บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    วางแผนขยายธุรกิจ    การหาตลาดใหม่ และขยายธุรกิจ
8.8K
10 นาที
11 มกราคม 2553

ธุรกิจเอสเอ็มอีดาวรุ่งปี 2553 

จากทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงที่ลดลงของเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรง เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง และการกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 นี้ ให้แคบลงมาอยู่ในช่วงระหว่างหดตัวร้อยละ 3.5-4.1 จากประมาณการเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจอาจจะหดตัวร้อยละ 3.5-5.0 สำหรับแนวโน้มในปี 2553 คาดว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวได้อยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5

ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ได้แก่ ความยั่งยืนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งความคืบหน้าของแผนกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ส่วนการขยายตัวของภาคการบริโภคและการลงทุนของเอกชนน่าจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม  คาดว่าการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนนั้นอาจจะเห็นได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ไปแล้ว เนื่องจากโดยปกติแล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจค่อนข้างช้ากว่ามาตรการกระตุ้นที่เป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง แต่มีข้อดีคือ สามารถก่อให้เกิดผลทวีคูณจากการหมุนของเศรษฐกิจหลายรอบ อีกทั้งยังมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศในอนาคตอีกด้วย

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็จะต้องปรับตัวให้สอดรับกับบรรยากาศเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างทันท่วงที เพื่อผลประกอบการที่ดี เกณฑ์การพิจารณาธุรกิจเอสเอ็มอีดาวรุ่งในปี 2553 มีดังนี้

  • ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งที่ผ่านแผนกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อกับผู้บริโภคโดยตรง
  • ธุรกิจที่อยู่ในนโยบายการผลักดันและส่งเสริมของภาครัฐ ซึ่งทำให้มีแต้มต่อในด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การเพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาด รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสะดวกขึ้น
  • ธุรกิจที่มีโอกาสส่งออกเพิ่มมากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
  • ธุรกิจที่สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกระแสหลัก(Megatrends-Based) ได้แก่ กระแสสุขภาพ และกระแสสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งธุรกิจที่ปรับตัวผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยผู้บริโภคพิจารณาซื้อสินค้าที่ความคุ้มค่ากับเงินที่ใช้จ่ายมากขึ้น หรือ “เห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น”
  • ธุรกิจที่สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป กระแสสินค้าสีเขียวเพื่อตอบสนองการรณรงค์ลดโลกร้อน ที่อยู่ในกระแสความสนใจของผู้บริโภค
    ธุรกิจเอสเอ็มอีดาวรุ่งในปี 2553 ได้แก่

ธุรกิจเอสเอ็มอีอาหารที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2553 ยอดส่งออกอาหารไทยจะอยู่ที่ 750,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 52 ถึง 28,000 ล้านบาท เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงแนวโน้มสัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว คำสั่งซื้ออาหารเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการตลาดโลก รวมถึงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่งผลให้โรงงานเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ร้อยละ 51-52 ของกำลังการผลิตทั้งหมด และในปี 2553 กำลังการผลิตจะอยู่ในระดับปกติเหมือนกับปี 2551 ที่ร้อยละ 53-54 สถาบันอาหารกลุ่มอาหารไทยที่มีศักยภาพ และมีโอกาสดีในการแข่งขันกับตลาดโลกมี 10 กลุ่ม ประกอบด้วยน้ำผลไม้ ชาสมุนไพร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากผลไม้เมืองร้อน ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง อาหารขบเคี้ยวจากแป้ง ข้าว อาหารทะเลแปรรูป ไก่ปรุงสุก อาหารขบเคี้ยวทานเล่นจากผลไม้ ซอสปรุงรส และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภค

ธุรกิจสีเขียว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยมีการสำรวจพบว่า จากเดิมที่สินค้ากลุ่มอินทรีย์จะวางจำหน่ายเฉพาะร้านหรือบางมุมของร้านเท่านั้น เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มดังกล่าวที่ถือว่ายังน้อยมาก ทว่าในวันนี้ห้างดังอย่างวอลมาร์ตยังเสริมสินค้ากลุ่มนี้เข้าไปจำหน่ายมากขึ้น เช่น เสื้อเชิ้ตที่ทำจากผ้าคอตตอนออร์แกนิก ทำให้มีการคาดการณ์ว่า โอกาสของธุรกิจในการผลิตสินค้าประเภทไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น เสื้อผ้าที่ถักทอจากเส้นใยจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ ใยกล้วย ใยสับปะรด รวมไปถึงสินค้าที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล อาจจะเป็นสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจและการเติบโตที่ดีในอนาคต

แนวโน้มกระแสผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเกษตรอินทรีย์กำลังมาแรง โดยมูลค่าตลาดอาหารเกษตรอินทรีย์โลกในปี 2550 เติบโตเพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบจากปี 2549 คิดเป็นมูลค่าตลาดสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2555 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.2 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 53.6% เมื่อเทียบจากปี 2550 โดยผลิตภัณฑ์ ที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุด ได้แก่  ผลไม้ และผัก คิดเป็นสัดส่วน 35.4% ของมูลค่าตลาดรวมอาหารเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ ตลาดที่มีขนาดใหญ่และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ได้แก่ สหภาพยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลี รวมถึงสหรัฐฯ แคนาดา และญี่ปุ่น โดยส่วนแบ่งการตลาดของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯรวมกันครองตลาดถึงร้อยละ 96 ของมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์โลก ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาเปิดตลาด จากแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยพิจารณาจากสินค้าที่นิยมในแต่ละตลาดที่แตกต่างกันไป สำหรับตลาดเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตเบื้องต้น เช่น ข้าว สมุนไพร ผัก และผลไม้ ส่วนสินค้าแปรรูปที่เพิ่มมูลค่าได้ยังมีน้อย

สินค้าเด็ก-ผู้สูงอายุมาแรง ผู้บริโภคกลุ่มที่เชื่อว่าจะมาแรงไม่แพ้กัน คือ กลุ่มเด็กและกลุ่มผู้สูงอายุเห็นได้จากสินค้าและบริการหลายประเภทที่ผุดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของคนทั้ง 2 กลุ่มจนนับไม่ถ้วน แถมมีแนวโน้มเติบโตเป็นอย่างดีในอนาคตเช่นกัน เพราะว่ากันว่าร้อยละ 13 ของประชากรในสหรัฐฯจะมีอายุมากกว่า 65 ปี ในปี 2553 และนับไปอีก 20 ปีข้างหน้าก็จะก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นร้อยละ 19.3 โดยธุรกิจที่น่าสนใจคือการให้บริการรับ-ส่งเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ไม่เพียงเท่านี้ ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาการประกอบอาชีพของคนสูงวัยยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ "ฮอตลิสต์" จัดเป็นธุรกิจที่จะทำกำไรอย่างงาม เนื่องจากมีผู้สูงอายุไม่น้อยเมื่อเกษียณอายุแล้วยังต้องการประกอบอาชีพที่ 2 ต่อไป

สินค้าเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม การทำตลาดเฉพาะกลุ่มเป็นหนึ่งในปัจจัยของการสู่ความสำเร็จ โดยเฉพาะผู้ประกอบการมือใหม่ ซึ่งธุรกิจที่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ คือ ธุรกิจออกกำลังกายที่เน้นให้บริการลูกคาเฉพาะกลุ่ม เช่น ฟิตเนสสำหรับลูกค้าชาย ฟิตเนสสำหรับลูกค้าหญิง แต่วันนี้ธุรกิจนี้ได้เจาะจงลงลึกไปมากกว่านั้น คือ ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนสสำหรับวัยรุ่นหรือวัยเพิ่งเริ่มทำงาน ที่เน้นสร้างบรรยากาศดึงดูดลูกค้าในรูปแบบแปลกใหม่ที่ทีทั้งสมูตตี้ บาร์ รวมทั้งมีอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ออกแบบมาเพื่อให้ไม่เกิดความเบื่อหน่ายด้วย หรือธุรกิจอย่าง "โยคะเพื่อคุณแม่" ก็เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนี้ เพราะกลุ่มคุณแม่ต้องการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตที่กำลังจะเกิดมา

ธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยภาพรวมพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนี้  มี 3 ปัจจัย ได้แก่ 

1.การมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการปนเปื้อนสารเมลามีน ในสินค้าอาหารจากจีน ซึ่งทำให้เกิดการสั่นคลอนความเชื่อมั่น ต่อการนำเข้าสินค้าอาหารของตลาดโลกเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ ผู้บริโภคหันมานิยมผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์กันมากขึ้น เนื่องจากมองว่ามีความปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มากกว่าผลิตภัณฑ์อาหาร
ทั่วไป 

2.การมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะจากปัญหาการ เพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคอื่นๆ อันเกิดจากการบริโภคอาหาร เช่น โรคเบาหวาน ไขมันอุดตัน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง  ซึ่งการหันมามุ่งเน้นเรื่องสุขภาพทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร
ที่ให้คุณค่าเฉพาะ (Functional Food Products)

3.การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดจากสภาพ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร วิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าส่งผลให้อัตราการตายของประชากรโลกลดลง ทำให้ลักษณะทางโครงสร้างประชากรกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น (Aging Society) และกำลังจะกลายเป็น
ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดโลก

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ปัจจุบัน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ซึ่งคือการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวและพ่วงกิจกรรมด้านสุขภาพ ได้แก่โปรแกรมการตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและคลินิก รวมทั้งโปรแกรมแพทย์ทางเลือก เช่น การนวดแผนไทย และสปาไว้ด้วย กำลังได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศทั้งยุโรป สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และเอเชีย เป็นอย่างมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ  อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเฉพาะทางซึ่งเป็นที่ยอมรับ ขณะที่ อัตราค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าโรงพยาบาลคู่แข่งของต่างประเทศแต่คุณภาพการรักษาใกล้เคียงกัน  ในขณะเดียวกัน ไทยยังมีความได้เปรียบจากศักยภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องซึ่งช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนต่อธุรกิจอาทิ ธุรกิจทางด้านสปาและการแพทย์แผนไทย ซึ่งสามารถนำมาใช้เสริมการรักษาคนไข้ควบคู่กันเพื่อให้คนไข้ได้รับความพึงพอใจมากขึ้น ประการสำคัญ จากการที่ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยมของต่างชาติทำให้การจัดกิจกรรม ท่องเที่ยวร่วมไปกับการรักษาพยาบาลให้กับคนไข้และผู้ติดตามมีศักยภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งการรักษาโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมด้วยโดยผ่านสัญญาณภาพดาวเทียม

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพส่วนใหญ่ของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ตามกรุงเทพฯและตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญอาทิ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งมีความพร้อมในด้านบริการทางการแพทย์ และบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆบริการด้านการแพทย์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย ได้แก่โปรแกรมตรวจเช็คสุขภาพ การทำเลสิค ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม (โดยเน้นบริการเสริมความงามเช่น อุดช่องว่างฟัน ฟอกสีฟัน ทำรากฟันเทียม และทำครอบฟัน) การผ่าตัด และการพักฟื้น เป็นต้น นอกจากนี้ บริการด้านแพทย์ทางเลือกของไทย อาทิ นวดแผนไทย และสปา ก็มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในส่วนที่ใช้บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนนั้น สามารถประเมินขนาดของตลาดในเบื้องต้นได้จากสถิติการเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทยของชาวต่างประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 60 จะเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และร้อยละ 40 เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยโดยในปี 2551ที่ผ่านมา ประมาณว่ามีชาวต่างชาติที่เข้ารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทยรวมทั้งสิ้น 1.57-1.64 ล้านคน คาดการณ์ว่า คาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนไทยประมาณ 6.5 แสนคน และเมื่อพิจารณาในด้านรายได้พบว่าในปัจจุบันตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพส่วนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนไทย (ไม่รวมชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย) ซึ่งมีจำนวนประมาณกว่า 6 แสนคนนั้น สร้างรายได้ในด้านบริการทางการแพทย์คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 17,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะมีแนวโน้มสดใส แต่การแข่งขันก็ทวีความรุนแรงด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคู่แข่งทางด้านการให้บริการทางสุขภาพทั้งจากอินเดียและสิงคโปร์  ทำให้โรงพยาบาลเอกชนของไทย จำเป็นต้องแสวงหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เช่น การตลาด Medical Outsourcing หรือการส่งต่อบริการทางการแพทย์ที่มีการทำสัญญากับบริษัทประกันในต่างประเทศที่ต้องการลดต้นทุนของตนเอง โดยการส่งผู้ป่วยที่ประกันตนกับบริษัทไปรักษาพยาบาลยังโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศที่มีค่ารักษาต่ำ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทประกันจากต่างประเทศได้ค่อนข้างมาก โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 เป็นต้นมา บริษัทประกันจากสหรัฐฯได้มีการทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนไทย รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนจากประเทศอื่นๆที่เป็นคู่แข่งไทยอาทิ สิงคโปร์ อินเดียเพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่ทำประกันไว้กับบริษัท โดยบริษัทประกันจะให้แรงจูงใจแก่ผู้ป่วยทางด้านรายจ่ายค่าเดินทางของผู้ป่วยและญาติ การงดเว้นเก็บค่าความรับผิดชอบส่วนแรก(Deductible) รวมทั้งเงินอีกจำนวนหนึ่ง


ตลาดบ้านระดับกลาง-ล่าง แนวโน้มปี 2553 ที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ทั้งนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยซื้อบ้านราคาถูก และมีขนาดเล็กลง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับราคาไม่เกิน 1,000,000 -1,500,000 บาทยังมีความต้องการอยู่มาก แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ที่ทำเลที่มีคมนาคมสะดวก ห่างจากรถไฟฟ้าไม่เกิน 1 กิโลเมตร สภาพแวดล้อมดีฯลฯ ทั้งนี้ความต้องการที่อยู่อาศัยราคาถูกเกิดจากการปลุกกระแสของโครงการบ้านบีโอไอที่กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนให้เอกชนได้รับการส่งเสริม  แต่มีเงื่อนไขว่า กรณีคอนโดมิเนียมจะต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า 28 ตารางเมตร ราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท/หน่วย  ทาวน์เฮาส์ขนาดไม่ต่ำกว่า 70 ตารางเมตร ราคาไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อหน่วย

Social Media Social Media คือ รูปแบบการสื่อสารที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ในเครือข่ายทางสังคมแบบใยแมงมุม ผู้คนจะอยู่ร่วมกันในรูปแบบชุมชน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ตามความสนใจของแต่ละบุคคล ซึ่ง Social Media เป็นสื่อที่ทำให้บุคคลธรรมดาทั่วไปมีพื้นที่ในการแสดงความคิด สร้างสรรค์ผลงานผ่านโลกออนไลน์ ดังนั้น เราจึงได้เห็นบุคคลทั่วไปกลายเป็นคนดังในวงสังคม ได้เห็นบล็อกเกอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ จำนวนมากเกิดขึ้นและกลายเป็นผู้นำทางความคิดแห่งโลกออนไลน์ จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักการตลาด และนักประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยควรจะตื่นตัว และพร้อมรับมือกับกลยุท์ธการสื่อสารในรูปแบบใหม่นี้

แนวโน้มช่องทางการสื่อสารการตลาดในปี 2552 นี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง และจะยิ่งเห็นได้ชัดในปี 2553 โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากการนั่งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ทุกเช้าเป็นการเข้าถึงข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น การอัพเดทข่าวสารผ่านทางมือถือ หรือการเสิร์ชหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท จึงส่งผลกระทบครั้งใหญ่กับวงการสื่อสิ่งพิมพ์ด้านยอดผู้อ่าน และรายได้จากโฆษณาลดลง ทำให้หนังสือพิมพ์บางเล่มจำต้องปรับตัวโดยลดปริมาณยอดพิมพ์ จำนวนหน้า และบางแห่งต้องปิดตัวลง อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งสหรัฐฯ ที่พบว่ายอดรายได้ของสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงเป็นประวัติการณ์สวนทางกับยอดรายได้โฆษณาทางสื่อออนไลน์ที่เติบโตขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มช่องทางการสื่อสารการตลาดในปี 2553 กำลังเข้าสู่ยุคของสื่อดิจิตอลมีเดียอย่างแท้จริง

เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบันทำให้ดิจิตอลมีเดีย กลายเป็นช่องทางการสื่อสารใหม่ที่กำลังมาแรง และมีบทบาทเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการสื่อสารที่สะดวกรวดเร็วสามารถอัพเดทได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งนักการตลาดทั่วโลกเริ่มใช้สื่อ Social Media ทำการตลาดมากขึ้นถึงร้อยละ 66 ผ่านทางเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง Face book YouTube และ Twitter

สำหรับกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ปี 2553 นักการตลาด และนักประชาสัมพันธ์มีการผสมผสานการใช้สื่อพื้นฐาน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และวิทยุ เข้ากับการสื่อสารแบบ Social Media เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้น มากขึ้น และสร้างกระแสความสนใจให้เป็น Talk of the Town และควรทำการศึกษา ทำความเข้าใจรูปแบบของสื่อ Social Media ที่มีความแตกต่างจากสื่อพื้นฐานทั่วไป เพื่อสามารถทำการตลาด และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางใหม่ที่ทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่าย และทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการปรับพฤติกรรมโดยอยู่กับบ้านมากขึ้น ลดการเดินทางท่องเที่ยว และการทำกิจกรรมนอกบ้าน โดยเฉพาะการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่พร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็ง หรือธุรกิจเดลิเวอรี่ มียอดจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ยิ่งมีโอกาสในการเพิ่มยอดจำหน่ายมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา คือ ราคาอาหารโดยเฉลี่ยยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีการกำหนดราคาขั้นต่ำในการสั่งซื้อ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการมีการปรับตัว โดยการมีจัดกิจกรรมลดราคาสินค้าเป็นช่วงๆ ทั้งเพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อของผู้บริโภค

คาดว่าในปี 2552 ธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารทั้งหมดในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 5,150 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2551 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0  ปัจจุบันเมื่อนึกถึงบริการส่งอาหารนอกสถานที่แล้ว อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์นับว่าเป็นอาหารสำเร็จรูปอันดับหนึ่งที่อยู่ในใจของผู้บริโภค ซึ่งยอดจำหน่ายอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ผ่านช่องทางเดลิเวอรี่นั้นเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราเติบโตสูงกว่าภาพรวมตลาดอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ จากการเก็บรวบรวมสถิติเปรียบเทียบยอดการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อบิลระหว่างการรับประทานในร้านกับการสั่งผ่านบริการเดลิเวอรี่ ปรากฏว่ายอดการสั่งอาหารเพื่อรับประทานในร้านเฉลี่ย 100-200 บาท/คน/ครั้ง ในขณะที่การสั่งผ่านบริการเดลิเวอรี่นั้นยอดจะสูงกว่าประมาณ 2-3 เท่า  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 ธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเฉพาะอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 20.0 ของมูลค่าอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด และคิดเป็นเกือบร้อยละ 60.0 ของธุรกิจเดลิเวอรี่สินค้าอาหารทั้งหมดในประเทศ

ยารักษาโรค  มูลค่าตลาดยารักษาโรคของไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจำนวนประชากร รวมทั้งรายได้ของประชาชนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และยิ่งธุรกิจโรงพยาบาลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการยารักษาโรคขยายตัวตาม โดยจากการประเมินของสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์(พรีม่า) พบว่า ตลาดยารักษาโรคของไทยมีมูลค่าประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยแยกเป็นการจำหน่ายยาให้แก่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนร้อยละ 73 จำหน่ายผ่านร้านขายยาร้อยละ 22 และคลินิกเอกชน และคลินิกปฐมภูมิร้อยละ 5 แต่สำหรับในปี 2552 ผู้ประกอบการยาได้เคยประเมินไว้เมื่อช่วงต้นปีว่า ตลาดยารักษาโรคในปี 2552 จะโตเพียงร้อยละ 5 ลดลงจากที่เคยเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปีในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนคนไข้เข้าใช้บริการโรงพยาบาลลดลง โดยเฉพาะคนไข้ชาวต่างชาติที่ใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนของไทยปรับลดลงไปจากช่วงปกติ แต่จากการระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ คาดว่าจะผลักดันให้ตลาดยารักษาโรคของไทยในปี 2552 มีทิศทางที่ดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย

อาหารเสริมสุขภาพ ตลาดอาหารเสริมสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยคาดว่าปีหน้า จะมีมูลค่าตลาด 18,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับปี 2552นี้ และจะยังขยายตัวได้ใน 3-5 ปีต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสการรักษาสุขภาพ และเห็นว่าเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า การรอให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการรายเก่าก็ตื่นตัวขยายฐานลูกค้ามากขึ้น เห็นได้จากการเร่งให้ความรู้ และข้อมูลที่ถูกต้องของอาหารเสริมสุขภาพพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ห่วงใยและใส่ใจในสุขภาพของตนเองมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพในเชิงป้องกันมากกว่าการรักษาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ได้มองว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพสำรวจพบว่าผู้บริโภคอาหารเสริมสุขภาพเป็นประจำมีประมาณร้อยละ 37.0 และ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซามีเพียงร้อยละ 12.0 ของผู้ที่บริโภคอาหารเสริมสุขภาพเท่านั้นที่ลดหรือหยุดการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ ขณะที่ร้อยละ 25.0 ยังรับประทานอาหารเสริมอยู่ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นคนวัยทำงานอายุ 25-60 ปีที่มีกำลังซื้อสูง

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน แนวโน้มการแข่งขันธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหันมาใช้กลยุทธ์ "เซ็กเมนเตชั่นมาร์เก็ตติ้ง" ด้วยการทำการตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยเลือกไลฟ์สไตล์สอดคล้องกับลูกค้ามากขึ้น จากปกติที่เน้นการแข่งขันที่เป็นการชูจุดขายของการให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ โรงพยาบาลเอกชนควรให้ความสนใจจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสำหรับคนไข้ชาวต่างประเทศที่พำนักอาศัยหรือทำงานในไทย รวมถึงคนไข้ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งคนไข้ในประเทศหลายกลุ่มยังคงมีกำลังจับจ่ายใช้สอยพอสมควรที่น่าสนใจมีเช่น กลุ่มพนักงานบริษัทและประชาชนทั่วไปที่มีประกันสุขภาพ รวมไปถึงกล่มคนไข้ในประเทศที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และผู้ได้รับสิทธิจากโครงการประกันสังคม

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนควรหาหนทางควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่าย เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการใช้กลยุทธ์การตลาดด้วยการลดราคาค่าบริการในอัตราพิเศษ โดยการปรับลดค่าใช้จ่ายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปรับโครงสร้างการบริหารงานองค์กรเพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากร รวมถึงการบริหารสินค้าคงคลังประเภทยาและเวชภัณฑ์ไม่ให้มีจำนวนที่มากเกินไป ประการสำคัญคือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนลูกค้าโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อยารักษาโรค เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ให้มีต้นทุนลดลง และผลจากการลดต้นทุนดังกล่าวจะช่วยรักษาสถานะผลการดำเนินงานของธุรกิจให้มีกำไรภายใต้ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาศักยภาพบุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ และการให้บริการที่มีคุณภาพ รวมทั้งการปรับพื้นที่ให้บริการให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี พร้อมเพิ่มความครบครันด้านเครื่องมือแพทย์ให้ครอบคลุม

สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ในปี 2552 สินค้าเฮ้าส์แบรนด์ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเจ้าของสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เพื่อตอบรับให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยชูจุดขายทั้งการเพิ่มประเภทสินค้า การจัดการส่งเสริมการขาย ในขณะที่ราคาจำหน่ายที่ถูกกว่าราคาสินค้าที่มียี่ห้อประมาณร้อยละ 15-20 ยังเป็นจุดขายสำคัญของสินค้าเฮ้าส์แบรนด์กล่าวคือ สินค้าเฮาส์แบรนด์ในหมวดอาหารจะมีราคาถูกกว่าสินค้าทั่วไปร้อยละ 5-10 แต่หากเป็นสินค้าในหมวดของใช้จะมีราคาถูกกว่าร้อยละ 20-30 ในปี 2553 คาดว่าสินค้าเฮ้าส์แบรนด์นั้นเติบโตร้อยละ 20-25 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก โดยผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์เพิ่มสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ในกลุ่มพรีเมียมเพื่อขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มไฮเอนด์ จากเดิมนั้นลูกค้าสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มมีเดียและแมส

จากการสำรวจพฤติกรรมลูกค้าของสินค้าเฮ้าส์แบรนด์พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าลูกค้าระดับบนเริ่มหันมาใช้สินค้าเฮาส์แบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแบรนด์ เช่น เครื่องนอน อุปกรณ์สุขภัณฑ์ น้ำมัน ซีอิ๊ว ซอส ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับ ผ้านุ่ม อาหารสุนัข ฯลฯ ขณะที่ลูกค้าระดับกลางยังคงยึดติดกับแบรนด์ เพราะต้องการความมั่นใจ นอกจากความเคลื่อนไหวของสินค้าเฮาส์แบรนด์เป็นที่น่าสังเกตว่ายักษ์ใหญ่แต่ละค่ายพยายามตอกย้ำภาพลักษณ์การจำหน่ายสินค้าในราคาที่ "ถูกกกว่า" คู่แข่งมีความถี่เพิ่มขึ้นด้วย

ธุรกิจที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย ธุรกิจด้านการรักษาความปลอดภัยมีมูลค่าสูงถึงประมาณเกือบ 40,000 ล้านบาท ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของธุรกิจรักษาความปลอด ภัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.8 ต่อปี โดยปัจจุบันมีบริษัทรักษาความปลอดภัยที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยประมาณ 824 บริษัท แยกเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเกิน 1,000 คนอยู่ประมาณ 33 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 27 บริษัทขนาดกลางที่มีพนักงาน 500-1,000 คน อยู่ประมาณ 147 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 45 และบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน อยู่ประมาณ 644 บริษัท มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28 ปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในธุรกิจนี้มีอยู่ประมาณ 110,850 คน คาดว่าธุรกิจดังกล่าวยังคงต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

นอกจากธุรกิจเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้วธุรกิจอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยมูลค่าตลาดอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมแยกเป็นสัญญาณเตือนภัยประเภทโทรทัศน์วงจรปิดมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และอุปกรณ์เตือนภัยหรือป้องกันภัยจากการโจรกรรมนอกจากโทรทัศน์วงจรปิดมีมูลค่ารวมกันประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเจริญเติบโตของอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมประเภทต่างๆ นี้ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจเอาท์ซอร์สเพื่อให้บริการคอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็กที่มีบริการคอลเซ็นเตอร์ ได้หันมาใช้บริการเอาท์ซอร์สคอลเซ็นเตอร์มากขึ้น รวมทั้งการขายสินค้าและบริการผ่านทางคอลเซ็นเตอร์ก็มีมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่าย ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 3,000-3,500 ล้านบาท  ขยายตัวประมาณร้อยละ 15-20 และมีธุรกิจเอสเอ็มอีหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจนี้

หลายธุรกิจหันมาปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น โดยวิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือการหันไปใช้บริการบางส่วนจากผู้ให้บริการภายนอก (Outsourcing) ที่มีความเชี่ยวชาญและมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะบริการคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากของธุรกิจในการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management) ในยุคที่มุ่งเน้นกลยุทธ์ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric Strategy) เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงตามความต้องการมากที่สุด ส่งผลให้เกือบทุกธุรกิจจะต้องมีบริการคอลเซ็นเตอร์ที่จะตอบข้อซักถามและรับฟังปัญหาเพื่อนำส่งต่อไปให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจก็ยิ่งผลักดันให้หลายธุรกิจหันมาใช้บริการคอลเซ็นเตอร์จากผู้ให้บริการภายนอกมากขึ้น

ธุรกิจจำหน่ายสินค้ามือสอง ปัจจุบันร้านขายสินค้ามือสองได้รับการตอบรับที่ดีมากขึ้น เนื่องจากการรับรู้และยอมรับของคนไทยมีมากขึ้นตามลำดับ โดยเดิมที่เปิดร้านมีลูกค้าที่เป็นประชาชนทั่วไป ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนักทำให้ลูกค้าที่นำสินค้ามาจำหน่ายมีความหลากหลายมากขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กก็มีการนำสินค้ามาจำหน่ายที่ร้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ หรือสินค้าที่ค้างสต็อกหรือตกรุ่นก็นำมาจำหน่ายมากขึ้น สินค้าที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรกในร้านคือ พวกสินค้าจิวเวอรี่ เช่น เครื่องประดับ นาฬิกา รองลงไปได้แก่ กล้องถ่ายรูป และเครื่องใช้ในบ้าน ธุรกิจขายสินค้ามือสองตอนนี้ถือว่ามีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีหลายๆ รายที่สนใจและเข้ามาทำธุรกิจนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของเวบไซต์หรือร้านที่ไม่เป็นทางการมากนัก โดยสินค้าส่วนใหญ่จะมาจากประชาชนที่นำสินค้ามาขาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการซื้อสินค้าจากร้านเหล่านี้ผู้ซื้ออาจจะมีความเสี่ยงเนื่องจากสินค้าอาจจะไม่ได้คุณภาพ หรือสินค้าบางอย่างอาจจะไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีการรับรองสินค้า ดังนั้น ร้านที่ชูจุดเด่นในเรื่องของคุณภาพของสินค้า มีการออกใบการันตรีให้ลูกค้า ซึ่งสินค้าหากมีปัญหาหรือไม่ได้มาตรฐานก็สามารถนำมาคืนหรือเปลี่ยนได้ ทำให้ร้านนั้นได้รับความไว้วางใจในตัวสินค้าและลูกค้าที่เคยซื้อก็มักจะเป็นลูกค้าประจำ แม้ว่าสินค้ามือสองจะมีการตอบรับมากขึ้น แต่ความเสี่ยงสำคัญในการดำเนินการร้านค้าสินค้ามือสองมาจากปัจจุบันอายุการใช้งานของสินค้า หรือรุ่นของสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ทำให้สินค้าที่ซื้อไว้ราคาตกลงตามไปด้วย การจำหน่ายสินค้าในบางครั้งจึงได้กำไรที่ลดลงหรืออาจจะจำหน่ายในราคาเท่าทุน นอกจากสินค้าที่มีความหลากหลายแล้ว กลุ่มที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายก็มีการขยายกลุ่มมากขึ้น กล่าวคือ จากเดิมกลุ่มลูกค้าที่นำสินค้ามาขายจะเป็นบุคคลทั่วไป แต่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15-20 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ส่วนบุคคลทั่วไปร้อยละ 70

ธุรกิจความงาม ธุรกิจที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนสำคัญคือ รูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้กลุ่มลูกค้าขยายตัวออกไปมากขึ้น ไม่เพียงแต่กลุ่มแม่บ้านและผู้หญิงเท่านั้นที่สนใจเรื่องความสวยความงาม แต่กลุ่มผู้ชายทั้งเมโทรเซ็กชวลและผู้ชายที่เป็นคนรุ่นใหม่วัยทำงานต่างก็ให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการ เพราะต้องดูแลภาพลักษณ์และร่างกายในการเข้าสังคม ทำให้ธุรกิจความงามและดูแลผิวพรรณกลายเป็นกลุ่มสินค้ากึ่งจำเป็น-กึ่งฟุ่มเฟือย

สำหรับคลินิกความงามซึ่งนอกจากจะมีแบรนด์ใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่องแล้ว ในส่วนของแบรนด์หลักๆ ที่ยังมีการลงทุนขยายสาขาเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นในทุกเพศทุกวัยแล้ว บรรดาค่ายใหญ่ที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง และได้รับการยอมรับก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับการเปิดคลินิกแบรนด์ใหม่ เพื่อขยายการให้บริการ และขยายฐานกลุ่มลูกค้าโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ความสำคัญกับการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ในกรุงเทพฯที่ค่อนข้างเต็มแล้ว และการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง กลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดยังเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างการเติบโตและรายได้ ซึ่งต่างจังหวัดเป็นตลาดที่มีความต้องการใช้บริการสูง แต่มีคลินิกความงามเปิดให้บริการไม่มาก ที่ผ่านมาแม้ว่าปัจจัยลบทางเศรษฐกิจอาจจะกระทบกับหลายๆ ธุรกิจ แต่ธุรกิจความงามยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

โดยภาพรวมของธุรกิจเพื่อความงามแข่งขันดุเดือดทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องการให้บริการ ราคา คุณภาพสินค้า เทคโนโลยี และอุปกรณ์การรักษาใหม่ๆ เป็นต้น การแข่งขันของคลินิกความงามที่ผ่านมาอาจเน้นที่ราคาเป็นหลัก แต่จากนี้ไปจะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่ทำแล้วเห็นผลเร็ว รวมถึงภาพความเป็นผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น

ธุรกิจนักสืบ ธุรกิจนี้เติบโตจากปัจจัยสนับสนุน คือ ภาวะสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการจ้างบุคคลในกลุ่มนี้ทำงานให้ตามวัตถุประสงค์มีทั้งบริการสืบชู้สาว และบริการสืบธุรกิจ ซึ่งได้รับความนิยมจากบริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้บริการตรวจสอบพฤติกรรมพนักงาน พฤติกรรมในการทุจริต คดโกง ลักขโมยทรัพย์สิน นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ประชาชนเป็นหนี้สูงมาก ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ใช้บริการธุรกิจนักสืบเพื่อติดตามทวงหนี้

การที่ธุรกิจนักสืบขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจนักสืบเอกชนยังไม่มีกฎหมายเข้ามาควบคุม คาดว่าในเร็วๆ นี้ จะมีการจัดตั้ง "สมาคมนักสืบ" ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทั้งนี้เพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ซึ่งน่าจะส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา มีการหลอกลวงกันเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ ยังจะจัดทำโครงการเครือข่ายนักสืบทั่วประเทศขึ้น เพื่อช่วยเหลืองานราชการอีกด้วย

สำหรับผู้ต้องการจะใช้บริการจากบริษัทนักสืบ ในเบื้องต้นต้องพิจารณาอายุของบริษัทว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ยิ่งมีอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงจะถูกหลอกน้อย ต้องระบุที่ตั้งของบริษัทที่ชัดเจน ถ้าบางแห่งมีเว็บไซต์แนะนำบริษัทก็จะยิ่งดี

ปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทนักสืบ ทั้งที่เป็นของคนไทยและต่างชาติอยู่ราวๆ 50-70 บริษัท บางบริษัทก็อาจจะทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บริการด้านทนาย โรงเรียนสอนนักสืบหรือโรงเรียนสอนบอดี้การ์ด บริษัทที่เป็นของคนไทย มักจะไม่ทำธุรกิจด้านอื่นๆ หากจะทำด้านนักสืบก็ทำด้านนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และส่วนใหญ่มักจะทำงานร่วมกับราชการ โดยให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือในการสืบคดีทั้งด้านอาชญากรรมและคดีเศรษฐกิจ ส่วนบริษัทต่างชาติให้บริการแบบครบวงจร ทั้งการอารักขาผู้บริหารและรัฐบาล ที่ปรึกษาด้านความปลอดภัย บริการด้านการฝึกอบรม บริการจัดหาอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย และงานบริการการสืบ จัดคอร์สรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้บริหาร นักการทูต รวมทั้งนักข่าว(สงคราม) ด้วย



อ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
715
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
532
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
433
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด