บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
4.1K
3 นาที
26 กุมภาพันธ์ 2556
นโยบาย-กฎหมาย อาเซียน ผลกระทบต่อ SMEs ไทย (ตอนที่ 2)

พม่า
 
ดำเนินนโยบายในการเปิดประเทศมากขึ้น มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการส่งเสริมการลงทุนแห่งสหภาพพม่า ให้ทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนจากต่างชาติ โดยมีคณะกรรมการการลงทุนจากต่างประเทศเป็นผู้พิจารณาโครงการลงทุนในเบื้องต้น ซึ่งรูปแบบการลงทุนที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล มี 2 รูปแบบ คือ 1. การลงทุนที่ชาวต่างชาติถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ 2. การร่วมทุน ซึ่งแบ่งเป็น การร่วมทุนกับรัฐบาลพม่า โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถเจรจาขอร่วมลงทุนได้มากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าเงินลงทุนรวม และการร่วมทุนกับเอกชนพม่า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในสัดส่วนน้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์
 
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในลักษณะที่เป็น BOT (Build Operate and Transfer) ในธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนที่เป็น PSC (Product Sharing Contract) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเฉพาะด้านการสำรวจและขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ประโยชน์เท่านั้น
 
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการลงทุนในพม่า คือ ความไม่มั่นคงในด้านนโยบายและกฎระเบียบ ความเข้มงวดต่อการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทต่างชาติ ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ระบบการดำเนินธุรกิจยังไม่ได้รับการพัฒนาและขาดทักษะ แต่จากการที่ทุกภาคส่วนของพม่าตื่นตัวกับสัญญาณการพัฒนาเศรษฐกิจในครั้งนี้ รัฐบาลพม่าจึงออกมาตรการและแผนงานต่างๆ เช่น แผนการปฏิรูประบบภาษีอากร ความร่วมมือกับภาคเอกชน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจภายใน 10 ปี และออกนโยบายส่งเสริม SMEs เป็นต้น
 
ฟิลิปปินส์
 
แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ คือการบริโภคในประเทศ การขยายตัวด้านการส่งออกและการลงทุน รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยมีแผนการพัฒนาสำหรับปี 2554-2559 ด้วยมาตรการการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สร้างความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาทั้งด้านภูมิศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน และที่ดิน ฯลฯ โดยรัฐบาลปัจจุบันยังให้ความสำคัญต่อการเร่งรัดพัฒนาภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอต่อการบริโภคและลดการนำเข้า
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อระดมทุนในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ และเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนโดยการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุน โดยสนับสนุนกลไกความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การก่อสร้าง รถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน และพลังงาน
 
แต่มาตรการที่จะเป็นอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญ เช่น การอนุญาตนำเข้า การห้ามนำเข้า การตอบโต้การทุ่มตลาด การปกป้อง และการสุขอนามัยพืชและสัตว์
 
สิงคโปร์
 
ด้วยข้อจำกัดทั้งขนาดของพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับภาคการค้าและบริการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน ระบบสาธารณูปโภค ระบบการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งมีท่าเรือน้ำลึกและการบริหารจัดการที่รวดเร็ว ส่งผลให้สิงคโปร์คงความเป็นตลาดเสรี เป็นศูนย์กลางของธุรกิจโลกทั้งด้านการค้า การลงทุน และการเงิน
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน เพื่อจูงใจให้มีการค้าการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากมายกับนักลงทุนต่างชาติและส่งเสริมให้ไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น ไม่เรียกเก็บ Capital Gain Tax อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงร้อยละ 17 และใช้ระบบ Single Tier System คือจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลถือเป็นภาษีสุดท้าย ฯลฯ
 
อย่างไรก็ดี ยังมีกิจการที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้ต่างชาติลงทุน ได้แก่ ธุรกิจด้านกฎหมาย การประกอบอาชีพทนายความ กิจการที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์มีความเข้มงวดกับมาตรการสุขอนามัยของสินค้าที่นำเข้าเพื่อจำหน่ายและบริโภคในสิงคโปร์มาก
 
ส่วนปัญหาและอุปสรรคทางการค้าของไทย คือ รัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานในภาคบริการ ซึ่งจะมีการให้ใบอนุญาต 3 แบบ คือ
  1. E Pass ใบอนุญาตทำงานระดับวิชาชีพ และระดับบริหาร
  2. S Pass ใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานฝีมือระดับกลาง
  3. Work Permit ใบอนุญาตทำงานประเภทกึ่งฝีมือและแรงงานมีฝีมือน้อย
ซึ่งในส่วนนี้ ไทยได้รับอนุญาตให้ทำงานเพียง 3 สาขา จากจำนวน 5 สาขาที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน คือ ก่อสร้าง อู่ต่อเรือ และงานรับใช้ในบ้าน และไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในการผลิตและบริการ
 
ไทย
 
มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ตลาดในประเทศตื่นตัว แรงงานมีฝีมือ มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งที่ทันสมัย การคมนาคมและโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้า
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายโดยมุ่งเน้นการเปิดเสรีและส่งเสริมการค้าเสรี ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างจริงจัง โดยได้รับการจัดอันดับจากผลสำรวจนานาชาติให้เป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่น่าดึงดูดที่สุดแห่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง

โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและชักจูงอุตสาหกรรม 6 สาขาหลัก ได้แก่ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร พลังงานทดแทน ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แฟชั่น และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง บริการเพื่อสุขภาพและการท่องเที่ยว
 
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกนโยบายเร่งส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการปรับปรุงกฎ ระเบียบ และปฏิรูปกฎหมายหลายฉบับเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรการจำกัดการเข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งต้องเร่งแก้ไขให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ตกลงไว้ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการค้าและมาตรการที่มิใช่ภาษีที่ใช้สำหรับปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียนมาตรการทางการค้าของไทยส่วนใหญ่ได้ถูกขจัดไปหมดแล้วเมื่อปี 2553 ยกเว้นสินค้าบางรายการที่เป็นสินค้าอ่อนไหวสูงเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่นๆ
 
เวียดนาม
 
รัฐบาลประกาศใช้นโยบายทางเศรษฐกิจ "โด่ย เหมย" โดยกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ 6 ประการ เพื่อยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายอำนาจบริหารแก่ภาคธุรกิจและท้องถิ่น ระบบเศรษฐกิจเสรี อัตราการแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด ให้สิทธิครอบครองที่ดินในระยะยาวและเสรีการซื้อขายสินค้าเกษตร เพิ่มบทบาทภาคเอกชน เปิดเสรีการลงทุน โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะเวลา 10 ปี (2554-2563) กำหนดเป้าหมายที่จะทำให้เวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยภายในปี 2563
 
นโยบายด้านการค้าการลงทุน เน้นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรี ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเวียดนามประสบความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รัฐบาลมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนให้เกิดความคล่องตัว สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น และปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จากกิจการร่วมทุนมาเป็นกิจการที่ลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดมากขึ้น

โดยภาคธุรกิจที่รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน ได้แก่ การท่องเที่ยว การขนส่ง โลจิสติกส์และการบริการท่าเรือ และภาคการเกษตร รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ เวียดนามยังเตรียมการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีอย่างจริงจังเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC
 
สำหรับมาตรการของเวียดนามที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย คือ ระเบียบการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับสินค้าอาหารที่มีแหล่งกำเนิดจากพืช เนื่องจากครอบคลุมผลไม้สดของไทย
 
อ้างอิงจาก เส้นทางเศรษฐีมติชน
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด