ SMEs ไทย


ภาพจาก https://pixabay.com/
 
ประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม หรือกลุ่ม CLMV ถือเป็นตลาดส่งออกที่ศักยภาพสูงและมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยมาอย่างยาวนาน ผู้บริโภคท้องถิ่นจึงมีความคุ้นเคยและนิยมใช้สินค้าไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังประเทศ CLMV และครอบคลุมสินค้าเพิ่มเติมจากสินค้าสำเร็จรูปสำหรับการบริโภค ไปเป็นสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลาง แม้ว่าในปี 2552 วิกฤตเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV จนกดดันให้มูลค่าการส่งออกของไทย หดตัวลง (ยกเว้นพม่า) แต่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ไทยมีการส่งออกในแต่ละตลาดเพิ่มขึ้น

ดังนี้ ตลาดกัมพูชา คือ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ยาง ผ้าผืน เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ลาว คือ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว พม่า เช่น เครื่องดื่ม ปูนซีเมนต์ เหล็กเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์และผ้าผืน และตลาดเวียดนาม คือ รถยนต์ ข้าวโพด เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่อาจขยายตัวได้ดีในปีนี้ น่าจะช่วยให้การส่งออกจากไปไปยังตลาดเหล่านี้ขยายตัวได้ในอัตราสูง
 
 
 
การลด/ยกเลิกภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA ) ในกรอบอาเซียนหลายฉบับที่ไทยและกลุ่ม CLMV เป็นสมาชิกร่วมกัน ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 2553 ที่มีผลให้สินค้าไทยทุกรายการในบัญชีลดภาษี กว่าร้อยละ 95 ของพิกัดสินค้า ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีจากอาเซียนเดิมคือไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและบรูไน ขณะที่สินค้าไทยยังคงเสียภาษีไม่เกินร้อยละ 5 จากกลุ่มประเทศ CLMV และมีภาษีร้อยละ 0 ในปี 2558

นอกจากนี้อาจมีสินค้าไทยบางรายการที่ไม่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าจากอาเซียน แต่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าจาก FTA ฉบับอื่นที่อาเซียนมีกับคู่เจรจา ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในกรอบอาเซียนเพื่อส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV ได้ โดย FTA ที่อาเซียนมีกับคู่เจรจาและมีผลบังคับใช้ไปแล้วจนถึงปี 2553 คือ FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์
 
แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 และการลด/ยกเลิกภาษีสินค้าภายใต้กรอบ FTA ของอาเซียน น่าจะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม CLMV ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเร่งปรับปรุงและยกระดับการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้สินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง

พราะนอกจากจะช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยที่กำลังเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสินค้าจีน เกาหลีใต้และอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จาก FTA ในกรอบอาเซียนเช่นเดียวกับไทยแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่เพิ่งเริ่มส่งออกเป็นครั้งแรกอีกด้วย ทั้งนี้ตลาดส่งออกของไทยในกลุ่ม CLMV แต่ละประเทศมีลักษณะเด่นที่เอื้อโอกาสให้กับสินค้าส่งออกของไทยแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงกลยุทธ์การทำตลาดของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นดังนี้
 
กัมพูชา  ลักษณะเด่นคือ
  1. กัมพูชามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน โดยในปี 2546-2550 ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 10.5 ต่อปี
  2. แม้ว่าเศรษฐกิจปี 2553 ของกัมพูชามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประเทศอื่นใน CLMV แต่คาดว่ากัมพูชายังคงนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้าที่กัมพูชานำเข้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่กัมพูชามีต้นทุนการผลิตสูงหรือผลิตได้ไม่เพียงพอ
  3. ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และแรงงานราคาถูก ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น
  4. การพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ภายในประเทศและในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ช่วยให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปประเทศ CLMV สะดวกรวดเร็วขึ้น
  5. แม้ประชากรกัมพูชายังมีรายได้ค่อนข้างต่ำแต่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงขึ้น จึงให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามากขึ้นสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของสินค้าไทย
  6. ชาวกัมพูชามีความเคยชินกับสินค้าไทยเนื่องจากมีการค้าชายแดนระหว่างกันมานาน และเห็นว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดีและราคาเหมาะสมเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
  7. ชาวกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากสื่อโทรทัศน์ของไทย จึงเกิดพฤติกรรมเลียนแบบทั้งการแต่งกาย การดูแลสุขภาพและความงาม
สินค้าส่งออกไทยที่มีศักยภาพสูงเป็นสินค้าที่กัมพูชาไม่สามารถผลิตได้เองหรือผลิตได้น้อย รวมถึงสินค้าที่กัมพูชาจำเป็นต้องใช้ในการการพัฒนาประเทศ ส่วนเมืองที่ควรเข้าไปทำการค้าควรเป็นเมืองที่มีการเติบโตสูง เป็นที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคกำลังซื้อสูงและคุ้นเคยกับสินค้าไทยอยู่แล้ว ดังนี้



 
กลยุทธการทำตลาด ควรส่งออกสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือผู้นำเข้าสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยอย่างพระตะบอง สามารถค้าขายผ่านตลาดการค้าชายแดน ซึ่งควรวางตำแหน่งสินค้าและบริการให้มีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพสูงกว่าสินค้าจากมาเลเซียเล็กน้อย และระดับราคาต่ำกว่าสินค้าจากเกาหลีใต้ ผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรคำนึงว่าประชาชนกัมพูชายังมีรายได้ต่ำ จึงเลือกซื้อสินค้าจากราคาก่อนและจะพิจารณาที่คุณภาพสินค้าเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ชาวกัมพูชามักเลือกซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคและบริโภคที่ติดตลาดและใช้เป็นประจำอยู่แล้ว 
 
ประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ รวมถึงจีนและเวียดนาม โดยเวียดนามได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การโฆษณาเพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์สินค้าให้มีคุณภาพสูงเช่นเดียวกับสินค้าไทย แต่มีราคาต่ำกว่า ส่งผลให้สินค้าเวียดนามได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่สินค้าจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่าสินค้าไทยแต่มีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพต่ำกว่าสินค้าไทย จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มชาวกัมพูชาผู้มีรายได้น้อย 
 
ลาว ลักษณะเด่น คือ 
  1. แม้ว่าเศรษฐกิจลาวมีขนาดเล็กที่สุดในอาเซียน แต่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดในอาเซียนหรือเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปีในช่วงปี 2550-2552 โดยคาดว่าเศรษฐกิจลาวในปี 2552 จะขยายตัวราวร้อยละ 7.9 สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกรองจากจีน
  2. การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างอุตสาหกรรมพลังงาน เหมืองแร่ และการท่องเที่ยว จะช่วยให้ลาวมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น
  3. สินค้าไทยได้รับความนิยมในตลาดลาวอย่างมากและมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคือ ราวร้อยละ 49 ของการนำเข้าทั้งหมดของลาว
  4. ลาวมีภาษา สังคมและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยมาก 
สินค้าไทยที่มีศักยภาพสูงในลาว ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผ้าและผิวกาย สินค้าเพื่อสุขภาพ ความงาม เครื่องประดับที่เน้นการออกแบบ ยากันยุง เป็นต้น เครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ เครื่องพรวนดินและกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก เครื่องจักรแปรรูปสินค้าการเกษตร สินค้าในธุรกิจก่อสร้าง สินค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะล้อแม็กซ์ ฟิล์มกรองแสง GPS เครื่องเสียง และอะไหล่สำหรับซ่อมแซม และกลุ่มสินค้าสำหรับบริการสุขภาพและความงาม เช่น เวชสำอางค์ อุปกรณ์ทำสีผม น้ำมันหอมระเหย 


 
กลยุทธ์การทำตลาด สื่อไทยมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคลาวค่อนข้างมากและผู้บริโภคชาวลาวมีความภักดีต่อตราสินค้าสูง  เพราะคนลาวนิยมดูโทรทัศน์ไทยมากกว่าโทรทัศน์ของลาว ดังนั้นคนลาวจึงรับรู้สินค้าทุกตัวที่โฆษณาในโทรทัศน์ของไทย อาทิเช่น หากแชมพูในเมืองไทยยี่ห้อหนึ่งได้รับความนิยมสูง สินค้ายี่ห้อนั้นจะเป็นที่ต้องการของชาวลาวในทันที ดังนั้นการทำตลาดสินค้าที่นี่ จึงควรอิงกับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ที่ประเทศไทย สำหรับบริษัทที่เข้ามาตั้งสำนักงานในลาว ควรมีทีมทำการตลาดที่ดูแลตลาดสปป.ลาว ทั้งนี้พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลาวจะซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นต้องใช้ โดยมักจะซื้อสินค้าครั้งละไม่มากนักและไม่เน้นสินค้าขนาดใหญ่ ช่องทางเจาะตลาดลาว มีทั้งการส่งออกและการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น
 
ประเทศคู่แข่งที่สำคัญคือ แม้ว่าสินค้าไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ตามเวียดนาม (ร้อยละ 18) จีน (ร้อยละ12.1) และเกาหลีใต้(ร้อยละ 6.3) แต่สินค้าไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากจีนอย่างรุนแรง เพราะปัจจุบันจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของลาวและมีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยทางตอนเหนือของลาวเป็นจำนวนมาก
 
พม่า ลักษณะเด่น คือ 
  1. พม่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทย มีจำนวนประชากรถึง 58 ล้านคน
  2. พม่ามีรายได้จากการจำหน่ายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ทั้งอัญมณี ป่าไม้ ประมง ดีบุก ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน
  3. พม่าความต้องการนำเข้าสินค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค
  4. การคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้พม่าต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศใกล้เคียงมากขึ้น  
  5. สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่เป็นที่นิยมในตลาดพม่ามากกว่าสินค้าจากประเทศจีน เนื่องจากชาวพม่ามีความคุ้นเคยในสินค้าไทยมานาน รวมทั้งสินค้ามีคุณภาพในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน
  6. ชาวพม่าชื่นชอบและนิยมใช้สินค้าไทย และมีค่านิยมการบริโถคสินค้าที่ยึดติดกับตราสินค้าโดยเฉพาะตราสินค้าไทยที่ชาวพม่าเชื่อมั่นว่ามีคุณภาพดี จึงพบเห็นสินค้าไทยหลากหลายชนิดและเป็นจำนวนมากวางจำหน่ายในตลาดพม่า
  7. การรับสื่อจากประเทศไทยจึงทำให้ชาวพม่ารู้จักสินค้าไทยหลากหลายชนิดและเกิดพฤติกรรมเลียนแบบด้านแฟชั่น
  8. พม่ามีสภาพสังคม วิถีชีวิต ความเชื่อ ประเพณีคล้ายคลึงกับไทย ซึ่งเป็นจุดร่วมสำคัญสำหรับโอกาสสินค้าไทยในตลาดพม่า
ทั้งนี้สินค้า/บริการของไทยที่มีศักยภาพสูงจำแนกตามพื้นที่ได้ ดังนี้




กลยุทธ์การทำตลาด 
  1. ผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรเข้าสำรวจตลาดเพื่อพฤติกรรมผู้บริโภคของชาวพม่าทั้งในห้างสรรพสินค้าและ ตามร้านค้าทั่วไป รวมถึงประเมินขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการเทียบกับคู่แข่ง
  2. คู่ค้าท้องถิ่นหรือผู้นำเข้า เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการเจาะตลาดพม่า วิธีหนึ่งคือ การหาข้อมูลนักธุรกิจท้องถิ่น จากสำนักงานทูตพาณิชย์ในประเทศพม่า ที่มีข้อมูลและให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยสืบหาข้อมูลของบริษัทท้องถิ่นที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าสู่ตลาดพม่าได้โดยการการส่งออกและการเปิดธุรกิจแฟรนไชส์
ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดพม่า ได้แก่ ประเทศ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 6 ของพม่า
 
เวียดนาม จุดเด่น คือ 
  1. เวียดนามเป็นทั้งแหล่งผลิตที่สำคัญของภูมิภาคโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตต้นทุนต่ำ
  2. เวียดนามเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงของไทยในอาเซียน เพราะมีประชากรจำนวนมากและมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551-2552 สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากลาว
  3.  เมืองสำคัญหลายแห่งของเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็ว
  4. ในภาพรวมแล้ว เวียดนามยังถือว่าเปิดตลาดให้กับสินค้าต่างชาติไม่มากนัก แต่สินค้าและบริการไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก AFTA และ FTA ภายใต้กรอบอาเซียนอื่นๆ ในการเจาะตลาดเวียดนามได้
  5. คนเวียดนามมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทยและเชื่อว่าสินค้าไทยเหมาะกับตนเองมากกว่าสินค้าจากประเทศแถบตะวันตก
เมืองที่มีศักยภาพทางการค้า ได้แก่ นครโฮจิมินห์ เมืองฮานอย เมืองดานัง นครไฮฟอง นครเกิ่นเธอ ส่วนสินค้า/บริการที่ไทยมีศักยภาพสูงในตลาดเวียดนาม ได้แก่
 
สินค้า
  • สินค้ากลุ่มรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน อาทิ อะไหล่ทดแทน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถจักรยานยนต์ หมวกกันน็อค อุปกรณ์เสริมสำหรับรถจักรยานยนต์
  • วัสดุก่อสร้างควรเน้นสินค้าที่มีคุณภาพและมีความแตกต่าง
  • สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่กำลังมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว
บริการ
  • บริการดูแลรักษารถจักรยานยนต์และอู่ซ่อมรถจักรยานยนต์แบบครบวงจร
  • บริการก่อสร้างทั้งที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการก่องสร้างสาธารณูปโภค
  • ธุรกิจท่องเที่ยวแบบ Inbound Tourism และธุรกิจต่อเนื่อง เช่น สปา ภัตตาคาร
ซึ่งสินค้าส่งออกไทยมีศักยภาพสูงแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ดังนี้


 
พฤติกรรมผู้บริโภค
  1. ชาวเวียดนามมีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าแตกต่างกันไปตามภูมิภาคโดย ชาวเวียดนามทางตอนใต้ ที่มีนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้า เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูงและเปิดรับสินค้าจากต่างชาติได้ง่าย ส่วนชาวเวียดนามทางเหนือ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเมืองทางใต้ ผู้บริโภคมีลักษณะอนุรักษ์นิยม ค่อนข้างประหยัดและชอบใช้สินค้าที่มีความคงทน
  2. ผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรวางภาพลักษณ์เป็นสินค้าคุณภาพสูงเหมาะสำหรับตลาดที่มีกำลังซื้อปานกลางขึ้นไป อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการบริโภคของชาวเวียดนามมีลักษณะคล้ายคลึงกับตะวันตกมากขึ้น ประกอบกับคนเวียดนามมีความอ่อนไหวต่อตราสินค้าสูงโดยเฉพาะตราสินค้าจากต่างชาติ จึงมีแนวโน้มว่า สินค้าไทยอาจจะเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศตะวันตกมากขึ้น
  3. คนเวียดนามจะจดจำรูปแบบภายนอกของสินค้า เช่น สี รูปร่าง ตัวหนังสือ เพราะฉะนั้นการทำตามอย่างผู้นำตลาดจะมีโอกาสเข้าตลาดและประสบความสำเร็จได้ง่าย
กลยุทธการทำตลาด การเข้าตลาดของสินค้าทุกประเภทในเวียดนาม ควรเริ่มต้นด้วยวิธีการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายโดยผ่านตัวแทนจำหน่ายที่มีใบอนุญาตเท่านั้น โดยผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปติดต่อกับนักธุรกิจเวียดนามหรือผู้นำเข้าด้วยตัวเอง ควรหลีกเลี่ยงการติดต่อทางโทรศัพท์หรือโทรสารเพราะมักไม่ได้ผล
 
การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการติดต่อผู้นำเข้าท้องถิ่น เนื่องจากขณะนี้กฎหมายเวียดนามยังไม่อนุญาตให้สำนักงานตัวแทนทำการซื้อขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคได้ แต่สามารถทำแผนการตลาดในการโปรโมทสินค้าได้ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงทั้งค่าเช่าสถานที่ทำงาน เงินเดือน ค่าน้ำค่าไฟล์
 
ผู้ประกอบการ SMEs ไทยควรจดทะเบียนสินค้าทันทีที่สินค้าเข้ามาในตลาดเวียดนาม เพราะสินค้าที่ประสบความสำเร็จในเวียดนามมักถูกปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบอย่างรวดเร็ว
 
เมื่อสินค้าเข้ามาในตลาดเวียดนามแล้วผู้ส่งออกไทยควรจะร่วมมือกับผู้นำเข้าในการขยายตลาด เพราะเวียดนามเพิ่งเปิดประเทศ ผู้ประกอบการยังขาดความชำนาญในด้านการกระจายสินค้า สินค้าไทยที่ประสบผลสำเร็จในเวียดนามและสามารถขายได้ทั่วประเทศนั้นเกิดจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะร่วมมือกันดำเนินการขยายตลาดทั้งสิ้น โดยควรเข้าร่วมงาน Thailand Outlet ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั้งในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์

อ้างอิงจาก KSMECare
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,811
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,441
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
743
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
662
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
581
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
517
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด