บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การบริหารจัดการองค์กร    สร้างความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน
6.8K
3 นาที
19 เมษายน 2556
Mobile office การจัดสำนักงานให้มีความสวยงาม

การจัดสำนักงานในองค์กรให้มีความสวยงาม สะอาด สะดวกสบาย และคล่องตัวในการปฏิบัติงานของพนักงาน และผู้มาติดต่องานนั้น เป็นเป้าหมายหลักอีกประการหนึ่งที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญมากมีการกำหนดเป็น นโยบาย ระเบียบ และข้อบังคับ ให้พนักงานทุกคนได้ยึดถือเป็นพฤติกรรมภายในองค์กร
 
นอกจากนั้นมักจะจัดให้มีการประกวดแข่งขันการจัดสำนักงานของหน่วยงานภายในองค์กร ด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้พนักงาน เกิดความตระหนัก และเห็นความสำคัญในกิจกรรมดังกล่าว และเพื่อให้หน่วยงานของตนได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในลำดับต้นๆของการประกวด ด้วย
 
สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกว่ามีความโดดเด่น จากการประกวดนั้น แน่นอนว่ารูปร่างหน้าตาของสำนักงานที่ปรากฎให้เห็นภายนอก จะต้องมีความน่าชื่นชม สวยงามในสายตาของคณะกรรมการตัดสิน และคนทั่วไป แต่เกณฑ์ของการตัดสินนั้น ส่วนใหญ่มักจะพิจารณา เพียงรูปลักษณ์ภายนอกเป็นสำคัญ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวคงจะไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ผลการปฏิบัติงานของพนักงาน ณ สำนักงานแห่งนั้น จะมีประสิทธิผล และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับองค์กรตามไปด้วย
 
ผู้เขียนได้มีโอกาสพบเห็นรูปแบบของสำนักงานอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและแตกต่างจากสำนักงาน ทั่วๆไปที่ได้พบเห็นมา ซึ่งสำนักงานดังกล่าวอยู่ในสำนักงานใหญ่ของ บริษัท NTT DoCoMo ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานแห่งนี้ จัดได้สวยงาม สะอาด และเป็นระเบียบเรียบร้อยมากเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอก และรูปแบบการจัดนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) ภายในองค์กรซึ่งผู้ริเริ่มแนวคิดนี้

ซึ่งผู้ริเริ่มแนวคิดนี้คาดหวังว่ารูปแบบการจัดสำนักงานดังกล่าวจะส่งผลต่อ ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของพนักงานและความสำเร็จขององค์กร และเขาได้เรียกรูปของสำนักงานนี้ว่า Mobile Office
 
Mobile Office  ที่ได้ไปดูงานมานั้นเป็นแนวคิดของ Mr. Kunio Ushioda ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงาน Corporate Marketing Headquarters (CMH) บริษัท NTT DoCoMo ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ยิ่งใหญ่อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น คุณ Ushioda ได้เริ่มแนวความคิดนี้ในสำนักงานของท่านเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยประยุกต์แนวคิด KM ของ Prof. Nonaka and Dr.Takeuchi , Hitotsubashi Universityที่ทราบกันทั่วไปในชื่อของ SECI Model ซึ่งความรู้เรื่อง SECI Model มีรายละเอียดมาก และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ แต่ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอแนวคิดดังกล่าวให้สั้น และเข้าใจง่ายที่สุด
 
แนวคิด Knowledge Management (KM) กับการจัด Mobile office

การจัดการความรู้ในองค์กรต่าง ๆ จะเริ่มที่พนักงาน ซึ่งแต่ละคนจะมีทักษะความสามารถที่เป็นความรู้ซ่อนอยู่ภายใน (Tacit Knowledge) ของแต่ละบุคคล โดยที่เจ้าตัวอาจจะทราบหรือไม่ทราบก็ได้ และ Tacit Knowledge นี้จะปรากฎออกมาเมื่อพนักงานเริ่มปฎิบัติงาน และเมื่อมีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มก็จะเกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยน Tacit Knowledge หรือความรู้ในรูปแบบของ ทักษะ และประสบการณ์ระหว่างพนักงานด้วยกัน
 
ซึ่งทำให้พนักงานมี Tacit Knowledge ใหม่ ๆ เพิ่มพูนมากขึ้น และเมื่อมีนักวิชาการได้นำ Tacit Knowledge ดังกล่าวมาศึกษาวิเคราะห์ และสรุปออกมาเป็นความรู้ที่แสดงถึงแนวทาง ขั้นตอน กฎระเบียบ และอาจจะปรุงแต่งตามหลักวิชาการจนเป็นทฤษฎี ในการปฏิบัติงาน ความรู้ในลักษณะนี้เป็นความรู้ที่เปิดเผย (Explicit Knowledge) ปรากฎให้เห็นในเอกสาร ตำรา ในอินเทอร์เน็ต หรือสื่อต่าง ๆ พร้อมที่จะให้ผู้คนทั่วไปได้นำไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้ได้ตามความต้องการ และเมื่อ Explicit Knowledge นี้ได้มีการนำไปศึกษา และฝึกปฎิบัติเป็นประจำแล้ว ความรู้นี้จะถูกสะสมในตัวผู้ปฏิบัติและจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงจาก Explicit Knowledge เป็น Tacit Knowledge โดยอัตโนมัติ
 
ความรู้ทั้ง 2 ประเภทนี้ จะปรับเปลี่ยนและหมุนเวียนเป็นวัฏจักรของความรู้ หากจะเปรียบให้เห็นภาพพจน์ก็ขอปรียบเทียบกับภาพของ หยิน และ หยาง ตามปรัชญาจีน ซึ่งผู้เขียนจะเปรียบหยิน เป็น Tacit Knowledge และหยาง เป็น Explicit Knowledge การหมุนเวียน เปลี่ยนแปลงของความรู้ทั้ง 2 นี้ จะก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ซึ่ง Prof. Nonaka ได้เรียก การเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เกลียวความรู้ (Knowledge Spiral) และหากเกลียวความรู้นี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาภายในองค์กรใด องค์กรนั้น ๆ ก็จะเกิดความรู้ใหม่ ๆ และมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นความคิดพื้นฐานที่คุณ Ushioda นำไปวางรูปแบบของ Mobile Office
 
โดยในช่วงเริ่มต้นเขาได้ตั้ง concept ของการดำเนินการว่า “Creation by Cross Culture” ซึ่งมีความหมายว่าความรู้ใหม่ในองค์กร จะเกิดขึ้นได้จากการประสานงาน และปรึกษาหารืองานร่วมกันของพนักงานที่มีระดับความรู้ความสามารถ และมีข่าวสารข้อมูลที่เหมือนกัน และแตกต่างกัน

ดังนั้น แผนผัง (layout) ของMobile office ที่ได้จากการระดมความคิดร่วมกันของคุณ Ushioda และพนักงาน 1,600 คนของสำนักงาน CMH บริษัท NTT DoCoMo จีงมีรูปแบบของสำนักงานที่ส่งเสริมให้พนักงานทั้งหมดขององค์กร ซึ่งมีภูมิหลังด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่อาจจะต่างกันหรือคลายคลึงกัน ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และมีการประสานงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเกลียวความรู้ หรือความรู้ใหม่ในองค์กร
 
รูปแบบของ Mobile Office

Mobile officeของคุณ Ushioda ที่อาศัยหลักการ KM เป็นแนวคิดนั้นจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากสำนักงานทั่ว ๆ ไปในปัจจุบันนี้ ที่จัดโต๊ะทำงานให้พนักงานนั่งครอบครองเป็นเจ้าของคนละตัว และบางแห่ง ก็จะแบ่งเขตแดนของแต่ละบุคคลด้วยผนังถาวร หรือผนังที่เคลื่อนย้ายได้ (Partition) หรือ

อาจจะจัดเป็นห้องทำงานมีประตูเปิดปิดอย่างมิดชิดสำหรับบุคลากรระดับผู้ บริหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่พบเห็นในรูปแบบของ Mobile Office และรูปแบบของสำนักงานตามแนวคิดใหม่นี้ จะมีรูปแบบโดยทั่วไปสรุปได้ดังนี้
  1. ห้องทำงานจะเปิดโล่ง ไม่มีผนังกั้นเป็นห้องเล็กห้องน้อย ผู้บริหารสำนักงานสามารถมองเห็นได้ทุกซอกทุกมุมในสำนักงาน
  2. โต๊ะทำงานของพนักงานจะเป็นโต๊ะขนาดใหญ่ 4 ที่นั่ง พนักงานจะมานั่งทำงานร่วมกันในโต๊ะเดียวกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของโต๊ะโดยถาวร และพนักงานสามารถเปลี่ยนที่นั่ง โดยจะเลือกไปนั่งกับใครก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาระงานแต่ละวันที่จะต้องไปทำงานประสานกับเพื่อนร่วมงาน คนใดคนหนึ่งในช่วงเวลานั้น
  3. พนักงานทุกคนจะมี Notebook และโทรศัพท์มือถือ ใช้เป็นเครื่องมือ ในการปฎิบัติงานที่โต๊ะทำงาน และบนโต๊ะจะมีเอกสารเฉพาะ เท่าที่จำเป็นต้องใช้งานในขณะนั้น ๆ เอกสารส่วนใหญ่ได้จัดเก็บในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เก็บไว้ในเครื่องแม่ข่าย (Server) พนักงานสามารถ เรียกใช้งานได้ตลอดเวลา และสำนักงานนี้จะลดการใช้กระดาษให้มีการใช้น้อยที่สุด (Paperless office)
  4. ทางบริษัทได้เตรียมตู้เก็บของ (Locker) ให้พนักงานได้เก็บงานและทรัพย์สินส่วนตัว และสำนักงานได้จัดวางตู้ locker ให้เป็นแนวตรง เพื่อกั้นขอบเขตของสำนักงาน กับทางเดินรอบนอกของสำนักงานด้วย
  5. ภายในบริเวณของสำนักงานจะมีต้นไม้กระถางประดับตามมุมห้อง ทางเดิน หรืออาจจะวางเรียงกั้นเป็นส่วนของห้องประชุมขนาดเล็ก ๆ ได้
อ้างอิงจาก hrtothai.com
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
715
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
532
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
433
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด