บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
2.8K
2 นาที
28 มิถุนายน 2565
“ผึ้งน้อยเบเกอรี่” จากเงินเพียง 600 สู่รายได้กว่า 500 ล้านบาท
 

คำว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คุณคิดว่าต้องใช้เงินเริ่มต้นสักเท่าไหร่ 1 ล้าน.. 10 ล้าน… หรือว่า 100 ล้าน เราไม่ปฏิเสธว่าการมีเงินทุนมากก็มีผลต่อความสำเร็จได้ แต่ในมุมกลับกันคนที่เงินทุนน้อย มีเงินแค่หลักร้อย คิดว่าจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่

เรื่องที่ว่านี้ www.ThaiFranchiseCenter.com มองว่าต้องมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาประกอบ ทั้งโอกาส ความตั้งใจ กลยุทธ์การตลาด และถ้าใครรู้จัก “ผึ้งน้อยเบเกอรี่” แบรนด์นี้เป็นเบเกอรี่ที่มีชื่อเสียงมากมีสาขาทั่วประเทศกว่า 50 แห่ง แต่เชื่อหรือไม่ว่าธุรกิจนี้เริ่มต้นจากเงินเพียงแค่ 600 เท่านั้น

แม่ค้าขายขนม ที่ไม่เคยมีหน้าร้านของตัวเอง
 

ภาพจาก https://bit.ly/3mZiMZi

เจ้าของธุรกิจคือคุณ ผ่องพรรณ ปาละพงศ์ ภูมิลำเนาเป็นคนลำพูน แต่ต้องย้ายงานตามสามีที่รับราชการ จึงไม่ได้ปักหลักอยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่ไม่ว่าจะย้ายไปที่ไหนสิ่งที่ต้องทำคือการหารายได้เสริม อาชีพที่เลือกทำก็คือการเย็บผ้าและทำขนมขาย ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2517 คุณผ่องพรรณ เคยเรียนการทำขนมอย่างจริงจัง และจดจำความรู้ต่างๆ นำมาใช้ในการหารายได้อย่างต่อเนื่อง
 
ร้านขนมของคุณผ่องพรรณไม่ได้เริ่มจากร้านขนาดใหญ่ เป็นร้านริมทางตามตลาดทั่วไป ในปี 2524 ครอบครัวต้องย้ายไปพิษณุโลก แนวคิดก็เหมือนเดิมคือต้องการหารายได้เพิ่ม และเริ่มทำขนมขายอีกครั้ง ขนมที่ทำขายตอนนั้นคือ เอแคลร์ อาศัยขายอยู่หน้าร้านที่เจ้าของร้านเค้าใจดีให้ค้าขายได้ ต่อมามีลูกค้าประจำที่ทำเค้กส่งขายที่ห้างอปแลนด์ พิษณุโลก มาชวนให้ทำเอแคลร์ส่งขาย ใช้ชื่อว่า “พี.พี.เจ้าเก่า” และเป็นครั้งแรกของคุณผ่องพรรณที่ได้ทำขนมเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า แต่ตอนนั้นหน้าร้านที่อยู่ริมทางก็ยังเปิดขายเหมือนเดิม
 
สู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับ เริ่มต้น “ผึ้งน้อยเบเกอรี่” ด้วยเงินทุน 600 บาท
 

ภาพจาก www.facebook.com/phungnoicm

หลังจากตัดสินใจจะทำขนมขายในพิษณุโลก เงินทุนที่ใช้ในครั้งแรกเริ่มต้นแค่ 600 บาทใช้ซื้อเตาอบขนม 450 บาท และวัตถุดิบอีก 150 บาท แต่วัฏจักรชีวิตของคุณผ่องพรรณยังเหมือนเดิม เมื่อสามีต้องย้ายงานอีกครั้งไปจังหวัดแพร่ แต่คราวนี้คุณผ่องพรรณเลือกที่จะทำขนมส่งขายห้างท็อปแลนด์ พิษณุโลก และยังไป ๆ มา ๆ ระหว่างสองจังหวัด รวมถึงได้ตัดสินใจลงทุนอุปกรณ์และวัตถุดิบทำขนมเพิ่มเพื่อจะขายมีรายได้มากขึ้น แต่ทว่าลูกสาวก็ต้องมาประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บหนักทำให้คุณผ่องพรรณต้องหยุดทำขนมไปเป็นเวลานาน

กระทั่งในปี 2527 สามีคุณผ่องพรรรณได้คำสั่งย้ายไปอยู่เชียงใหม่ และตรงนี้ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ผึ้งน้อยเบเกอรี่” ซึ่งเป็นชื่อที่ได้มาจากการฟังพระเทศน์สอนคนที่อยากประสบความสำเร็จให้ใช้ชีวิตเหมือนผึ้ง คือ “ขยันทำกิน ไม่บินสูงนัก ฉลาดสะสม นิยมสามัคคี” จึงกลายมาเป็นชื่อร้าน ที่เปิดขายครั้งแรกพิกัดร้านอยู่หน้าบ้านเช่าตรงข้ามพณิชยการเชียงใหม่ เมนูเริ่มแรกที่ทำขาย คือ ชิฟฟ่อนกาแฟ และขนมปังต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก
 
ธุรกิจเริ่มเติบโต มีสาขากว่า 50 แห่ง รายได้กว่า 500 ล้านบาท/ปี
 

ภาพจาก www.facebook.com/phungnoicm

เส้นทางธุรกิจกว่าจะประสบความสำเร็จไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังจากเปิดร้านอยู่ตรงข้ามพณิชยการเชียงใหม่ ได้ประมาณ 2 ปี ต้องย้ายร้านใหม่ไปที่ซอยอนุบาล ซึ่งทำเลตรงนี้คุณผ่องพรรณได้ซื้อที่ดินแบบผ่อนส่ง แล้วสร้างบ้านแบบค่อยเป็นค่อยไป จุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อลูกสาวคุณผ่องพรรณเรียนจบ ได้เข้ามาช่วยแม่ทำธุรกิจ และได้รับคำชวนจากเจ้าของศูนย์การค้าแอร์พอร์ต พลาซ่า (ปัจจุบันคือ เซ็นทรัล พลาซ่า แอร์พอร์ต) ให้เข้าไปเปิดร้านในห้าง ซึ่งคุณผ่องพรรณบอกว่า “ยอดขายร้านที่แอร์พอร์ตวันแรกเท่ากับที่ขายมาทั้งเดือน” 
 
จากนั้นก็เริ่มมีสาขาอื่น ๆ ตามมา และหลายปีต่อมาก็มีสาขาแฟรนไชส์เกิดขึ้นสาขาแรกที่โลตัส หางดง ปัจจุบันผึ้งน้อยเบเกอรี่ มีสาขาราว 50 สาขา ในเชียงใหม่และหลายจังหวัดภาคเหนือ รวมถึงบางจังหวัดในภาคกลาง มีรายได้ประมาณ 500 ล้านบาท/ปี สินค้าของผึ้งน้อยมีมากกว่า 1,000 รายการ ตามคอนเซ็ปต์ “หลากหลายความอร่อยที่คุณเลือกได้” เช่น ขนมปัง ครัวซองต์ เค้กโรล ขนมเปี๊ยะ ฯลฯ
 
5 เคล็ดลับความสำเร็จของ “ผึ้งน้อยเบเกอรี่” 
1.เริ่มต้นจากเล็กไปใหญ่
 

ภาพจาก www.facebook.com/phungnoicm
 
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการไม่เน้นลงทุนมาก แต่เริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป สะสมประสบการณ์จากร้านเล็ก ๆ ริมทางเมนูแค่ไม่กี่อย่าง แต่ต้องเน้นคุณภาพให้ลูกค้าติดใจ และสะสมเงินทุนของตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อรอโอกาสในการขยายธุรกิจ
 
2.สินค้าต้องเน้นคุณภาพ
 
แม้จะเป็นร้านขนาดเล็กแต่สิ่งที่ต้องไม่เล็กคือคุณภาพ ไม่ว่าจะมีสินค้าแค่อย่างเดียวก็ต้องเน้นให้ลูกค้ากินแล้วติดใจ อยากกลับมาซื้อซ้ำ รวมถึงอัธยาศัยที่ดี การบริการที่ดี การพูดคุยที่ดีก็มีส่วนสำคัญอย่างมาก

3.ราคาสินค้าผู้บริโภคต้องเข้าถึงได้
 
 

ภาพจาก www.facebook.com/phungnoicm

ผึ้งน้อยเบเกอรี่เริ่มต้นมาจากร้านเล็กๆ จึงเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างดี สินค้าเน้นคุณภาพ ทำขายเหมือนทำกินเอง วัตถุดิบต้องดี เน้นความหลากหลายทำราคาให้ผู้บริโภคทุกระดับเข้าถึงได้ พัฒนาแบรนด์ให้อยู่ในความต้องการของคนได้มากขึ้น
 
4.ใจสู้ ล้มไม่กลัว กลัวไม่เริ่ม
 
เคล็ดลับความสำเร็จของคนทุนน้อยแต่อยากมีธุรกิจคือต้องใจสู้ อย่ากลัวที่จะเริ่ม คนที่เอาแต่คิด ไม่เคยลงมือทำสุดท้ายผ่านไปกี่ปีความคิดก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ถ้าลงมือทำแล้วล้มเหลว อย่างน้อยก็มีประสบการณ์ให้เรียนรู้และลุกขึ้นสู้ใหม่ได้
 
5.ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดได้ผลดีที่สุด
 
 

ภาพจาก www.facebook.com/phungnoicm

หลายคนไม่รู้จะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน สำคัญสุดคือให้เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด จะสามารถทำได้อย่างสบายใจและมีความสุขที่สุด จากนั้นค่อยพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ
 
ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอาจไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเงินทุนจำนวนมาก สำคัญคือไอเดีย ความขยัน ตั้งใจทำจริง จากสิ่งเล็กๆที่เป็นแค่ร้านริมทางหรือหน้าร้านเล็กๆ แต่ถ้ารู้จักคิดพลิกแพลงต่อยอด ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา และพัฒนาสินค้าตัวเองไปเรื่อยๆ ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับผึ้งน้อยเบเกอรี่ที่พิสูจน์ในเรื่องนี้มาแล้ว
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 
 
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document
 
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
 
ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3xDsEwS , https://bit.ly/3mZiMZi , https://bit.ly/3tJy6gA 
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,812
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,450
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
743
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
667
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
585
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
520
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด