บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.9K
4 นาที
7 เมษายน 2563
มหันตภัย Covid-19 เศรษฐกิจโลกถดถอย! เศรษฐกิจไทยนิ่งสนิท!


การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก แต่ยังทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบของโลกได้รับผลสะเทือนไม่แพ้กัน คนตกงาน ธุรกิจปิดกิจการ วันนี้ www.ThaiFranchiseCenter.com จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง  

เศรษฐกิจโลกถดถอย
 
ภาพจาก bit.ly/2RfXt68

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหญ่ นับว่าเป็นมหันตภัยร้ายแรงสุดในรอบหลายทศวรรษยังคุกคามโลกไม่หยุด หากยังไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาด จะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีปัญหาดิ่งลงหนักกว่านี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลการระบาด ว่า GDP ของทั้งโลกน่าจะถดถอยลงราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรุนแรงกว่า ซาร์ราว 70 เท่า
 
ไวรัสโควิด-19 จะสร้างปัญหาให้เป็นเศรษฐกิจโลกได้ขนาดไหน หลายคนมองว่าอาจจะมากกว่า SARS อย่างแน่นอน เพราะ เศรษฐกิจจีนตอนนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีสัดส่วนสูงถึง 19% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) โลก เทียบกับในช่วงที่โรค SARS ระบาดซึ่งเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนเพียง 8% ของ GDP โลก
 
โดยในภาพรวมเศรษฐกิจโลกภายใต้สถานการณ์โควิด-19 OECD ประเมิน GDP โลกปี 2563 หดตัวเหลือ 1.6% จาก 2.9% ในปี 2562 ขณะที่ IMF ประเมินโควิด-19 ทำเศรษฐกิจโลกลดลงหนักกว่าวิกฤติซับไพรม์ 
 
ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมิน GDP โลกลดลงระหว่าง -2.5% ถึง 0.5% ในปี 2563 โดยประเมินมูลค่าการส่งออกปี 2563 อยู่ที่ 228,816- 241,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโต -1.8% ถึง -7.1% ซึ่งวิกฤติโควิด-19 รุนแรงกระทบส่งออกไทยต่ำสุดใน “รอบ 10 ปี” ฉุดส่งออกไทยลดไป 431,360 ล้านบาท
 
ขณะเดียวกัน Economist Intelligence Unit (EIU) วิเคราะห์ว่า การท่องเที่ยวโลกนี้จะสูญเสียรายได้จากผลกระทบไวรัส COVID-19 ราว 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท คาดว่าไม่น่าจะฟื้นตัวได้ภายใน 1 ปี และการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนจะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้จนกว่าจะถึงไตรมาสที่ 2 ของปีหน้าหรือปี 2021
 
ด้านนางคริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างวิกฤตทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
“ในประวัติศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ เราไม่เคยพบว่าเศรษฐกิจโลกหยุดชะงักแบบนี้ นี่เป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินในปี 2551-52” นางจอร์จีวา กล่าว
ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เพราะผลพวงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมย้ำว่า  เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจจะย่ำแย่กว่าช่วงวิกฤตการเงินในปี 2551 
 
แต่เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า และอาจเป็นการดีดตัวครั้งใหญ่ หากประเทศต่างๆประสบความสำเร็จในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และป้องกันไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องส่งผลให้เกิดภาวะล้มละลาย และการปลดพนักงานตามมา

ภาพจาก bit.ly/2RfXt68
 
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกหดตัวลง 0.10% ในปี 2552 หลังจากเกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งมีสาเหตุจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงค์ ในปี 2551 และถ้าหากเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้ จะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2552
 
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจโลกตอนนี้ ถือว่าได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างมาก ทำให้ทาง แมคคินซีย์ (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก ได้เปิดเอกสารแสดงงานวิจัย คาดการณ์ผลกระทบ รวมถึงระยะฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เอาไว้หลายประเด็น ดังนี้ 
  1. เชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบ GDP ปี 2020 ของสหรัฐอเมริกา มากที่สุดในรอบ 120 ปี รองจากสงครามโลกครั้งที่ 2
  2. GDP จีนจะกลับมายืนเหมือนก่อนวิกฤตได้ ประมาณช่วง Q2/2021
  3. GDP ปี 2020 ของทั้งโลกมีโอกาส -4.7% โดยคาดการณ์ GDP สหรัฐอเมริกาไว้ที่ -8.4% ส่วนจีนที่ -2.7% และยุโรป -9.7%
  4. จากการสำรวจข้อมูลบริษัททั่วโลก 3,000 แห่ง ที่มีมูลค่ามากที่สุดในปี 2019 พบว่า “หุ้นทุกกลุ่ม” มีผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นลดลง หลังเจอวิกฤตโควิด-19
  5. อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานที่สุด คือ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ (Commercial Aerospace) ซึ่งคาดว่าจะฟื้นกลับเป็นปกติได้ประมาณช่วง Q3/Q4 ปี 2021
  6. อุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวเร็วที่สุด คือ กลุ่มสินค้าแฟชั่น / Luxury คาดว่าจะฟื้นกลับเป็นปกติได้ประมาณช่วง Q2/Q3 ปี 2020
  7. อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ประมาณช่วง Q1/Q2 ปี 2021
  8. ราคาหุ้นกลุ่มที่จะโดนกระทบมากที่สุด คือกลุ่มน้ำมันและก๊าซ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ -48% และจะฟื้นตัวได้ประมาณช่วง Q3/2020
  9. หุ้นกลุ่มยานยนต์ (Automotive) จะฟื้นตัวประมาณช่วง Q3/2020
  10. หุ้นกลุ่มประกันภัย จะฟื้นตัวประมาณช่วง Q4/2020
เศรษฐกิจไทยนิ่งสนิท

ภาพจาก bit.ly/34nkzx9

ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่ทราบกันดีว่า SMEs ของไทย ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป การลดลงของกิจกรรมภายนอกบ้านจากความวิตกกังวลของผู้บริโภค ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการ SMEs หายไป จนบางรายถึงขั้นต้องปิดการดำเนินกิจการชั่วคราว
 
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะหดตัว 5.3% นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจของไทยและเอเชียเมื่อปี 2540-2541
 
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เป็นเพราะจากความกังวลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อรวมกับมาตรการที่เข้มงวดในการสกัดกั้นการแพร่ของเชื้อในประเทศต่างๆ ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การบริโภค และการลงทุนทั่วโลกต้องชะงักงัน
 
สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น แน่นอนว่าก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจีน มีระดับความรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะลากยาวไปมากกว่าไตรมาสแรก 
 
โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”  มองว่า ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมากที่สุด จากคาดการณ์ที่ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย จะหดตัวลึกในช่วงครึ่งแรกของปี และจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท
 
ภาพจาก bit.ly/3c1VDhr
 
ขณะที่ภาคการส่งออก คาดว่าจะติดลบ 5.6% เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวอย่างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดดิสรัปชั่นในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นต้น และสินค้าขั้นกลางของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
 
ไม่เพียงเท่านี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในไทย ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นผลให้นักลงทุนไทยและต่างชาติมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอการลงทุนในไทย ส่งผลให้การลงทุนจากภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ
 
ด้านการบริโภคภายในประเทศ เป็นอีกปัจจัยที่มีแนวโน้มซบเซาลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแรง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดความกังวลในการออกไปใช้จ่าย ส่งผลให้ภาคการค้าปลีกของไทยในปีนี้น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ภายใต้มูลค่าการตลาดที่หดตัว 0.8-2.2% จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป 
 
รวมถึงบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศที่ซบเซา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ที่น่าจะมีการใช้จ่ายลดลง แต่อาจจะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 
 
ภาพจาก bit.ly/2V6CYKy
 
อาทิ อาหารแห้งและของใช้ส่วนตัว รวมถึงหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งมีความจำเป็นและอาจมีการสำรองสินค้ากลุ่มนี้ไว้ ตามกำลังซื้อท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น สยาม ราชประสงค์ รัชดาภิเษก ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ 
 
โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า จากเดิมก็เผชิญความท้าทายจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านั้น หรือการลงทุนขยายสาขาใหม่ และการบำรุงซ่อมแซมสาขาเก่า รวมถึงการบริหารพื้นที่เช่าให้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซที่มีบทบาทในตลาดมากขึ้น
 
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย ดังนี้
  1. การเติบโตของธุรกิจ SMEs ในปี 2563 จะลดลงเหลือ 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 3.5% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนผู้ประกอบการสูงถึง 58% (วิมลกานต์ โกสุมาศ,2563)
  2. การส่งออกสินค้าระหว่างไทย-จีน เกิดข้อยุ่งยากและมีปัญหาความยุ่งยาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกหลักสินค้าของไทย ในระยะสั้นจึงมีการ disrupt จากปัญหาการขนส่งและมาตรการจำกัดต่างๆ ของจีน
  3. ภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ หยุดชะงัก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูง โดยประเทศไทยต้องพึ่งพาการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีน เมื่อประเทศจีนประกาศปิดเมือง จึงทำให้สายการเดินเรือระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ ต้องปิดการเดินเรือชั่วคราว 
  4. การส่งออกสินค้าเกษตรไปประเทศจีน ได้รับผลกระทบและอาจเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่งได้จากปัญหาการขนส่ง ซึ่งสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบที่ผ่านมาได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว ลำไยสด 
เนื่องจากมีการส่งออกในช่วงต้นปี ในขณะที่มีการปิดเมืองและปิดท่าเรือหลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ของข้าวที่มีการส่งออกไปเมืองอู่ฮั่นที่มีปริมาณสูงถึง 53% ทุเรียนสด มังคุดสดที่จะมีการส่งออกมากในช่วงเมษายน และยางพาราที่ส่งออกมากสุดในช่วงเดือนมิถุนายน ให้รัฐต้องหามาตรการรองรับกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในขณะนี้
 
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงจะคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกให้เพิ่มจำนวนต่อเนื่องเพียงเท่านั้น แต่ยังคงสร้างความเสียหายถึงระบบเศรษฐกิจของโลก และรายประเทศอีกด้วย 

คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 
 
อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
อ้างอิงข้อมูล
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
792
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
709
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
640
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
521
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
432
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
420
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด