บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.5K
3 นาที
10 สิงหาคม 2565
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! ถนนพระรามที่ 2
 

หากย้อนกลับไปในอดีต พูดถึงถนนพระราม 2 เชื่อว่าหลายคนอาจไม่คุ้นหู แต่ปัจจุบันถนนพระราม 2 กลายเป็นทำเลย่านชานเมืองแห่งใหม่ที่ทุกวันนี้มีการเติบโตสูงมาก ดังจะเห็นได้จากโครงการหมู่บ้านจัดสรร และคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่นับไม่ถ้วน แน่นอนว่าราคาที่ดินในย่านนี้ก็สูงขึ้นมากเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นหากการก่อสร้างทางยกระดับแล้วเสร็จ
 
www.ThaiFranchiseCenter.com เชื่อว่าจะพลิกโฉมถนนพระราม 2 ให้เปลี่ยนแปลงไปอีกมาก แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ถนนพระราม 2 มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจที่หลายคนยังไม่รู้ และเราได้รวบรวมมาเป็น 10 เรื่องจริงที่จะทำให้คุณรู้จักถนนพระราม 2 แห่งนี้ดียิ่งขึ้น
 
1.ที่มาของชื่อ “ถนนพระรามที่ 2”
 

ภาพจาก https://citly.me/ojUTS

ในบรรดาถนนที่หลายคนได้ยินต้องมีถนนพระราม1 ไล่เรียงจนไปถึงพระราม 9 โดยถนนพระรามที่ 2 ตั้งชื่อตามสะพานสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามปัจจุบัน เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชสมภพที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนพระรามที่ 2" ภายหลังจากกรมทางหลวงได้สร้างถนนสายธนบุรี–ปากท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
2.ถนนพระรามที่ 2 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2516

ถนนพระรามที่ 2 เป็นถนนที่มีความยาว 84.041 กิโลเมตร ตัดผ่านกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรี เป็นเส้นทางหลักที่มุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยถนนสายนี้ ก่อสร้างในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 แล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2516
 
3.งบประมาณในการก่อสร้างถนนพระรามที่ 2 กว่า 419 ล้านบาท
 

ภาพจาก https://citly.me/oywiF

ในสมัยก่อนการเดินทางจากกรุงเทพผ่านไปยังสมุทรสาคร , สมุทรสงครามมีความลำบากมาก รัฐบาลในยุคนั้นจึงมีมติที่จะสร้างทางหลวงสายนี้ขึ้น โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน 55% และเงินกู้จากธนาคารโลก 45% การก่อสร้างเริ่มมาแต่กลางปี พ.ศ. 2513 โดยแบ่งงานสร้างถนนออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก ธนบุรี ถึงสมุทรสาคร ระยะทาง 29 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 180 ล้านบาท ช่วงที่สอง จากสมุทรสาคร ถึงสมุทรสงคราม ระยะทาง 36 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 142 ล้านบาท

และช่วงสุดท้าย จากสมุทรสงคราม ไปพบกับถนนเพชรเกษม ในเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่หลักกิโลเมตร 125.5 ระยะทาง 19 กิโลเมตร พร้อมกับสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น (ปี 2519) รวมค่าก่อสร้าง 99 ล้านบาทเมื่อรวมค่าก่อสร้างของถนนสายนี้ ซึ่งยาว 84 กิโลเมตรแล้ว ก็เป็นเงินถึง 419 ล้านบาท
 
4.เคยได้ชื่อว่าเป็น “ถนนเจ็ดชั่วโคตร”
 

ภาพจาก https://citly.me/4cr69

แต่ด้วยพื้นที่เป็นดินอ่อนนานวันไปก็เกิดการทรุดตัว จึงได้มีโครงการก่อสร้างครั้งที่ 2 เมื่อปีพ.ศ. 2530 ขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดสาย 84 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 3,504.70 ล้านบาท พร้อมทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ วังมะนาว แม้ถนน 4 เลนจะแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2537

แต่อีก 2 ปีถัดมา ถนนช่วงตั้งแต่สามแยกบางปะแก้ว ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ก็ต้องทุบทิ้งและขยายถนนออกเป็น 14 ช่องจราจร เมื่อปี พ.ศ. 2539 ช่วงนั้น ถนนพระราม 2 จึงถูกขนานนามว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” เพราะสภาพถนนที่เละไปด้วยดินโคลน อีกทั้งเป็นเส้นทางเดียวที่จะขึ้น - ลงทางด่วน มีการจราจรติดขัดอย่างหนักทุกวัน
 
5. “ถนนพระรามที่ 2” ช่วยย่นระยะทางให้สั้นกว่าเดิม

ผลที่เกิดจากการสร้างถนนพระรามที่ 2 นอกจากจะทำให้สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ติดต่อกับโลกภายนอกด้วยรถยนต์ได้สะดวกตามความต้องการของรัฐบาลแล้ว ยังทำให้การเดินทางไปภาคใต้ในปัจจุบัน ย่นระยะทางลงอีก 41.5 กิโลเมตร โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวเมืองนครปฐมและตัวเมืองราชบุรีเหมือนแต่ก่อน ในขณะที่ทางหลวงสายใหม่สายนี้ คึกคักด้วยรถยนต์ ก็ทำให้นครปฐม และราชบุรี ลดความสำคัญลงไปมาก

เพราะนักขับรถทุกคน ไม่ว่าจะเข้ากรุงเทพฯ หรือจะไปภาคใต้ ต่างก็หันมาใช้ทางหลวงหมายเลข 35 กันเกือบหมด คนกรุงเทพฯ ที่จะไปเที่ยวหัวหิน ก็หันมาใช้ทางหลวงสายนี้ สามารถย่นระยะทางเหลือเพียง 184 กิโลเมตร จากเมื่อก่อนอยู่ห่างถึง 232 กิโลเมตร หรือเพชรบุรี ก็เหลือแค่ 117 กิโลเมตรเท่านั้น จากเมื่อก่อนอยู่ห่างถึง 165 กิโลเมตร
 
6.ถนนพระรามที่ 2 “เส้นทางที่ช่วยเปิดเมืองสมุทรสงคราม และสมุทรสาคร”
 
ภาพจาก https://citly.me/rpKYC

ในหนังสือ “เที่ยวทั่วไทย” เขียนโดย ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ ของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ปี พ.ศ. 2519 ได้เขียนถึง สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นเมืองอับทางรถยนต์ จะเข้า-ออกกรุงเทพฯ ต้องอาศัยทางรถไฟสายแม่กลองเป็นหลัก ส่วนทางรถยนต์นั้นแม้จะไปได้ แต่ก็เป็นถนนอ้อมโลก จากกรุงเทพฯ ไปสมุทรสาคร ต้องขับรถไปทางถนนเพชรเกษม ผ่านบางแคไปจนถึงตำบลอ้อมน้อย ห่างจากกรุงเทพฯ 25 กิโลเมตร จึงจะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่อำเภอกระทุ่มแบน มุ่งหน้าไปสู่สมุทรสาคร รวมระยะทางแล้วก็เกือบ 50 กิโลเมตร และถนนหนทางแคบ

ส่วนเมืองสมุทรสงคราม ต้องเดินทางไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านตัวเมืองราชบุรี แล้วเลยไปจนถึงปากท่อ จึงจะหาทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรสงครามได้การสร้างถนนพระรามที่ 2 ขึ้นมาจึงช่วยเปิดเมืองให้ทั้ง 2 จังหวัดนี้เดินทางเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
 
7.ตัวเลขอันตรายของถนนพระรามที่ 2 ในยุคแรก

ด้วยความที่เป็นเส้นทางใหม่ซึ่งนักเดินทางอาจยังไม่คุ้นชิน หรือด้วยสภาพพื้นที่ยังมีความเป็นธรรมชาติรอบข้างอยู่มาก เส้นทางถนนพระรามที่ 2 ในยุคแรกจึงมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงมากจนน่ากลัว ตัวเลขระบุว่าในระยะประมาณ 4 ปี นับแต่เปิดถนนสายนี้มา มีนักเดินทางเอาชีวิตไปทิ้งไว้บนทางหลวงสายนี้ มากกว่า 60 คน! รถชนกันอย่างชนิดประสานงา ตกถนน ตายกันครั้งละ 5-6 คน มีเกิดขึ้นเสมอ ๆ บนทางหลวงสายนี้
 
8.ศาลเจ้าแม่งู และศาลเจ้าพ่อจงอาง 

ภาพจาก https://citly.me/h2CU5

สำหรับใครที่เคยติดตามสารคดีกันมาบ้างจะต้องผ่านหูผ่านตาเกี่ยวกับศาลเจ้าแม่งูและศาลเจ้าพ่อจงอาง โดยศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูก (ศาลแม่ขวัญ) อยู่บริเวณถนนพระราม 2 ปากซอย 48 โดยเจ้าของที่ได้ขายที่ดินบริเวณดังกล่าวไปแล้วหลายผืน มีเพียงจุดที่งูอาศัยอยู่เท่านั้น ที่ไม่ได้ขาย เนื่องจากเจ้าแม่งูได้ไปเข้าฝันเจ้าของที่ขอร้องว่าอย่าขายที่บริเวณนั้นเนื่องจากเป็นที่อยู่แห่งสุดท้ายของลูก ๆ และเหล่างูอีกนานาชนิด ซึ่งเจ้าของที่ก็ทำตามอีกทั้งยังสร้างศาลเจ้าแม่งูจงอางและลูกให้ชาวบ้านสักการะบูชาด้วย

ส่วนอีกศาลหนึ่ง คือ ศาลเจ้าพ่องูจงอาง บริเวณใต้ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน สมัยก่อนเป็นเพียงศาลเจ้าหลังเล็ก ๆ มุงด้วยหลังคากระเบื้องแผ่นธรรมดา ปัจจุบันพบว่าได้ก่อสร้างศาลแบบคอนกรีตถาวรอย่างสวยงาม
 
9.ถนนพระรามที่ 2 เป็น “ทางหลวงแผ่นดิน” ไม่ใช่ “ทางหลวงพิเศษ”

ความแตกต่างระหว่าง “ทางหลวงพิเศษ” กับ “ทางหลวงแผ่นดิน” สังเกตได้ชัดเจนตรงป้ายเลขทางหลวงทางหลวงแผ่นดิน พื้นป้ายจะเป็นสีขาว ตัวหนังสือสีดำ แต่หากเป็นทางหลวงพิเศษ พื้นป้ายจะเป็นสีเขียว ตัวหนังสือสีขาว ซึ่งรวมไปถึงป้ายบอกชื่อแม่น้ำลำคลอง ป้ายบอกเขต ป้ายแบ่งเขตปกครอง และ ป้ายบอกชื่อหมู่บ้าน ซึ่งในครั้งหนึ่งถนนพระรามที่ 2 เคยเป็นทางหลวงพิเศษก่อนจะถูกยกเลิกไป เพราะไม่ตรงตามหลักการของคำว่าทางหลวงพิเศษ จึงเปลี่ยนประเภทมาเป็นทางหลวงแผ่นดินตั้งแต่ปี 2556
 
10.ถนนพระรามที่ 2 เส้นทางแห่งอนาคตที่พร้อมเติบโตอีกมาก
 

ภาพจาก https://citly.me/V4GtJ

ปัจจุบันถนนพระรามที่ 2 มีการก่อสร้างทางยกระดับต่อเนื่องหลายโครงการเช่น 
  • โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี - ปากท่อ
  • โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว
  • โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของ กทพ.
หากการก่อสร้างทั้งหมดนี้แล้วเสร็จจะเป็นการเชื่อมโยงให้คนในกรุงเทพสามารถเดินทางไปยังภาคใต้และภาคตะวันตกได้สะดวกรวดเร็ว ไม่นับรวมการเติบโตของพื้นที่ที่นำไปสู่การเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้สภาพโดยรวมพื้นที่ย่านพระรามที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งจากหมู่บ้านจัดสรร ,นิคมอุตสาหกรรม , โรงงานต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นทำเลทองที่หากใครได้จับจองพื้นที่ในช่วงนี้ถือว่าคุ้มค่าแก่การลงทุนอย่างมาก
 
โดยถนนพระรามที่ 2 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการขยายตัวจากใจกลางมาสู่ชานเมือง แต่สิ่งที่ต้องแลกกันกับความเจริญคือสภาพทางธรรมชาติจะเริ่มหายไป ในสมัยก่อนพื้นที่ย่านพระราม 2 เป็นสวนส้ม เป็นป่าชายเลนสมบูรณ์ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นเมือง เป็นโรงงาน วิถีชีวิตทุกอย่างก็เปลี่ยนไปสิ้นเชิง แม้จะมีความพยายามในการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวแต่ดูแล้วอนาคตอันใกล้ย่านพระราม 2 ต้องกลายเป็นชุมชนเมืองอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน
 
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
 
 
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document
 
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
 
 
 
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
10 อาชีพหลังเกษียณ ทำแก้เหงา แถมได้เงิน
793
แฉ! จริงมั๊ย ผู้ผลิตจน พ่อค้าคนกลางรวย
710
ยุคนี้ อยากรวยยาว! เซ็ทธุรกิจตัวเองให้เป็น Desti..
641
20 ไอเดียธุรกิจใหญ่ ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีหุ้นส่วน
522
เศรษฐกิจไม่ฟื้น! ไตรมาส 2 ไม่แพ้ไตรมาสแรก 14 ธุร..
439
10 เรื่องจริงที่คุณไม่รู้! อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล
421
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด