บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
339
2 นาที
3 ธันวาคม 2567
“สูตรอาหาร” ได้รับความคุ้มครอง ทำได้มั้ย? ทำอย่างไร?
 

เวลาที่เราไปกินอาหารในร้านใดสักแห่งแล้วรู้สึกว่าอร่อยมากคิดว่าสูตรนี้ถ้าเอาไปทำขายบ้าง ต้องขายดีแน่! แต่ระวังให้ดีเพราะเดี๋ยวนี้ “สูตรอาหาร” ไม่ใช่ใครคิดจะก็อปปี้กันได้ง่ายๆ เขามีการจดสิทธิบัตรไว้แล้วใครไปละเมิดมีหวังโดนกฏหมายเล่นงานอ่วมแน่
 
แต่ก็มีคนหัวไสที่เอาเรื่อง “สิทธิบัตร” นี้ไปใช้ในทางที่คลาดเคลื่อน ยกตัวอย่างกรณีของ “ปังชา” ที่ทางแบรนด์ระบุว่าได้จดเครื่องหมายการค้า (Trademark) ทั้งชื่อ”ปังชา” ภาษาไทย และ “Pang Cha” ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประกอบด้วย จดทะเบียนลิขสิทธิ์, จดทะเบียนสิทธิบัตร พร้อมย้ำว่า ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และ สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
 
แต่สุดท้ายกรณีการใช้คำว่า “..ปัง…ชา..”  หรือ …ปังชา.. กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ระบุว่าให้อีกหลายๆกิจการสามารถทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ รวมถึงกรณีเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลาย หรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต แต่ถ้าคิดค้นสูตรขนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้ด้วยเช่นกัน
 
ทีนี้ก็อาจมีหลายคนที่สงสัยว่าถ้าเรามีสูตรอาหารที่เป็นแบบฉบับของเราเองแน่ๆ ไม่ได้ลอกเลียนแบบใครมา เราอยากคุ้มครองสูตรอาหารนี้ให้เป็นของเรา จะต้องทำยังไง?
 
 
ซึ่งจากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาระบุไว้ว่า “สูตรอาหาร” และ “กรรมวิธีการผลิต” จะได้รับการปกป้องและคุ้มครองผ่านการจด “สิทธิบัตรการประดิษฐ์” และ “อนุสิทธิบัตร”
 
สำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรจะให้ความคุ้มครองใน "ผลิตภัณฑ์" ซึ่งในที่นี้รวมไปถึง สูตรอาหาร อีกทั้งยังคุ้มครอง "กรรมวิธี" เช่น การผลิตอาหาร ขั้นตอนการปรุงอาหาร กรรมวิธีการถนอมอาหาร โดยมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นสูตรหรือกรรมวิธีที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่
 
อย่างไรก็ตาม ในการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรืออนุสิทธิบัตร ผู้เป็นเจ้าของสิทธิจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสูตร กรรมวิธีโดยชัดแจ้ง ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง ใส่ในปริมาณเท่าไหร่ และมีขั้นตอนการทำอย่างไร ซึ่งจะถูกนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง
 

 
ถึงแม้ว่าจะเป็นเมนูอาหารชนิดเดียวกัน แต่หากมีปริมาณหรือส่วนผสมสูตร หรือกรรมวิธีการปรุง ไม่เหมือนกัน ผู้อื่นก็อาจยื่นขอรับความคุ้มครองในสูตรสิ่งที่แตกต่างออกไปซึ่งถูกคิดค้นขึ้นใหม่ได้ โดยพิจารณาจาก 
  • ต้องมีส่วนประกอบต่างกันจนทำให้มีผลเชิงเทคนิคทางอาหาร
  • ใส่สัดส่วนต่างกันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหาร
  • มีสภาวะการประกอบอาหารที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิที่ใช้แตกต่างจากเดิมจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหาร  
ทั้งนี้สิทธิบัตรอาหาร “คุ้มครองสองส่วน” คือ เฉพาะ “ส่วนผสม” และ “สัดส่วนที่ใส่” เท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองอาหารชนิดนั้น ๆ และให้ความคุ้มครองแค่ส่วนประกอบในช่วงที่เปิดเผยในสิทธิบัตรเท่านั้น โดยมีอายุในการคุ้มครอง 20 ปี

 
 
ดังนั้นหากเปิดเผยสูตรบางส่วน และมีบุคคลอื่นคาดเดาส่วนผสมลับได้ แล้วนำไปผลิตจำหน่าย สิทธิบัตรก็จะไม่ครอบคลุมถึงส่วนผสมลับนั้น
 
เมื่อสูตรหรือกรรมวิธี ได้รับความคุ้มครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เจ้าของจะเป็นผู้มี “สิทธิแต่เพียงผู้เดียว” ที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งหากใครต้องการใช้สูตร หรือกรรมวิธี จำเป็นต้องต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของสิทธิก่อน
 
แต่เพราะการจดสิทธิบัตรจำเป็นต้องมีการเปิดเผยส่วนผสมที่ชัดเจน จึงเป็นความกังวลของหลายคนที่ไม่สะดวกใจในการให้ข้อมูลเหล่านี้ ทางกฎหมายจึงได้เปิดช่องให้มีการคุ้มครองสูตรอาหารในฐานะของ “ความลับทางการค้า” เป็นวิธีเดียวกับสูตรไก่ทอดหรือน้ำอัดลมที่แม้แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าใช้วัตถุดิบอะไร มีส่วนผสมเท่าไหร่บ้าง
 
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise