บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.8K
5 นาที
15 ธันวาคม 2563
รวม 20 ข่าวเศรษฐกิจสุดปัง! ปี 2020 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
 

ปี 2563 เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่เกิดเรื่องราวแบบ “ที่สุด” มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือว่าอาชญากรรม ปี 2563 จัดหนักมาครบแบบที่คนบอกว่าไม่ต้องการ ภาพรวมของปี 2563 จึงเป็นปีที่หนักหนาสาหัสแม้กระทั่งตอนนี้สถานการณ์หลายอย่างแม้เริ่มคลี่คลายแต่ก็ยังไม่ฟื้นตัวดี โดยเฉพาะในภาพรวมเรื่องเศรษฐกิจที่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด จากปลายปี 2562 ก็ว่าแย่ในระดับหนึ่ง เข้าปี 2563 มาแทนที่จะดีขึ้นกลับกลายเป็นแย่ลงเรื่อยๆ และเพื่อให้มองเห็นภาพว่าในปี 2563 แวดวงเศรษฐกิจ การลงทุนมีอะไรที่เป็นข่าวเด่นกันบ้าง
 
www.ThaiFranchiseCenter.com รวบรวมมาเป็น 20 ข่าวเศรษฐกิจสุดปัง เผื่อบางข่าวใครหลายคนลืมไปแล้วจะได้นึกขึ้นได้อีกครั้ง
 
1. เริ่มมาตรการ “งดใช้ถุงพลาสติก”


ภาพจาก bit.ly/2WjkNlE
 
เริ่มต้นปี 1 มกราคม 2563 มีความเห็นชอบจากรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 เห็นชอบกลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป เพื่อเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานเพื่อลด ละ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 และถึงตอนนี้ก็หลายธุรกิจก็งดใช้ถุงพลาสติกอย่างสิ้นเชิง
 
2. ปิดเทอมยาวนานกว่า 4 เดือน


ภาพจาก bit.ly/3oWOcP5
 
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID 19 ส่งผลให้ปีนี้ถูกบันทึกว่ามีการปิดภาคเรียนยาวนานเป็นประวัติการณ์กว่า 4 เดือนจากเดิมในสถานการณ์ปกติที่ปิดภาคเรียนประมาณ 2 เดือนครึ่ง โดยเวลาการเปิดภาคเรียนใหม่ ของปีการศึกษา 2563 เลื่อนมาถึงวันที่ 1 กรกฏาคม 2563 มีนักเรียนที่ได้รับผลในครั้งนี้เกือบ 7 ล้านคน และเมื่อรวมกับโรงเรียนระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลายทุกสังกัด ทั้งสังกัดเอกชนและอื่นๆ ในประเทศไทยจะมีนักเรียนอยู่ที่ 10.84 ล้านคน จากโรงเรียน 41,073 แห่ง
 
3. จดหมายเปิดผนึกถึง 20 เศรษฐี สู้ COVID 19


ภาพจาก bit.ly/3abPG3H
 
ช่วงเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากบรรดาเศรษฐีและนักธุรกิจชั้นนำของประเทศในการช่วยเหลือประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID 19 โดยมี 20 เศรษฐีที่ได้รับจดหมายเปิดผนึกในครั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมความคิด และหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจและไม่ค่อยจะเกิดขึ้นให้เห็นมากนัก
 
4. สงกรานต์ที่หายไป


ภาพจาก bit.ly/2Kom7RM
 
เทศกาลสงกรานต์อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน แต่ในปี 2563 นี้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อมีประกาศ “งดการจัดงานสงกรานต์ในทุกพื้นที่” อันเนื่องมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID 19 ยิ่งกว่านั้นช่วงวันที่ 13-15 เมษายน ของใครหลายคนกลายเป็นวันทำงาน สวนทางกับทุกปีที่ช่วงนี้มีแต่ความชุ่มฉ่ำ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ในอีกหลายประเทศที่มีการจัดงานสงกรานต์ช่วงนี้ ต่างก็งดจัดเช่นกัน ทั้งใน ลาว , กัมพูชา ,เมียนมาร์ แน่นอนว่าส่งผลกระทบโดยตรงในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล
 
5. จีดีพีไทยติดลบ 5.3% - เศรษฐกิจไทยตกต่ำสุดรอบ 10 ปี


ภาพจาก bit.ly/3nlgD8F
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ GDP ในปี  2563 มีโอกาสติดลบสูงถึง 5.3% หลังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID 19 กระทบเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งปัญหาของกาารติดลบครั้งนี้มาจากภาคท่องเที่ยว ที่แทบจะเป็นศูนย์ ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยติดลบ 5.6% สอดคล้องกลุ่มธนาคารเกียรนาคินภัทร ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตจีดีพีใหม่อยู่ที่ติดลบ 6.8% ให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงขึ้น
 
6. ดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์


ภาพจาก bit.ly/3oQEFsI
 
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมนัดพิเศษ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00%  เป็น 0.75% ต่อปี ต่ำสุดในประวัติการณ์ ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม
 
7. ราคาน้ำมันดิ่งลงแรงที่สุด


ภาพจาก bit.ly/3nxC3iY

ราคาน้ำมันในตลาดโลก ดิ่งลงหนักสุดในรอบ 29 ปี หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียเปิดฉากทำสงครามราคากับรัสเซีย นับตั้งแต่ต้นปีราคาน้ำมันดิบปรับลงกว่า 60% มากที่สุดและเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผสมกับภาวะทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวจาก COVID-19 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ ถูกเทขายจน “ติดลบ” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่การซื้อขายปกติราคาลงไปต่ำถึงระดับ 10 ดอลลาร์/บาร์เรล ด้านราคาน้ำมันในประเทศไทยได้รับอานิสงส์เรื่องนี้เต็มๆ ราคาน้ำมันในสถานีบริการน้ำมันลดลงอย่างน่าตกใจ โดยกลุ่มดีเซลต่ำสุดที่ 17.54 (B20) และแก๊สโซฮอล์ 91 เหลือลิตรละ 18.58 บาทเท่านั้น 
 
8. ตลาดหุ้นงัด “เซอร์กิต เบรคเกอร์" มาใช้มากที่สุด

"เซอร์กิต เบรคเกอร์" คือมาตรการระงับการซื้อขายชั่วคราวได้ถูกนำมาใช้มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกวิกฤตที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปีที่ COVID-19 เริ่มระบาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นหลายประเทศต้องงัดเซอร์กิต เบรคเกอร์ มาใช้มากเป็นประวัติการณ์ เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เซอร์กิต เบรคเกอร์ ถึง 4 ครั้งในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ มากกว่าช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ใช้เพียง 2 ครั้ง เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่มีการใช้เซอร์กิต เบรคเกอร์ ถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น
 
9. หวยหยุดออกรางวัลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์


ภาพจาก bit.ly/3mlvJcY

คนไทยคุ้นเคยกับการลุ้นรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลและที่ผ่านมาก็สามารถออกรางวัลได้ปกติทุกงวด แต่ในปีนี้ แตกต่างเนื่องจากสลากกินแบ่งรัฐบาลหยุดออกรางวัลเป็นครั้งแรก โดยเลื่อนออกรางวัลงวด 1 เม.ย. 63 เป็นวันที่ 16 พ.ค. 63 แทน และเลื่อนออกรางวัลติดกันถึง 3 งวด เพราะผลจาก COVID 19 ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะสูญรายได้รวมกันถึง 5,400 ล้าน และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการเลื่อนออกรางวัลติดกันถึง 3 ครั้ง
 
10. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคตัวเลข “ต่ำสุด”


ภาพจาก bit.ly/34fkyfY
 
ในปี 2563 ตัวเลขจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 50.3 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมยังประเมินครึ่งปีแรกของปี คาดเงินจะหายออกจากระบบเศรษฐกิจถึง 1.5 ล้านล้านบาท ตัวเลขความเชื่อมั่นที่ต่ำสุดนี้เทียบเคียงได้กับปี 2541 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ในคราวนั้นยังพอจะมีทิศทางกลับฟื้นคืนมาได้ แต่สำหรับปัญหาครั้งนี้ยังมองไม่ออกว่าอัตราการฟื้นคืนจะกลับมาได้เมื่อไหร่ในเมื่อเป็นภาพรวมของผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
 
11. สายการบินหยุดให้บริการทั่วโลก


ภาพจาก bit.ly/2KsjOwM
 
ปี 2563 ถือว่าเป็นวิกฤติของ “อุตสาหกรรมการบิน” อย่างแท้จริง แม้ที่ผ่านๆมาจะประสบปัญหามาบ้าง แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นต่างจากปัญหาครั้งนี้ที่กินเวลาเนิ่นนาน โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศห้ามเครื่องบินจากต่างประเทศเข้าประเทศไทย ตั้งแต่ 3 เม.ย. – 30 เม.ย. 63 และขยายเพิ่มเติมไปจนถึง 31 พ.ค.63

รวมถึงสั่งปิดสนามบินภูเก็ตตั้งแต่ 10-30 เม.ย.63 ล้วนส่งผลให้สายการบินต่าง ๆ ลดเที่ยวบินลงอย่างมากหรือหยุดทำการบิน เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์การระบาดของ COVID 19 รุนแรงมากยิ่งขึ้น  จนถึงขณะนี้ปลายปี 2563 อุตสาหกรรมการบินก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาและเรายังไม่เปิดประเทศเต็มตัว สายการบินต่างๆ ต้องรอโอกาสฟื้นตัวต่อไป
 
12. 7-eleven เปิดแค่เที่ยงคืน


ภาพจาก bit.ly/3mf7MnO
 
สิ่งที่ไม่เคยได้เห็นปี 2563 เราก็ได้เห็น ใครจะไปคิดว่าคำพูดเล่นๆที่บอกว่า “เจอกันหลังเซเว่นปิด” จะกลายเป็นจริงขึ้นมา เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาด COVID 19 ที่ทำให้มีประกาศเคอร์ฟิว ขนาดที่ 7-eleven ที่เคยเปิดตลอด 24 ชม.ยังต้องปิดให้บริการ โดยเป็นคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ทุกคนร่วมมือโดย  7-eleven ปิดให้บริการตั้งแต่24.00 น.ถึง 05.00 น. ถือว่าเป็นเรื่องที่หาได้ยาก และกลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญทีเดียว  
 
13. ปรากฏการณ์ปิดห้างสรรพสินค้า


ภาพจาก bit.ly/37iUCBP
 
ไม่ใช่แค่ร้านสะดวกซื้อทั่วไป ปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID 19 ยังลุกลามไปถึงบรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆ กลายเป็นปรากฏการปิดห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพมหานครนานถึง 22 วัน แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมามีมากมายเริ่มตั้งแต่บรรดาเจ้าของห้างสรรพสินค้าต่างๆ ลุกลามไปถึงกลุ่มผู้เช่าพื้นที่ค้าขาย ซ้ำเติมรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าที่ปกติก็แทบจะขายไม่ได้เมื่อมีคำสั่งดังกล่าวรายได้จึงเป็นศูนย์ทันที แต่ทั้งนี้ก็เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID 19 ไม่ให้ลุกลามมากขึ้นกว่าเดิม
 
14. โรงภาพยนตร์ก็ไม่รอด! โดนสั่งปิดเช่นกัน


ภาพจาก bit.ly/34hsPA6
 
ผลกระทบจาก COVID 19 ลุกลามเป็นลูกโซ่ จากร้านสะดวกซื้อ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมค้าปลีก มาจนถึงอุตสาหกรรมภาพยนต์ ที่โรงภาพยนตร์หลายแห่งต้องระงับการให้บริการชั่วคราว นั่นหมายถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ลานสเก็ต

แน่นอนว่าผลกระทบครั้งนี้ลามไปถึงบรรดาผู้กำกับ นักแสดงที่ไม่สามารถเปิดกองถ่ายละครได้ตามปกติ แม้แต่ในต่างประเทศเอง ก็ได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันนี้
 
15. คำสั่งล็อคดาวน์ทั้งประเทศ
 
จากทีแรกมองว่ารับมือได้ เอาอยู่ แต่สุดท้ายเริ่มจะเอาไม่อยู่ และดูว่าสถานการณ์จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สุดท้ายรัฐบาลต้องประกาศ “ล็อคดาวน์” และไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาในประเทศ รวมถึงคนในประเทศก็ออกไปยังต่างประเทศไม่ได้ด้วย เป็นมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID 19 ขั้นสูงสุด ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่มีอีกหลายประเทศที่ใช้มาตรการนี้และทำมาก่อนด้วย เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เอลซัลวาดอร์ เดนมาร์ก โปแลนด์ สหภาพยุโรป(อียู)เปรู มาเลเซีย ยูเครน และเบลเยียม เป็นต้น
 
16. ร้านบริการก็ถูกสั่งปิดเช่นกัน


ภาพจาก bit.ly/34die9f
 
บรรดาร้านบริการต่างๆ ไม่ว่าจะร้านตัดผม ร้านนวด ร้านสปา ฯลฯ ในปี 2563 นี้ก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากคำสั่งระงับให้บริการชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดรายได้ และหลายคนหันมาบริการแบบเดลิเวอรี่กันมากขึ้น เกิดเป็นสังคมยุค New Normal ที่เราได้ยินกันจนถึงทุกวันนี้

แม้ปัจจุบันร้านบริการเหล่านี้จะกลับมาเปิดให้บริการได้เช่นเดิม แต่ก็มีกฎระเบียบที่เข้มข้น เช่น ลูกค้าต้องสวมหน้ากากอนามัยเข้าร้าน , ห้ามเข้าร้านเกินกว่าครั้งละ 5 คน เป็นต้น 
 
17. เกิดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)


ภาพจาก 
bit.ly/3oRbINh

ในปี 2563 นอกจากคำว่า New Normal , Work from Home เรายังได้รู้จักกับคำว่า Social Distancing มากขึ้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ Social Distancing ก็คือระยะห่างทางสังคมที่ภาครัฐส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ห่างกันมากขึ้น เวลาเข้าแถวซื้อของก็ต้องมีช่องว่างประมาณ 1 เมตร หรือแม้แต่ในร้านอาหาร ก็ต้องจำกัดจำนวนเก้าอี้ และคนเข้าร้านเพื่อให้มีพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น
 
แน่นอนว่าผลกระทบไปตกอยู่ที่ผู้ประกอบการที่ยอดขายตกวูบ กลายเป็นกระแสเดลิเวอรี่ที่มาแทน บรรดาคนขับ Grab , Food Panda , Lineman ต่างมีรายได้ดีกันถ้วนหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ว่า บริการขนส่งอาหารน่าจะมีการเพิ่มขึ้น 35 - 40% จากช่วงเวลาปกติ
 
18. วิกฤติอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตกต่ำทั่วโลก


ภาพจาก bit.ly/3844Ghn
 
ในปี 2563 เป็นปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่อยากจดจำ นี่คือปีที่การท่องเที่ยวหยุดชะงักต่ำสุดในรอบ 15 ปี ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่รุนแรงและกระทบไปทุกประเทศทั่วโลก เพราะการเดินทางระหว่างประเทศต้องหยุดชะงัก จนถึงตอนนี้ปลายปี 2563 ก็ยังไม่มีวี่แววฟื้นตัว ถ้ามองแค่ในประเทศศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน (หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ) การท่องเที่ยวถึงจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
 
โดยประเมินภาพรวมทั่วโลกว่า นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะมีประมาณ 800-900 ล้านคน หดตัวกว่า 38%-45% รายได้การท่องเที่ยวทั่วโลกที่น่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 570,000-677,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 62 รายได้การท่องเที่ยวทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญ 
 
19. ตัวเลขคนว่างงาน-ตกงาน สูงปรี๊ด


ภาพจาก bit.ly/3oSUwa3
 
กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่ตอนนี้ก็ยังไม่มีทางออกสำหรับ “อัตราการว่างงาน” จากผลกระทบการปิดโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง หลายบริษัทต้องปิดตัว กิจการหลายแห่งต้องลดขนาด มีพนักงานที่เคยทำงานต้องออกจากงานด้วยเหตุผลเหล่านี้มากมาย โดยจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานและเลิกจ้างในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 435,010 คน และ 220,324 คน ตามลำดับ
 
ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่หดตัว ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร -24.01%, สาขาการผลิต -6.37%, สาขาก่อสร้าง -3.17% และสาขาการค้า -2.24% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นกับตลาดแรงงานไทยได้อย่างชัดเจน
 
20. ปีที่คนไทยได้รู้จักคำว่า “Work from Home” มากขึ้น


ภาพจาก bit.ly/2WdpNIJ
 
แม้ Work from Home จะไม่ใช่ศัพท์ใหม่แต่ที่ผ่านมาคนไทยก็ไม่ค่อยสนใจกับคำนี้ เพราะระบบงานของคนไทยส่วนใหญ่ต้องเข้าออฟฟิศ จนกระทั่งปี 2563 เราถึงได้รู้จักคำว่า Work from Home ชัดเจนขึ้นเมื่อภาครัฐส่งเสริมให้บริษัทหลายแห่งมีมาตรการ “ทำงานจากที่บ้าน” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID 19 ยืนยันว่า Work from Home ในประเทศไทยสูงขึ้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่างเช่น Line ที่เติบโตขึ้นมากในช่วงเวลานี้ โดยมียอดการใช้ LINE Call ทั้งบนมือถือและบนคอมพิวเตอร์รวมกันสูงขึ้น 10% ขณะที่การใช้งาน LINE Call บนเครื่องคอมพิวเตอร์ สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 264% ในขณะที่การโทรวิดีโอคอลผ่าน LINE Video call บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการใช้งานที่สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 270% และ Voice Call ที่สูงขึ้นกว่า 236%
 
ภาพรวมทางเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2563 นี้ กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ยังไม่กลับมา ปัญหาการว่างงานยังมีสูง  อุตสาหกรรมท่องเที่ยว การบิน ก็ยังไม่ฟื้นตัว การเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศยังทำไม่ได้เพราะมีความเสี่ยงสูง ประเมินแล้วในปี 2564 น่าจะเป็นปีที่เราพอจะเริ่มดีขึ้นได้บ้างหลังผ่านไตรมาสแรกของปี 2564 แต่ทั้งหมดก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่าการแพร่ระบาดของ COVID 19 ไม่ซ้ำเติมเข้ามาอีก และที่สำคัญปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ขอให้ไม่แย่ไปกว่านี้ ปี 2564 ก็อาจจะมีอะไรดีๆ ให้จดจำได้บ้าง

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 

 
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
ขอบคุณข้อมูล
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
531
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด