บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การบริหารจัดการองค์กร    สร้างความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน
3.7K
3 นาที
20 พฤศจิกายน 2556
8 วิธีบริหารให้ผ่านภาวะวิกฤติ

ท่ามกลางช่วงเวลายากลำบาก ไม่ว่าจะเกิดจากพิษภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือภัยธรรมชาติก็ตาม หลายครั้งเราเผลอมุ่งมองที่ปัญหามากเกินไปจนละเลยอีกหลายชีวิตที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ให้ความสำคัญกับมันน้อยลง พนักงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเราอยู่เสมอและยิ่งสำคัญมากขึ้นอีกในช่วงเวลาอย่างนี้

การกลับไปให้ความสำคัญกับความห่วงใย ความเข้าใจ รวมทั้งการแชร์เป้าหมายเพื่อขอความช่วยเหลือเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน เป็นทั้งโอกาสสร้างความสัมพันธ์ ให้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ไปจนถึงเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานให้กลับมารู้สึกผูกพันรักใคร่องค์กรได้อีกครั้ง
 
8 มุมมองต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ที่เราได้รับการบอกเล่าจากเจ้าของกิจการที่น่าทึ่ง ซึ่งสามารถนำพาลูกทีมของเขาฝ่ามรสุมความยากลำบากมาได้แบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ได้ในที่สุด เราอาจไม่ต้องใช้ทุกวิธี แต่เราเชื่อว่าคุณจะทราบได้ทันทีว่าวิธีไหนที่คราวหน้าคุณน่าจะได้ลองใช้
 
1. ลองเปิดรับความคิดใหม่ ๆ
 
ปกติเราพึ่งผู้เชี่ยวชาญเมื่อเกิดปัญหา แต่ในบางช่วงเวลาที่เราอาจเริ่มต้นอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอันมากนักเช่นนี้ เราอาจลองมองย้อนกลับเข้ามาดูในทีมของเราเอง และลองหาไอเดียใหม่ๆ จากทรัพยากรที่เรามีอยู่ พนักงานใหม่ๆ ที่อายุงานยังน้อยหรือเด็กรุ่นใหม่อาจมีแนวความคิดที่นอกกรอบมากกว่าเราซึ่งอาจถูกจำกัดโดยวิสัยทัศน์ที่ตั้งเอาไว้นานแสนนานมาแล้วก็เป็นได้ และแน่นอน การรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้แม้จะใช่บ้างไม่ใช่บ้างก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหายอะไรขอแค่อย่าเพิ่งคาดเดาไปเองว่าคุณอาจไม่ได้อะไรเลยจากการรับฟังครั้งนี้

ลองเริ่มจากพนักงานอายุน้อยสุดในทีม แต่หากคนอายุน้อยสุดเป็นหัวหน้างานอยู่แล้ว คุณอาจเสนอให้เขาระดมความเห็นจากผู้ใหญ่หรือเพื่อนร่วมทีมแทน คราวนี้ไม่ใช่แค่ตัวคุณเองที่จะได้รับไอเดียใหม่ๆ บางทีน้องใหม่ไฟแรงเองก็อาจได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไปพร้อมกับเราด้วย
 
2. ถ้าจะต้องเจ็บ ให้ครั้งเดียวจบ
 
เราต่างรู้ดีว่าการจะลงมือปลดพนักงานสักครั้งหนึ่งเป็นเรื่องใหญ่และยากมากเหลือเกิน แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ ขอแนะนำให้คุณตัดสินใจอย่างรอบคอบ และปลดตามจำนวนที่จำเป็นให้ได้ภายในการลงมือครั้งเดียวเท่านั้น นั่นเพราะหากคุณยั้งใจไว้และปลดพนักงานในครั้งแรกน้อยเกินไปจนต้องทำการปลดรอบสอง เรื่องนี้จะทำลายขวัญและกำลังใจในการทำงานของพนักงานที่เหลืออย่างรุนแรง แทนที่จะมีแรงบันดาลใจในการทำงาน พนักงานจะมานั่งกังวลใจตลอดเวลาว่าตัวเองอาจเป็นคิวถัดไปแทน เป็นรอยร้าวที่จะส่งผลไปอีกนานกว่าทุกอย่างจะกลับมาทรงตัวเหมือนเดิม

ดังนั้นไม่ว่าใจคุณห่วงเรื่องการค่าใช้จ่ายหรือจะหวงห่วงใยพนักงานมากกว่า สำหรับเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเดียวที่เราอยากแนะนำว่า คุณควรตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลตามความเป็นจริง เพราะนั่นไม่ได้ดีกับเฉพาะบริษัทเอง แต่ดีกับพนักงานที่เหลืออยู่ทั้งหมดด้วย
 
3. ลดความกดดัน
 
เจ้าของกิจการหลายรายกดดันพนักงานขายมากเป็นพิเศษในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำด้วยหวังจะให้ได้ยอดขายที่สูงมากขึ้น แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีเลย เพราะจะทำให้พนักงานเครียดมากขึ้นและบรรยากาศในบริษัทแย่ลงเสียเปล่าๆ คุณอาจต้องชั่งใจว่าถ้ามันดูแล้วเข้าท่ากว่า คุณอาจให้พนักงานขายมีวันหยุดพิเศษเพิ่มในช่วงนั้นแทน อย่างน้อยก็ลดความเครียดของฝ่ายขายลงไปก่อนในช่วงที่ตลาดเองก็ไม่ตอบสนองจะซื้ออะไรเลยเหมือนกัน บางทีถ้าเราวางแผนการหยุดเหล่านี้ไว้อย่างรัดกุม และเตรียมแผนดีดตัวขึ้นหลังจากตอนนี้

นอกจากตลาดจะพร้อมซื้อแล้ว พนักงานขายของคุณเองก็อยู่ในสภาพพร้อมทำงานไปด้วยแล้วเช่นกัน (ในอเมริกามีหลายบริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานขายลาพักร้อนติดต่อกันหลายวันเพื่อหวังผลลักษณะนี้แม้ในสภาวะปกติ) พนักงานขายอารมณ์ดี ให้ประโยชน์ได้มากกว่าแค่ยอดขายพุ่ง ข้อนี้เราทุกคนทราบดี ก็ใครจะอยากมาซื้อของกับคนหน้าหงิกเง้าเคล้าความเครียดอยู่ตลอดเวลาล่ะ
 
4. เพิ่มบรรยากาศ
 
เมื่ออยู่ในช่วงวิกฤติหนักหนาสาหัส ประชุมทั้งใหญ่และย่อย ยิ่งเกิดถี่เท่าไร ยิ่งทำคะแนนหดหู่ใจให้มากขึ้นเท่านั้น การสร้างความแปลกใหม่หรือเซอร์ไพรส์อย่างง่ายๆ บ้างครั้งก็เป็นการขับไล่ความอึดอัดไปได้ไม่เลวเหมือนกัน คุณอาจทดลองด้วยตอนท้ายการประชุมใหญ่ที่มีคุณเป็นหัวหน้าสักครั้งหนึ่ง คุณเผื่อเวลาไว้สัก 10 นาทีสุดท้าย และขอให้หัวหน้างานแต่ละคนเลือกกล่าวชมเชยพนักงานในแผนกสักคนอย่างสั้นๆ ถึงความตั้งใจทำงานของเขาในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากจะลดความน่าเบื่อและความเครียดของเนื้อหาการประชุมได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความกระตือรืนร้นอีกด้วย แถมพนักงานยังได้รับความรู้สึกว่าเป็นคนสำคัญและมีคุณค่ามากขึ้นแม้จะเป็นแค่ชั่วเสี้ยวนาที อาจดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่มันมีคุณค่าเหลือเชื่อสำหรับช่วงเวลาที่ทุกคนในบริษัทเองก็อยากรู้สึกอย่างนี้บ้างไม่ใช่หรือ
 
5. ส่งแนวหลังไปดูงานแนวหน้า
 
หากบริษัทมีฝ่ายออกแบบและผลิตสินค้าหรือบริการ เวลาแบบนี้เราอาจลองให้พนักงานฝ่ายนี้ออกไปขายสินค้าหรือพบปะกับลูกค้าดูบ้างก็ได้ (เพื่อความมั่นใจ ก็ส่งไปดูตลาดกับพนักงานขายด้วยเสียเลย) พวกเขาจะได้เห็นกับตาว่าผู้บริโภคตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลใด ให้ได้เห็นกระแสตอบรับ ความคิดเห็น ความต้องการแท้จริงของลูกค้าด้วยตนเอง และบางทีพวกเขาอาจได้ไอเดียและแรงบันดาลใจใหม่ๆ ติดกลับมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่กำลังทำอยู่ด้วยก็เป็นได้
 
6. เก็บตัวฝึกวิชา
 
“วิธีลดค่าใช้จ่ายที่ง่ายสุดคือตัดงบการฝึกอบรม” แต่นั่นเป็นการกระทำที่ผิดพลาดมากทีเดียว อย่าให้ความคิดแรกนั้นทำให้คุณลืมไปว่าการฝึกอบรมต่างๆ เป็นเรื่องแรกในลิสต์ของสิ่งที่ไม่สำคัญ ตรงกันข้าม ในช่วงเวลาที่แต่ละแผนกดูเหมือนจะสร้างผลงานใดๆ ได้ยากเต็มที นี่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้เวลากับทีม เติมอะไรใหม่ๆ เข้ามาเตรียมไว้เพื่อรอจังหวะเศรษฐกิจดีดตัวขึ้นอีกครั้งหรือเปล่า

อย่างน้อยที่สุด ถ้าคุณมองเห็นแล้วว่าจำเป็นจะต้องตัดทอนงบนี้จริงๆ ก็อาจจะขอภาพรวมทุกแผนกก่อนว่ามีแผนในด้านนี้เตรียมอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ หรือถ้าจะจัดสรรในช่วงนี้เลย การคัดเลือกกำลังพลลงตัวอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงตัดส่วนที่ไม่ใช้ออกตามที่จำเป็น
 
7. เปิดใจ แล้วไปด้วยกัน
 
เรื่องต่อไปนี้หาอาจฟังดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่การเปิดเผยสถานการณ์ทางการเงินแก่พนักงาน (ในระดับที่แชร์ได้) เป็นเรื่องที่บางครั้งก็สร้างกำลังใจได้เหมือนกัน หากบริษัทมีแผนที่แน่นอนในการจะเอาตัวรอดจากเวลายากลำบากนี้ไว้แล้ว และถึงแม้ว่าสิ่งที่เรากำลังนำเสนอจะเป็นงบขาดดุลก็ตาม หากยังพอทำให้เรามองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่ทุกคนจะวิ่งไปถึงได้ละก็ นี่อาจกลายเป็นเรื่องสร้างแรงบันดาลใจชั้นยอด สิ่งที่คุณต้องทำหลังจากบอกว่าเราจะไปถึงตรงนั้นด้วยกัน ก็คือการบอกให้ทุกๆ คนรู้ว่าเราจะไปทางไหน แต่ละคนมีบทบาทอย่างไร และเขาเหล่านั้นอาจต้องเผชิญเรื่องใดบ้าง บรรดาพนักงานเองจะเริ่มพูดถึงการจัดการกับความรับผิดชอบต่างๆ ในมือของเขาเอง แต่ละแผนกอาจเริ่มคำนวนค่าใช้จ่ายที่ต้องปรับปรุงใหม่ไว้ในใจตามที่จำเป็นต่อการทำงานนั้น เมื่อเขารู้ว่าแล้วว่าจะสามารถทำให้บริษัทลุกขึ้นได้อย่างเต็มภาคภูมิอีกครั้งได้อย่างไร

แน่นอน พวกเขารู้แล้วว่าจะต้องผจญความลำบากขนาดไหน แต่หากเขารู้ว่าผู้นำมีแผนการที่รอบคอบและให้คำมั่นว่าจะผ่านมันไปด้วยกันได้แล้ว ด้วยทีมงานที่ประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วนี้ จากสถานการณ์ที่น่าอึดอัดกับความไม่แน่นอนต่างๆ จะพลิกผันกลายเป็นพลังได้อย่างไม่น่าเชื่อ และคุณเองอาจต้องตื่นเต้นกับพลังของทีมอย่างที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อนเลยก็เป็นได้
 
8. กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ
 
ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ การดูแลใส่ใจพนักงานเป็นสิ่งที่แทบจะไม่มีใครนึกถึง ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นมาก มันคือช่วงที่บริษัทควรเพิ่มความใส่ใจและดูแลพนักงานมากเป็นพิเศษ ความจริงแล้วการสร้างขวัญและกำลังใจทำได้โดยใช้งบประมาณน้อยนิด ลองมองหาวิธีที่เหมาะสมกับนโยบายของบริษัท เช่น การพาไปทริปสถานที่ใกล้ๆ จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ภายในแบบที่ไม่ต้องใช้งบจำนวนมาก หรือแม้แต่การจัดสรรเงินช่วยเหลือในสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างๆ อย่างเงินช่วยเหลือพนักงานที่ประสบภัย หรือวันหยุดพักผ่อนร่วมกันของทั้งทีม (ถ้าทำได้) ฯลฯ

เพราะสิ่งต่างๆ ที่คุณทำให้พนักงานเหล่านี้ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน มันแสดงถึงความใจใส่ ทำให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานและอาจให้ผลกลับมาเป็นความรักแก่บริษัทได้เหมือนกัน และแน่นอนว่าบรรยากาศดีๆ เหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อไปถึงลูกค้าของเราอย่างแน่นอน
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,790
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,395
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
700
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
634
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
560
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
489
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด