บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    โลจิสติกส์ ขนส่ง AEC
3.3K
2 นาที
28 ตุลาคม 2557
คิดจริง ทำจริง ต้องสิงคโปร์

หากพูดถึงประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก “สิงคโปร์” มักเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องเสมอในฐานะตัวแทนจากทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เรื่องราวของประเทศสิงคโปร์น่าทึ่งไม่น้อย เมื่อเกาะเล็กๆ ทางใต้ของคาบสมุทรมลายู ที่ประกาศเอกราชไม่ถึง 100 ปี มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด และมีเนื้อที่เป็นพื้นดินขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มีผลผลิตมวลรวมของประเทศ (GDP) สูงเป็นอันดับ 39 ของโลก เมื่อการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาถึง สิงคโปร์จึงถูกวางตัวให้เป็นผู้นำในด้านการจัดระเบียบและร่วมกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของภูมิภาคทันที 
 
นาย ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ผู้นำซึ่งได้รับการเรียกขานว่าเป็นบิดาของสิงคโปร์ได้พูดถึงบทบาทของประเทศในฐานะศูนย์กลางทางการเงิน หรือ Financial Hub ของอาเซียน รวมถึงวางวิสัยทัศน์ให้กับธุรกิจ SMEs ของสิงคโปร์ว่าจะพัฒนาจนเป็นหมายเลขหนึ่งของภูมิภาคและเวทีโลกในที่สุด คำกล่าวนี้อาจฟังดูเหมือนคำโอ้อวดเกินจริงสำหรับประเทศที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆ ในเอเชียแปซิฟิก แต่นาย ลี กวน ยูและสิงคโปร์ได้แสดงให้โลกเห็นครั้งแล้วครั้งเล่าว่าไม่มีสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ ภายใต้การบริหารของท่านผู้นำและทีมที่เข้มแข็ง
 
ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์เป็นแบบเปิด มีภาคโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม และการบริการเป็นเลิศ โดยมีเรือเดินสมุทรประเภทต่างๆ ถึง 891 ลำ มีท่าเรือระหว่างประเทศติดอันดับการใช้งานและมูลค่าขนส่งสูงสุดของโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 28 และในภาคบริการร้อยละ 72 โดยมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันดิบ กลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง แปรรูปยาง แปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอุตสาหกรรม ส่วนภาคบริการที่สำคัญประกอบด้วย การบริการด้านการเงิน การค้า การก่อสร้าง การบริการซ่อมเรือ และการบริการธุรกิจทั่วไป

แม้ว่าธุรกิจเหล่านี้จะจัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรม แต่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยสิงคโปร์มีผู้ประกอบการ SMEs ราว 130,000 ราย นับเป็นร้อยละ 99 ของวิสาหกิจทั้งหมด สร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 47 ของผลผลิตมวลรวม ก่อให้เกิดการจ้างงานร้อยละ 62 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ

จึงสามารถพูดได้ว่าถ้า SMEs ของสิงคโปร์เข้มแข็ง เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเข้มแข็งตามไปด้วย เมื่อมองรัฐบาล สิงคโปร์เป็นกรณีศึกษาในการบริหารประเทศและส่งเสริม SMEs จะเห็นว่าสิงคโปร์มีนโยบายการบริหารประเทศเด่นๆ ดังนี้
 
SPRING สร้างความเป็นเลิศแก่ผู้ประกอบการ SMEs

คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภาพและนวัตกรรมแห่งประเทศสิงคโปร์ หรือ SPRING (“Standards, Productivity and Innovation Board of Singapore”) เป็นองค์กรหลักซึ่งถูกจัดตั้งเพื่อส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของเหล่าธุรกิจเพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ 
 
SPRING ให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ SMEs ในหลายด้าน ตั้งแต่สนับสนุนการวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ การประสานงานเพื่อความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ กำกับดูแลสินค้าและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามหลักการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน

เช่น โครงการ Local Enterprise Financial Scheme ของ SPRING ผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารโดยให้วงเงินเครดิต ในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 80 หรือในรูปแบบของการมอบคูปอง Voucher มูลค่าใบละ 5,000 เหรียญสิงคโปร์ ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนการปรับปรุงเทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป
 
สร้างบุคลากรด้วยความเป็นเลิศทางการศึกษา

สิงคโปร์เป็นเมืองที่มีสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดในเอเชีย และถูกจัดอยู่อันดับ 12 ของโลก รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักดีว่าประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติน้อย จึงต้องทดแทนด้วยการสร้างทรัพยากรบุคคลที่เป็นเลิศมาชดเชย โดยรัฐให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนจากครอบครัวรายได้ต่ำ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน และชุดนักเรียนฟรี สำหรับโรงเรียนของรัฐ และให้เงินสนับสนุนทางการศึกษาแก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง
 
ระบบการศึกษาของสิงคโปร์มีความยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับความถนัดและความสนใจของเด็กแต่ละคน  การศึกษาภาคบังคับของสิงคโปร์กำหนดให้นักเรียนต้องเรียนรู้ 2 ภาษาควบคู่กันไป โดยเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเรียนภาษาแม่ (Mother Tongue) เป็นภาษารองอีก 1 ภาษา คือ จีนกลาง มาเลย์ หรือทมิฬ (หนึ่งในภาษาราชการของอินเดีย) ตามแต่จะเลือก ส่วนสายการเรียนนักเรียนสามารถเลือกได้หลังมัธยมศึกษาปีที่ 3

โดยมีทางเลือกหลากหลายทั้งสายวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนด้านการศึกษามากจนแทบจะเรียกว่าเป็นการศึกษาแบบให้เปล่า อีกทั้งโรงเรียนในระดับประถมและมัธยมส่วนมากล้วนเป็นของรัฐบาลหรือกึ่งรัฐบาลแทบทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนชาวสิงคโปร์จะได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้านความรู้และความสามารถในการคิดวิเคราะห์
 
มาตรการอนุรักษ์ธรรมชาติอันเข้มงวด
 
อาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการผังเมือง ได้กล่าวถึงความชาญฉลาดในการออกแบบการวางผังเมืองของสิงคโปร์ว่า ใช้การวางผังเมืองเชิงยุทธศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินซึ่งมีจำกัดอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยทุกตารางนิ้วต้องมีความสอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต รวมถึงวางโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่ไม่ทำลายสภาวะแวดล้อม หรือแม้แต่การสร้างสรรค์ด้านทัศนียภาพของถนนหนทางให้มีความสวยงาม
 
ทุกครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนประเทศสิงคโปร์ ก็อดชื่นชมไม่ได้ที่ถนนใหญ่แทบทุกสายบนเกาะแน่นขนัดไปด้วยต้นไม้สองข้างทางเสมอแม้จะมีพื้นที่จำกัด พื้นที่ใต้ทางด่วนก็มีการปลูกต้นไม้และเถาไม้เลื้อยเกาะไปตามเสาสะพานต่างๆ เรียกว่าไม่ยอมเสียพื้นที่โดยเปล่าประโยชน์เลยแม้แต่นิดเดียว

อีกทั้งยังมีโรงเรียนตั้งอยู่แทบทุกช่วงถนนแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการส่งเสริมการศึกษา เเละด้วยศักยภาพของผู้นำ การให้การสนับสนุนและการผลักดันผู้ประกอบการ ประกอบกับคุณภาพของบุคลากร ทำให้ SMEs สิงคโปร์มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพมากพอจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจในอาเซียน ซึ่งวิธีการหลักของสิงคโปร์ เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการพัฒนา SMEs ของประเทศไทย ดังคำกล่าวที่ว่า “คิดจริง ทำจริง ต้องสิงคโปร์”

อ้างอิงจาก  ไทยรัฐออนไลน์
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
795
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
441
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
431
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด