บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    การหาตลาดใหม่ และขยายธุรกิจ
5.9K
3 นาที
3 พฤษภาคม 2557
เปิด 6 เทรนด์ฮิตปี 2020 SMEs สนใจ“รอด”- จุดติด“รวย”

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งปัจจัยภายในประเทศ และต่างประเทศ ไม่ว่าจะด้านการเมือง เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กฎกติกาใหม่การค้าโลก สภาพสังคม ภัยธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ล้วนแต่รุมให้เอสเอ็มอีไทยต้องพยายามปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้! 
       
จากปัจจัยเสี่ยงสารพัดดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ismed) ซึ่งมีภารกิจในการเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันให้เอสเอ็มอีไทย ได้วางยุทธศาสตร์ ปลุกให้เอสเอ็มอีไทย หันมาสนใจสร้างความพร้อมและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากกระแสโลกแห่งอนาคต ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ประมาณปี ค.ศ.2020 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เอสเอ็มอีไทยอยู่รอด แถมยังเปิดโอกาสสู่ความสำเร็จ 
 
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ismed) กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูล ตลอดจนรวบรวมความคิดและมุมมองจากนักวิชาการ นักธุรกิจระดับประเทศในหลากหลายสาขา แล้วนำมาสังเคราะห์ สรุปเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นใน ปี ค.ศ.2020 (Future Foresight 2020: Unmeil SMEs in Mega Trends) มีแนวโน้มสำคัญ 6 ประการ ได้แก่
 
1.แนวโน้มการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมือง (Urbanization) 

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติคาดว่า ในปี ค.ศ.2020 ประชากรโลกทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นจาก 50% ในปัจจุบันไปเป็น 60% ส่วนในประเทศไทย แนวโน้มการใช้ชีวิตแบบเมืองเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล มุ่งสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ นำไปสู่การขยายตัวของความเป็นเมืองใหญ่ทั้งในหัวเมืองและท้องถิ่นต่างๆ

โดยมีปัจจัยต่างๆ ของการเติบโตที่มาจากการเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยรูปแบบการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมืองนี้ส่วนใหญ่เน้นการอุปโภคบริโภคที่มีลักษณะเฉพาะ ดังนั้น หากเราแกะรอยได้และหากลยุทธ์ได้ถูกช่องทางก็มีโอกาสสร้างธุรกิจได้มากมาย เช่น ธุรกิจเพื่อผู้พักอาศัยคอนโดมิเนียม ธุรกิจที่เปิดตามแนวรถไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูปสำหรับคนเมือง เป็นต้น
 
2. เศรษฐกิจสีเขียว (Greening Economy) 

ด้วยภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติต่างๆ ที่หนักหนาขึ้นทุกวันๆ ได้จุดกระแส Green สร้างความตระหนักแก่ทุกฝ่าย จนกลายเป็นความจำเป็นของการดำเนินธุรกิจ ที่เริ่มมีภาคบังคับข้อกำหนด กฎหมายต่างๆ ที่ออกมาบังคับให้ธุรกิจต้องใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการค้าภายในประเทศและค้าต่างประเทศ ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักอยากช่วยโลก เหล่านี้เป็นกระแสสิ่งแวดล้อมที่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากขึ้นทุกวัน
       
สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีหากสามารถโยงตัวเองเข้ามาอยู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ก็จะเกิดผลเชิงบวกทั้งธุรกิจ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และยังช่วยสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้
 
3. การเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society)

จากผลสำรวจล่าสุดของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง Aging Society ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนอายุ 48-57 ปี ในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดย 30% มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3-6 หมื่นบาท และอีก 30กว่า% มีรายได้ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาท
 
จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง มีความสามารถในการใช้เงินและมีอัตราการออมและลงทุนสูงถึง 25% ของรายได้ ขณะที่ไลฟ์สไตล์ของอนาคตผู้สูงวัยกลุ่มนี้กลายเป็นตัวชี้นำความต้องการใหม่ๆของกลุ่มผู้บริโภคที่มีจำนวนและอำนาจการซื้อไม่ต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่น แนวโน้มตลาดสินค้าและบริการที่จะมารองรับคนกลุ่มนี้จึงเป็นตลาดใหญ่โตมหาศาล เช่น ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ บริการสันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ สปาสุขภาพ เป็นต้น
 
4. พลังผู้หญิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (She-economy )

ปัจจุบัน ผู้หญิงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น พิจารณาได้จากดัชนีวัดโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิง (Women’s Economic Opportunity Index) โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) รายงานการจัดอันดับในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ว่า 5 ประเทศอันดับแรก ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ เบลเยี่ยม และออสเตรเลีย ส่วนไทยจัดอยู่ในอันดับ 47 ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีมากในอาเซียนเป็นรองเพียงสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 31
 
ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่า มีหลายปัจจัยสนับสนุนว่า ผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะมีสัดส่วนการมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ผู้หญิงมีบทบาททำงานนอกบ้าน การผ่านกฎหมายความเท่าเทียมในเรื่องเพศ อัตราผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเป็นอันดับที่สามของโลก ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลการเงินภายในครอบครัว เป็นต้น เหล่านี้หากเราถอดรหัสมาสู่การเชื่อมโยงกับโอกาสทางธุรกิจยังมีช่องทางธุรกิจอยู่อีกมาก เช่น สินค้าเกี่ยวกับแฟชั่นเพื่อสาวทำงาน แผนโปรโมชั่นจูงใจ ลดแลก สะสมแต้ม รวมถึง สินค้าสุขภาพที่แม่บ้านจะคัดสรรให้สมาชิกครอบครัว เป็นต้น
 
5. ระบบขนส่งความเร็วสูงและโลจิสติกส์ (Hi-Speed & Coverage Logistics)

เมื่อเราพูดถึงโลจิสติกส์แน่นอน หมายถึง ต้นทุนค่าจัดการขนส่งจากต้นทางสู่ปลายทาง ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 31 ได้คะแนน 3.31 จาก 5 คะแนนเต็ม ในขณะที่สิงคโปร์เป็นลำดับ 1 คะแนน 4.49 ลำดับ สะท้อนให้เห็น ความน่าดึงดูดในการลงทุน ต้นทุนทางธุรกิจ ความได้เปรียบและเสียเปรียบในการแข่งขันระดับธุรกิจ และระดับประเทศ
 
และตามที่รัฐได้มีนโยบายขยายโครงข่าย ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำที่จะสามารถเข้าถึง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงนับเป็นแพลตฟอร์มที่เอสเอ็มอีไทยน่าจะเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยการเข้าไปสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ และเห็นถึงโอกาสธุรกิจใหม่ ใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งที่ทันสมัย การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้าด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง
 
6. ชีวิตในโลกแห่งดิจิตอล (Digital Lifestyle)

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน ด้วยความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตที่มีส่งผลให้เกิดการขยายตลาดของ “สมาร์ทโฟน” และ “แท็บเล็ต” ให้มีการสามารถใช้งานทดแทนคอมพิวเตอร์ ก่อให้เกิดสังคมออนไลน์ที่แทรกซึมเข้าสู่วิถีชีวิตของคนทั่วโลก ในขณะที่ ผู้ประกอบการก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ เทคโนโลยีทางด้านออนไลน์เข้ามามีบทบาทเกี่ยวพันกับวิถีการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ Facebook ในไทยมียอดลงทะเบียนถึง 24 ล้านชื่อ โดยกลุ่มใหญ่สุดเป็นกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษาเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 18 - 24 ปี ตามด้วยกลุ่มคนทำงานอายุ 25-34 ปี และวัย 13-17 ปี
 
จากการเติบโตของสังคมออนไลน์ ทำให้นักการตลาดสมัยใหม่หันมาให้ความสนใจ และนิยมจะใช้สื่อโฆษณาผ่าน Digital Marketing เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงควรคำนึงถึงการใช้สื่อดิจิตอลเพื่อโอกาสธุรกิจ
 
ผู้อำนวยการ ISMED กล่าวด้วยว่า สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนมาก ต่างวางแผนเตรียมพร้อมรับรองและเตรียมคว้าโอกาสจากเทรนด์ของโลกที่จะขึ้นเป็นอย่างดีแล้ว แต่สำหรับธุรกิจระดับเอสเอ็มอี ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ลำพังแค่ประคองธุรกิจของตัวเองให้อยู่รอดท่ามกลางปัญหาต่างๆสารพัด ก็นับเป็นเรื่องยากลำบาก
       
อย่างไรก็ตาม อยากจะวอนให้ใส่ใจเตรียมพร้อมรับเทรนด์ของโลกในอนาคตด้วย เพราะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน หากเอสเอ็มอีให้ความสนใจและใช้ประโยชน์จากเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นได้ จะช่วยลดความเสี่ยง เสริมศักยภาพให้ธุรกิจอยู่รอดได้ แถมยังอาจเป็นโอกาสต่อยอดให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างสูงได้ด้วย
       
“ผมเข้าใจดีถึงความยากลำบากของเอสเอ็มอี แต่อยากให้เอสเอ็มอีลองแบ่งกำลังส่วนหนึ่ง เพื่อมาเห็นประโยชน์ของการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งผมเชื่อว่า หากเอสเอ็มอีให้ความสนใจ ปรับตัวตาม 6 เทรนด์นี้ ธุรกิจของคุณจะอยู่ ‘รอด’ ได้ในอนาคต และหากในรายที่สามารถเกาะติดเทรนด์ได้ จนกลายเป็นผู้จุดกระแส ธุรกิจของคุณก็จะ‘รุ่ง’ เพราะคุณสามารถคว้าโอกาสได้ก่อน” ผอ.ISMED กล่าว
       
ทั้งนี้ ในบทบาทของ ISMED แล้ว จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่เทรนด์ธุรกิจในอนาคต โดยจะเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดต้นจนถึงปลายทาง โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านการกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เอสเอ็มอีทั้งหมด เห็นความสำคัญของการปรับตัวพร้อมรับเทรนด์ธุรกิจในอนาคต ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ทำโรดโชว์และเวิร์คชอปตามภูมิภาค เป็นต้น และ 2.ด้านการอบรม และพัฒนาเชิงลึก มีการเปิดหลักสูตรให้เอสเอ็มอีเข้ามาเรียนรู้การทำธุรกิจตามแนวโน้มโลกอนาคต โดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง
       
สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีเป้าหมายที่ทาง ISMED ต้องการเข้าไปพัฒนานั้น สุวรรณชัย ระบุว่า เน้นตั้งแต่คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ พยายามให้กลุ่มนี้ทำธุรกิจที่สอดรับธุรกิจในเทรนด์อนาคต ตลอดจน ผู้ประกอบการรายเดิม หรือผู้ประกอบการรุ่นเก่าที่อาจจะทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องให้เริ่มปรับรูปแบบมาให้สอดรับกับเทรนด์อนาคต เช่น ปรับกลยุทธ์การทำตลาดยุคใหม่ เพิ่มช่องทางขายผ่านออนไลน์ เป็นต้น

ผอ.ISMED กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า หากเอสเอ็มอีปรับตัวเข้ากับ 6 เทรนด์ดังกล่าวได้ เชื่อว่า ไม่ใช่เพียงแค่อยู่รอด แต่จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่เคย ซึ่ง ISMED วางเป้าหมายอยากเป็นผู้พัฒนาเอสเอ็มอี และคอยเฝ้าติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดส่งให้เอสเอ็มอีไปสู่ความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม

อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
711
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
528
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
446
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด