บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.5K
3 นาที
23 กันยายน 2562
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! Siam Amazing Park


Siam Amazing Park ชื่อนี้อาจฟังคุ้นๆหู แต่ถ้าเรียกว่า “สวนสยาม” เชื่อว่าทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ภาพจำของคนส่วนใหญ่รู้ว่า “สวนสยาม” คือ “ทะเลกรุงเทพฯ” ที่เป็นสวนสนุกที่ก่อตั้งมานานกว่า 39 ปี ถ้าใครอายุสัก 30-40 เชื่อว่าตอนเด็กๆที่โรงเรียนอาจจะเคยพาไปทัศนศึกษาที่สวนสยามกันมาแล้วด้วย
 
ซึ่ง “สวนสยาม” ก็ถือเป็นธุรกิจ “สวนสนุก” แห่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวให้ก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม แม้จะได้ชื่อว่า เป็นสวนสนุก แต่หลายครั้งที่คนลงทุน “ไม่สนุก” กว่า 39 ปีของ สวนสยามผ่านร้อนผ่านหนาว เกือบจะล้มละลายก็เคยมาแล้ว แต่ก็ยังสามารถยืนหยัดขึ้นมาได้
 
ธุรกิจสวนสยามก่อตั้งโดย ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัท สยาม พาร์คซิตี้ จำกัด และตามที่เราได้ทราบข่าวตอนนี้ “สวนสยาม” มีการปฏิวัติตัวเองครั้งใหญ่เปลี่ยนจาก “สวนสยาม” เป็น “Siam Amazing Park” ที่ www.ThaiFranchiseCenter.com เชื่อว่ามีเรื่องน่าสนใจที่ใครหลายคนต้องการรู้อีกมาก
 
1. รายได้ของสวนสยามก่อนรีแบรนด์


ภาพจาก bit.ly/2m9chqs
 
จากการเติบโตทางธุรกิจและการเกิดขึ้นของสวนน้ำและการพัฒนารูปแบบธุรกิจของแต่ละสวนน้ำที่ดึงดูดลูกค้ามากขึ้น “สวนสยาม” ก่อนที่จะตัดสินใจรีแบรนด์ รายได้หลักคือกลุ่มลูกค้าคนไทยกว่า 85% มีรายได้ในปี 2561 378.9 ล้านบาท และในส่วนของบริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด มีรายได้ 28.0 ล้านบาท เมื่อรวมรายได้ทั้ง 2 บริษัท สวนสยามมีรายได้หลายร้อยล้านบาท ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นสวนสนุกที่ทำรายได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยอย่างไรก็ตาม ด้วยการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น สวนสยามจึงตัดสินใจที่จะพัฒนาธุรกิจตัวเองด้วยการรีแบรนด์ใหม่
 
2. รีแบรนด์ครั้งใหญ่ของ “สวนสยาม”


ภาพจาก bit.ly/2mw3H5H
 
และถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในรอบ 39 ปีของสวนสยาม กับการตัดสินใจรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อจากสวนสยาม สู่ “Siam Amazing Park” พร้อมกับการประกาศเกษียณอายุของ ดร.ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ในวัย 81 ปี เพื่อส่งมอบการบริหารงานแก่ทายาททั้ง 3 ได้แก่ สิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ, วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ และจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ที่จะใช้วิสัยทัศน์ของนักบริหารรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ และพัฒนา “Siam Amazing Park” ให้เป็นยิ่งกว่าสวนสนุกที่ทุกคนเคยรู้จัก
 
3. ได้รับรางวัลระดับโลกที่น่าภาคภูมิใจ


ภาพจาก bit.ly/2kqKame
 
หนึ่งในความภาคภูมิใจของสวนสยามก่อนจะรีแบรนด์คือการได้รับรางวัล"ทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก" จากกินเนสส์ เวิลด์ เร็คคอร์ด ที่ร่วมกับสมาคมสวนน้ำโลก โดยรับรางวัลกันเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552 ที่สยามพาร์คซิตี้ สวนสยาม การได้รางวัลสถิติโลกเช่นนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยแต่ละสัปดาห์จะมีผู้เสนอเรื่องราวให้บันทึกสถิติโลกกว่า 1,000 รายการ
 
โดยทะเลกรุงเทพฯของสวนสยามมีขนาด 13,600 ตร.ม. รองรับผู้ใช้บริการได้พร้อมกัน 13,000 คน ส่วนเจ้าของสถิติทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกเดิมคือ ดีโน่ พาร์ค นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีขนาด 6,053 ตร.ม. รองลงมาคือ สวนน้ำดิสนีย์ เมืองออร์ลันโด ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ขนาด 4,220 ตร.ม
 
4. โครงสร้างการบริหารธุรกิจของ Siam Amazing Park


ภาพจาก bit.ly/2lTswry
 
ภาพรวมในการบริหารยังเป็น “ระบบครอบครัว” มี บริษัท สยาม พาร์ค ซิตี้ จำกัด เป็นโฮลดิ้งใหญ่ และมีบริษัทลูกก็คือ บริษัท สยาม พาร์ค บางกอก จำกัด ในการบริหารธุรกิจสวนน้ำ และสวนสนุก Siam Amazing Park รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีก 2 บริษัท ได้แก่ ช.อมรพันธ์ และอมรพันธ์ เลียบวารี


ภาพจาก bit.ly/2lTswry
 
นอกจากนี้ยังมีการจ้างที่ปรึกษามืออาชีพเข้ามาดูแลทั้งเรื่องแบรนด์ บัญชี และคน โดยเฉพาะเรื่องแบรนด์ ได้ Spikeband เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการสร้างแบรนด์ และถือว่า Spikeband คือผู้อยู่เบื้องหลังของการรีแบรนด์ครั้งนี้ โดย Spikeband มีประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจสวนสนุกอย่าง Tokyo Disneyland ในการเปิดแบรนด์ลูกอย่าง Tokyo DisneySea ซึ่งทำให้ Siam Amazing Park เชื่อมั่นว่าการรีแบรนด์ครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
 
5. ลบภาพคำว่า “สวนน้ำ” ออกไป


ภาพจาก bit.ly/2mufSQm
 
เพราะว่าสวนสยามอยู่ในตลาดมา 39 ปีแล้ว ภาพจำของคนส่วนใหญ่คือ “สวนน้ำ” ขนาดใหญ่ ลูกค้าจะยึดติดกับคำว่า สวนน้ำ และ ทะเล ความตั้งใจที่แท้จริงของการรีแบรนด์คือลบจุดยืนแบบเก่าและสร้างภาพลักษณ์ใหม่โดยตั้งใจให้ Siam Amazing Park เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ไม่ได้มีแค่สวนน้ำ และสวนสนุกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเป็น Destination ที่ให้คนทุกเพศทุกวัยมาเที่ยวได้ ไม่ใช่แค่การเป็นสวนน้ำหรือสวนสนุกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
 
6. Siam Amazing Park พัฒนาพื้นที่ใหม่ 5 โซน


ภาพจาก bit.ly/2lTswry
 
Siam Amazing Park น่าจะเรียกว่าเป็นการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจที่มีให้ดียิ่งกว่าเดิม  Siam Amazing Park จึงมีการนำเสนอในโซนที่พัฒนาใหม่ภายใต้คอนเซปต์ “Si-Am and Friends” ซึ่งพื้นที่พัฒนาขึ้นมา ได้แก่
  • Water World สวนน้ำเจ้าของสถิติทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส
  • Extreme World ที่รวบรวมเครื่องเล่นท้าความเสียวระดับโลก อาทิ Vortex (วอร์เท็กซ์), Giant Drop, Log Flume และอื่นๆ อีกมากมาย
  • Adventure World ดินแดนแห่งการผจญภัยไปกับเครื่องเล่นหลากหลาย อาทิ Jurassic Adventure, Twin Dragon และเครื่องเล่นอีกหลายชนิด
  • Family World ดินแดนของเครื่องเล่นที่เหมาะกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้ง Africa Adventure, Si-Am Tower, ม้าหมุนสองชั้นสุดคลาสสิก รวมถึง Big Double Shock
  • Small World ดินแดนเครื่องเล่นไซส์มินิสำหรับนักผจญภัยตัวน้อย
 
7. โซนใหม่ล่าสุด Bangkok World


ภาพจาก bit.ly/2lTswry

อีกหนึ่งโซนใหม่ที่เป็นโปรเจ็คต์ใหญ่ระดับ 5,000 ล้านบาท คือ Bangkok World โดยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 70 ไร่ บริเวณหน้าทางเข้า Siam Amazing Park เป็นคอนเซ็ปต์ที่ยกเอาเสน่ห์ของเมืองกรุงในอดีตมารวมไว้ในที่เดียว




ภาพจาก bit.ly/2lTswry

ได้แก่ ศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง ห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างบี.กริมแอนด์โก เยาวราชไชน่าทาวน์ ฯลฯ และมีการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น สินค้า OTOP ด้วย โครงการนี้ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว มีทั้งหมด 14 ตึก แบ่งการก่อนสร้างเป็น 5 เฟส คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบช่วงต้นปี 2564
 
8. คาดการณ์รายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท


ภาพจาก bit.ly/2lTswry

รายได้เดิมของสวนสยามจะมีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 1.2-1.5 ล้านคน/ปี แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจและการปิดปรับปรุงพื้นที่ด้านหน้าทำให้จำนวนผู้ใช้บริการไม่เป็นไปตามที่คาด ซึ่งในปี 2562 นี้ กับการรีแบรนด์ใหม่และมีการตลาดใหม่ๆ เข้ามาเสริมคาดว่าจะกระตุ้นให้มีคนเข้ามาใช้บริการได้ประมาณ 1.5 ล้านคน/ปี พร้อมกับคาดการณ์รายได้ว่าจะไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยรายได้แบ่งเป็นค่าบัตรผ่านประตู 70% และอื่นๆ 30% ผู้ใช้บริการแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวคนไทย 85% และต่างชาติ 15%
 
9. ตั้งเป้าดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น


ภาพจาก bit.ly/2lTswry

โจทย์ใหญ่ของการรีแบรนด์ครั้งนี้คือพัฒนาธุรกิจให้ครองใจนักท่องเที่ยวชาวไทยพร้อมกับเพิ่มสัดส่วนลูกค้าจากต่างชาติ โดยสถิติการท่องเที่ยวระบุว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 38 ล้านคนในปี 2561และในช่วงต้นปี 2562 กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วมากที่สุดคือ ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญสำหรับสวนสนุกไทยแต่การจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยสวนสนุกและสวนน้ำอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว สวนสยาม จึงทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น“สยามอะเมซิ่งพาร์ค (Siam Amazing Park)”
 
10. ทดลองเปิดตัว! ก่อนเปิดเป็นทางการ เดือนมีนาคม 2563


ภาพจาก bit.ly/2lTswry

Siam Amazing Park ใหม่จะทดลองเปิดตัวในวันที่ 19 กันยายน 2562 นี้ เพื่อต้อนรับเทศกาลปิดภาคเรียนที่จะมาถึง ผู้ใช้บริการจะได้สัมผัสกับโลกแห่งการผจญภัยของสวนน้ำสวนสนุกระดับสากลในบรรยากาศทันสมัย พร้อมอาคารทางเข้าใหม่ “ไซ-แอม อะเมซิ่งฮอลล์” สุดอลังการ ซึ่งจะรวบรวมสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งจุดจำหน่ายบัตรเข้าสวนน้ำสวนสนุก จุดประชาสัมพันธ์ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ห้องอาบน้ำ ห้องประชุมสัมมนาและจัดเลี้ยง ห้องละหมาด และห้องล๊อกเกอร์ โดยจะพร้อมเปิดตัว “Siam Amazing Park” อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2563


ภาพจาก bit.ly/2lTswry

นี่คืออีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาที่ไม่อาจหยุดนิ่งกับที่ และดูจะเป็นเทรนด์ของธุรกิจยุคใหม่ที่หากหวังมีกำไรและอยู่รอดในเวทีแข่งขัน จำเป็นต้องมีการขยับและปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีสังคมที่เปลี่ยนไป ใครที่มองว่าธุรกิจยุคใหม่เป็นเรื่องง่าย เป็นเสือนอนกิน รอลูกค้าวิ่งมาหา ถือเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างแรง
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
793
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
439
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
421
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด