บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    การวางแผนธุรกิจ
4.1K
2 นาที
2 พฤษภาคม 2556
โอกาสของ SME มีแค่ไหน?

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ปัจจัยต่างๆ ไม่ค่อยเกื้อหนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ในบ้านเรามากสักเท่าไร
 
ผลจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ไทยใช้นโยบายมหภาคที่หนุนภาคส่งออกเป็นหลักเพื่อกอบกู้ฐานะการเงินของประเทศ ธุรกิจที่ได้ประโยชน์ทางตรงจากนโยบายเหล่านี้น่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะการค้าระหว่างประเทศยุคใหม่มีกฎเกณฑ์และกติกามากมาย ธุรกิจจึงต้องมีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งถึงจะคุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อให้ผ่านคุณสมบัติเหล่านี้ได้

หากเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์จากการส่งออกก็คงเป็นทางอ้อมมากกว่า เช่น บริษัทส่งออกยักษ์ใหญ่ซื้อวัตถุดิบบางส่วนจากเอสเอ็มอี เป็นต้น และหลายปีที่ผ่านมา บริษัทส่งออกขนาดใหญ่ในบ้านเราก็ได้ขยายขนาดขึ้นอย่างมากมายจากนโยบายส่งออกนี้
 
อีกหน่อยประเทศไทยจะเข้าสู่ AEC ทำให้ขนาดของตลาดขยายใหญ่ขึ้นอีกมาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เอื้อบริษัทขนาดใหญ่อีก เพราะบริษัทขนาดใหญ่จะยิ่งสร้างการประหยัดต่อขนาดเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยได้มากขึ้น ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบทางธุรกิจต่อธุรกิจขนาดเล็กที่มากขึ้นไปอีก
 
นี่ยังไม่นับการที่เอสเอ็มอีในหลายๆ ภาคส่วนที่มีปัญหาเฉพาะของตัวเองด้วย เอสเอ็มอีจำนวนมากเป็นร้านค้าปลีกที่อยู่ตามตึกแถวมาตั้งแต่สมัยอดีต ทุกวันนี้อาคารพาณิชย์เหล่านี้เริ่มขายของได้ยากขึ้น เพราะการจราจรที่ติดขัดกว่าเดิม จอดรถหน้าถนนไม่ได้ และตึกแถวสมัยก่อนก็ไม่ได้ออกแบบที่จอดรถไว้ด้วย พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่เองก็หันมานิยมซื้อของแทบทุกอย่างในห้างสรรพสินค้ามากขึ้นทุกวัน หรือปัญหาเรื่องการหาคนงานทุกวันนี้ก็เป็นปัญหาที่ใหญ่มากของเอสเอ็มอี คนงานสมัยนี้อยากทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า เพราะค่าจ้างมากกว่าแถมวิถีชีวิตก็ดีกว่าด้วย
 
คงไม่แปลกนักถ้าจะสรุปว่า ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของเอสเอ็มอี ถ้าหากเอสเอ็มอีจะมีการเติบโตเพราะเศรษฐกิจโดยรวมใหญ่ขึ้น แต่ก็เป็นการเติบโตที่น้อยกว่าภาคส่วนอื่นของระบบเศรษฐกิจ
 
เวลาพูดถึงการแก้ปัญหาของเอสเอ็มอี เรามักจะนึกถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐทันที แต่ที่จริงการออกมาตรการอุดหนุน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า อุ้ม หรือการออกมาตรการกีดกันธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อให้เอสเอ็มอีมีช่องว่างในการดำรงอยู่ต่อไปนั้น บ่อยครั้งมันก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน นโยบายเหล่านี้เพียงแต่ช่วยให้เอสเอ็มอีอยู่แบบเดิมไปได้เรื่อยๆ เท่านั้น ตัวอย่างเช่น หลายประเทศที่มีการจัดโซนนิ่งเพื่อมิให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เข้ามาแย่งลูกค้าจากร้านขนาดเล็ก สุดท้ายแล้วเอสเอ็มอีก็ต้องพึ่งพามาตรการตลอดไป ยกออกเมื่อไรก็ล้มเมื่อนั้น

กระแสโลกทุกวันนี้ดูเหมือนจะยิ่งเปิดมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศอินเดียในเวลานี้ต้องหันกลับมาเปิดเสรีเพื่อให้ทุนต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกได้มากขึ้น เพราะจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด สุดท้ายแล้วกลับกลายเป็นการทำร้ายเอสเอ็มอี เพราะปกป้องเอสเอ็มอีมานาน ทำให้เอสเอ็มอีไม่เคยเตรียมตัวตั้งรับ พอจำเป็นต้องเปิดเสรีกะทันหันยิ่งปรับตัวได้ยากกว่าเดิม
 
ถ้าสังเกตดูประเทศที่เอสเอ็มอีเป็นภาคส่วนที่เข้มแข็งของประเทศ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่งมีพวก startup เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเยอรมันซึ่งมีคลัสเตอร์ของบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเครื่องกลหลายอย่าง ประเทศเหล่านี้ไม่ได้พัฒนาเอสเอ็มอีด้วยการอุ้มหรือคอยกีดกันการแข่งขันจากบริษัทขนาดใหญ่ แต่ประเทศเหล่านี้ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีมีการแข่งขันกันให้มากๆ เพื่อให้การแข่งขันกระตุ้นนวัตกรรม
 
ทางรอดของเอสเอ็มอีที่ถูกต้องน่าจะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงเป็นหลัก เอสเอ็มอีที่มีขนาดเท่าเดิมแล้วทำให้อยู่ไม่ได้ในเวลานี้ ก็ต้องคิดหาวิธีที่จะเพิ่มยอดขายให้ไปสู่ระดับใหม่ที่ทำให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ หรือถ้าสู้เรื่องต้นทุนไม่ได้ ก็ต้องคิดหาวิธีสร้างความโดดเด่นให้ตัวเองด้วยการสร้างความแตกต่างในด้านที่บริษัทขนาดใหญ่ไม่ได้มีข้อได้เปรียบที่ชัดเจน สุดท้ายแล้วคือหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
 
ประเภทที่ตั้งธงว่า ทำอย่างไรถึงจะได้อยู่อย่างเดิมต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องปฏิวัติตัวเองนั้น ควรเลิกคิดไปเลยครับ

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจ
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,789
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,395
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
700
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
634
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
560
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
489
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด