บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.6K
3 นาที
20 เมษายน 2560
3 บทเรียนนำมาสู่ชีวิตของ “โตชิบา”

 
ข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจระดับประเทศของญี่ปุ่นตอนนี้ หนีไม่พ้นกระแส “ความพินาศแบบโดมิโน” ปรากฏการณ์ที่บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ๆ อายุอานามเก่าแก่ของญี่ปุ่นต่างก็ประสบภาวะขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ติดๆ กัน เริ่มตั้งแต่พานาโซนิค โซนี่ ไปจนถึงจวนเจียนจะล้มละลายจนต้องขายธุรกิจให้ต่างชาติอย่างบริษัทชาร์ป 
 
ข่าวไม่สู้ดีเหล่านี้ทำเอาคนญี่ปุ่นอกสั่นขวัญแขวน เพราะไม่เชื่อว่าบริษัทที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจและอยู่คู่ประเทศมาเป็นร้อยปีจะต้องมาประสบกับความล้มเหลวในสเกลใหญ่ เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่นกันแน่
 
และเป็นอันต้องก่ายหน้าผากอีกรอบ เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่คู่ญี่ปุ่นมากว่า 140 ปี อย่างโตชิบา ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ต้องออกมาเร่ขายหุ้นเพราะแบกรับสภาวะขาดทุนไม่ไหว แผนกผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของโตชิบาในวันนี้ได้ตกเป็นของเครือมิเดีย กรุ๊ป จากประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อย 
 


ภาพจาก goo.gl/AOcGj4
 
โดยมิเดียได้เข้ามาซื้อหุ้นไว้ถึง 80.1% ด้วยมูลค่าเพียง 437 ล้านดอลลาร์ แลกกับสิทธิ์ที่จะได้ถือครองการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในนามโตชิบา 40 ปี นี่คือความพินาศอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงบริษัทเก่าแก่ต้องตกเป็นของคู่รักคู่แค้นอย่างจีน แต่โตชิบาต้องจำใจปรับลดพนักงานถึง 6,800 ตำแหน่ง 
 
ปิดโรงงานและเปลี่ยนมือโรงงานในเอเชียหลายประเทศไปให้กับจีน โตชิบาเองออกมายิ้มรับทั้งน้ำตาว่า บริษัทของตนแม้จะสะสมความรู้ทางนวัตกรรมไว้มากมาย มีสุดยอดเทคโนโลยีไว้ในมือ แต่ล้มเหลวในแง่ของการต่อยอดทุนรอน ล้มเหลวด้านการบริหารและการเงินจนไม่อาจยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองอีกแล้ว
 
บริษัท โตชิบา คอร์ป เปิดเผยผลดำเนินงาน 9 เดือนของปี 2016 ระหว่างเดือน เม.ย.-ธ.ค. โดยที่ไม่ผ่านความเห็นชอบของผู้ตรวจสอบบัญชีว่าบริษัทขาดทุนสุทธิทั้งสิ้น 5.325 แสนล้านเยน (ราว 1.66 แสนล้านบาท) และขาดทุนจากผลการดำเนินงาน 5.762 แสนล้านเยน (ราว 1.8 แสนล้านบาท) ซึ่งบริษัทที่มีอายุถึง 142 ปีแห่งนี้ ยังยอมรับเป็นครั้งแรกด้วยว่าสถานการณ์ปัจจุบันกำลังสุ่มเสี่ยงต่ออนาคตของบริษัท
 
วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com จะพาคุณไปดูว่าปัจจัยอะไรบ้าง ที่เป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤต “โตชิบา” ยักษ์ใหญ่เครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น เพื่อเป็นบทเรียนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจไทย นำไปปรับใช้ในการบริหารธุรกิจครับ 
 
1.มองไกลนักมักหลงทาง

 
ภาพจาก goo.gl/DdstFD

ว่ากันว่าตอนนี้เป็นยุค “อิ่มตัว” ของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น สำหรับประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น เครื่องใช้ไฟฟ้ากลายเป็นอุตสาหกรรม “ล้าหลัง” ไปแล้ว 
 
ญี่ปุ่นไม่อาจจะลงมาสู้ในสนามเครื่องใช้ไฟฟ้ากับเกาหลีหรือจีนได้ ด้วยการลดสเป็กสินค้าแล้วหั่นราคา หรือจะลงไปสู่กับอเมริกาในแง่ของนวัตกรรมไอทีก็ดูเหมือนญี่ปุ่นจะเดินหมากช้าเกินไป ทางแก้ของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่น ณ วินาทีนี้คือ ลุยผลิตสินค้าอินฟราสตรัคเจอร์ขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ การผลิตพลังงาน ที่กำลังเป็นที่ต้องการของประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างอินเดีย จีน รวมไปถึงพี่ไทยด้วย
 
โตชิบาก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เห็นดีเห็นงามกับแผนนี้ เลยทำอัตวินิตบากกรรม “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” ด้วยการปิดโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศ ลดกำลังในไลน์การผลิตพีซีและมือถือด้วยการหันไปเกี่ยวก้อยกับโซนี่ และนำเงินลงทุนไปซื้อกิจการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของบริษัทอเมริกาอย่างเวสติ้งเฮ้าส์ด้วยมูลค่ามหาศาล 
 


ภาพจาก goo.gl/dFudxJ
 
ปรากฏว่าเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์นั้นขายฝืดกว่าที่คิด จากที่ตั้งเป้าไว้ 39 เตาปฏิกรณ์ทั่วโลก โตชิบาติดตั้งไปเพียง 8 เตาเท่านั้น และเมื่อเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิม่าในปี 2011 ภาพลักษณ์ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในหมู่ประชาชนติดลบ โตชิบาก็ยังดื้อแพ่งไม่แก้ไขแผนการของตัวเอง ยังคงเดินหน้าหวังจะเป็นจ้าวการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ของโลก และไม่หวนกลับมาเพิ่มขนาดการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลลัพธ์คือโตชิบาขาดทุนย่อยยับกว่า 6,400 ล้านดอลลาร์
 
บางคนกล่าวว่าความดื้อที่เกิดจากความเชื่อมั่นในตัวเอง มุ่งไปข้างหน้าอย่างมั่นใจจะนำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ในกรณีของโตชิบา ดูเหมือนความดื้อที่เกิดจากการมองไกลเกินไปโดยไม่ดูบริบทในปัจจุบันของโลก นำมาซึ่งการเสียส่วนแบ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นับว่าใกล้ชิดกับชีวิตคนทั่วไปมากกว่านิวเคลียร์ ทำให้โตชิบาตกอยู่ในสภาพคนหลงทาง และก็ยิ่งดื้อหนักเพราะดูเหมือนว่าผู้บริหารของโตชิบายังไม่ทิ้งแผนการลุยตลาดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ยังคงกำหุ้นในส่วนของพลังงานนิวเคลียร์ไว้ไม่ยอมปล่อย การตัดสินใจเช่นนี้ของโตชิบาอาจจะทำให้ยิ่งหลงทางหนักขึ้นไปอีกในอนาคต
 
2.ข้างนอกสดใส ข้างในเป็นโพรง

 
ภาพจาก goo.gl/Lzf7OC

บางครั้งคนที่หลงทางมักทำอะไรผิดๆ ที่ยิ่งทำให้ตัวเองถลำลึกจนกู่ไม่กลับ ด้วยความที่ขาดทุนย่อยยับมาหลายปีติดต่อกัน แทนที่จะแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้าง ลดขนาด เปลี่ยนยุทธศาสตร์ และออกมายอมรับความล้มเหลวต่อสาธารณชนด้วยความโปร่งใส กลับกลายเป็นว่าฝ่ายในของโตชิบาตั้งแต่ผู้บริหารยันลูกน้อง 
 
ต่างก็ร่วมมือร่วมใจกันทำการตบแต่งบัญชี หลอกตาลูกค้าและผู้ถือหุ้น ด้วยการปรับลดตัวเลขการขาดทุน และเพิ่มตัวเลขล่องหนเข้าไปในบัญชีมากกว่าห้าแสนล้านเยน เมื่อความแตกเพราะไม่อาจปกปิดสภาพร่อแร่ทางการเงินได้อีกต่อไป ภาพลักษณ์ทางจรรยาบรรณของโตชิบาก็เสียหายจนไม่อาจฟื้นคืนได้ เป็นเหตุให้ผู้บริหารใหญ่ต้องออกมาโก้งโค้งขอโทษพร้อมลาออก และริเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างภายในซึ่งดูเหมือนจะสายเกินไปเสียแล้ว
 
3.ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์โลก


 
ภาพจาก goo.gl/yWHQ68

ก่อนที่โตชิบาจะหันหัวเรือไปสู่เส้นทางของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บริษัทได้ประสบกับปัญหาเริ่มต้น ซึ่งก็คือยอดขายของพีซีที่เคยเป็นพระเอกของบริษัทตกต่ำลงหลายปีติดกัน เพราะเสื่อมความนิยม ถูกแทนที่ด้วยการมาของแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน และแม้จะยังมั่นอกมั่นใจกับคุณภาพของพีซี แต่โตชิบาไม่ปรับดีไซน์ให้ทันกับกระแสจนยอดขายตก จนท้ายที่สุดโตชิบาต้องกระจายความเสี่ยงไลน์การผลิตพีซีด้วยการร่วมหุ้นกับโซนี่
 
ไม่เพียงเท่านี้ ความผิดพลาดที่นับเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในหมู่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น คือการตามไม่ทันกระแสการเติบโตของชนชั้นกลางในเอเชีย ดื้อแพ่งไม่ปรับทัศนคติว่าเอเชียคือตลาดที่สำคัญ ไม่แพ้ตลาดภายในประเทศญี่ปุ่น 
 
โตชิบายังคงยึดติดกับความคิดที่ว่าเอเชียเป็นเพียง “แหล่งผลิต” เพื่อป้อนตลาดในญี่ปุ่นเท่านั้น และไม่ปรับรูปลักษณ์ รูปแบบของสินค้า รวมถึงราคาให้ตรงกับความต้องการของตลาดในเอเชีย และยังคงยัดเยียดที่จะขายอะไรเดิมๆ สินค้าเดิมๆ ที่ตกยุคไปแล้ว โดยลืมไปว่าทุกวันนี้กระแสการบริโภคของเอเชียนั้นก็ล้ำไม่แพ้ใคร 
 
ผลลัพธ์ก็คือชื่อของโตชิบาค่อยๆ หายไปจากความนิยมของผู้บริโภค แทนที่ด้วยเจ้าใหม่ๆ อย่างซัมซุงและแอลจีของเกาหลี หรือไฮเออร์ของจีน ที่เริ่มตั้งตัวจากการที่ตลาดในประเทศไม่เข้มแข็ง จึงต้องรู้จักการปรับตัวเพื่อเอาใจตลาดนอกประเทศ ไม่เหมือนผู้ผลิตญี่ปุ่นที่ยึดติดกับตลาดภายในประเทศที่ตอนนี้อ่อนแอลงเรื่อยๆ
 
เห็นได้ว่าบทเรียนจากหายนะทางการเงินของโตชิบาในครั้งนี้ ก็คือ อย่าดื้อหรือหัวแข็งจนเกินไป ที่จริงแล้วการประสบกับความผิดพลาดนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ แต่การดื้อแพ่งไม่ยอมปรับตัว ไม่ยอมแก้ไขให้ทันควันในยุคของการผลิตและการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ อาจทำให้สิ่งที่สร้างมาอย่างยาวนานพังลงกับตาในไม่กี่อึดใจ
 

Tips
  1. มองไกลนักมักหลงทาง
  2. ข้างนอกสดใส ข้างในเป็นโพรง
  3. ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์โลก
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
799
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
713
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
642
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
529
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
447
เจ้าของธุรกิจกุมขมับ! วิกฤตเด็กไทยเกิดน้อยกระทบธ..
432
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด