บทความทั้งหมด    บทความ SMEs    การเริ่มต้นธุรกิจใหม่    ความรู้ทั่วไปทางธุรกิจ
1.7K
3 นาที
4 มีนาคม 2562
กิจการขายใบไม้เพื่อประดับอาหารญี่ปุ่น ที่สร้างมูลค่าสูงทั้งทางเงินและทางใจ
 

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน ดิฉันคิดว่าคุณผู้อ่านคงจะเคยเห็นอาหารญี่ปุ่นที่ถูกประดับประดาอย่างสวยงามด้วยใบไม้ชนิดต่างๆ คุณผู้อ่านทราบไหมคะว่าใบไม้เหล่านั้นนอกจากจะสร้างมูลค่าสูงทางตัวเงินให้กับนักเก็บใบไม้ทั้งหลายแล้วยังมีมูลค่ามากทางจิตใจด้วย เรื่องที่ดิฉันจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ดิฉันอ่านและรู้สึกประทับใจมากเพราะมันสื่อได้อย่างชัดเจนว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” 
 
Kamikatsu เมืองเล็กๆที่ขายใบไม้ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น
 
เมือง Kamikatsu เป็นเมืองเล็กๆ ที่แวดล้อมด้วยภูเขาในจังหวัด Tokushima ประชากรเกินครึ่งของเมืองนี้เป็นผู้สูงอายุ  และประกอบกิจการขายใบไม้ตกแต่งอาหารญี่ปุ่นมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ โครงการขายใบไม้นี้ถูกริเริ่มโดยคุณ Tomoji Yokoishi ซึ่งเป็นชาว Tokushima โดยกำเนิด เขาเรียนจบด้านการเกษตรและทำงานที่สหกรณ์การเกษตรในเมือง Kamikatsu

ในช่วงที่เขาเข้าทำงานใหม่ๆเป็นช่วงที่ทั้งนายกเทศมนตรีและผู้นำชุมชนต่างกุมขมับกับปัญหาของเมืองนี้เพราะประชากรลดลงเรื่อยๆ ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การปลูกส้มแมนดารินซึ่งเป็นอาชีพหลักก็ดูเหมือนจะแย่ลงทุกวันๆ เพราะสวนส่วนใหญ่ขาดทุนย่อยยับจากลมหนาวรุนแรง
 

Tomoji Yokoishi
 
ไอเดียการทำธุรกิจขายใบไม้เกิดขึ้นในปี 1986 ในระหว่างที่คุณ Yokoishi กำลังรับประทานอาหารที่ร้านซูชิแห่งหนึ่งในโอซาก้า สายตาเขาได้เหลือบไปเห็นหญิงสาวคนหนึ่งที่ดูจะประทับใจในความสวยงามของใบเมเปิ้ลที่ประดับอยู่ในจานซูชิซะเหลือเกิน จนเธอคนนั้นต้องเอาผ้าเช็ดหน้าห่อใบไม้และนำกลับบ้านไปเป็นที่ระลึก ภาพๆนั้นได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล เขาคิดในใจว่า “ใบไม้เป็นอะไรที่หาได้จากสวนหลังบ้านที่ดูไม่มีคุณค่าอะไรเลย

แต่ถ้ามีคนเห็นความงามในใบไม้นั้น เขาก็น่าจะทำธุรกิจจากใบไม้ได้” เขาเริ่มเห็นความหวังอยู่ปลายทางเพราะใบไม้เป็นสิ่งที่หาง่ายในเมือง Kamikatsu นอกจากนั้นผู้สูงอายุในเมืองก็จะมีรายได้ด้วยซึ่งเป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากกว่ากิจกรรมที่ทำกันส่วนใหญ่คือการนินทาเกี่ยวกับแม่ผัวลูกสะใภ้ไปวันๆ
เริ่มต้นจากศูนย์
 
แต่ความสำเร็จก็ไม่ได้มาง่ายๆ เพราะหลังจากที่มีไอเดียการขายใบไม้แล้ว คุณ Yokoishi ก็ได้พยายามนำเสนอไอเดียการทำธุรกิจขายใบไม้กับชาวเมือง Kamikatsu แต่ชาวบ้านต่างก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถทำรายได้จากการขายใบไม้ได้ “ใครจะจ่ายเงินซื้อใบไม้” พวกเขาคิด และมันยังเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี พวกเขาเชื่อกันว่าใบไม้เป็นของถูกๆและสำหรับคนจนๆ “เราไม่ได้สิ้นหวังขนาดต้องขายใบไม้ประทังชีพ”

สุดท้ายมีชาวบ้านผู้หญิงเพียงสี่คนที่ตอบตกลงที่จะขายใบไม้ที่ใช้ในการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นแต่ก็ขายไม่ดีเท่าไร ในตอนแรกราคาที่ขายนั้นต่ำมากเพียง 5-10 เยนต่อหนึ่งห่อ เพราะชาวบ้านไม่รู้วิธีบรรจุห่อใบไม้ให้สวยงามและไม่รู้ว่าใบไม้จะถูกนำไปขายเพื่อใช้ในร้านอาหารได้อย่างไร 
 
ความพยายามอย่างไม่ย่อท้อจนประสบผลสำเร็จ
 

ภาพจาก https://goo.gl/PVhBFT

ในตอนเริ่มกิจการ คุณ Yokoishi ไม่รู้ว่าใบไม้เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในร้านอาหารใหญ่ๆกันอย่างไรและแบบไหน แต่เขาไม่ลดละที่จะหาคำตอบ เขาได้ใช้เวลากว่า 2 ปีเดินทางไปรับประทานอาหารตามร้านหรูๆทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยยอมควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่าอาหารที่แสนแพงครั้งแล้วครั้งเล่าจนเกือบหมดตัว

จุดมุ่งหมายก็เพื่อตระเวนถามพ่อครัวในร้านใหญ่ๆเกี่ยวกับใบไม้ที่ใช้ประดับอาหาร พ่อครัวส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพราะกลัวโดนขโมยสูตรอาหาร คุณ Yokoishi เลยแอบเข้าไปดูในครัว บางครั้งโดนด่า เอามีดไล่เฉาะหัว หรือถูกน้ำสาดก็ยังเคย จนกระทั่งมีพ่อครัวคนหนึ่งให้ความช่วยเหลือและได้ให้ข้อมูลที่สำคัญว่าเทศกาลไหนที่ใบไม้แบบใดมีความหมาย เช่น ใบ Yuzuriha เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่จะใช้ประดับอาหารช่วงปีใหม่ เขายังเรียนรู้ว่าใบไม้ที่นำมาใช้ไม่ควรจะมีรอยด่างใดๆและควรจะบรรจุด้วยใบขนาดเท่าๆกัน

เขาไม่หยุดแต่เพียงแค่นั้นเพราะเขาได้เดินทางไปพบตัวแทนขายส่งทั่วประเทศเพื่อเสนอขายใบไม้ของเขา ต่อมาร้านขายส่งก็เริ่มได้ออร์เดอร์จากร้านอาหาร ยอดขายในปีแรกเพียง 1.17 ล้านเยนเพิ่มเป็น 21.61 ล้านเยนในปี 1988 และมากกว่า 260 ล้านเยนในปัจจุบัน สินค้าที่ขายดีก็ได้แก่ ใบนันเตง (Nandina) ใบเมเปิ้ลและใบไผ่ เมื่อเริ่มขายดีขึ้นเรื่อยๆชาวบ้านก็เริ่มสนใจจะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ในช่วงแรกเขาส่งออร์เดอร์ให้ชาวบ้านโดยแฟกซ์และในบางครั้งเขายังเขียนข้อความให้กำลังใจไปกับออร์เดอร์นั้นด้วย 
บริษัท Irodori เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในเมือง
 
คุณ Yokoishi ได้ตัดสินใจทำกิจการขายใบไม้ต่อและได้จดทะเบียนบริษัท Irodori ในปี 1999  ในปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการประมาณ 195 คน โดยมีใบไม้ที่ปลูกจาก 200 สวน มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 320 รายการ อายุเฉลี่ยของเกษตรกรที่เข้าร่วมคือ 70 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง! ชาวบ้านมีความได้เปรียบอยู่แล้วเพราะรู้จักพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างดี รู้ว่าลมพัดทางไหน และควรจะปลูกอะไรเมื่อไรอย่างไร รายได้เฉลี่ยของนักปลูกใบไม้เหล่านี้อยู่ที่คนละประมาณ 1.5 ล้านเยนต่อปีบางคนมีรายได้มากถึง 10 ล้านเยนต่อปี ซึ่งถือว่าสูงมากในชนบทแบบนี้ 
 
ชาวบ้านบอกว่าใบไม้มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการเก็บเมื่อเทียบกับส้มแมนดารินที่เคยปลูก การเก็บใบไม้ยังทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีเวลาดูแลครอบครัว คุณ Takehiro Toyota ผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า “สิ่งสำคัญของการเป็นมนุษย์ก็คือ การได้มีบทบาทในสังคม รู้สึกมีความสุขที่ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าโดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุแบบญี่ปุ่น” คุณ Yukiko Nishikage อายุ 75 ปีกล่าวว่า “ฉันได้เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ 18 ปีก่อน

ธุรกิจนี้เป็นแหล่งพลังงานชีวิตที่ดีของฉัน ฉันอยากจะทำงานไปจนอายุร้อยปี”  Kamikatsu มีประชากรสูงอายุอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แต่กลับมีเพียง 8% หรือเพียง 14 คนจากทั้งหมดในจำนวนนี้ที่เป็นผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแล และยังมีรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลต่ำมากๆเมื่อเทียบกับเมืองอื่น เห็นได้ชัดว่าการรู้สึกว่าตัวเองมีค่านั้นทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ธุรกิจนี้ยังทำให้คนรุ่นใหม่หวนกลับสู่บ้านเกิด
 
ใช้เทคโนโลยีในการบริหารงานและการปรับปรุงคุณภาพสินค้าอยู่เสมอ
 

ภาพจาก https://goo.gl/PVhBFT

คุณ Yokoishi ปัจจุบันอายุ 60 กว่า ยังแนะนำผู้สูงอายุให้ใช้แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ในการรับออเดอร์และใช้ระบบ POS ชาวบ้านจึงสามารถคำนวณยอดขาย ควบคุมปริมาณสินค้าในสต็อก เปรียบเทียบยอดขายกับปีก่อน และประมาณการปลูกล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นเขายังพาเกษตรกรที่ปลูกใบไม้เหล่านี้แต่งตัวสวยงามเพื่อลองไปรับประทานอาหารในร้านที่ซื้อใบไม้จากพวกเขา

โดยเขาคิดว่าหากนักปลูกใบไม้เหล่านั้นรู้ว่าใบไม้ที่เขาขายถูกนำมาใช้อย่างไรก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงผลักดันในการปลูก อีกจุดประสงค์คือถึงแม้ว่าจะเป็นเกษตรกรก็ควรจะมีรสนิยมเหมือนชาวเมืองเพื่อที่จะปลูกใบไม้ที่เหมาะสมกับผู้บริโภคมากที่สุด
 
มีคนมากกว่า 4,000 คนจากกว่า 37 ประเทศทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาเรียนรู้งานที่เมืองเล็กๆแห่งนี้ที่มีประชากรเพียง 2,000 คนในแต่ละปี บริษัท Irodori ยังเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆได้มาฝึกงาน เพราะเขาเชื่อว่าผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้จากคนหนุ่มสาว และคนหนุ่มสาวก็เรียนรู้จากประสบการณ์ของเกษตรกรผู้สูงอายุได้เช่นกัน

คุณ Yokoishi กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจขายใบไม้ก็คือ ทำให้ชาวบ้านทุกคน “มีเหตุผลที่จะตื่นนอนในตอนเช้า” แน่นอนว่านักเก็บใบไม้เหล่านี้เชื่อว่า “พวกเขาไม่ได้แค่ผลิตใบไม้ขาย แต่เขายังทำหน้าที่ให้ความสุข ความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค”
 
 
life inspired by พิชชารัศมิ์ และ marumura
บทความเอสเอ็มอียอดนิยม Read more
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
ผู้สนับสนุน (Sponsor)
จับเทรนด์ยุคใหม่ เลิกกลัว AI แย่งงาน แต่ให้กลัวค..
2,789
รวมธุรกิจเสือลำบาก ปี 2567/2024 โหดจัด ไปไม่รอด!
1,395
โหดจัด! ฟาสต์ฟู้ดจีน ไล่แซงแบรนด์ตะวันตก
700
เศรษฐกิจทรุดครึ่งปี! เลิกจ้างงานนับหมื่น บริษัทฯ..
634
รวมวิธีคิดเหนือชั้นทำให้รู้ว่า “ธุรกิจติดตลาด” ห..
560
10 ไอเดียแคมเปญโปรโมชั่น ร้านอาหาร เพิ่มยอดขาย ฉ..
489
บทความเอสเอ็มอีมาใหม่
บทความอื่นในหมวด