บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
3.0K
3 นาที
29 พฤษภาคม 2562
ก้าวกระโดด! แฟรนไชส์กัมพูชาสุดฮิต มูลค่าสูงกว่า 30 ล้านเหรียญUS


ปัจจุบันธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์กำลังเป็นที่นิยมมากในกัมพูชา สะท้อนจากธุรกิจแฟรนไชส์ของต่างประเทศที่ต่างทยอยขยายธุรกิจเข้ามาในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบกับชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับการบริโภครูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดกัมพูชา ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของไทยในการเข้าไปทำตลาดในกัมพูชา


สอดคล้องกับคำพูดของ “คุณสาริท เชม Mr.Sarith Hem (Shem)” ประธาน-ผู้จัดตั้งสมาคมธุรกิจและแฟรนไชส์กัมพูชา ที่ให้สัมภาษณ์กับ www.ThaiFranchiseCenter.com ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมของตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศกัมพูชาในยุคปัจจุบันว่า ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 
 
ยุคเฟื่องฟูธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา


ภาพจาก bit.ly/2I6gaE3
 
เรียกได้ว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ เป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา มีทั้งนักลงทุนกัมพูชาลงทุนสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้นมาเอง รวมถึงการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์จากประเทศไทย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา 
 
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมในกัมพูชา มาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ และความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศ 
 
โดยเฉพาะแฟรนไชส์จากประเทศไทยได้มีการควบคุมคุณภาพ และให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวกัมพูชาในเขตเมือง ที่มีความคาดหวังในสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานเป็นอย่างดี 


ภาพจาก bit.ly/2EEYcYh
 
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคชาวกัมพูชาที่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยทำงานอายุไม่เกิน 35 ปี ที่มีจำนวนราวๆ กว่า 60-70% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ได้เปิดรับการบริโภครูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเยือนกัมพูชา ซึ่งมีจำนวนกว่า 5 ล้านคนต่อปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจนี้
 
เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และคุ้นเคยกับการให้บริการในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นอย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นโอกาส ที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยในการรุกตลาดกัมพูชา 
 
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศกัมพูชา ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย อาหารจานด่วน ปิ้งย่าง รวมถึงกาแฟ ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ในกัมพูชา เพราะชาวกัมพูชานิยมสังสรรค์ รวมทั้งนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น อีกทั้งการบริโภคอาหารของชาวกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับไทย


ภาพจาก bit.ly/2YUrLNb
 
โดยมูลค่าตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่เข้าไปเปิดตลาดในประเทศกัมพูชา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังไม่นับรวมธุรกิจแฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์ของกัมพูชาและประเทศอื่นๆ   
 
ขณะที่ธุรกิจที่เป็นแบรนด์แฟรนไชส์ของกัมพูชา ผู้ประกอบการก็ได้มีการวางแผนที่จะขยายสาขาไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน เช่น พม่า ไทย ลาว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเช่นเดียวกัน 
 
รูปแบบการขยายแฟรนไชส์ในกัมพูชา


ภาพจาก bit.ly/2YVdBeG
 
สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือขยายสาขาธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา ส่วนใหญ่จะนิยมลงทุนหรือขยายสาขาในรูปแบบ ให้นักลงทุนซื้อสิทธิแฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้ามาในกัมพูชา โดยนักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนต่างชาติและท้องถิ่นผสมผสานกัน ที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์หรือเคยทำธุรกิจในกัมพูชามาก่อน
 
ซึ่งวิธีการแบบนี้เจ้าของลิขสิทธิ์ สามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ได้ดีกว่าการขายสิทธิแฟรนไชส์ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยตรง อาทิ กลุ่ม RMA Group ที่จดทะเบียนในไทย ซึ่งรุกตลาดแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มในกัมพูชาผ่าน Express Food Group (EFG) โดยใช้รูปแบบการซื้อสิทธิแฟรนไชส์จากต่างประเทศ
 
อาทิ The Pizza Company (ไทย) Swensen’s (สหรัฐฯ) BBQChicken (เกาหลีใต้) Dairy Queen (สหรัฐฯ) และ Costa Coffee (สหราชอาณาจักร) เพื่อดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา


ภาพจาก bit.ly/2WsAIA2
 
ขณะที่ QSR Brands Bhd ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์อาหารจานด่วนรายใหญ่จากมาเลเซีย ใช้รูปแบบการร่วมทุนกับ Royal Group of Companies Ltd. (RGC) ของกัมพูชา และ Rightlink Corporation Ltd.(RCL) ของฮ่องกง เพื่อดำเนินกิจการแฟรนไชส์ KFC ในกัมพูชาภายใต้ Kampuchea Food Corporation เป็นต้น


ภาพจาก bit.ly/2I3Y31v
 
หรือแม้แต่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้มอบสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ (Master Franchise) ร้านกาแฟอินทนิลในประเทศกัมพูชา ให้แก่บริษัท อาร์ซีจี รีเทล (กัมพูชา) จำกัด ขยายสาขาในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดบริการร้านกาแฟอินทนิลในรูปแบบ แฟล็กชิพสโตร์ (Flagship Store) ณ กรุงพนมเปญ ไปเมื่อไตรมาสแรกของปี 2561 
 
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่ได้เข้าไปเปิดตลาดในกัมพูชาก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เป็น ธุรกิจอาหาร กาแฟ และธุรกิจความงาม โดยเฉพาะธุรกิจกาแฟกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวกัมพูชา เช่น กาแฟอเมซอน แบล็คแคนยอน อินทนิล และอื่นๆ  
 
แบรนด์แฟรนไชส์ “กาแฟไทย” แห่รุมทึ้งตลาดกัมพูชา

ภาพจาก facebook.com/CafeAmazonCambodia

ทราบกันดีว่าธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม (กาแฟ) ไทย ได้รับความนิยมในประเทศกัมพูชา ทำให้นักลงทุนกัมพูชาหลายรายลงทุนซื้อธุรกิจแฟรนไชส์จากไทย และสร้างแบรนด์ร้านกาแฟตัวเองขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ร้านกาแฟในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีร้านกาแฟทั่วกัมพูชาประมาณราวๆ 500 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงพนมเปญมากกว่า 300 แห่ง
 
สำหรับร้านกาแฟของไทยนั้น ได้รับความนิยมในกัมพูชาไม่แพ้ร้านกาแฟสัญชาติอื่น ปัจจุบันมีร้านกาแฟไทยไปดำเนินธุรกิจในกัมพูชาแล้วกว่า 10 แบรนด์ อาทิ Amazon, Coffee Today, Inthanin, ชาพะยอม, Arabitia, ชาตรามือ เป็นต้น โดยแต่ละแบรนด์มีกลยุทธ์ในการทำตลาดที่ต่างกันออกไป เช่น การขายแฟรนไชส์เต็มรูปแบบ หรือ ขายวัตถุดิบ เป็นต้น

ภาพจาก bit.ly/30N87o9

ร้านกาแฟแบรนด์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้านกาแฟในกัมพูชาเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 45% ของจำนวนร้านกาแฟทั้งหมดในกัมพูชา ส่วนแบรนด์ร้านกาแฟข้ามชาติในกัมพูชา Amazon ยังคงเป็นที่นิยมมากที่สุด ขยายสาขาได้แล้ว 104 สาขา โดยตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ 12 สาขา (ข้อมูล ณ ส.ค. 2561) และภายใน 5 ปี มีแผนจะขยายเพิ่มอีก 20 สาขา ส่วนอินทนิลมี 2 สาขา 


ภาพจาก facebook.com/ChaTraMue
 
ขณะที่ Costa Coffee ร้านกาแฟสัญชาติอังกฤษได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็วเป็น 7 สาขา ในกรุงพนมเปญ ในปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากจำนวนคู่แข่งธุรกิจร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้น และศึกษาด้านการตลาดในกัมพูชายังไม่ดีพอ จึงปรับลดเหลือเพียง 4 สาขา ในปัจจุบัน
 
บทบาทของสมาคมธุรกิจและแฟรนไชส์กัมพูชา


“คุณสาริท เชม Mr.Sarith Hem (Shem)” ประธาน-ผู้จัดตั้งสมาคมธุรกิจและแฟรนไชส์กัมพูชา กล่าวว่า บทบาทของสมาคมธุรกิจและแฟรนไชส์กัมพูชา ก็คือ การรวมรวมนักธุรกิจชาวกัมพูชา ที่ต้องลงทุนสร้างธุรกิจขึ้นมาให้เจริญเติบโต ขยายตลาดไปต่างประเทศ รวมกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วไป หรือธุรกิจแฟรนไชส์ 
 
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562 สมาคมธุรกิจและแฟรนไชส์กัมพูชา ได้จัดกิจกรรมนำนักลงทุนชาวกัมพูชาเดินทางมาจับคู่ธุรกิจแฟรนไชส์กับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA) ของไทย หรือ “Franchise Business Matching Thailand-Cambodia” ครั้งที่ 2 ณ ห้องม่วงมงคล ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งพานักลงทุนชาวกัมพูชาเยี่ยมชมธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย ณ สถานประกอบการด้วย


กิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติอย่างสูงจาก “นางลลิดา จิวะนันทประวัติ” รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวต้อนรับนักลงทุนกัมพูชาและผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทย โดยมี “คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์” นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ และคุณสาริท เชม Mr.Sarith Hem (Shem) ประธาน-ผู้จัดตั้งสมาคมธุรกิจและแฟรนไชส์ กัมพูชา กล่าวถึงความร่วมมือของสองฝ่าย 


คุณสาริท เชม ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า นักลงทุนชาวกัมพูชามีความต้องการที่จะซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ไทย โดยเฉพาะแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม (กาแฟ) เพราะมีความเชื่อมั่นเชื่อมั่นในแบรนด์แฟรนไชส์จากไทย อีกทั้งผู้บริโภคกัมพูชามีรสนิยมและการบริโภคคล้ายคลึงกับคนไทย จึงทำให้แฟรนไชส์ไทยที่จะเข้าไปเปิดในกัมพูชา มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
 
...นั่นจึงเป็นโอกาสทอง! ของผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทย โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม!

สำหรับใครที่อยากซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศ คลิกได้ที่ลิงค์ bit.ly/2X89RWS
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 

อ่านจดหมายข่าวบุคคลอื่นๆ www.thaifranchisecenter.com/newsletter/index.php

บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,811
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,441
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
743
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
657
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
579
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
515
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด