บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.4K
2 นาที
3 เมษายน 2563
Framework ใหญ่กระตุ้นประเทศไทยด้วย E-Commerce
 
ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะอนุกรรมาธิการการพาณิชย์ และมีคณะอนุกรรมาธิการย่อยที่พูดคุยกันถึงเรื่อง E-Commerce ของไทย มีหลายเรื่องที่น่าสนใจซึ่งผมอยากจะมาเล่าให้ฟังกัน
 
การประชุมนี้ให้ความสนใจเรื่องของปากท้องคนไทยและเรื่องการค้าของประเทศไทย ผมได้นำเสนอแผนที่จะผลัดดันเรื่อง E-Commerce ประเทศไทยและผู้ประกอบไทยเข้าไป รวมไปถึงการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการต่างประเทศด้วย 
 
พยายามชี้ให้ทุกคนเห็นว่าอีคอมเมิร์ซกำลังจะมาเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจริง ๆ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว เช่น คนไทยหลาย ๆ คนเริ่มซื้อสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้น อยากจะซื้ออะไรก็เปิดแอปพลิเคชันอย่าง Lazada หรือ Shopee


ภาพจาก freepik
 
อย่างที่พูดมาตลอดว่าอีคอมเมิร์ซมาแล้ว แต่เรื่องที่กังวลและย้ำเรื่อยมาก็คือ ตอนนี้ที่เข้ามาก็มีแต่ธุรกิจที่เป็นของพวกยักษ์ใหญ่จากต่างชาติ เมื่อมีโอกาสจึงคิดว่าทำไมเราไม่ทำนโยบายอะไรบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจไทยเข้ามาในออนไลน์มากขึ้น ไม่ใช่ให้มีแต่ของต่างชาติ
 
ผมเองชอบนโยบาย ชิม ช้อป ใช้ อย่างหนึ่งก็คือเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เห็นได้ชัดเลยว่าบริษัทหรือร้านค้าขนาดกลางหรือแม้แต่ร้านโชห่วยเล็ก ๆ ตามต่างจังหวัดก็มีป้ายแปะไว้ข้างหน้าว่า “รับชิม ช้อป ใช้” นั่นหมายถึงร้านนี้ได้เข้าสู่ระบบของภาครัฐไปแล้ว เป็นการเข้าสู่ออนไลน์ไปแล้วโดยไม่รู้ตัว 


ภาพจาก bit.ly/2R83LVp
 
บอกเลยว่าผมชอบมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นโครงการที่ใช้เงินไปจำนวนเยอะมากก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือตอนนี้ธุรกิจไทยมีความพร้อมเข้าสู่ออนไลน์ หากเรามีกลยุทธ์ในการดึงเขาเข้ามาได้อย่างถูกวิธี ฉะนั้น ผมขอสรุปความคิดในการที่จะกระตุ้นประเทศด้วย E-Commerce จากการประชุมในครั้งนี้คือ 
 
1. มีนโยบายที่ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ข้ามาในช่องทางออนไลน์

เช่น กระตุ้นนโยบายในเชิงภาษี เมื่อเข้ามาในออนไลน์แล้วภาษีนิติบุคคลจะลดลงหรืออาจสิทธิประโยชน์หากเข้ามาในระบบจะสามารถส่งสินค้าในราคาพิเศษจากไปรษณีย์ไทยได้ ฯลฯ 
 
2. มีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีระบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการพาณิชย์อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือมีการให้ขึ้นทะเบียนมาหลายปี แต่ตัวเลขผู้ที่มาขึ้นทะเบียนมีเพียง 54,000 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก 
 
จริง ๆ จำนวนคนค้าขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียในประเทศไทยน่าจะมีตัวเลขในหลักแสนหรือล้านคน สาเหตุที่มีจำนวนเท่านี้เพราะทุกคนกลัวการเสียภาษี ทุกคนกลัวว่าเมื่อให้ข้อมูลไปแล้ว กรมสรรพากรจะมาตรวจสอบได้ไม่ยาก 
 
แต่เหตุผลที่ทุกคนต่างกระโดดเข้าไปในโครงการ ชิม ช้อป ใช้ โดยที่ไม่กลัวสรรพากรก็เพราะว่าการเข้าร่วมโครงการนี้ร้านค้ามีโอกาสที่จะได้เงิน 1,000 บาทจากคนที่เข้ามาซื้อสินค้า นั่นคือเขาได้ประโยชน์จากการเข้าไปในระบบ ดังนั้น รัฐควรต้องมีนโยบายในลักษณะนี้เช่นกัน
 
ซึ่งผมคิดไปถึงว่าหากเรามีเฟสต่อไปของชิม ช้อป ใช้ มีการให้เงินเข้าไปในกระเป๋าเช่นเดิม แต่ให้ซื้อสินค้าได้ทางออนไลน์เท่านั้น และต้องเป็นร้านค้าของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น 

3. ระบบร้านค้าต้องมีการเชื่อมต่อและใช้ระบบ e-Tax Invoice

เมื่อผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์แล้วต้องเชื่อมต่อและใช้เป็นระบบ e-Tax Invoice ซึ่งทาง ETDA ได้มีมาตรฐานออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าของกิจการสามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย ธุรกิจสามารถส่งข้อมูลเข้าสู่กรมสรรพากรได้เลยทันที ไม่ต้องทำเอกสารแบบเดิม จะสามารถลดต้นทุนไปได้มาก
 
4. มีมาร์เก็ตเพลสกลางของประเทศ

เป็นมาร์เก็ตเพลสกลางที่บริหารโดยเอกชน และมีคนเก่งหลาย ๆ คนมาร่วมมือกันทำตรงนี้ อาจไม่ใช่เป็นการไปแข่งกับมาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่ทั้งหลายแต่อาจต้องเป็นการไปทำงานร่วมกับเขา เราจะมีสถานที่ที่คนไทยมาทำการค้าขาย หรือที่ที่รัฐบาลต้องการโปรโมทอะไรก็ควรจะใช้สถานที่แห่งนี้ 
 
5. มีเงินพิเศษเหมือนอย่างโครงการ ชิม ช้อป ใช้

เมื่อทุกอย่างเข้าระบบหมด และยังมีเงินให้มาซื้อด้วยเหมือนลาซาด้าหรือชอปปี้แจกเหรียญในวอลเล็ต แต่อยู่ในรูปแบบเหมือนกับ ชิม ช้อป ใช้ เงินก็จะวนกลับเข้ามา และลดภาษีได้หมดทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 
 
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ
  1. จำนวนธุรกิจของไทยที่เข้าสู่การออนไลน์มากขึ้น รายได้เข้าประเทศมากขึ้น
  2. ผู้ค้าจะเก่งขึ้น เพราะการเข้าสู่ออนไลน์ต้องมีการเรียนรู้
  3. ธุรกิจจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น จะต้องมีการใช้ e-Tax Invoice ซึ่งตอนนี้ก็สามารถเชื่อมต่อกับระบบการทำบัญชีออนไลน์ได้แล้ว
  4. มีตลาดกลางของประเทศไทยจริง ๆ เสียที โดยมีภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยกันทำ
  5. มีเม็ดเงินเข้ามาในอุตสาหกรรมออนไลน์ของคนไทยอย่างจริงจัง
  6. คนไทยจะตื่นตัวมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

ภาพจาก freepik
 
ทั้งหมดที่เล่ามาผมได้พยายามผลักดันทุกช่องทาง ตอนนี้ภาครัฐเองก็เปิดรับแนวความคิดในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและ E-Commerce ไทยมากครับ ต่อไปกำลังจะทำเป็นแผนส่งต่อเพื่อเสนอในการนำไปผลักดันระดับประเทศ ไม่ต้องเป็น ส.ส.หรือนักการเมือง เราก็ทำงานให้ประเทศได้ ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะทำและต้องสร้างโอกาสนั้นขึ้นมาให้ได้ด้วย
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
793
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
439
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
421
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด