บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การบริหารจัดการองค์กร    บริหารทีมงาน พนักงาน
3.2K
2 นาที
11 เมษายน 2557
เคล็ด (ไม่) ลับ หาคนให้โดนใจสไตล์ SMEs


 
คงไม่มีผู้ประกอบการ SMEs คนใดปฏิเสธความสำคัญของการมีทีมงานที่ดี เพราะด้วยขนาดและลักษณะของกิจการขนาดย่อม การดำเนินกิจการมักอาศัยแรงขับเคลื่อนจากคนจำนวนไม่มาก แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบสูง สามารถใส่หมวกหลายใบได้ในบางครั้ง และที่สำคัญคือมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน 
 
องค์ประกอบเหล่านี้ที่ทำให้กิจการขนาดย่อมมีข้อได้เปรียบในเรื่องความรวดเร็วและคล่องตัวในการดำเนินงาน แต่ความได้เปรียบนี้ของธุรกิจ SMEs ก็จำเป็นต้องพึ่งพาบุคลากรภายในทีมมากเป็นพิเศษ 
 
“หาคนที่ใช่” ปัญหาโลกแตกของ SMEs ไทย
 
การเฟ้นหาบุคลากรแรงงานเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจ SMEs ไทยเสมอมา ไม่ว่าเป็นธุรกิจประเภทใด ที่ไหน หรือเมื่อไร โดยเฉพาะปัจจุบันที่พฤติกรรมและทัศนคติของคนทำงานรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ทั้งเรื่องการให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนมากกว่าการเรียนรู้พัฒนาฝีมือ หรือความอดทนต่อแรงกดดันที่น้อยลง ค่านิยมการเปลี่ยนงานซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น 
 
ในสัปดาห์นี้ผู้เขียนขอเสนอข้อคิดจากประสบการณ์สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเฟ้นและหาคัดกรอง “คนที่ใช่” หรือเพชรที่ยังไม่ได้รับการเจียระไนจากกองใบสมัครงานนับร้อยให้กลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น

เริ่มต้นง่ายๆ จากใบสมัคร
 
ถ้าธุรกิจของคุณเป็นรูปเป็นร่างและกำลังไปได้สวย เชื่อว่าในแต่ละเดือนต้องมีใบสมัครงานจำนวนมากมาให้คัดเลือกอย่างแน่นอน วิธีง่ายที่สุดในการกรองขั้นแรกคือ คัดใบสมัครที่ไม่สมบูรณ์ออก ทั้งใบสมัครที่กรอกไม่ครบ ตอบไม่ตรงคำถาม หรือเขียนผิดๆ ถูกๆ ก็รวมอยู่ในประเภทนี้ด้วยเช่นกัน
 
การกรอกใบสมัครงานให้ครบถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เปรียบเหมือนการสนทนาทำความรู้จักกันครั้งแรกระหว่างบริษัทกับผู้สมัคร รายละเอียดที่ครบถ้วนแสดงถึงความใส่ใจในรายละเอียด ความกระตือรือร้นอยากทำงาน และเป็นการให้เกียรติกับตนเองและผู้จ้าง
 
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพบว่า จำนวนคนที่กรอกหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเองผิดในใบสมัครงานมีจำนวนมากอย่างเหลือเชื่อ ที่ไม่กรอกข้อมูลให้สามารถติดต่อกลับได้เลยก็มี ถ้าแค่การกรอกใบสมัครงานให้สมบูรณ์ยังไม่ใส่ใจ ก็อย่าคาดหวังเลยว่าเขาจะใส่ใจกับงานที่ทำ


 
ผลการเรียน ใครว่าไม่สำคัญ?
 
แน่นอนว่าคนที่มีผลการเรียนดีอาจไม่ได้เป็นคนทำงานดีเสมอไป ในหลายครั้งเราให้ความสนใจกับประสบการณ์ทำงานมากกว่าการเรียน แต่ผลการเรียนก็สามารถบอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับตัวผู้สมัคร
 
การเรียนให้จบในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่เรียนจบด้วยผลการเรียนดีนั้นถ้าไม่ได้เป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาดก็มักเป็นคนขยัน วิชาที่ได้คะแนนสูงอาจบอกถึงพรสวรรค์และความสนใจของเขา กิจกรรมที่ทำในระหว่างเรียนบ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมและความสามารถในการทำงานเป็นทีม การเรียนจบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแสดงให้เห็นถึงความพยายามและมีวินัยในตนเอง
 
ผลการเรียนไม่ใช่ทุกอย่าง แต่มันอาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวของผู้สมัครกับเราได้โดยที่เราไม่ต้องเอ่ยถาม

มองหาคนที่เก่งกว่าคุณ
 
สตีฟ จ็อบส์ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์นั้น ได้เคยเสนอแนวคิดในการคัดเลือกบุคลากรไว้ว่า “ถ้าคุณเลือกผู้เล่นระดับ A มาร่วมทีม เขาก็จะมองหาผู้เล่นระดับ A หรือ A+ มาร่วมงานในโอกาสต่อไป แต่ถ้าเป็นผู้เล่นระดับ B เขาจะเลือกผู้เล่นระดับ C และผู้เล่นระดับ C ก็จะรับแต่ผู้เล่นระดับ D หรือต่ำกว่าเข้ามาในองค์กร จงมองหาทีมงานระดับ A เท่านั้น คนเก่งย่อมอยากทำงานกับคนที่เก่งกว่าเพื่อพัฒนาตนเอง” สิ่งที่จ็อบส์ได้กล่าวไว้นั้นแฝงด้วยแง่คิดดีๆ ซึ่งเจ้าของธุรกิจสามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรของตนได้ 
 
ในฐานะเจ้าของธุรกิจ ถ้าคุณต้องการจ้างใครสักคนเข้ามาร่วมงาน อย่างน้อยที่สุดเขาก็ต้องมีความสามารถในตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และจะยิ่งดีถ้าเขาสามารถพัฒนาความสามารถจนเป็นเลิศในด้านนั้นๆ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้แก่องค์กร

อย่าลืมเช็กที่ทำงานเก่า
 
หนึ่งในจุดบอดของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นจำนวนมากคือ เจ้าของกิจการต้องลงมือทำหลากหลายหน้าที่ด้วยตัวเอง รวมทั้งหน้าที่ของแผนกบุคคล เวลาที่จำกัดและงานที่ล้นมืออาจทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้ใส่ใจจะตรวจสอบที่ทำงานเก่าของผู้สมัครก่อนรับเข้าทำงาน การติดต่อสอบถามไปยังที่ทำงานเก่าสามารถให้ข้อมูลดีๆ ที่ไม่ได้กรอกบนใบสมัคร อาทิ ความเป็นมิตร พฤติกรรมการทำงาน ลักษณะนิสัย และความสามารถในการทำงานเป็นทีม โดยมากฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัทมักยินดีให้ข้อมูลและความร่วมมือที่ดีเสมอเมื่อได้รับการติดต่อ
 
ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะความที่สังคมไทยเป็นสังคมอะลุ่มอล่วย มีเมตตา ทำให้หลายบริษัทไม่ดำเนินคดีทางกฎหมายเมื่อพนักงานทำผิดร้ายแรง เช่น ทุจริต หรือฉ้อโกง ผู้กระทำผิดมักถูกลงโทษเพียงให้พ้นสภาพพนักงานเท่านั้น ซึ่งเขาย่อมไม่ระบุข้อมูลเหล่านี้ในใบสมัครงานอย่างแน่นอน การตรวจสอบประวัติการทำงานกับที่ทำงานเก่าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
 
 
 
เชื่อสัญชาตญาณตัวเอง
 
ไม่ว่าผลการพิจารณาจะเป็นเช่นไร ผู้เขียนขอแนะนำให้เชื่อในสัญชาตญาณตัวเองเป็นหลัก บางคนอาจมีความสามารถพร้อม ประวัติดี ทำงานเก่ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะทำงานเข้าขากับเรา
 
และจงอย่ารับคนที่คุณไม่ชอบหน้าเข้าทำงานโดยเด็ดขาด เพราะถ้าคุณต้องทำงานร่วมกับเขาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันอาจมีความเสี่ยงให้เกิดปัญหามากกว่าผลงาน เคมีที่เข้ากันได้จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้

อ้างอิงจาก  ไทยรัฐ
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
แค่ใส่ใจ ใช้ให้เป็น Data-Driven Marketing อาวุธล..
2,362
ผู้กำกับ งานหด...สู่ครีเอเตอร์ TikTok ปั้นคอนเทน..
2,200
เศรษฐกิจไร้สัญญาณฟื้น! ทุบธุรกิจไทย เจ๊งแล้ว เจ๊..
1,284
จ่ายเท่าไหร่ ถ้านำสินค้าเข้าไปขายใน 7-Eleven
1,008
ร้านอาหารไทย หมดแรง กำลังซื้อหด ต้นทุนสูง ปิดตัว..
999
พลิกโฉม! 5 เทคนิค ทำธุรกิจแนวญี่ปุ่น ไม่เคยบอกใคร
921
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด